HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
เราอยู่กันยังไงก่อนถุงพลาสติกครองโลก
by ซัมเมอร์
19 เม.ย. 2565, 16:19
  913 views

ถุงก๊อบแก๊บ ที่เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเรา ที่จริงเพิ่งเข้ามาไทยได้สักสามสิบกว่าปีนี้เอง สเตน กุสตาฟ ธุนลิน วิศวกรชาวสวีเดนคิดค้นมันขึ้นมาในทศวรรษที่ 60 แต่กว่าจะแพร่หลายก็อีกตั้งยี่สิบปีต่อมา เมื่อบริษัทอเมริกันนำไปผลิตและใช้ในร้านค้าทั่วไป ถุงพลาสติกใส ขวดพลาสติก ก็เพิ่งเข้ามาก่อนไม่นานนัก

แล้วก่อนหน้านั้นเราอยู่กันยังไง? มีอะไรบ้างที่พลาสติกเข้ามาแทนที่...

ตะกร้ากับข้าว

ทุกครัวจะมีตะกร้าใบหนึ่ง มักจะเป็นหวายสานโปร่ง มีหูแข็งแรงคล้องแขนได้ เวลาแม่ครัว หรือใครก็ตามไปตลาด ก็จะคว้าตะกร้าใบนี้ติดมือไปเสมอ  เราซื้อกับข้าวกันทุกวัน ตะกร้าแค่ใบเดียวก็ใส่ของสดพอเลี้ยงคนทั้งบ้านได้แล้ว 

ฮวยน้า

เป็นตะกร้าไม้ไผ่สานทรงกลมมีฝาปิด ทาสีสดใสวาดลายผลท้อ ดอกไม้ ส้ม หรือทับทิมที่เป็นมงคล ใช้ใส่พวกของไหว้ ขนมและอาหารในงานพิธีแบบจีน

ห่อใบตองสด

ของในตะกร้ากับข้าวส่วนใหญ่ห่อด้วยใบตอง ใช้พันผักเป็นกำๆ มัดด้วยตอก ห่อเนื้อหมูสดก็ได้ หรือห่อเป็นทรงสามเหลี่ยมแหลมๆ คาดเส้นเตี่ยวที่เป็นใบตองเหมือนกัน กลัดด้วยไม้กลัดเหลาจากทางมะพร้าว ขนมตาล ขนมใส่ไส้ ข้าวเหนียวหน้าต่าง ๆ ห่อหมก ทั้งของคาวของหวานก็ห่อแบบนี้ได้ทั้งนั้น ถ้าเป็นพวกก๋วยเตี๋ยว ข้าว ก็จะใช้ใบตองแผ่นใหญ่ห่อทับ้ดวยกระดาษรัดหนังยาง หรือจะเย็บใบตองเป็นกระทง ก็ใส่อะไรได้อีกหลายอย่าง ทำเป็นซอง ใส่ดอกจำปี จำปา หรือพวกหมากพลูก็ได้

กระทงใบตองแห้ง

เก็บได้นาน น้ำหนักเบา นิยมใช้ใส่ของคาว เหมือนจานกระดาษ จานโฟม หรือกล่องพลาสติกสมัยใหม่ พวกก๋วยเตี๋ยวผัดซีอิ๊ว ผัดไทย ขนมผักกาด จุ๋ยก้วย กุ้ยช่าย ขนมจีบ ใส่กระทงแบบนี้ ราดด้วยน้ำจิ้มถือกินสะดวกดี พวกเครื่องปรุงอื่น ๆ ถ้าไม่ปรุงจากร้าน ก็มักจะมีอยู่ที่บ้านต่างหาก ไม่ต้องแบ่งใส่ถุงพลาสติกเล็ก ๆ ให้วุ่นวายสิ้นเปลือง

ถุงโชคดี

ถุงกระดาษสีน้ำตาลเจาะช่องเป็นหูจับ พิมพ์คำอวยพรให้โชคดีและมักจะมีรูปดาราด้านหนึ่ง อีกข้างเป็นตาหมากรุกสีเขียว หรือแดง ใช้ใส่สินค้าพวกเสื้อกางเกง ผ้าหลา หนังสือ หรือของที่มีราคาหน่อย ถ้าเป็นของกินของใช้ทั่วไป ใส่ถุงกระดาษสีน้ำตาล และมีถุงกระดาษหนังสือพิมพ์ที่พับขายกันเป็นอุตสาหกรรมในครอบครัว

ขวดแก้ว

น้ำอัดลม หรือแม้แต่น้ำเปล่าโพลาลิส โซดา เบียร์ นมสด ล้วนมาในขวดแก้วฝาจีบ ที่ไม่ใช่ขวดพลาสติกแบบใช้แป๊ปเดียวทิ้ง แต่จะรียูส ทำความสะอาดมาใช้ใหม่ และรีไซเคิลได้ด้วย เรามักจะซื้อของจากร้านชำใกล้บ้าน มัดจำขวดไว้ หรือคนคุ้นเคย ไม่ต้องมัดจำก็ได้ หลายๆ วันคนขายก็แวะไปเก็บตามบ้านเสียทีหนึ่ง อาชีพที่เด็ก ๆ ทำกัน คือเก็บขวดไปขายเป็นค่าขนม

