เธอ-คือ-กระเป๋า!
“นี่ไม่ใช่กระเป๋า แต่เป็นเบอร์กิน กลยุทธ์การตั้งชื่อกระเป๋าของแบรนด์ตามชื่อของ “แฟชันไอคอน” หรือบุคคลที่สร้างแรงบันดาลใจ
ประโยคอมตะแห่งวงการแฟชันที่ว่า “นี่ไม่ใช่กระเป๋า แต่เป็นเบอร์กิน!” คงเป็นบทพิสูจน์ชั้นดีที่ยืนยันได้ว่าผลงานแฟชันอันถือกำเนิดจากศิลปะงานฝีมือนั้น ต้องอาศัยกลยุทธ์ทางการตลาดเป็นแรงขับเคลื่อนสู่ความสำเร็จ และกลยุทธ์ในกรณีนี้ก็คือการตั้งชื่อกระเป๋าของแบรนด์ตามชื่อของ “แฟชันไอคอน” หรือบุคคลผู้ได้รับการอ้างอิงว่าเป็นที่มาแห่งแรงบันดาลใจทางการออกแบบนั่นเอง
ไม่ว่าจะเป็น Birkin ซึ่งมีจุดเริ่มต้นเรื่องราวของตนเมื่อปี 1984 บนเครื่องบิน Air France ไฟลท์ปารีส-ลอนดอนที่เจน เบอร์กิน ดารา และนักร้องสัญชาติอังกฤษเจ้าของไลฟ์สไตล์โบฮีเมียนแบบฝรั่งเศสผู้โด่งดังต้องกระเตง “ลู” ลูกสาววัยสองขวบของตนกับฌาคส์ ดัวญง ผู้กำกับสัญชาติฝรั่งเศสชื่อดังขึ้นเครื่องไปด้วย สภาพอีรุงตุงนัง ไหนจะลูก ไหนจะสัมภาณะติดตัวสารพัน ทำเอาเอกสาร กระดาษสคริปต์ และโน้ตเพลงทั้งหลายก็ร่วงกรูจากกระเป๋าลงมากระจายเกลื่อนพื้น เท่านั้นเอง คุณแม่ยังสาวก็ต้องบ่นอย่างหงุดหงิดกับผู้โดยสารซึ่งนั่งอยู่ข้างๆ ว่า “ทำไมถึงหากระเป๋าที่ใหญ่ และจุของสำหรับคนเป็นแม่ในวัยขนาดฉันไม่ได้เลยนะ!” และผู้โดยสารคนนั้นก็ดันเป็นฌอง-ลูอิส ดูมาส์ ประธานผู้บริหารของ Hermès ซึ่งเอ่ยปากออกความเป็นไปว่าเธอควรมีกระเป๋าที่มีช่อง มีซอกบรรจุภายในมากกว่านี้ “ก็ไว้แอรเมสทำกระเป๋ามีซอก มีช่องแบบนั้นออกมาเมื่อไหร่ ฉันจะไปซื้อนะ!” คือคำตอบของเบอร์กิน ผู้ไม่รู้ว่าสุภาพบุรุษคนนี้คือใคร แต่แน่ล่ะ ใครๆ ก็ต้องรู้จักเธอ และนั่นเอง กระเป๋าพื้นที่โอ่โถง มีช่องจุข้าวของจุกจิกในขนาดใหญ่กว่า Kelly อันถือเป็นผลงานระดับไอคอนิกของ Hermès เช่นเดียวกันก็ได้ถือกำเนิดขึ้นเพื่อจัดส่งตรงไปยังเจน เบอร์กินตามที่ดูมาส์ได้รับปากเธอไว้
แน่นอน นอกจาก Birkin ก็คือ Kelly ซึ่งคนทั่วโลกได้เห็นกระเป๋าใบนี้พร้อมกันก็ตอนที่เกรซ เคลลี (ก่อนสมรสกับเจ้าชายเรนิเอร์ที่ 3 แห่งราชวงศ์กริมัลดิ ราชรัฐมอนา) ถือเข้าฉากในภาพยนตร์เรื่อง To Catch a Thief ของอัลเฟร็ด ฮิทช์ค็อกเมื่อปี 1956 กระเป๋ารูปทรงสี่เหลี่ยมขนาดกะทัดรัด ไม่ใหญ่ และไม่เล็กเกิน ซึ่งอีดิธ เฮด ผู้ดูแลเครื่องแต่งกายประจำกองได้จัดหาให้เกรซใบนี้ ดูจะถูกใจเจ้าหญิงแห่งวงการฮอลลีวูดอย่างมากเพราะหลังจากนั้น เธอก็หิ้วติดตัวไปทุกหนทุกแห่ง รวมถึงยังใช้เป็นเครื่องกำบังหน้าท้องที่กำลังโตขึ้นเรื่อยๆ จากการตั้งครรภ์ และ Hermès ได้เจิมชื่อกระเป๋าอย่างเป็นทางการให้กระเป๋ารุ่นนี้เมื่อปี 1977 ว่า