พังงาเมืองสวยในหุบเขา ค้นหาปริศนาของเมืองธรรมดาในนิทรรศการไม่ธรรมดา
นิทรรศการศิลปะที่โชว์ผลงาน 50 ชิ้นที่ถ่ายทอดวิถีชีวิต และวัฒนธรรมของชาวพังงา ที่ศิลปินหลายรุ่นร่วมกันทำสิ่งเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ให้บ้านเกิด
ถึงพังงา จะเป็นเมืองเล็ก ๆ ในหุบเขาที่คนส่วนมากใช้เป็นเพียงทางผ่านไปยังรีสอร์ทริมทะเลสวย ไปถ่ายรูปเก๋ๆ ที่เสม็ดนางชี หรือลงเรือชมเขาตะปู ดูเขาพิงกัน ไปกินข้าวบนเกาะปันหยีในอ่าวพังงา หรือไปดำน้ำที่เกาะสิมิลัน เกาะสุรินทร์ เแต่นิทรรศการ “ศิลปกรรมพังงาเมืองสวยในหุบเขา” ชวนให้นักเดินทางได้เห็นว่า เมืองพังงาเป็นเมืองธรรมดาที่ไม่ธรรมดา
นิทรรศการ “ศิลปกรรมพังงาเมืองสวยในหุบเขา” รวมพลังศิลปินทุกรุ่น ตั้งแต่ศิลปินแห่งชาติ ได้แก่ ปรีชา เถาทอง, พิชัย นิรันต์, สมศักดิ์ เชาว์พงษ์ธาดา, อินสน วงศ์สาม และอิทธิพล ตั้งโฉลก ศิลปินอาวุโส 8 ท่าน เช่น วินัย ปราบริปู, สมภพ บุตรลาภ, สมวงศ์ ทัพพะรัตน์, วัชรินทร์ รอดมิตร, นุกูล ปัญญาดี และธรรมนูญ เรืองสวัสดิ์ รวมทั้งศิลปินรุ่นใหม่จากภูเก็ตอาร์ตคลับ และศิลปินลูกหลานชาวพังงามาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ที่จะชวนให้คนมารู้จักเมืองพังงามากขึ้นผ่านภาพเขียนสีน้ำ และภาพวาดสถานที่สำคัญ โบราณสถาน สถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของชาวพังงา รวมกว่า 50 ภาพ
ชัยณรงค์ ณ นคร ลูกหลานชาวพังงาที่ริเริ่มการจัดนิทรรศการนี้ เล่าว่า “ศิลปินหลายท่านซ่อนปริศนาไว้ในภาพ อย่างในภาพเขาล้างบาศ จะเห็นมีกลุ่มคนอยู่บนเขา มีร่ม นั่นคือศิลปินกำลังเล่าประวัติศาสตร์ว่าร. 5 และเจ้านายหลายพระองค์เคยเสด็จมาที่นี่ หรือในภาพเกาะปันหยี จะมีรูปธงซ่อนอยู่เพราะปันหยีแปลว่าธง ส่วนในภาพวาดหน้าคน จะมีลวดลายเหมือนภาพเขียนโบราณที่พบในถ้ำซำ นิทรรศการนี้เป็นนิทรรศการภาพที่สวย และให้คนที่เข้าชมได้สนุกกับการค้นหาปริศนาในภาพที่จะบอกเล่าเรื่องเมืองพังงาได้ในหลายแง่มุม”นิทรรศการ “ศิลปกรรมพังงาเมืองสวยในหุบเขา” เป็นหนึ่งในหลายๆ โปรเจ็คที่ชัยณรงค์ริเริ่มขึ้นด้วยความตั้งใจที่จะทำประโยชน์ให้บ้านเกิด และทำให้พังงาเป็นที่รู้จักมากขึ้น ไม่ได้เป็นแค่เมืองทางผ่านไปเท่านั้น
