HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
จาก “โคตรเพชร” เพชรดิบขนาดใหญ่สุดอันดับห้าของโลกสู่เครื่องเพชรสุดอลังการของ Van Cleef & Arpels
by วรวุฒิ พยุงวงษ์
1 พ.ย. 2565, 11:04
  1,025 views

ไม่น่าเชื่อว่า “โคตรเพชร” หนึ่งก้อนจะกลายเป็นจุดบรรจบระหว่างวิทยาการไฮ-เทคกับศิลปะงานฝีมือตามธรรมเนียมดั้งเดิมไม่ว่าจะเป็นการหล่อตัวเรือนโลหะด้วยเทคนิคสูญขี้ผึ้ง ไปจนถึงความวิจิตรประณีตในงานฝังอัญมณีขึ้นตัวเรือนสลับจังหวะกับการขัดผิว เหนืออื่นใด ภายใต้สายตาอันเฉียบคมของมนุษยชาติ ทุกผลงานการสร้างสรรค์ กลายเป็นบทสรุปเรื่องราวทางประวัติศาสตร์แฟชันได้อย่างแยบคาย มาติดตามกันไปกับ...

บทสรุปแห่งตำนาน

ด้วยน้ำหนักสูงถึง 910 กะรัต ส่งผลให้ “ตำนานแห่งเลอโซโธ” หรือ Lesotho Legend ครองตำแหน่งเพชรหยาบ หรือเพชรดิบขนาดใหญ่สุดอันดับห้าของโลก และเมื่อผ่านการประเมินคุณภาพเนื้อแท้ ก็ถือได้ว่าอยู่ในระดับซึ่งมีประกายสว่างสุกใสอย่างที่สุดเท่าที่เคยมีปรากฏ ความสมบูรณ์แบบระดับ D ของสีสันผสานกับความกระจ่างหมดจด นับว่าเป็นที่เสาะแสวง และปรารถนากันอย่างสูงในแวดวงอัญมณี (ในอดีต เพชรประเภท 2A หรือ Type 2A diamond อันได้รับการพิจารณาว่ามีความบริสุทธิ์สูงสุดเชิงเคมี อีกทั้งยังมีความกระจ่างหมดจดระดับสูงเช่นนี้ ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกในแว่นแคว้นก็อลคอนดาของอินเดีย) อีกทั้งหลังจากใช้วิทยาการล้ำสมัยในการตรวจวิเคราะห์อย่างละเอียดถี่ถ้วน ร่วมกับคำแนะนำจากปรมาจารย์ด้านงานตัด และเจียระไนเพชรผู้เปี่ยมประสบการณ์ เพชรดิบก้อนนี้ ก็ให้กำเนิดเพชรเจียระไนสำเร็จขนาดตระการตาถึง 67 เม็ด เพื่อให้เมซงผู้ผลิตเครื่องประดับอัญมณีชั้นสูงได้ใช้ธรรมเนียมแห่งความเป็นเลิศ อันสั่งสมสืบทอดยาวนานมาถึง 126 ปีมาสรรค์สร้างผลงาน “ตำนานแห่งเพชร” หรือ Legend of Diamonds ก่อนนำออกแสดงในระหว่างสัปดาห์แฟชัน ณ กรุงปารีส