Kelly เพื่อเป็นเกียรติให้แก่ลูกค้าคนสำคัญ ซึ่งทำให้กระเป๋ารุ่นนี้กลายเป็นสุดยอดปรารถนาของผู้หญิงทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม ก็หาได้มีแค่เกรซ เคลลีกับเจน เบอร์กินเท่านั้น หากยังมีสุภาพสตรีผู้โด่งดังในแต่ละยุคสมัยที่สร้างแรงบันดาลใจในฐานะแฟชันไอคอน หรือเป็นที่มาของชื่อผลงานสร้างสรรค์อันทรงแบบฉบับ ครองตำแหน่งสัญลักษณ์ประจำแบรนด์ อย่าง Jackie ของ Gucci ซึ่งเป็นกระเป๋าประจำตัวของแจ็คเกอลีน บูวิเยร์ เคนเนดี โอนาสซิสมาตั้งแต่ครั้งยังเป็นแค่สาวสังคม และทำงานเป็นบรรณาธิการหนังสือ
หลังจากเริ่มวางจำหน่ายเมื่อปี 1964 และเป็นที่ชื่นชอบของมิสซิสบูวิเยร์ ซึ่งสั่งซื้อไปถึง 6 ใบ ก็ได้ครองตำแหน่งกระเป๋าคู่ใจของเธอตลอดทศวรรษ 1970 กระเป๋ารหัส G1244 ของ Gucci อันใช้ชื่อว่า Fifties Constance ได้ทำหน้าที่ต่อเจ้านายของตนอย่างจงรักภักดีในทุกหนทุกแห่งตั้งแต่ยังใช้นามสกุลเดิมไปจนถึงเปลี่ยนนามสกุลใหม่ตามสามีไปอีกสองครั้ง ไม่ว่าจะในฐานะกระเป๋าใส่ข้าวของจำเป็น หรือเครื่องกำบังตัวจากเหล่าปาปารัซซี ร่วมกับแว่นกระกันแดดคู่โตครึ่งวงหน้า ระหว่างออกจากอพาร์ตเมนท์ในแมนฮัตตันไปจนถึงสนามบินฮีทโธรว์ ในท้ายสุด กระเป๋าทรงพระจันทร์เสี้ยวฐานสี่เหลี่ยมคางหมู พร้อมสายหิ้วขนาดกระชับ ซึ่งแจ็คเกอลีน เคนเนดี โอนาสซิสได้สั่งทำแตกหน่อออกมาอีกหลายรุ่น รวมถึงรุ่นตัดเย็บจากผ้าใบไว้ถือสวยๆ เวลาเดินเท้าเปล่าบนผืนทรายที่เกาะคาปรี ก็ได้รับการตั้งชื่อใหม่ว่า Jackie
เป็นเรื่องปรกติเช่นกัน หากนักออกแบบสักคนจะได้รับแรงบันดาลใจจากผู้หญิงใกล้ตัว ถ้าไม่ใช่แม่ (อย่างคริสเตียน ดิออร์, โอลิวิเยร์ ลาปิดุส, ฟรองซัวส์ นารส์ และทอม ฟอร์ด เป็นอาทิ) ก็เป็นเมีย อย่างในกรณีของราล์ฟ ลอเรน ผู้รังสรรค์โท้ต หรือกระเป๋าทรงถุงสี่เหลี่ยมผืนผ้าไว้เก็บข้าวของสารพันแบบกระเป๋าคูเปอร์ (กระเป๋าเดินทางสำหรับหิ้วติดตัวรุ่นยอดนิยมของบรรดาสุภาพบุรุษในศตวรรษที่ 19) ในสไตล์ที่รองรับความต้องการ และวิถีการดำเนินชีวิตของสาวสปอร์ตผู้รักความคล่องตัว หรืออีกนัยหนึ่งก็คือกระเป๋าถือประจำวันอันเหมาะกับริคกี แอนน์ โลว์-เบียร์ สาวอเมริกัน ผู้สะกดสายตาลอเรนตั้งแต่แรกพบเมื่อปี 1964 ด้วยสไตล์การแต่งกายเชิ้ตขาว กางเกงยีนส์ สวมเบลเซอร์ทรงเหลี่ยมทับแบบลวกๆ เจ้าของท่วงท่าปราดเปรียวแบบสาวสปอร์ตอเมริกันตัวจริง และเขาได้ตัดสินใจแต่งงานกับเธอในวันที่ 20 ธันวาคมปีเดียวกันนั้น
และเมื่อ 20 ปีที่แล้ว กระเป๋าหนังเนื้อเรียบสีเดี่ยวเจ้าขององค์ประกอบ 25 ชิ้นส่วน ซึ่งอาศัยเวลาในการผลิตใบละ 12 ชั่วโมงตั้งแต่ขั้นตอนวาดแพ็ทเทิร์น วัดขนาด ตัดชิ้นส่วน และเย็บประกอบด้วยมือโดยใช้ด้ายค็อตตอนเคลือบแว็กซ์กันรุ่ย และตกแต่งรายละเอียดโลหะสั่งทำจากอิตาลี รวมถึงตัวล็อคกระเป๋ารูปทรงเหมือนเลข 8 รองรับงานสลักชื่อ Ralph Lauren อันเป็นที่รู้จัก และจดจำได้ในทันทีนี้ ก็กลายเป็นที่ปรารถนาของผู้หญิงมากมายทั่วโลกหลังจากมาปรากฏเฉิดฉายอยู่ในมือของริคกี ลอเรน และบนรันเวย์ของราล์ฟ ลอเรน
อย่างไรก็ตาม กระเป๋าบางรุ่น ถึงแม้จะไม่ได้ใช้ชื่อตามสตรีผู้เป็นแรงบันดาลใจ หรือต้นกำเนิดของงานออกแบบ กระนั้น ความผูกพันอันเป็นตำนานก็ยังคงอยู่คู่กระเป๋าใบนั้นอย่างยากปฏิเสธ ดังจะเห็นได้จาก Speedy 25 ของ Louis Vuitton
ออเดรย์ เฮพเบิร์นผู้ถือกำเนิดในวันที่ 4 พฤษภาคม และโด่งดัง เป็นที่รู้จักของคนทั้งโลกจากบทเจ้าหญิงแอนน์ในภาพยนตร์เรื่อง “โรมรำลึก” หรือ Roman Holiday อันทำให้เธอคว้ารางวัลดารานำแสดงหญิงยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์ปี 1953 ได้ขอให้อูแบรต์ เดอ จิวองชีออกแบบเครื่องแต่งกายของเธอสำหรับเข้าฉากภาพยนตร์เรื่อง Sabrina ซึ่งต้องข้ามแอตแลนติกไปถ่ายทำถึงปารีส ความสนิทสนม และผูกพันเกินกว่าการเป็นลูกค้ากับเจ้าของห้องเสื้อ หรือดารากับเจ้าของแบรนด์ ทำให้จิวองชีกลายเป็นนักออกแบบเสื้อผ้าประจำตัวให้แก่ดาวจรัสแสงแห่งวงการภาพยนตร์ผู้นี้อย่างต่อเนื่อง
ส่วนในเรื่องของเครื่องหนัง เครื่องประดับ เขาได้พาเธอไปสู่ Louis Vuitton ซึ่งมีกระเป๋าให้เธอถือเข้าฉากภาพยนตร์หลายต่อหลายเรื่องรวมถึง Breakfast at Tiffany’s จนกระทั่งปี 1959 เฮพเบิร์นจึงขอให้ทาง Louis Vuitton ช่วยปรับเปลี่ยนกระเป๋าถือแบบ Keepall ให้มีขนาดกะทัดรัดยิ่งขึ้น แต่ก็ยังต้องสามารถใช้จุของใช้ประจำตัวได้ครบครัน และกระเป๋าขนาดกว้าง 25 ซม. รุ่นต้นแบบตัดเย็บจากผ้าใบทอฝ้ายหรือค็อตตอน แคนวาส อันอำนวยต่อการปรับรูปทรงเพื่อยัดเข้ากระเป๋าเดินทางเวลาขึ้นเครื่องบิน เจ้าของชื่อ Louis Vuitton Speedy ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นเพื่อรองรับความต้องการเฉพาะตัว ก่อนจะกลายเป็นที่นิยมระดับสากลเนื่องจากในยุคนั้น ใครๆ ก็อยากเป็นเหมือนออเดรย์ เฮพเบิร์น
ส่วนกระเป๋าเจ้าของเรื่องราวอันมีสีสันอย่างที่สุดก็คงเป็น Lady Dior ซึ่งเมื่อแรกเริ่มนั้นยังปราศจากชื่ออย่างเป็นทางการ แผนกเครื่องหนังของ House of Dior ในยุคที่จานฟรังโก แฟรเรยังดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ ได้ทำกระเป๋าต้นแบบออกมาและเรียกกันง่ายๆ ว่า Chouchou (ชูชู หรือ favorite อันหมายถึงคนโปรด หรือของโปรด) เมื่อปี 1994 ระหว่างรอดำเนินการผลิต และวางจำหน่าย บนโต๊ะอาหารค่ำคืนหนึ่งก่อน 