RIP Madame Butterfly ผีเสื้อปีกเหล็กแห่งวงการแฟชัน
วงการแฟชั่นอาลัยนักออกแบบชาวเอเชียคนแรกที่ได้ฝ่ากำแพงสถาบันห้องเสื้อชั้นสูงปารีสขึ้นสู่ Haute Couture ได้
“ที่ดิฉันเลือกผีเสื้อเป็นแนวทางหลักในการออกแบบ ก็เพื่อให้ราชินีแห่งมวลแมลงนี้เป็นสัญลักษณ์สื่อถึงผู้หญิงญี่ปุ่น ซึ่งกำลังกางปีกของเธอโอบอุ้มโลกใบนี้” คือคำพูดของนักออกแบบสตรีสัญชาติญี่ปุ่น ผู้เดินทางไปทั่วโลกด้วยเจ็ทส่วนตัว อีกทั้งยังได้รับเกียรติร่วมโต๊ะอาหารค่ำกับเหล่าสมาชิกราชวงศ์ และบุคคลสำคัญระดับผู้บริหารชั้นนำของโลก ชื่อของเธอเป็นตัวแทนเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของสุภาพสตรีชาวญี่ปุ่นเหมือนอย่างที่เราใช้คำว่าโตโยตาเรียกรถยนต์ ใช้คำว่าโซนีเรียกเครื่องบันทึกเทป และนิกอนคือกล้องถ่ายรูป
เพราะไม่มีบูติกวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการในประเทศไทย คนไทยจึงอาจไม่ค่อยรู้จักชื่อของ “ฮานาเอะ โมริ” (Hanae Mori หรือที่คนฝรั่งเศสอ่านว่า “ฮานาเอะ โมรี”) เหมือนอย่างที่คุ้นชินกับ Chanel หรือ Dior กระนั้น ในญี่ปุ่น และยุโรป (ช่วงก่อนสหัสวรรษใหม่) ชื่อเสียงของเธอหาได้ต่างจากดารายอดนิยม มีข่าวปรากฏอยู่แทบจะตลอดเวลา โดยเฉพาะในหน้านิตยสารแฟชัน และรายการแฟชันทางโทรทัศน์ เราจะได้เห็นสุภาพสตรีร่างเล็ก บอบบางเจ้าของรอยยิ้มรูปหัวใจ สวมแว่นตาทรงกลมขนาดใหญ่ พูดจาด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน เนิบนาบ หากเต็มไปด้วยความมั่นใจ เหนืออื่นใด เธอคือนักออกแบบชาวเอเชียคนแรกที่ได้ฝ่ากำแพงกฎเกณฑ์อันเคร่งครัดแห่งสถาบันห้องเสื้อชั้นสูงปารีสจนติดทำเนียบผู้ประกอบการสามารถใช้คำว่า Haute Couture (โอต คูตูร: ห้องเสื้อชั้นสูง) หลังชื่อของตนได้
สำหรับตัวผู้เขียนเองนั้น ยังจดจำได้ดีถึงสมัยตัวเองได้มีโอกาสไปเกาะริมรันเวย์ และต้องตื่นตาตื่นใจไปกับความหรูหราอลังการของบรรดาชุดราตรียาวซึ่งอาศัยลูกเล่นผีเสื้อหลากสไตล์ในแต่ละคอลเลคชันประจำฤดู พร้อมกับขอไว้อาลัยไว้ ณ ที่นี้ให้แก่การจากไปอย่างสงบของ “มาดามบัตเตอร์ฟลาย” แห่งวงการแฟชันโลกด้วยวัย 96 ปีในบ้านพักของเธอที่กรุงโตเกียวเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2022
ฮานาเอะ โมริ (นามสกุลเดิมคือ “ฟูจิอิ” และเปลี่ยนเป็น “โมริ” หลังสมรสกับเคน โมริ นักธุรกิจสิ่งทอ ซึ่งพบ กันในปี 1946 และแต่งงานกันเมื่อปี 1947) เกิดเมื่อวันที่ 8 มกราคม 1926 ในอำเภอมูอิกาอิชิ (ปัจจุบันคือ โยชิกะ) ของจังหวัดชิมาเนะทางตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น ในครอบครัวพี่น้องหกคน เธอเป็นลูกสาวคนเดียวของนายแพทย์ผู้สั่งซื้อ และสั่งตัดเสื้อผ้าให้จากห้างสรรพสินค้าโตคิวจนกระทั่งในวัย 15 อันเป็นช่วงเริ่มต้นสงครามแปซิฟิก สาวน้อยฮานาเอะก็ต้องทิ้งเสื้อผ้าสะสวยไปทำงานในโรงงานเหมือนกับเด็กสาวชาวญี่ปุ่นหลายคนยุคนั้นจนความสงบกลับมา เธอจึงเข้าศึกษาต่อจนจบปริญญาตรีสาขาวรรณกรรมจากมหาวิทยาลัยคริสเตียน Tokyo Women’s Christian University และเบนเข็มชีวิตไปสู่โรงเรียนสอนตัดเย็บ ในปี 1947 เธอได้เปิดสตูดิโอออกแบบตัดเย็บเสื้อผ้าสตรีแห่งแรกของตนขึ้นในส่วนชั้นบนของร้านบะหมี่แห่งหนึ่งในเขตโฮโยชิยะของโตเกียวโดยมีเคน ผู้สามีเป็นหุ้นส่วนธุรกิจ
ในปีแรกแห่งภาวะฟื้นตัวจากภัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และความเสียหายเพราะระเบิดปรมาณู ผู้หญิงทั้งหลายที่เคยต้องใช้ชีวิตอย่างอัตคัด สงบเสงี่ยมอยู่ในครัว จำกัดการแต่งกายด้วยชุดกิโมโนผ้าเนื้อหยาบ ราคาถูกสีทึมทึบ ล้วนปรารถนาหาความสดใสมาชดเชยชีวิตที่ต้องจมอยู่กับความหม่นหมอง และเมื่อพวกเธอสามารถสลัดกิโมโนทิ้งเพื่อออกจากห้องครัวไปทำงานนอกบ้านเช่นเดียวกับผู้ชาย พวกเธอต่างพากันมาหาฮานาเอะ โมริเพื่อซื้อแจ็คเก็ต, กางเกงสแล็ก, สเวตเตอร์ และกระโปรง หลายคนได้เรียนรู้การแต่งกายวิถีใหม่สำหรับยามค่ำคืน รวมถึงการเลือกชุดแต่งกาย และเสื้อผ้าสำหรับโอกาสพิเศษจากผลงานการออกแบบของสุภาพสตรีร่างผู้นี้
สามปีต่อมาหลังกิจการของเธออยู่ตัวด้วยลูกค้าประจำทั้งสุภาพสตรีชาวญี่ปุ่น และบรรดาภรรยานายทหารอเมริกันซึ่งยังตกค้างอยู่บนเกาะญี่ปุ่นหลังสงครามผ่านพ้น ในปี 1951 ฮานาเอะ โมริได้เริ่มจับงานสายใหม่ นั่นก็คือการออกแบบ ตัดเย็บเครื่องแต่งกายประกอบภาพยนตร์ การทำงานร่วมกับบรรดาผู้กำกับการแสดงทั้งหลายในยุคทองของวงการภาพยนตร์ญี่ปุ่นถือเป็นการช่วยขัดเกลาสไตล์งานออกแบบของเธอให้ก้าวรุดหน้าขึ้นไปอีกระดับ อย่างไรก็ตาม จุดเปลี่ยนชีวิตที่แท้จริงนั้นกลับเป็นปี 1961 เมื่อเธอเดินทางไปยังมหานครปารีสเพื่อทำการศึกษา วิจัยเกี่ยวกับโกโก ชาเนล และตลาดแฟชันในกรุงนิวยอร์กหลังจากนั้น
“ระหว่างที่ดิฉันเดินทางไปๆ มาๆ ระหว่างสองมหานครแฟชันระดับโลกนั้น ดิฉันก็ได้ตระหนักถึงรากเหง้าของตนในฐานะ ‘พลเมืองชาวญี่ปุ่น’ อย่างรุนแรง” ฮานาเอะ โมริเคยให้สัมภาษณ์ไว้ในเว็บไซต์ของระกูเต็น “ดิฉันเห็นสินค้านำเข้าจากญี่ปุ่นถูกวางขายราคาถูกอยู่ในพื้นที่ชั้นใต้ดินของห้างสรรพสินค้าหลายแห่ง...ภาพของมาดามบัตเตอร์ฟลายในอุปรากร ‘มาดาม บัตเตอร์ฟลาย’ ซึ่งจัดแสดงในนิวยอร์กอีก ทั้งหมดนั่นไม่ใช่ญี่ปุ่นเลยสักนิด! ด้วยเหตุนั้น ดิฉันจึงตัดสินใจเสี่ยงโชคของตนอีกครั้งด้วยบรรดาผลงานการออกแบบสร้างสรรค์ ซึ่งเคยตัดเย็บขึ้นในญี่ปุ่น”