เรื่องราวความเป็นมาของเครื่องเพชรคอลเลคชันใหม่สุดอลังการของ Van Cleef & Arpels ภายใต้ชื่อประกาศศักดาอย่างยิ่งยงว่า “ตำนานแห่งเพชร” หรือ Legend of Diamonds นี้ ช่างหาได้ต่างอะไรจากเทพนิยาย กับจุดเริ่มต้นเมื่อปี 2018 ที่มีการค้นพบเพชรหยาบก้อนมหึมาด้วยน้ำหนักสูงถึง 910 กะรัตภายในเหมืองเล็ทเซ็งทางตอนใต้ของทวีปอัฟริกา และได้รับการเจิมนามว่า “ตำนานแห่งเลอโซโธ” (“เลโซโธ” ในคำอ่านภาษาอังกฤษ) หรือ Lesotho Legend ตามชื่อประเทศที่ถูกค้นพบก่อนตกมาอยู่ในครอบครองของเมซงผู้ผลิตเครื่องประดับอัญมณีชื่อดังระดับ “ตำนาน” ทัดเทียมกัน ซึ่งตามปรกติ ก็ไม่ค่อยมีโอกาสได้ทำงานกับอัญมณีดิบ (อันหมายถึงหินแร่ก่อนผ่านการเจียระไนสำเร็จ) เท่าไรนัก ครั้งนี้ จึงนับเป็นโอกาสอันหาได้ยากยิ่งที่จะระดมความสามารถของผู้ชำนาญต่างสาขาจำนวนมากให้มาร่วมกันสรรค์สร้างเครื่องเพชรทั้งคอลเลคชันโดยใช้ตำนานแห่งเลอโซโธเป็นจุดเริ่มต้นโครงการต่อเนื่องนานถึงสี่ปี โดยที่เวลาเกือบหนึ่งปีแรกก็หมดไปกับการทำแผนผังโครงสร้าง 3 มิติเพื่อแสดงให้เห็นภาพเนื้อใน ซึ่งในส่วนนี้ Diamcad (ดามกัด)

บริษัทผู้นำด้านการเจียระไนเพชรจากเมืองแอนต์เวิร์ป ประเทศเบลเยียมได้ใช้ระบบซอฟต์แวร์มาตรฐานระดับสูงร่วมกับเทคนิคงานฝีมือตามธรรมเนียมดั้งเดิมในการคำนวณวิถี และตำแหน่งของการสกัด ก่อนเข้าสู่กระบวนการเจียระไนอัญมณีแยกย่อยแต่ละเม็ดออกมาจากภายในศูนย์กลางของหินเพชรจนนำมาซึ่งครอบครัวเพชรสำเร็จ 67 เม็ด สิริรวมน้ำหนัก 441.75 กะรัต (น้อยกว่าน้ำหนักจากเดิมลงไปถึงครึ่งหนึ่ง แต่ก็ถือว่าลดการสูญเปล่าลงไปได้มากเปรียบเทียบกับการตัด และเจียระไนเพชรแบบดั้งเดิม) ในหลากรูปทรงไม่ว่าจะเป็นวงรี หรือรูปไข่, ลูกแพร์ หรือหยดน้ำ, เหลี่ยมมรกต (สี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมตัด หรืออีกนัยหนึ่งคือแปดเหลี่ยมมุมย่อย) และกระทั่งทรงกลมเล่นเหลี่ยมขั้นบันไดแบบที่เรียกว่า “อาสเชอร์” (Asscher Cut) อย่างไรก็ตาม แต่ละเม็ด และทุกเม็ด ล้วนเต็มไปด้วยคุณภาพพิเศษสุดเหนือธรรมดา โดยเฉพาะความบริสุทธิ์หมดจดกระจ่างใสไร้ตำหนิใดๆ ในน้ำเพชรจากระดับ F (Flawless อันหมายถึงปราศจากตำหนิจากภายในสู่ภายนอก) จนถึงระดับ IF (Internally Flawless คือปราศจากตำหนิภายใน “แต่อาจ” มีตำหนิภายนอก)

ตามปรกติ เมซงไม่ค่อยได้ทำงานกับเพชรหยาบ หรือพลอยดิบมากเท่าไรนัก โดยทั่วไป เราจะเริ่มงานกับอัญมณีซึ่งผ่านการเจียระไนเผยหน้าตัด กับเหลี่ยมมุมมาเรียบร้อยพร้อมขึ้นตัวเรือนเครื่องประดับ นี่เป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษที่เราได้ดำเนินโครงการอันเกี่ยวพันถึงจุดเริ่มต้นอันดับแรก นั่นก็คือการสกัดหิน หรือก้อนเพชรดิบสำหรับใช้สรรค์สร้างคอลเลคชันเครื่องประดับชั้นสูงหรือ High Jewelry ลักษณะปรากฏของเพชรดิบ หรือเพชรหยาบขนาดมโหฬารผิดธรรมดานี้ ทำให้พวกเรามีโอกาสพิเศษ ซึ่งหาได้ยากยิ่งในการที่จะเล่าขานเรื่องราวเกี่ยวกับเพชรสักหนึ่งเม็ด นิโคลาส์ บอส, ประธานบริษัท และประธานคณะกรรมการผู้บริหาร Van Cleef & Arpels กล่าว