25 กันยายน 1995 ซึ่งจะเป็นวันเปิดนิทรรศกาลปอล เซซานน์ (Paul Cézanne exhibition)ในกรุงปารีส เบอร์นาเด็ตต์ ชิรัค ปรารภกับแบรนารด์ อารโนลด์ว่าตนยังไม่มีของขวัญอะไรมอบให้แก่ที่เจ้าหญิงแห่งเวลส์ หรือเลดี้ไดอานาที่หลายคนนิยมเรียก ผู้จะเสด็จมาร่วมงานเลย ยักษ์ใหญ่แห่งวงการสินค้าหรูระดับโลกได้บอกกับสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของฝรั่งเศสว่าแฟรเรเพิ่งเซ็นอนุมัติกระเป๋าต้นแบบไป แต่ยังไม่มีการผลิต และวางจำหน่าย ดังนั้น Chouchou จึงน่าจะเป็นตัวเลือกอย่างดีที่สุด
ภายในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง กระเป๋าถือรูปทรงสี่เหลี่ยมตัดเย็บจากหนังสีดำรองรับงานปักด้ายเดินตะเข็บกรุลายขัดสานที่เรียกว่า cannage (กานาจ) อันได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากลายสานหวายพนักเก้าอี้นโปเลียนที่ 3 ซึ่งถูกนำมาใช้กับเก้าอี้ดูแฟชันโชว์ภายในซาลอนต่างๆ ของบูติก Dior บนถนนมงแตญมาตั้งแต่คอลเลคชันแรกเมื่อปี 1947 จนกลายมาเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ประจำห้องเสื้อระดับตำนาน ก็สำเร็จพร้อมสรรพร่วมกับหูหิ้วกระเป๋าห้อยชาร์มอักษรโลหะ D.I.O.R. รอทำหน้าที่เป็นของขวัญเชื่อมไมตรีระหว่างสองสุภาพสตรีระดับผู้นำประเทศ
ไม่ต้องสงสัย เจ้าหญิงแห่งเวลส์ตกหลุมรักกระเป๋า Chouchou ใบแรกของโลกนี้ในทันที อีกทั้งยังสั่งทำเพิ่มอีกหลายสไตล์เพื่อตามติดพระองค์ไปยังสถานที่ต่างๆ อย่างครั้งเสด็จลิเวอร์พูลเมื่อปี 1995 หรือร่วมงานเม็ต กาลาปี 1996 แต่ภาพที่ทั่วโลกต้องหลงรัก และประทับใจนั้นก็คือครั้งเจ้าหญิงไดอานาทรงถือกระเป๋าใบนี้พร้อมอุ้มเด็กไว้ในอ้อมแขนระหว่างเสด็จเยือนบ้านสงเคราะห์เด็กที่เบอร์มิงแฮมเมื่อเดือนพฤศจิกายน 1995 เช่นเดียวกับภาพที่ทรงถือกระเป๋าใบนี้ก้าวลงจากเครื่องบินที่อาร์เจนตินาในไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้น
กระเป๋าอิทคู่กายแฟชันไอคอนระดับราชวงศ์กลายเป็นที่ต้องการของผู้หญิงทั่วทุกมุมโลกภายในเวลาไม่ถึงปี และความนิยมซึ่งพุ่งทะยานอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้กระเป๋าได้รับการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการเพื่อยกย่องเกียรติให้แก่แฟชันไอคอนคนแรกที่ได้เป็นเจ้าของกระเป๋าใบนี้ว่า Lady Dior (มาจาก Lady Diana กับ Dior)
