HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
ให้มันเป็นสีชมพู "Pink PP" เฉดสีสัญลักษณ์แห่งห้องเสื้อ Valentino ยุคใหม่
by วรวุฒิ พยุงวงษ์
13 ส.ค. 2565, 14:36
  901 views

ว่ากันว่า ถ้า Chanel มีสีดำ  Dior ก็คือสีเทาเทาดิออร์เจ้าของชื่อทางการว่า Gris Dior (กรีส์ ดิออร์) ด้วยฝีมือการผสมเฉดสร้างสีโดยบริษัทสี Benjamin Moore ตามแรงบันดาลใจของคริสเตียน ดิออร์อันได้จากสีเทาตริอานง (Trianon Grey สีเทาในพระตำหนักตริอานงแห่งแวรซายส์) สำหรับใช้ตกแต่งบูติกซึ่งเขาจะเปิดตัวบนถนนมงแตญเมื่อปี 1947 และกลายเป็นมรดกทางการออกแบบมาจนถึงปัจจุบันในขณะที่ห้องเสื้อ Valentino ก็มีสีแดงวาเลนติโนเป็นสีสัญลักษณ์

สำหรับห้องเสื้อวาเลนติโน สีแดงหาได้เป็นแค่สี แต่นี่คือเครื่องหมายแสดงความเป็นวาเลนติโน เป็นโลโก้ เป็นหนึ่งในองค์ประกอบอันทรงแบบฉบับของแบรนด์ และเป็นสัญลักษณ์แห่งคุณค่า วาเลนติโน การาวานิกล่าวถึงเฉดสีที่เขานำเสนอต่อสากลผ่านการแสดงคอลเลคชันแรกของเขาเมื่อปี 1959 โดยอาศัยงานผสมสูตรสีม่วงอมแดง (magenta) 100% เข้ากับสีเหลือง 100% สำหรับหักล้างค่าสีม่วง และเร่งความสว่างเจิดจ้า ส่วนสีดำอีก 10% คือบทเติมเต็มมิติความลึกของเนื้อสีเพื่อให้ได้ผลลัพธ์อันเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังดึงดูด, เสน่ห์เร่าร้อน และความงามสง่า ราวกับจรัสประกายสุกสว่างเป็นรัศมีเรืองรองรอบตัวผู้สวมใส่ พร้อมกับถ่ายทอดเรื่องราวแห่งแรงบันดาลใจในการออกแบบสร้างสรรค์เฉดสี อันได้รับการระบุชื่อทางการว่า Rosso Valentino ไว้ในบรรณานุกรมเทียบสีของแพนโทนนั้น มาจากความตระการตาของอุปรากร Carmen ของจอร์จ บิเซต์ที่เขาได้ดูระหว่างเป็นนักศึกษา เครื่องแต่งกายทั้งหมดบนเวทีเป็นสีแดง...ผู้หญิงทุกคนในชั้นบ็อกซ์ส่วนใหญ่ก็สวมชุดแดง ตอนพวกเธอโน้มตัวมาข้างหน้า นั่นไม่ต่างอะไรจากดงดอกเจอราเนียมปลูกไว้บนระเบียง นอกจากนั้น ผ้าบุที่นั่งกับผ้าม่านก็เป็นสีแดงด้วยเช่นกัน...ผมได้เรียนรู้ว่า นอกจากสีดำกับสีขาว ก็ไม่มีสีใดโดดเด่นประทับใจมากกว่าสีแดง

และล่าสุด เมื่อห้องเสื้อสัญชาติอิตาเลียนระดับตำนานแห่งนี้ได้มาอยู่ภายใต้การดูแลของปิเอร์เปาโล ปิคโชลิ ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ได้ผลักดันสีชมพูที่เขาออกแบบขึ้นร่วมกับแพนโทนประกาศตัวอย่างโดดเด่นด้วยชื่อเฉดทางการว่า Pink PP (หรือ “ชมพูปิเอร์เปาโล ปิคโชลิ” นั่นเอง) ขึ้นสู่ฐานะเฉดสีสัญลักษณ์แห่งห้องเสื้อ Valentino ยุคใหม่