จากนั้นก็มาถึงงานออกแบบ และพัฒนาสรรค์สร้างโดยอาศัยการร่วมงานของแผนกต่างๆ ที่จะเผยประกายสุกสว่างพร่างพรายของบรรดาอัญมณี พร้อมทวีความโดดเด่นให้แก่งานฝีมือเจียระไน แต่ละหน้าตัดกับทุกเหลี่ยมมุมสุดวิจิตรซับซ้อน ได้ร่วมกันแสดงให้เห็นถึงความชำนาญอันเป็นเลิศ กับสไตล์เอกลักษณ์ของเมซง

ภารกิจคราวนี้ Van Cleef & Arpels เลือกที่จะร้อยเรียงรัตนชาติต่างสกุล ต่างเฉดสีจำนวนกว่า 3,000 เม็ดเพื่อทวีความล้ำค่าของเพชรน้ำหนึ่งเหล่านี้ผ่านการใช้เทคนิคขึ้นตัวเรือนซ่อนหนามเตย ซึ่งได้รับจดสิทธิบัตรคุ้มครองเป็นเอกสิทธิ์เฉพาะ รวมถึงจดทะเบียนการค้าชื่อเรียกทางการว่า Mystery Set ไปเมื่อปี 1933 หนึ่งในลูกเล่นสุดแยบยล อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของการใช้ไหวพริบพลิกแพลงทักษะความชำนาญของบรรดาสุดยอดช่างฝีมือเจ้าของสมญานาม “ช่างมือทอง” หรือ Mains d’Or  ประจำห้องผลิตงาน ณ จัตุรัสว็องโดมที่จะบรรจงจัดวางอัญมณีสีสดแต่ละเม็ด (ซึ่งต้องการผ่านการเจียระไนอีกรอบสำหรับใช้กับเทคนิคเฉพาะตัวชนิดนี้) อย่างแม่นยำลงบนรางทองอันมีขนาดเล็กกว่าสองส่วนสิบมิลลิเมตรเพื่อให้กลบทับ ปิดเนื้อโลหะตัวเรือนมิดชิด และแนบเนียนเสมอกัน พร้อมกับก่อทรวดทรงสัณฐานตามงานออกแบบแรกเริ่ม

การได้พบกับรัตนชาติที่ยังคงทุกแง่มุมรายละเอียดตามธรรมชาติอย่างครบครันในขนาดนี้สักหนึ่งเม็ด ถือเป็นเหตุการณ์สะกดอารมณ์อย่างแท้จริง เป็นเหมือนความฝันที่เราไม่เคยคาดคิดว่าจะได้พบกับตาตัวเองและในความเป็นจริง เมื่อพวกเรามาอยู่ที่นี่ มาอยู่กันตรงหน้าเพชรเม็ดนี้หลังจากถูกนำออกมาจากแหล่งกำเนิดโดยยังไม่ผ่านประดิษฐกรรม หรือกรรมวิธีใดๆ โดยน้ำมือมนุษย์ และตอนที่ผมเห็นเพชรดิบขนาดนี้ ผมก็อยากเก็บมันไว้ในสภาพนี้ตลอดกาล เพราะมันช่างงดงามเสียจริงๆ ผู้อำนวยการแผนกรัตนชาติของ Van Cleef & Arpels กล่าว