และอีกหนึ่งผลงาน ซึ่งต้องกล่าวถึงก็คือ Sofia bag ของ Salvatore Ferragamo โดยตั้งชื่อเพื่อยกย่องโซเฟีย ลอเรน ปูชนียบุคคลแห่งวงการนักแสดงอิตาเลียน เจ้าของความงามสุดเก๋ แปลกตา หนึ่งในนักแสดงระดับตำนาน “ยุคทองของฮอลลีวูด” ที่ยังมีชีวิตอยู่ ณ ปัจจุบัน เธอเป็นทั้งเพื่อนสนิท และลูกค้ารองเท้าเจ้าประจำของแฟรรากาโมมาตั้งแต่ผู้ก่อตั้งแบรนด์ยังมีชีวิตอยู่จนแม้กระทั่งเขาลาจากโลกนี้ไปเมื่อปี 1960 ก็ยังภักดีต่อแบรนด์มิเสื่อมคลาย จึงควรแล้วที่ชื่อของเธอจะถูกนำมาตั้งเป็นชื่อกระเป๋ารุ่นนี้อย่างสมเกียรติ
กระเป๋าถือหูหิ้วขนาดกะทัดรัดเจ้าของโครงสร้างรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า มอบพื้นที่บรรจุภายในพร้อมหนึ่งกระเป๋าซิปและสองกระเป๋าซอก ความงามสง่าของฝากระเป๋าด้านหน้าโดดเด่นสะดุดตาด้วยห่วงตัวกลัดเปิด/ปิดรูปทรงกานซินิ (Gancini เป็นทั้งโลโก้ และเครื่องหมายประจำแบรนด์อันได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากสถาปัตยกรรมประตูรั้วเหล็กดัดของพระราชวังสปินิ เฟโรนิ และตะขอยึดกระเป๋าพกติดอานม้า) พร้อมสายสะพายคล้องไหล่ที่สามารถปรับขนาดความยาว และปลดออกได้ ซึ่งกลายเป็นที่ปรารถนาของลูกค้าทั้งหลายตั้งแต่ปี 2009 นั้น หาได้ต่างอะไรจากบรรดากระเป๋างานฝีมือชั้นสูงของแบรนด์อื่นๆ Sofia bag แต่ละใบต้องใช้เวลาในการผลิตไม่ต่ำกว่าเจ็ดถึงแปดชั่วโมง รวมถึงยังมีการควบคุมคุณภาพทุกขั้นตอนการผลิต
ดูเหมือนการตั้งชื่อกระเป๋าตามชื่อแฟชันไอคอน ผู้เป็นแรงบันดาลใจได้กลายเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ในการเพิ่มมูลค่า และโปรโมทสินค้า จุดประกายความต้องการขึ้นในใจสาวกแฟชันทั่วโลกไปเสียแล้ว ดังจะเห็นได้ตลอดทศวรรษ 2000 ที่นักออกแบบ และบริษัทสินค้าแฟชันมากมายพากันสรรค์สร้างกระเป๋าถือหลากสไตล์ขึ้นโดยนำชื่อของพวกเธอเหล่านั้นมาเจิมนามกระเป๋าของตนอย่าง Stam bag กระเป๋าถือกรุนวมร้อยสายโซ่ปี 2005 ที่มาร์ค ยาค็อบส์ตั้งชื่อตามเจสสิกา สแตม นางแบบคนโปรดของตน
เช่นเดียวกับเจสัน วู ซึ่งสนิทกับไดแอนน์ ครูเกอร์ผู้เปี่ยมพรสวรรค์ทางการแสดง เจ้าของความสง่างามที่ดูทันสมัย และคลาสสิกไปพร้อมกัน มาตรฐานการเลือกกระเป๋าของครูเกอร์กลายเป็นแรงบันดาลใจให้วูออกแบบกระเป๋าถือ Dianne bag ในขณะที่ Modula บริษัทผู้ผลิตกระเป๋าถือสัญชาติอังกฤษตั้งชื่อกระเป๋ารุ่นหนึ่งว่า Pippa ตามพิพพา มิดเดิลตัน น้องสาวของแคทเธอรีน ดัชเชสแห่งแคมบริดจ์ ส่วน Mulberry ผู้ผันตัวจากการเป็นแบรนด์ผลิตกระเป๋าหนังมาเป็นแบรนด์สินค้าแฟชันเต็มตัว ก็สนุกกับการตั้งชื่อกระเป๋า-อิท (It-bag) หลายรุ่นของตนตามชื่อนางแบบคนดังอย่าง Alexa (ปี 2010 ตั้งชื่อตามนางแบบอเล็กซา ฉุง), Del Ray (ปี 2012 ตั้งชื่อตามลานา เดล เรย์ นักร้อง-นักเต้นสัญชาติอเมริกัน) และ Cara (ปี 2014 ตั้งชื่อตามสุดยอดนางแบบคารา เดอเลอวิญ) เป็นอาทิ