ด้วยแรงบันดาลใจจากกรณีศึกษาเอกรงค์ของลูซิโอ ฟอนตานา จิตรกรลูกครึ่งอิตาเลียน-อาร์เจนติเนียน ผู้แตกสาขาศิลปะนามธรรม (Abstract) ออกมาเป็นศิลปะเชิงพื้นที่หรือ spatialism  ปิเอร์เปาโล ปิคโชลิได้มอบนิยามใหม่ให้แก่เฉดสีสาวหวาน อันสื่อความหมายถึงความรักโรแมนติกในภาษาสากลให้กลายเป็นสีแห่งอำนาจทัดเทียมกับสีแดง

สีชมพูเป็นสีแรกที่ผมนึกถึง เพราะนี่เป็นสีซึ่งผมใช้ในงานออกแบบคอลเลคชันต่างๆ มาตลอด สำหรับผม สีชมพูคือบทประกาศถึงปรารถนาใต้สำนึก ความต้องการปลดแอกตัวเราเองให้พ้นจากแนวคิดสัจจนิยม หรือโลกแห่งความเป็นจริงในปัจจุบัน ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์คนปัจจุบันกล่าวถึงจุดเริ่มต้นทางการสรรค์สร้างสีชมพู Pink PP พร้อมเปิดตัวอย่างตระการตาผ่านการใช้สีชมพูเฉดนี้ออกแบบเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายสำหรับผู้หญิง และผู้ชายแต่เพียงเฉดเดียวทั้งคอลเลคชัน รวมถึงเนรมิตโถงการจัดแสดงภายใน “การโต ดู ตอมเปลอะ” ให้บาดสายตาผู้เข้าชมด้วย Pink PP นี้เช่นเดียวกัน

ถ้าสืบสาวราวเรื่องในประวัติศาสตร์แฟชัน เราจะพบได้ว่า ก่อนสีชมพูฟูเชีย (Fuchsia) เฉดสดอมแดงสว่างเจิดจ้าเข้ามารับบทดาวเด่นในวงการแฟชันช่วงกลางทศวรรษ 2000 และมีสีชมพูมิลเลนเนียล (Millennial Pink) ซึ่งหักมุมด้วยความอ่อนโยน ละมุนละไมจากการผสมสีกุหลาบเข้ากับสีเนื้อเจือเฉดเบจ โดยอาศัยต้นแบบจากสีของ “แก้วกุหลาบ” (Rose Quartz) จะก้าวสู่ความนิยมในระหว่างปี 2016 ถึง 2017 อาณาจักรแฟชันอันยืนยงมายาวนาน เคยมีปรากฏการณ์สะท้านโลกมาแล้วระหว่างทศวรรษ 1930 ถึง 1940 ด้วยสีชมพูสดฉูดฉาดบาดตาขนานแท้ และได้กลายเป็นแหล่งกำเนิดแรงบันดาลใจให้แก่ศิลปินหลากแขนงหลายวงการกับชื่อเฉดที่ระบุอย่างเป็นทางการไว้ในสารบบแพนโทนว่า Shocking Pink หรือสีชมพูสะดุ้ง นั่นเอง

ว่ากันว่าตอนที่เอลซา สเกียปาเรลลิ นักออกแบบแฟชันสัญชาติอิตาเลียนผู้มาเปิดธุรกิจห้องเสื้อชั้นสูงในกรุงปารีส ทำการออกแบบสีชมพูเฉดนี้ ก็เพื่อจะใช้สำหรับทำนามบัตร แต่ไปๆ มาๆ สีเจิดจ้าบาดตาที่ถูกตั้งชื่อขึ้นจากคำอุทานติดปากของเธอ (สเกียปาเรลลิเป็นหญิงอารมณ์ดี มีอารมณ์ขัน เจออะไรถูกใจก็อุทาน “ช็อกกิง” ตลอดเวลา) นี้ กลับได้เลื่อนฐานะขึ้นมาเป็นเฉดสีสัญลักษณ์ประจำห้องเสื้อ และถูกนำมาใช้ในงานออกแบบเสื้อผ้าคอลเลคชันต่างๆ รวมถึงใช้ตั้งชื่อน้ำหอมกลิ่นแรกของเธอ (วางจำหน่ายปี 1937)