ในขณะที่โธมัส ปอซกาอี ผู้อำนวยการแผนกออกแบบได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำงานครั้งนี้ว่า หกเดือนแรกของขั้นตอนการออกแบบคอลเลคชัน เป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความรู้สึกแรงกล้า ไม่ว่าจะเป็นความฝัน ความมุ่งมาดปรารถนา ความคาดหวังอันเปี่ยมล้น เราต้องนึกภาพเครื่องประดับ ซึ่งถูกสรรค์สร้างขึ้นเพื่อถ่ายทอด หรือเป็นตัวแทนสไตล์การออกแบบ หรือบุคลิกแบบฉบับทางการสรรค์สร้างของเมซง โดยเฉพาะลูกเล่นอันแสดงถึงทักษะความชำนาญเหนือชั้น อย่างเช่นเทคนิคฝังอัญมณีขึ้นตัวเรือนซ่อนหนามเตย (Mystery Set technique) ในขณะเดียวกัน ก็ต้องทวีความงดงามของเพชรทั้งหลายเหล่านี้ ซึ่ง ตอนนั้นก็ยังหาได้มีรูปทรงสำเร็จชัดเจน โจทย์ท้าทายที่ต้องเผชิญก็คือ การออกแบบผลงานชิ้นต่างๆ โดยให้หลอมรวมทุกองค์ประกอบความเป็นเราเข้าด้วยกันในสัดส่วนที่ลงตัว เป็นความกลมกลืนโดยไม่มีแง่มุมใดโดดเด่นเหนืออีกแง่มุม

หลังจากเวลากว่า 30,000 ชั่วโมงผ่านไปกับการทำงานของบรรดาช่างมือทอง ท่ามกลางผลงานเครื่องประดับสำเร็จทั้ง 25 ชิ้นในคอลเลคชันตำนานเพชร ที่สุดแห่งความวิจิตรตระการตาคงเลี่ยงไม่พ้นสร้อยคอซ่อนหนามเตยตัวเรือนเกลียวประดับ” Atours Mystérieux (อาตูรส์ มีซเตอริเยิกซ) ซึ่งรองรับเพชรขนาดใหญ่สุดที่ได้จากตำนานเลอโซโธ

เมซงเลือกใช้ลูกเล่นเหลี่ยมเกสรพื้นที่ 57 หน้าตัดกับงานเจียระไนทรงวงรีในสัดส่วนอันกลมกลืน อำนวยต่อการลำเลียงวิถีแสงตกกระแทบให้ส่องผ่านเนื้อเพชรน้ำหนักสูงถึง 79.35 กะรัตเพื่อก่อกระบวนการหักเหเร่งความเข้มแสงสะท้อนก่อนกระจายตัวกลับออกไปอย่างสว่างเจิดจ้าเต็มที่ ตัดกับประกายระยิบระยับของบรรดาทับทิมฝังขึ้นตัวเรือนซ่อนหนามเตยตามธรรมเนียมดั้งเดิม (Traditional Mystery Set) รวมถึงพู่ระย้าทับทิมซ่อนหนามเตยเอกเทศ (Individual Mystery Set) ซึ่งเทคนิคประการหลังคือการยึดอัญมณีแต่ละเม็ดให้แยกตัวเป็นเอกเทศจากกัน กระนั้นก็ยังสามารถบดบังเนื้อโลหะได้อย่างมิดชิด ด้วยความแยบยลเช่นนี้ บรรดาทับทิมรูปไข่จึงดูราวจะทิ้งตัวเป็นสายระย้ารับแสงรอบทิศทางที่สาดส่องผ่านน้ำพลอยเข้ามาเร่งระดับความสดชัดของเฉดสีโชติช่วงของดวงอัคคีปัทมราชได้อย่างวิจิตรตระการตา