“พังงาให้อะไรกับประเทศเยอะ สมัยก่อนมีการขุดแร่ดีบุกมากในพังงา ซึ่งทำรายได้เข้าประเทศมากมาย ภาษีจากการทำเหมืองดีบุกก็คิดเป็นมูลค่ามหาศาล สาธารณูปโภคต่างๆ ในประเทศไทยที่เราใช้กันทุกวันนี้บางส่วนก็มาจากเงินภาษีจากการทำเหมืองดีบุกของคนพังงา แต่เรื่องพวกนี้คนรุ่นหลังไม่รู้ ผมอยากทำอะไรที่ทำให้คนรู้จักพังงามากขึ้นในทุกด้าน ทั้งประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม เศรษฐกิจและสังคม ผมอยากให้คนรู้ว่า พังงาไม่ได้มีแค่ทะเล กับเกาะ หรือที่ท่องเที่ยวเท่านั้น”
ชัยณรงค์ เคยทำงานกับสายการบินแห่งชาติมาตลอดชีวิต ก่อนจะขอเกษียณก่อนกำหนด เพื่อทำเป้าหมายในการโปรโมตเมืองพังงาให้เป็นจริง เงินเก็บจากการทำงานกว่า 30 ปีทั้งหมด ถูกใช้ไปกับการศึกษาข้อมูล การไปฝังตัวอยู่ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติหลายเดือน เดินทางไปถึงมาเลเซียเพื่อค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับต้นตระกูล ณ นคร ที่เป็นบรรพบุรุษของเจ้าเมืองพังงา ถึง 3 ท่าน คือ พระยาบริรักษ์ภูธร (แสง ณ นคร) พระยาบริรักษ์ภูธร (ขำ ณ นคร) และพระยาบริรักษ์ภูธร (พลอย ณ นคร) การเดินสายเล่าเรื่องเมืองพังงาให้นักเรียนและคนในชุมชนต่างๆ ทั่วเมืองพังงาได้รับรู้ และริเริ่มการสร้างอนุสาวรีย์ 3 พระยา เพื่อระลึกถึงพระยาบริรักษ์ภูธรทั้ง 3 ท่าน ที่พัฒนาเมืองพังงาได้อย่างโดดเด่นจนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงชมเชย
“เริ่มต้นผมแค่ศึกษาเรื่องบรรพบุรุษ ต่อมาชักบานปลาย เงินสะสมมีเท่าไรก็เอามาใช้เพื่อพัฒนาสถานที่สำคัญในเมืองพังงา เช่น เจดีย์บรรจุอัฐิเจ้าเมืองพังงาที่ชำรุดทรุดโทรมมาก ไปสำรวจและติดต่อกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อซ่อมบำรุงพระแท่นที่ประทับของเจ้านายตอนเสด็จประพาสหัวเมืองภาคใต้ ใครๆ ก็หาว่าผมบ้า เอาเงินมาทำอะไรที่ไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้ แต่ผมอยากทำเพื่อบ้านผม เพื่อบรรพบุรุษ ทำให้คนรุ่นหลังได้เห็นว่าเมืองพังงามีคุณค่า มีความหมายกับเรามาก” ชัยณรงค์กล่าว
นิทรรศการศิลปกรรมพังงาเมืองสวยในหุบเขา จัดแสดงที่โรงแรมบ่อแสนวิลล่า อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา ระหว่าง 8-14 พฤษภาคม 2565 นี้ แต่ถ้าใครพลาดไป ยังคงสามารถและเป็นเจ้าของภาพที่จัดแสดงในนิทรรศการนี้ที่เพจ ศิลปกรรมพังงาเมืองสวยในหุบเขา คลิก โดยจะนำรายได้สมทบโครงการก่อสร้างอนุสาวรีย์พระยาบริรักษ์ภูธร
PHOTO COURTESY OF Facebook page ศิลปกรรมพังงาเมืองสวยในหุบเขา