Madame_de_Pompadour_(1721-1764).
ภาพมาดาม เดอ ปอมปาดูร กับกุหลาบปอมปาดูร ต้นตำรับ

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะมีสีชมพูสะดุ้งอันโด่งดังของสเกียปาเรลลิ สีชมพูนั้นก็อยู่คู่อิสตรีทั้งหลายมานานนักหนาผ่านความแตกต่างทางเฉดโทนตามกาลสมัย อาทิสีชมพูเฉดอ่อนโยน ละมุนละไมซึ่งครองความนิยมทั้งในเรื่องของเครื่องแต่งกาย และศิลปะแขนงอื่นๆ ระหว่างทศวรรษ 1700 ดังจะเห็นได้จากสีชมพูกุหลาบปอมปาดูร (Rose Pompadour) สุดหรูหราประจำราชสำนักฝรั่งเศสอันเป็นประดิษฐกรรมจาก Sèvres (“แซฝร์” โรงงานผู้ผลิตเครื่องกระเบื้องเคลือบพอร์ซเลน ซึ่งก่อตั้งขึ้นในชุมชนแว็งเซินส์ราวปีค.ศ. 1740) ตามบัญชาของมาดาม เดอ ปอมปาดูร พระสนมคนโปรดของกษัตริย์ลูอิสที่ 15 ต้นตำรับ Fashion Influencer ตัวจริงของโลก (สันนิษฐานพระนางหมายใจจะใช้เป็นสีของชุดภาชนะพอร์ซเลน แต่สีสวยหวานจับใจเสียจนกลายเป็นสีทอผ้าสำหรับตัดเย็บเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ตลอดจนเฟอร์นิเจอร์สารพัน) ทั้งราชสำนักในกาลนั้นจึงสะพรั่งไปด้วยสีชมพูกุหลาบเฉดนี้ด้วยทุกคนปรารถนาจะเจริญรอยตามมาดาม ไม่ว่าจะผู้หญิง หรือผู้ชาย อีกทั้งในแวดวงศิลปะ เฉดสีโรสปอมปาดูรยังเป็นตัวแทนแห่งความเยาว์วัย และอ่อนหวานในยุคโรโกโก อันมีตัวอย่างโดดเด่นเห็นชัดจากชุดเดรสกระโปรงบานของแม่สาวโล้ชิงช้าในภาพวาด The Swing ของฌอง-ออนอเร ฟรากอนารด์

สีชมพูเข้ามาสู่โลกของบุรุษเพศในศตวรรษที่ 18 เด็กหนุ่มทั้งหลายหันมาแต่งกายด้วยสีชมพู ทั้งในเฉดอ่อนจนเกือบซีด ไปจนถึงสีชมพูโอลด์โรส (ซึ่งเด็กสาวทั้งหลายกำลังนิยมชุดสีฟ้าอ่อนกับสีฟ้าสด) จนกระทั่งเงาสงครามโลกมาเยือน สีชมพูพาสเทลกับสีชมพูลูกพีช ก็ได้ก้าวเข้ามาเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นผู้หญิงอย่างแท้จริง