งานออกแบบวงขดเกลียวเพชรสลับทับทิมของตัวเรือนสร้อยคอเส้นนี้ ได้รับแรงบันดาลใจจากเครื่องประดับอันทรงแบบฉบับระดับผลงานประวัติศาสตร์ Van Cleef & Arpels ถึงสองชิ้น นั่นก็คือสร้อยคอปกเสื้อ Collerette necklace (ก็อลเลอแร็ตต์) ที่ออกแบบไว้เมื่อปี 1938 กับสร้อยคอเพชรคู่บารมีสมเด็จพระราชินีนาซลีแห่งอียิปต์ที่สร้างสรรค์ขึ้นในปี 1939 บทบรรจบระหว่างลูกเล่นงานอกแบบรัตนชาติสองสีจากเครื่องประดับชิ้นแรก กับทรวดทรงโค้งเว้าได้สัดส่วนสมมาตรของผลงานชิ้นหลัง นำมาซึ่งสร้อยคอสวมสบายกระชับเนินฐานลำคอโดยอาศัยทักษะการประกอบชิ้นส่วนปล้องข้อต่อสลับสับหว่างอย่างต่อเนื่องตลอดวงโครงสร้าง เพื่อให้มั่นใจว่าตัวเรือนเกลียวประดับสามารถโอบกระหวัดอิงแนบสรีระได้อย่างพอดีเสมือนเนื้อผ้าสิ่งทอที่ใช้ทำขดเกลียวคอปกเสื้อ

การคำนวณอันคำนึงถึงความรู้สึกของผู้สวมใส่นี้ สะท้อนถึงความพิถีพิถัน ใส่ใจในทุกรายละเอียด ยิ่งไปกว่านั้น ในฐานะสร้อยคอซึ่งสามารถพลิกแพลงดัดแปลงรูปลักษณ์ได้ จึงยังมีอีกหนึ่งชิ้นส่วนประกอบเป็นโมทิฟจี้ฝังทับทิมซ่อนหนามเตยตัวเรือนเอกเทศล้อมเพชรสำหรับสลับสับเปลี่ยนกับจี้เพชรเม็ดกลาง ซึ่งเมื่อปลดออกก็สามารถนำไปร้อยเข้ากับสร้อยคอสายโซ่ได้อีกเส้น

Atours Mystérieux (อาตูรส์ มีซเตอริเยิกซ) 

นอกจากนั้น เพื่อเป็นบทสรุปเรื่องราวของเข็มกลัดริบบิน (ribbon clip) หนึ่งในผลงานสร้างชื่อ อันเป็นที่รู้จัก และจดจำในฐานะสัญลักษณ์ลูกเล่นทางการออกแบบของเมซง ซึ่งได้รับการรังสรรค์ พลิกแพลงขึ้นใหม่อย่างต่อเนื่อง งานออกแบบของเข็มกลัดซ่อนหนามเตยตัวเรือนประดับลาย Ornement Mystérieux (ออรเนอมองต์ มีซเตอริเยิกซ) คือบทสะท้อนถึงธรรมเนียมการสรรค์สร้างที่สืบสานมาจากบรรดาผลงานชิ้นประวัติศาสตร์อย่างเข็มกลัดโบว์ (Bow brooch) เมื่อปี 1928 หรือเครื่องประดับซ่อนหนามเตยรุ่นต่างๆ ระหว่างทศวรรษ 1980

เข็มกลัดชิ้นนี้ โดดเด่นด้วยงานฝังเพชรกลมคุณภาพระดับ triple EX (ความเป็นเลิศเหนือชั้นสามแง่มุม ประกอบไปด้วยรูปทรงเจียระไน ซึ่งผ่านการคำนวณอัตราระหว่างความลึก, ขนาดความกว้าง และพื้นที่หน้าตัดเพชรอย่างเฉียบขาดแม่นยำ, ความสมมาตรในเชิงสัดส่วนอันหมายถึงองศาอันแม่นยำระหว่างเหลี่ยมมุมกับตำแหน่งหน้าตัดเพชร และความหมดจด เกลี้ยงเกลาอันอำนวยต่อความเข้มแสง หรือความสว่างในประกายของเนื้อเพชร) ถึง 21 เม็ด น้ำหนักรวม 12.09 กะรัต งานเจียระไนเหลี่ยมเกสรของเพชรลูกต่างขนาด ต่างน้ำหนัก (จาก 0.29 ไปจนถึง 1.54 กะรัต) นำมาซึ่งลูกเล่นไล่ลำดับลดหลั่นเพื่อทวีความชัดเจนทางมิติทรงของชิ้นงาน