ความมาดมั่นของเธอในครั้งนั้นก็คือพุ่งทะยานสู่สากลด้วยตั้งใจจะยกระดับความเป็นญี่ปุ่นให้เป็นที่รู้จัก ยอมรับ ได้รับความนิยมในตลาดโลก ถึงแม้จะเป็นยุคสมัยที่ชื่อของเหล่านักออกแบบชาวญี่ปุ่นหาได้เคยมีปรากฏอยู่ในมหานครแฟชันของซีกโลกตะวันตกเลยด้วยซ้ำ การเดินทางไปมาระหว่างนิวยอร์กกับปารีสตลอดทศวรรษ 1960 ได้พิสูจน์ให้เธอตระหนักว่านักออกแบบชาวญี่ปุ่นไม่เคยอยู่ในสายตาของชาวตะวันตก อย่างเช่นตอนที่เธอพบกับโกโก ชาเนล และฝ่ายนั้นก็แนะให้เธอลองสวมชุดสูทสีส้มสดสว่างดูบ้าง
“เป็นคำพูดตรงไปตรงมาที่ช่วยเขี่ยเศษผงออกจากนัยน์ตาของดิฉัน” ฮานาเอะ โมริกล่าวถึงเรื่องราวครั้งอดีต “แนวทางการแต่งกายของผู้หญิงญี่ปุ่นดำเนินไปบนหนทางของการปิดบัง หลบซ่อนตัวเองอยู่หลังผู้ชาย ถึงแม้พวกเธอจะก้าวออกมาทำงานหาเลี้ยงตัวเองกันแล้วก็ตาม จู่ๆ ดิฉันก็เข้าใจได้ในทันทีว่า ดิฉันควรจะเปลี่ยนแนวทางการนำเสนอ และหันมาออกแบบตัดเย็บเสื้อผ้าที่จะช่วยทำให้ผู้หญิงสักคนได้ก้าวออกมาปรากฏตัวอย่างโดดเด่น และเต็มไปด้วยความเชื่อมั่น มั่นใจในตัวเอง”
และเธอก็ทำได้ด้วยการหาหนทางอันเป็นแบบฉบับเฉพาะตัว ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ฮานาเอะ โมริเป็นผู้บุกเบิกการนำมิติทรงเครื่องแต่งกายแบบตะวันตกมาเป็นโครงสร้างรองรับรายละเอียดการตกแต่งแบบตะวันออก โดยเฉพาะผีเสื้อหลากสี หลากขนาด ซึ่งได้สร้างสมญา “มาดามบัตเตอร์ฟลายแห่งวงการแฟชัน” ให้แก่เธอในกาลต่อมา เธอได้จัดแสดงคอลเลคชันแรกของตนบนรันเวย์แฟชันในกรุงนิวยอร์กเมื่อปี 1965 กับชื่อผลงาน “บูรพาบรรจบพบปัจฉิม” หรือ East Meets West ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้นได้จุดประกายนำทางสู่ความสำเร็จให้แก่บรรดานักออกแบบแฟชันสัญชาติญี่ปุ่นรุ่นต่อๆ มา ไม่ว่าจะเป็นเรอิ คาวาคูโบะ, เคนโซ ทาคาดะ, อิซเซ มิยาเกะ และโยจิ ยามาโมโตะเป็นอาทิ
ตลอดทศวรรษต่อมา เธอกับเคนร่วมกันบากบั่น มุ่งหน้าสานต่อการเติบโตทางธุรกิจควบคู่ไปกับภาวะเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ระหว่างนั้น เธอก็ยังไม่ยอมทิ้งงานออกแบบเครื่องแต่งกายสำหรับการแสดงอุปรากร และภาพยนตร์ อันถือเป็นหนึ่งในงานคุณูปการต่อชีวิตการทำงานของตน ดังจะเห็นได้จากภาพยนตร์ชีวิตแสนโรแมนติก Farewell to the Summer Light ผลงานการกำกับของโยชิชิเกะ โยชิดะเมื่อปี 1968 หลังจากเปิดโชว์รูมบนถนนสายเจ็ดแห่งมหานครนิวยอร์กเมื่อปี 1973 สู่การเปิดห้องเสื้อบนถนนมงแตญกลางกรุงปารีส อันเป็นทำเลที่ตั้งของบรรดาห้องเสื้อยักษ์ใหญ่แห่งวงการแฟชันยุโรปในอีกสี่ปีต่อมา และนั่นก็กลายเป็นใบเบิกทางสู่บทจารึกชื่อของเธอลงในทำเนียบนักออกแบบแฟชันชั้นสูงของสมาพันธ์ห้องเสื้อชั้นสูงแห่งกรุงปารีส (Chamber Syndicale de la Haute Couture) อันทรงเกียรติทัดเทียมกับ Chanel, Christian Dior, Givenchy, Nina Ricci, Jean-Louis Scherrer และ Ungaro เมื่อปี 1977
