HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
ชาร์จ แมเนจเม้นท์ ปั้นบริการชาร์จรถ EV อย่างไรให้ล้ำหน้าบิ๊กเนม
by L. Patt
27 มี.ค. 2565, 12:53
  1,101 views

        จากสตาร์ทอัพที่เริ่มธุรกิจให้บริการด้านการชาร์จรถ EV อย่างครบวงจร เมื่อปี 2019 ชาร์จ แมเนจเม้นท์ กลายเป็นดาวรุ่งที่สร้างการเติบโตผ่าน EV Charging Ecosystem และกำลังจะก้าวขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งที่ให้บริการหัวชาร์จรถไฟฟ้ามากที่สุดในประเทศไทย

        พัตเตอร์ - พีระภัทร ศิริจันทโรภาส กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชาร์จ แมเนจเม้นท์ จำกัด หรือ SHARGE บอกว่า นอกจากเรื่องราคารถแล้ว สิ่งสำคัญของตลาดรถ EV ก็คือ charging infrastructure เพราะการที่ผู้บริโภคจะตัดสินใจซื้อรถไฟฟ้า ก็จะต้องมีความมั่นใจว่า สถานีชาร์จไฟฟ้าสามารถตอบโจทย์ความต้องการผู้ใช้รถได้อย่างแท้จริงหรือไม่ ด้วยเหตุนี้ ชาร์จจึงมีเป้าหมายที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันด้วยการให้บริการที่สอดคล้องกับพฤติกรรมของลูกค้า เพื่อจะทำให้คนมีความรู้สึกว่า EV ไม่ได้ไปเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค

        เพื่อให้บรรบุเป้าหมายรายได้ 3,000 ล้านบาทภายใน 5 ปีข้างหน้า ปีนี้ ชาร์จ วางกลยุทธ์เพื่อการเติบโตด้วย 4  ปัจจัยหลัก คือ สร้างคววามแข็งแกร่งของ charging ecosystem ขยายสถานีชาร์จไปตามจุดที่คนใช้ชีวิตประจำวันให้มากขึ้น พัฒนาโซลูชันใหม่เพื่อขยายบริการไปยังตลาด Fleet และการอัพเกรดแอปพลิเคชั่นให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น

        ปัจจุบัน ชาร์จจับมือกับพาร์ทเนอร์ 27 ราย มีทั้งที่เป็นผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ห้างสรรพสินค้าและสำนักงาน โรงแรม ผู้ผลิตรถยนต์ และสถานีบริการน้ำมัน โดยตั้งเป้าจะขยายพาร์ทเนอร์ให้ได้อย่างน้อย 50 ราย ในปี 2025

        ส่วนการให้บริการมี 3 รูปแบบที่ดำเนินการเต็มรูปแบบ คือ Night (charge at home) Day (charge at destination) และ On-the-go (charge between destinations) โดยปีนี้ ชาร์จพัฒนาโซลูชั่นเพื่อริเริ่มให้บริการตลาด Fleet ไม่ว่าจะเป็นรถ/เรือโดยสารประจำทาง รถขนส่งสินค้าหรือโลจิสติกส์ รถขององค์กร รวมไปถึงรถยนต์สาธารณะ

        การบริการแบบ Night ที่เป็นตลาดหลักในขณะนี้ จะมีการติดตั้งให้ได้ 600 สถานี ภายในปีนี้ ครอบคลุมทั้งบ้านเดี่ยวและคอนโดมีเนียม โดยมีหัวชาร์จ 2,000-4,000 หัว ซึ่งจะทำให้ชาร์จผงาดขึ้นเป็นผู้นำในประเทศไทย ส่วนการบริการ Day จะขยายเพิ่มขึ้นอีก 100 สถานี และ On-the-go เพิ่มขึ้นอีก 200 สถานี

        สำหรับตลาด Fleet จะประเดิมด้วยเรือด่วนเจ้าพระยาเป็นรายแรก และอยู่ระหว่างการเจรจาอีกหลายราย ซึ่งจะเริ่มให้บริการได้ในปีนี้ ซึ่งชาร์จจัดทำโซลูชั่นเพื่อเป็นคนทำ EV Ecosystem ให้ทั้งหมด โดยจะเป็นคนขายไฟฟ้าให้กับ Fleet operator โดยตรง ติดตั้ง DC Charger รวมไปถึงระบบการบริหารจัดการการใช้ไฟฟ้า เพื่อทำให้ fleet operator สามารถควบคุมต้นทุนการใช้ไฟได้อย่างมีประสิทธิภาพ

         สุดท้ายคือ การอัพเกรดแอปพลิเคชันให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ามากยิ่งขึ้น มีการปรับปรุงให้เข้าถึงสถานีได้ดีขึ้น พัฒนาระบบ queueing system ให้ชัดเจน เช่น เวลาไปห้างสรรพสินค้า ลูกค้าจะเช็คดูได้ว่า จะสามารถจองคิวได้ช่วงกี่โมง มีคนใช้บริการต่อจากตนเองหรือไม่ ทำให้ลูกค้าจัดเวลาเพื่อเข้ารับบริการได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ยังมี privilege programme สำหรับลูกค้าในแต่ละกลุ่มพาร์ทเนอร์อีกด้วย

        ขณะนี้ ยังถือว่าประเทศไทยอยู่ในจุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยมียอดจดทะเบียนรถยนต์นั่งอีวี 100% (ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565) ประมาณ 5,000 คัน แต่ชาร์จเชื่อมั่นว่า หลังปี 2025 จะเติบโตอย่างรวดเร็ว และมีจำนวนสถานีชาร์จไฟฟ้าเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด เนื่องจากความพร้อมด้าน infrastructure นโยบายสนุนจากภาครัฐ ภาคเอกชน ค่ายรถยนต์ต่างๆ และกระแสเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเห็นได้ว่า บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ต่างๆ เริ่มหันมาให้ผลิตรถไฟฟ้า 100% กันมากขึ้น

        พัตเตอร์ ชี้ถึงปัจจัยหลักสำหรับผู้บริโภคในการตัดสินใจซื้อรถอีวีว่า ราคายังมาเป็นอันดับแรก ซึ่งรัฐบาลได้ออกมาตรการอุดหนุนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเพื่อส่งเสริมการใช้รถอีวี มีการขับขี่ที่สนุกขึ้น คนใส่ใจปัญหามลภาวะจากฝุ่น PM2.5 Green Technology และเทคโนโลยีที่ทำให้ชาร์จไฟฟ้าได้เร็วขึ้น และวิ่งได้ระยะทางไกลขึ้น เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยเร่งให้ตลาดรถอีวีมีการเติบโต

         ดังนั้น เป้าหมายของรัฐบาล 30/30 คือ มีการผลิตรถไฟฟ้าเป็นสัดส่วน 30% ในปี 2030 ก็อาจจะเป็นเพียงตัวเลขขั้นต่ำก็ได้ ขณะที่สถานีชาร์จจะมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดนับตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป ซึ่งคาดว่า จะมีจำนวน 100,000-200,000 เครื่องทั่วประเทศ

MAIN PHOTO BY NationThailand
PHOTO courtesy of Sharge 

ABOUT THE AUTHOR
L. Patt

L. Patt

ALL POSTS