ในขณะเดียวกัน งานฝังเพชรยกนูนทับลงไปบนพื้นทับทิมซ่อนหนามเตย ยังให้ความรู้สึกเสมือนเป็นแถบริบบินลายจุด ส่วนตำแหน่งมัดปมโบว์กับชายริบบินทั้งสองแถบ รองรับงานฝังทับทิมซ่อนหนามเตยตามธรรมเนียมดั้งเดิมโดยมีเพชรเหลี่ยมบาแก็ตต์แถบเดี่ยวเดินขอบเน้นความคมชัดให้แก่เหลี่ยมมุม และความโค้งมน อ่อนช้อยทางรูปทรงของตัวเรือนเครื่องประดับในภาพรวม

นับเป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษที่เราได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนางานสร้างสรรค์ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของโครงการ นั่นก็คือการสกัดเพชรจากหินหยาบเพื่อนำมาใช้สรรค์สร้างคอลเลคชันเครื่องประดับชั้นสูง นิโคลาส์ บอสกล่าว การพัฒนาผลงานชุดตำนานแห่งเพชรหรือ Legend of diamonds ต้องใช้เวลาเกือบสี่ปีนับจากตอนที่เราเห็นก้อนเพชรดิบนี้เป็นครั้งแรกจนถึงคราวที่มันกลายเป็นเพชรลูกผ่านการเจียระไน และได้ขึ้นตัวเรือนเป็นชิ้นงานเครื่องประดับเสร็จสมบูรณ์ เราประสบความสำเร็จในการแสดงให้เห็นว่า เพชรซึ่งมีความพิเศษเหนือธรรมดาสักก้อน อันสามารถเป็นจุดเริ่มต้นเครื่องประดับสุดวิจิตรตระการตาชุดนี้ กำลังกลายเป็นอีกปรากฏการณ์ครั้งสำคัญซึ่งถูกจารึกลงในหน้าประวัติศาสตร์ของเมซง

อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของตำนานเพชรหาได้มีเพียงผลงานเครื่องประดับซ่อนหนามเตยอันถือกำเนิดจากตำนานแห่งเลอโซโธร่วมกับรัตนชาติสามสีคือทับทิม, มรกต และไพลินถึง 25 ชิ้นดังกล่าวเพียงเท่านั้น เพราะยังมีเครื่องประดับเพชรน้ำ (อันหมายถึงเพชรขาวใสไร้สีในการขึ้นตัวเรือน ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ทองคำขาว หรือแพลทินัมเป็นหลัก เพื่อให้เกิดความกลมกลืนทางเฉดโทน และประกายแห่งเนื้อสี) หรือ“คอลเลคชันเพชรน้ำหนึ่ง”  White Diamond Variations อีก 82 ชิ้นถูกออกแบบขึ้นเพื่อเป็นบทสรุปกระแสความนิยมอันมีต่อเครื่องประดับของแต่ละยุคสมัย  พร้อมกับแสดงให้เห็นถึงตำแหน่งสำคัญเป็นการถาวรของเพชรในบรรดาผลงานเครื่องประดับแห่งเมซง อีกทั้งยังเป็นหลักฐานบ่งชี้ถึงสถานะ และบทบาทของเพชรน้ำในคอลเลคชันสำคัญทั้งหลายตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนาน

นอกจากเครื่องประดับเพชรน้ำทั้ง 82 ชิ้นจะได้รับการออกแบบขึ้นเพื่อเป็นบทสรุปเรื่องราวทางประวัติศาสตร์เครื่องประดับสากลแล้ว ยังถือเป็นผลงานยกย่องความสำคัญให้แก่บรรดาสไตล์แห่งความเป็นเลิศ ซึ่งร่วมกันสั่งสมชื่อเสียงเกริกไกรให้แก่ Van Cleef & Arpels ผ่านการทำงานร่วมกับแผนกจัดเก็บตัวอย่างผลงานชิ้นสำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมซงเพื่อเลือกสรร และหยิบยกงานต้นแบบชิ้นเด่นมาใช้รังสรรค์ใหม่ในคอลเลคชันล่าสุดนี้ อาทิเช่นสร้อยคอเพชรสุดวิจิตรตระการตาที่ได้รับการสรรค์สร้างขึ้นสำหรับพระราชาพิธีอภิเษกสมรสของเจ้าฟ้าหญิงเฟาซียะห์แห่งอียิปต์ (พระธิดาในกษัตริย์ฟูอาดที่ 1 ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในสุภาพสตรีซึ่งงดงามที่สุดของโลก) กับมกุฎราชกุมารโมฮัมหมัดเรซา ปาห์ลาวี ว่าที่ชาห์แห่งอิหร่านเมื่อปี 1939 หรือชุดเครื่องประดับมหัศจรรย์สำหรับพิธีครองมงกุฎของจักรพรรดินีฟาราห์ ปาห์ลาวีแห่งเปอร์เซียในปี 1967 ตลอดจนแหวนทับทิมปัวรตา (Puerta) ที่ริชาร์ด เบอร์ตันมอบให้เป็นของขวัญคริสต์มาสแก่เอลิซาเบ็ธ เทย์เลอร์ (ซึ่งติดอันดับนักสะสมเครื่องประดับของ Van Cleef & Arpels ด้วยเช่นกัน) เมื่อปี 1968 และแหวนมรกตคู่เพชรที่จอห์น เอฟ. เคนเนดีใช้หมั้นหมายนางสาวแจ็กเกอร์ลีน บูวิเอร

ต่างหูไครสเลอร์ (Chrysler earrings) ซึ่งตั้งชื่อตามอาคารไครสเลอร์ หนึ่งในตึกระฟ้าอันโด่งดัง (ซ้าย)

หนึ่งในผลงานที่เล่าขานเรื่องราวแห่งยุคสมัยได้อย่างชัดเจนคงเลี่ยงไม่พ้นต่างหูไครสเลอร์ (Chrysler earrings) ซึ่งตั้งชื่อตามอาคารไครสเลอร์ หนึ่งในตึกระฟ้าอันโด่งดัง และมีความสำคัญที่สุดแห่งมหานครนิวยอร์กเจ้าของสมญา “อัญมณีระฟ้า” ด้วยฐานะแบบอย่างสถาปัตยกรรมยุคอลังการศิลป์หรืออาร์ต เดโค ผลงานการออกแบบโดยสถาปนิกวิลเลียม แวน อเล็นกับความสูงกว่า 1,000 ฟุตรองรับพื้นที่อาคาร 77 ชั้น ครองตำแหน่งสัญลักษณ์สำคัญของดินแดนแห่งเทพีเสรีภาพมานับแต่ปีค.ศ. 1939 งานจำลองแบบรูปทรงเรขาคณิต กับรายละเอียดเส้นตรงสลับเหลี่ยมมุมตัดก่อลูกเล่นขัดแย้งกับเส้นโค้งเส้นเว้าอันเป็นลักษณะเฉพาะตัวของวิถีอลังการศิลป์ ได้ถูกส่งผ่านต่างหูประกอบชิ้นส่วนฝังเพชรลูกทรงกลมเรียงแถวประกบขนาบเพชรหยดน้ำไล่ระดับถึงสี่ชั้นขึ้นโครงสร้างตัวเรือนฉลุโปร่ง เอื้อต่อการรับแสงส่องผ่านรอบทิศทางเพื่อให้ไฟในน้ำเพชรแต่ละเม็ดเพิ่มระดับความสว่างเจิดจรัสตระการตาเฉกเช่นคราที่อาคารสูงเสียดฟ้าต้นแบบแรงบันดาลใจได้สร้างความตื่นตะลึงแก่คนทั้งโลกในวันเปิดตัว