ตามกฎของสมาพันธ์ห้องเสื้อชั้นสูง เธอต้องจัดแสดงคอลเลคชันปีละสองครั้ง นั่นคือคอลเลคชันประจำฤดูใบไม้ผลิ-ฤดูร้อน และประจำฤดูใบไม้ร่วง-ฤดูหนาว แต่ละคอลเลคชันบนรันเวย์ของเธอสามารถสะกดสายตา จุดประกายความฝัน บันดาลปรารถนาจะครอบครองให้เกิดขึ้นในใจของผู้พบเห็นด้วยเอกลักษณ์ทางการหลอมรวมมิติทรงโครงสร้างเสื้อผ้าตะวันตกเข้ากับรายละเอียดการตกแต่งแบบตะวันออก ผ้าไหมทิ้งตัวกรุยกรายกับชีฟองพลิ้วสะบัด ประกาศความงามของลายพิมพ์สารพัน ทั้งดอกซากุระ, คลื่นทะเลแบบจิตรกรรมลายเส้นญี่ปุ่น, มวลปักษางามสง่า ทั้งนกกระสา และนกกระเรียน ตลอดจนงานออกแบบตัวอักษรญี่ปุ่น และที่ขาดไม่ได้ในทุกคอลเลคชันนั้นก็คือผีเสื้อ บรรดาสื่อมวลชน นักข่าวแฟชัน ต่างประทับใจไปกับชุดเสื้อ/กระโปรงติดกัน ซึ่งตัดเย็บจากผ้าไหมโดยอาศัยมิติทรงค็อกเทลเดรสแบบตะวันตกรองรับลูกเล่นคาดแถบผ้ารอบเอวแบบโอบิญี่ปุ่น, ชุดราตรียาวผ้าชีฟองสีม่วงเหลือบส้มซึ่งมอบความงามสง่าเยี่ยงชุดคลุมกิโมโนในราชสำนัก ตลอดจนลีลาการเดินของนางแบบซึ่งทำให้ลายพิมพ์กลีบกุหลาบคล้ายกำลังโปรยปรายดุจสายพิรุณ ชื่อเสียงในวงการแฟชันของเธอเป็นที่รู้จัก และจดจำมากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับเหล่าสาวกการแสดงระบำปลายเท้า และอุปรากร ซึ่งต่างปลาบปลื้มผลงานการออกแบบเครื่องแต่งกายนักแสดงใน Madame Butterfly ของปุชชินิที่จัดแสดงในลา สกาลา กรุงมิลานเมื่อปี 1985 หรือในบัลเลต์ชุด Cinderella ของรูดอล์ฟ นูรีเยฟซึ่งจัดแสดงในโรงอุปรากรปารีสเมื่อปี 1986 (และในนิวยอร์กเมื่อปี 1987) ตลอดจนอุปรากร Elektra ของริชาร์ด สเตราส์ในเทศกาลดนตรีซาลซ์เบิร์กระหว่างปี 1996
บรรดาลูกค้าระดับเอ-ลิสต์ต่างยาตรามาหาเธออย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐอเมริกาอย่างเลดี้ เบิร์ด จอห์นสัน, แนนซี่ เรแกน หรือกระทั่งฮิลลารี คลินตัน ดารานักแสดงอย่างเรนาตา เตบาลดิ และโซเฟีย ลอเรน ไปจนถึงสมาชิกราชวงศ์อย่างเจ้าหญิงเกรซแห่งมอนาโค และเจ้าหญิงมาซาโกะ ซึ่งสั่งตัดชุดแต่งงานเพื่อเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับมกุฎราชกุมารนารุฮิโตะเมื่อปี 1993 และอื่นๆ อีกมากมาย ได้กลายเป็นรากฐานการขยายตัวทางธุรกิจอย่างต่อเนื่องให้แก่ฮานาเอะ โมริ จากธุรกิจห้องเสื้อชั้นสูงไปสู่เสื้อผ้าสำเร็จรูปวางจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำระดับโลก ตามมาด้วยเครื่องแต่งกายชาย เสื้อผ้าเด็ก รองเท้า