พวงแก้วกาแฟ

ชากาแฟเสิร์ฟในแก้วเนื้อหนาที่เรียกว่าแก้วก้นดาว คนสมัยก่อนนั่งดื่มกาแฟในร้าน หรือสั่งจากร้านใกล้ๆ ไปที่บ้าน ที่ทำงาน ไม่ค่อยถือแก้วเดินไปมาหรือถือขึ้นรถลงเรือ เวลาสั่งชากาแฟจากร้านทีละหลายๆ แก้ว เด็กส่งกาแฟจะใส่แก้วลงในโครงลวด เรียกว่าพวงแก้วกาแฟ ชาไทยใส่นมข้นหนาเป็นนิ้วที่ก้นแก้ว และกาแฟหวานจัดมักจะเสิร์ฟคู่กับชาจีนร้อน ไข่ลวกก็ใส่แก้วแบบนี้ด้วย

กระป๋องนม

ถ้าซื้อกาแฟไปไกล ๆ แบบไม่กลับมาคืนแก้ว ก็จะชงใส่กระป๋องนมข้น อย่างนมข้นอาลาสก้า หรือตราเหยี่ยวเจาะรูที่ฝาร้อยเชือกกล้วยทำจากกาบกล้วยฉีกเป็นเส้นตากแดดให้แห้ง หิ้วสะดวก ดื่มหมดแล้ว เก็บกระป๋องไว้ชั่งกิโลขายต่อได้อีก

กระติกน้ำ

กระติกน้ำแข็งใส่โอเลี้ยงหวานชื่นใจ และกระติกน้ำร้อน คูลเลอร์ เป็นสิ่งที่มีประจำบ้านและสำนักงาน พวกซุปใสแบบจีนก็ใส่กระติกปากกว้างได้เหมือนกัน เด็กทุกคนจะต้องมีกระติกสีสดใสสะพายไปโรงเรียน

หม้ออวย

ถ้าเป็นแกงที่ใส่เนื้อสัตว์ หรือก๋วยเตี๋ยวน้ำ เกี๊ยวกุ้ง อะไรที่เป็นอาหารน้ำๆ มักจะใส่หม้ออวย เป็นหม้อสังกะสีเคลือบสีขาว เขียวหรือน้ำเงินทรงกลมป้อมมีฝาปิด หูหิ้วเป็นลวดเส้นหนา

ปิ่นโต

เชื่อว่าปิ่นโต มาจากคำญี่ปุ่นว่า เบนโตะ หมายถึงภาชนะใส่ข้าวไปกินในที่ต่าง ๆ ปิ่นโตใช้ได้ทั้งซื้ออาหารจากร้าน ใส่กับข้าวถวายพระ ใส่มื้อเที่ยงไปกินที่ทำงาน หรือผูกปิ่นโต สั่งอาหารจากร้านให้มาส่งทุกวันก็มี ถ้าเป็นอาหารจานเดียว กับข้าวอย่างเดียวก็ใช้กล่องข้าวโลหะที่มีช่องแบ่งใส่กับ เพื่อจะได้ไม่บูดเสียง่าย

ถังข้าวหมู และหลัวใส่ขยะ

สมัยก่อนแยกสิ่งที่ขายได้ พวกกระดาษ แก้ว โลหะ ออกไปก่อนจะทิ้ง อาหารสดที่เหลือจะลงไปอยู่ในถังข้าวหมู มีคนเลี้ยงหมูเข็นรถมาเก็บตามบ้านตอนใกล้ค่ำ ขยะเปียกอื่นๆ อาจขุดหลุมฝัง หรือใส่ “หลัว” หรือเข่งใบใหญ่ รอคนขนขยะมาเก็บไปกำจัด ไม่ต้องใช้ถุงพลาสติกสีดำหรือถุงก๊อบแก๊บใส่ขยะ

อย่างไรก็ตาม เราต้องยอมรับว่าถุงพลาสติกเป็นความสะดวกที่ไม่มีทางจะหายไปหมดสิ้น การเก็บค่าถุงไม่ได้ทำให้คนเลิกใช้อย่างสิ้นเชิง และวัสดุพวกใยสังเคราะห์ พลาสติกเนื้อหนาที่ทำมาขายแทนก๊อบแก๊บ ยิ่งเป็นภาระต่อสิ่งแวดล้อม ยังมีถุงขยะที่ขาดไม่ได้ จึงต้องยอมรับความจริงว่า นอกเหนือจากการลด ละ เลิก หรือเก็บค่าถุง ควรหาทางออกด้วยมาตรการพลาสติกยั่งยืน ที่รีไซเคิล แปรสภาพและย่อยสลายได้ รวมทั้งส่งเสริมการแยกขยะอย่างจริงจังที่สุดด้วย

 

ABOUT THE AUTHOR
ซัมเมอร์

ซัมเมอร์

เขียนหนังสือ แปลหนังสือ เป็นคอลัมนิสต์พลอยแกมเพชร หลงไหล K-pop และติดตามวงการแฟชั่น

ALL POSTS