อีกหนึ่งผลงานย้อนรำลึกถึงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์นั้นก็คือสร้อยคอร้อยเพชรเป็นทางเมฆหรือ Envol de Diamants (อ็องวอล เดอ เดียมองตส์) ซึ่ง Van Cleef & Arpels รังสรรค์ขึ้นจากผลงานรุ่นต้นแบบที่เคยได้รับมอบหมายจากมารเซล ดาโซลต์ (Marcel Dassault) เมื่อปี 1956 ไว้เป็นของขวัญฉลองความสำเร็จให้แก่หนึ่งในวีรกรรมหาญกล้าของนักบินหญิงสัญชาติฝรั่งเศสฌาคเกอลีน โอริอัล สะใภ้คนดังของประธานาธิบดีฝรั่งเศสแว็งซองต์ โอริอัล ได้ทำลายสถิติการบินความเร็วสูงระดับโลกหลายต่อหลายครั้งโดยเฉพาะเมื่อปี 1953 อันส่งผลให้เธอเป็นนักบินหญิงชาวยุโรปคนแรกผู้สามารถขับเคลื่อนบินรบความเร็วสูงทลายกำแพงเสียง

ในขณะที่สร้อยคอ Mystère IV (มีสแตร กาตร เป็นชื่อเครื่องบินทิ้งระเบิดของ Dassault Aviation บริษัทฝรั่งเศสผู้ผลิตเครื่องบินต่อสู้อากาศยาน หรือเครื่องบินรบ และเครื่องบินเจ็ทธุรกิจ อันรวมถึงเจ็ทส่วนตัว) รุ่นต้นแบบเมื่อปี 1956 นั้น ได้รับการสรรค์สร้างขึ้นโดยใช้ทองคำเหลืองฝังเพชรต่างทางเมฆหางเครื่องบินทอดยาวเป็นวงตัวเรือนโอบกระหวัดรอบฐานลำคออย่างอ่อนช้อยออกมาจากจี้ทองคำรูปเครื่องบิน สร้อยคอ “ร้อยเพชรเป็นทางเมฆ” อันเป็นผลงานรุ่นใหม่ในคอลเลคชันนี้ กลับถูกออกแบบเป็นวงโค้งทางเมฆหางเครื่องบินแต่เพียงอย่างเดียวโดยอาศัยงานประกอบชิ้นส่วนทองคำขาวฝังเพชรขึ้นโครงสร้างอสมมาตรทิ้งตัวประดับระหงคออย่างงามสง่า แต่ละปล้องของตัวเรือนวงสร้อยคอได้รับการหล่อแบบโดยอาศัยเทคนิคสูญขี้ผึ้ง (lost wax) ตามธรรมเนียมงานฝีมือแบบดั้งเดิม ขึ้นรูปเป็นชิ้นส่วนโลหะทองคำขาวดัดโค้งรองรับการฝังเพชรสำหรับนำมาประกบเรียงอย่างต่อเนื่องโดยพลิกแพลงมาจากลูกเล่นงานออกแบบสร้อยคอเกศาอัปสร (Angel Hair) รุ่นต่างๆ ระหว่างทศวรรษ 1950 เพื่อมอบความยืดหยุ่น สวมสบาย

และเพื่อเติมเต็มความวิจิตรบรรจง ยังมีตัวเรือนอีกส่วนประกอบขึ้นจากงานออกแบบทองคำขาวฝังเพชรแถวเดี่ยวซ้อนกันสามเส้นทอดยาวเสมือนเป็นทางเมฆพวยพุ่งออกมาจากปลอกริบบินจรัสแสงระยับตา

หาได้เป็นเพียงเครื่องประดับสูงราคา (ที่หลายชิ้นถูกจับจอง มีเจ้าของไปเรียบร้อยตั้งแต่ก่อนสำเร็จเสร็จสิ้นเป็นผลงานสมบูรณ์แบบ) ทว่าทั้ง 107 ผลงานเหล่านี้ ยังทำหน้าที่เป็นเสมือนสมุดบันทึกบทสรุปเรื่องราวแต่ละยุคสมัยในประวัติศาสตร์อันล้ำค่าอย่างมิอาจหาใดเปรียบ อันถือกำเนิดจากสติปัญญาแยบคาย และน้ำมือของมนุษยชาติที่ต้องอาศัยความบากบั่น วิริยะ ควรค่าแก่การยกย่องเป็นอย่างยิ่ง

PHOTO Courtesy of Van Cleef & Arpels

ABOUT THE AUTHOR
วรวุฒิ พยุงวงษ์

วรวุฒิ พยุงวงษ์

At boundary of athletics and beauty, I write and play

ALL POSTS