กระเป๋า ถุงมือ และผ้าพันคอ จนถึงกลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำหอมทั้งสำหรับผู้หญิง และผู้ชาย ถึงจะมีธุรกิจมากมายให้ดูแล ฮานาเอะ โมริก็ไม่เคยลืมรากเหง้าความเป็นญี่ปุ่นของตน ดังจะเห็นได้จากการรับงานออกแบบ ตัดเย็บพนักงานประจำสายการบิน Japan Airlines ถึงสามรอบสัญญา จากเครื่องแบบรุ่นแรกระหว่างปี 1967 จนถึง 1970 และรอบที่สองซึ่งสร้างความฮือฮาด้วยเดรสตัวสั้น มินิสเกิร์ตสุดโฉบเฉี่ยวตัดเย็บจากผ้านิตทอเส้นใยโพลีเอสเตอร์จากปี 1970 ถึง 1977 และรอบที่สามระหว่างปี 1977 จนถึง 1988, เสื้อผ้าของทีมนักกีฬาญี่ปุ่นซึ่งเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน ณ นครบาร์เซโลนาเมื่อปี 1992 และการแข่งขันลิลแฮมเมอร์ฤดูหนาวปี 1994
อย่างไรก็ตาม ภาวะผกพันทางเศรษฐกิจโลกช่วงครึ่งหลังทศวรรษ 1990 (โดยเฉพาะหลังปี 1997) ห้องเสื้อชั้นสูงหลายแห่งต่างเผชิญหน้ากับปัญหาทางการเงินอย่างหนักหน่วง ถึงแม้ก่อนหน้านั้นจะประสบความสำเร็จมากเพียงใดก็ตาม ฮานาเอะ โมริเองก็เช่นกัน ในปี 2002 หลังได้รับเครื่องยศอิสริยาภรณ์เลอชิย็องอันทรงเกียรติจากรัฐบาลฝรั่งเศส เธอเองก็จำต้องขายธุรกิจบางส่วนออกไปพร้อมจัดระเบียบธุรกิจใหม่เพื่อป้องกันการล้มละลาย รวมถึงปิดกิจการห้องเสื้อชั้นสูงที่กรุงปารีสลงในอีกสองปีให้หลังด้วยต้องการเกษียณตัวเองอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม เธอก็ยังทำงานอันเป็นที่รักของตนในบางครั้งคราว นั่นก็คือการออกแบบเครื่องแต่งกายอุปรากร รวมถึงได้ร่วมงานกับสถาบันศิลปะหลายแห่งเพื่อจัดนิทรรศการแสดงผลงานตลอดหลายทศวรรษในชีวิตการทำงานของตน
“ดิฉันรู้สึกว่าทุกอย่างมันจบสิ้นลงแล้ว” คือถ้อยสัมภาษณ์ของเธอในงานจัดแสดงเสื้อผ้าชั้นสูงคอลเลคชันสุดท้ายที่กรุงปารีสเมื่อปี 2004 หลังโค้งคำนับรับเสียงปรบมืออยู่เคียงข้างนางแบบชุดเจ้าสาว อิซูมิ โมริ ซึ่งเป็นหลานสาวของเธอ “ดิฉันดีใจมากที่ได้เห็นเพื่อนรักทั้งหมดของฉันตลอด 27 ปีของการทำงาน มารวมตัวกันอยู่ที่นี่ ดิฉันไม่รู้สึกว่าตนเองถูกทอดทิ้ง หรือต้องใช้ชีวิตอย่างเดียวดายเลย”
ฮานาเอะ ฟูจิ สมรสกับเคน โมริเมื่อปี 1947 และเปลี่ยนนามสกุลเป็นโมริตามสามี ทั้งสองมีลูกชายสองคนคืออากิระกับเคอิ ซึ่งต่างเป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการดำเนินธุรกิจส่วนต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเคน โมริเสียชีวิตลงเมื่อปี 1996 เธอมีหลานซึ่งถือกำเนิดจากลูกชายทั้งสองนี้ถึงหาคน และสองในนั้นก็คือฮิการิ กับอิซูมิ นางแบบชื่อดังของญี่ปุ่น
STORY BY วรวุฒิ พยุงวงษ์
PHOTO COURTESAY OF Attache de presse Hanae Mori