กระนั้น ท่ามกลางเฉดสีอ่อนโยน และหวานละเมียดจนแทบกลายเป็นจืดชืด ประกอบกับภาวะน่าระอาระหว่างรอยต่อของสงครามโลกทั้งสองยุค ในปี 1937 เอลซา สเกียปาเรลลิได้ทลายบรรยากาศอึมครึมดุจโลกปราศจากสีสันสดใสด้วยการสรรค์สร้างสีชมพูสว่างฉูดฉาดบาดตากับประกายสว่างเจิดจ้าซึ่งทำให้ผู้พบเห็นต้องตื่นตะลึง สะดุ้งเฮือกกับความ “แรง” ผิดยุคสมัย จนเธอใช้ปฏิกิริยานั้น รวมถึงคำอุทานติดปากของตนมาตั้งชื่อเฉดสีนี้ว่า Shocking Pink หรือ “ชมพูสะดุ้ง” หนึ่งในกลไกขับเคลื่อนสร้างชื่อเสียงให้ห้องเสื้อแฟชันของเธอกลายเป็นศูนย์รวมความนิยมของชนชั้นสูงแห่งมหานครปารีสอย่างต่อเนื่อง และนำเธอไปสู่การเซ็นสัญญารับตำแหน่งผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายนักแสดงสำหรับภาพยนตร์ Moulin Rouge ผลงานการกำกับของจอห์น ฮูสตันเมื่อปี 1952 โดยเฉพาะเดรสยาวสีชมพูของซา ซา กาบอร์ ผู้รับบทเป็นฌานาวริล นักร้องสาวเด่นเด่นประจำไนต์คลับ ที่ทำให้ชื่อของเธอโด่งดังในระดับสากลแทบจะในทันที

สีชมพูสะดุ้งยังสืบทอดเรื่องราวของตนอย่างต่อเนื่องในประวัติศาสตร์แฟชันควบคู่กับวงการภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นเดรสสีชมพูช็อกกิง พิงค์ที่วิลเลียม ทราวิลลาออกแบบให้มาริลิน มอนโรสวมเข้าฉากร้องเพลง Diamonds Are A Girl’s Best Friend ในภาพยนตร์เรื่อง Gentlemen Prefer Blondes ซึ่งกลายเป็นมรดกตกทอดทางความคิดมาให้มาดอนนาสวมร้องเล่นเต้นระบำประกอบมิวสิควิดิโอเพลง Material Girl ของเธอเมื่อปี 1984 และจากสีชมพูสะดุ้งของรถที่เข้ากับเสื้อผ้าตุ๊กตาบาร์บีจนถึง  “เครื่องแบบสีชมพู” (อย่าลืมปากกาประจำตัว) ของแอล วูดส์ใน Legalley Blonde เมื่อปี 2001 อันสร้างชื่อให้รีส วิทเธอร์สปูนโด่งดังเป็นพลุแตกสีชมพูอย่างแท้จริง

ถึงแม้ เอลซา สเกียปาเรลลิจะไม่ใช่คนแรก และคนสุดท้ายที่คิดค้น และผลักดันให้สีชมพูมีอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงต่อวงการแฟชันการแต่งกาย กระนั้น เธอก็คือ “แม่” ผู้มีคุณูปการเหลือล้นต่อในการนำสีชมพูมาใช้อย่างมีไหวพริบ ต่อให้ปิดทำการห้องเสื้อชั้นสูงของตนไปเมื่อปี 1954 มาร์โก ซานินิ ซึ่งเข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ให้กับห้องเสื้อ Schiaparelli เมื่อปี 2014 ก็ได้รื้อฟื้นทุกมรดกแห่งความเรืองรองให้กลับมารุ่งโรจน์โชติช่วงอีกครั้ง และแน่นอน ย่อมรวมถึงสีชมพูแห่งตำนานที่แวดวงศิลปะทุกแขนงรู้จักกันดีในนาม Shocking Pink อันเกริกไกร

STORY BY วรวุฒิ พยุงวงษ์
PHOTO COURTESY OF VALENTINO

ABOUT THE AUTHOR
วรวุฒิ พยุงวงษ์

วรวุฒิ พยุงวงษ์

At boundary of athletics and beauty, I write and play

ALL POSTS