YALA RUNWAY: งานแฟชั่นโชว์ ปากายัน มลายู โชว์ความงามผ้าพื้นถิ่นบนรันเวย์
“เรามีเป้าหมายที่จะผลักดันให้เมืองของเราเป็นศูนย์กลางของแฟชั่นมาเลย์ และเรามั่นใจในศักยภาพของเรา แฟชั่นของไทยไม่เป็นสองรองใคร” นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา กล่าว ถึงความตั้งใจจัดงาน ปากายัน มลายู ที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ที่ผ่านมา
นายกฯ พงษ์ศักดิ์ เล่าให้เราฟังว่าประหลาดใจที่เห็นพ่อค้าแม่ค้าขายสิ่งทอมาเลย์และเสื้อผ้าแฟชั่นมากมาย และยิ่งทึ่งเมื่อรู้ว่ายังมีการขายสินค้าออนไลน์ให้กับชาวต่างชาติด้วย ทำให้มองเห็นโอกาสในการพัฒนาแบรนด์ให้ผู้ประกอบการได้
ทั้งนี้งานแฟชั่นมาเลย์ที่กำลังจะมีขึ้น จะค่อยๆ เสริมสร้างเศรษฐกิจของจังหวัดหลังการระบาดใหญ่ “อะไรก็ตามที่สร้างโอกาสให้กับประชาชนนั้นเป็นสิ่งที่ดีและได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังเพิ่มความภาคภูมิใจให้กับคนในท้องถิ่นอีกด้วย” เขากล่าวเสริม
กิจกรรมดังกล่าวจะช่วยผลักดันให้จังหวัดฟื้นฟูเศรษฐกิจ และเปิดโอกาสให้ผู้คนได้สัมผัสกับจังหวัดยะลาโดยตรงผ่านสายตาตัวเอง และค่อยๆ ลบภาพจำเรื่องความรุนแรงออกไป “ไม่มีอะไรดีไปกว่าการได้ประสบการณ์ตรง” เขากล่าวเสริม
เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ที่ ห้องประชุม อาคารอุทยานเรียนรู้ เทศบาลนครยะลา (TK Park) มีการจัดกิจกรรมเดินแฟชั่นโชว์ ปากายัน มลายู โดยมี นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดกิจกรรม โดยมีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ด้านที่ 1 คือการยกระดับการพัฒนา ส่งเสริมช่องทางการตลาดและการอนุรักษ์ ผ้าไทยและผ้าพื้นถิ่นจังหวัดยะลา โดยวันที่ 6 สิงหาคม มีการประกวดการออกแบบลายผ้าและเครื่องแต่งกาย ซึ่งเครื่องแต่งกายที่ชนะการประกวดแต่ละประเภทได้ขึ้นเดินแฟชั่นโชว์อีกด้วย
บนรันเวย์ มีการเดินแฟชั่นโชว์ 47 ชุด ประกอบด้วย ชุดจากดีไซเนอร์ประเทศไทย 9 ชุด ชุดที่ตัดเย็บจากดีไซเนอร์มาเลเซีย 10 ชุด ชุดที่ตัดเย็บจากดีไซเนอร์อินโดนีเซีย จำนวน 10 ชุด ชุดที่ตัดเย็บโดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดยะลา 5 ชุด ชุดที่ตัดเย็บโดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดยะลา 2 ชุด และชุดจากดีไซเนอร์ที่เข้าร่วมกิจกรรมการประกวดเครื่องแต่งกาย จำนวน 11 ชุด
นายพงษ์ศักดิ์ บอกว่างานนี้เป็นการต่อยอดสิ่งที่เทศบาลนครยะลาทำ มาแล้ว 6 ครั้ง นั่นคือ งานมลายูเดย์ @ยะลา ที่ได้ดำเนินการมาแล้ว 6 ครั้ง และได้รับการชื่นชมจากประเทศอินโดนีเซีย ประเทศมาเลเซียตลอดจนประเทศบรูไน ทำให้ได้เข้าไปพูดคุยกับทางกงสุลใหญ่ทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งก็ถือว่าเป็นประเทศที่เป็นพันธมิตรของเทศบาลฯ มาอย่างยาวนาน และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีมาโดยตลอดจึงกลายมาเป็นงานในวันนี้
เขากล่าวต่อว่า เทศบาลได้ผู้ประกอบการที่เป็นผู้บริหารสถาบันแฟชั่น Bangkok FA ซึ่งเป็นชาวยะลาได้เข้ามาช่วยกันทำให้งานแฟชั่นประสบความสำเร็จ นับเป็นก้าวแรก ถือว่าเป็นการจุดประกายที่ทำให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะมาเลเซียและอินโดนีเซีย
ในคาบสมุทรมลายูนั้นเรามีตลาดผ้ามลายูประมาณ 600 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นเงินหลายหมื่นล้านบาท ดังนั้น หาก ปากายัน มลายู” ช่วยยกระดับวงการผ้าพื้นเมืองและเครื่องแต่งกายมลายูในพื้นที่จังหวัดยะลาสู่ตลาดโลก พร้อมเป็นศูนย์กลางแฟชั่นผ้ามลายูและสร้างนักออกแบบรุ่นใหม่สู่วงการแฟชั่นผ้าพื้นเมือง ก็จะทำให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น ส่งเสริมอุตสาหกรรมต่างๆ ที่จะตามมา เป็นต้นน้ำก่อนที่จะมาสู่ปลายน้ำ
"ปัจจุบันจังหวัดเรามีเศรษฐกิจที่ดีที่สุดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ เราคิดว่ากิจกรรมอย่างงานแฟชั่นวีค หรือแม้แต่งานวิ่ง ยะลามาราธอน จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีชึ้นไปอีก จะเห็นว่ากำหนดเวลาของทั้งงานวิ่งมาราธอนและแฟชั่น จัดขึ้นในช่วงฤดู ที่ผลไม้ท้องถิ่นขึ้นชื่อของจังหวัด เช่นทุเรียน ส้มโชกุนกำลังออกผล จึงทำให้ผู้ที่มาร่วมงานได้ชิมผลไม้ไปด้วย”