HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
จบอัลไซเมอร์กับ  7 ขั้นตอนการป้องกันที่ทำได้ทันทีตัวเอง
by Veen T.
4 มี.ค. 2565, 20:30
  2,136 views

แพทย์หญิง ปิยะนุช รักพาณิชย์ นำแนวทางของ Dr. Dale Bredesen มาปรับใช้ในการรักษาคนไข้สมองเสื่อมที่สวนสุขภาพอรุณฯ

        สมองของเรามีความสามารถในการเรียนรู้และเติบโตตลอดเวลา เป็นอวัยวะที่สำคัญในการดำรงชีวิต แต่เมื่ออายุมากขึ้น สมองก็อาจจะไม่ฟิตเช่นเคย ในกรณีที่แย่ไปกว่านั้นบางคนอาจพบกับภาวะโรคสมองเสื่อม แต่องค์ความรู้ใหม่ๆ เรื่องสมองมนุษย์ที่ยังต้องค้นคว้ากันต่อไป ช่วยไขปัญหาและความลับเรื่องสมองได้ดีขึ้น จากการศึกษาด้านนี้โดยตรง แพทย์หญิง ปิยะนุช รักพาณิชย์  แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู และผู้อำนวยการ สวนสุขภาพอรุณสหคลินิก (Arun Health Garden หรือ AHG) พบว่าโรคสมองเสื่อมมีสาเหตุหลากหลายปัจจัย และสามารถเกิดขึ้นกับคนที่อายุยังน้อยได้ไม่ใช่กับผู้สูงอายุเท่านั้น

        “อายุที่มากขึ้น ไม่ต้องสมองเสื่อมเสมอไป มีคนจำนวนไม่น้อยที่อายุน้อยกว่า 65 ปี แต่มีภาวะความจำเสื่อม ที่พบเด็กที่สุดคือ สิบกว่าปีเท่านั้นที่เกิดสมองเสียหายจากการเป็น stroke” พญ. ปิยะนุช กล่า

        ถ้าใครยังจำภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด “Still Alice” ได้ จะนึกออกว่าตัวเอกเป็นอัลไซเมอร์ตั้งแต่วัยกลางคนจากสาเหตุกลายพันธ์ของ DNA ซึ่งในเรื่องจริงนอกจอ สาเหตุนี้ของการเป็นโรคเพิ่งถูกค้นพบเมื่อปี 2538 นี่เอง

        พญ. ปิยะนุช กล่าวว่าอัลไซเมอร์ เป็นโรคที่ยังไม่มียารักษาได้ แต่ตามการศึกษาวิจัยของ Dr. Dale Bredesen (เดล เบรเดเซน) นั้น โรคนี้สามารถรักษาโดยแก้จากปัจจัยที่เป็นต้นเหตุ เช่นการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตตามพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดโรค พบว่าประมาณ 30% ของคนไข้ที่สมองเสียหาย สามารถมีอาการที่ดีขึ้นได้ และการรักษาที่ใช้คือการปรับไลฟ์สไตล์

แพทย์หญิง ปิยะนุช รักพาณิชย์ ผู้อำนวยการ สวนสุขภาพอรุณสหคลินิก (Arun Health Garden)

        พญ. ปิยะนุชเป็นหนึ่งในคุณหมอ  2 คนแรกในประเทศไทยที่เป็น Registered Physician อย่างเป็นทางการของคลินิก Apollo Health ของ ดร. เดล อี. เบรเดเซน แพทย์ระบบประสาท มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ทำการวิจัยและรักษาผู้ป่วยอัลไซเมอร์แนวใหม่ที่มีชื่อเสียงระดับโลก และผู้เขียนหนังสือ THE END OF ALZHEIMER'S (อวสานอัลไซเมอร์)

        "คุณหมอเดล เบรดีเซน  ได้ทำการวิจัยการรักษาแนวใหม่ให้กับผู้ป่วยอัลไซเมอร์ 10 ราย และพบว่า เกือบทุกรายอาการดีขึ้นและบางรายหายจากโรคนี้ได้ โดยคุณหมอเดลนั้นมีแนวคิดที่ต่างไปว่า อัลไซเมอร์เป็นโรคที่เกิดจากหลายปัจจัยด้วยกัน ซึ่งแต่ละคนมีปัจจัยที่ทำให้เกิด 'อัลไซเมอร์' ไม่เหมือนกัน ดังน้ัน การป้องกันหรือรักษาอัลไซเมอร์เป็น Multifactorial คือ ต้องไปจัดการกับปัจจัยที่เป็นสาเหตุ และไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวสำหรับผู้ป่วยทุกคน แต่เป็นเรื่องที่ต้องตรวจหาเฉพาะบุคคล (Personalized Medicine) การให้ยาตัวเดียวแล้วหวังให้ผู้ป่วยหายจากโรคนี้นั้นเป็นไปไม่ได้”

       

        คุณหมอปิยะนุชนำเอาองค์ความรู้และแนวคิดเรื่องนี้มาปรับใช้รักษาคนไข้ ที่สวนสุขภาพอรุณสหคลินิก เพื่อการรักษาผู้ป่วยด้านสมองได้อย่างตรงจุด เป็นการปรับไลฟ์สไตล์แบบผสมผสานที่ทาง AHG มุ่งเน้นและใช้ในการฟื้นฟูรักษาโรคอัลไซเมอร์ หรือ ภาวะสมองเสื่อม ใน AHG Alzheimer Program ผนวกกับอีกหลายปัจจัยจะต้องใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น ตรวจเลือด ปัสสาวะ หรือเอ็กซเรย์

เมื่อยาไม่ใช่คำตอบ คุณหมอเบรเดเซนจึงแนะนำว่า ต้องรักษาภาวะสมองเสื่อมแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่จะพัฒนาไปถึงภาวะการเป็นโรคอัลไซเมอร์ หลายคนไม่รู้ว่าตัวเองเริ่มมีปัญหา ซึ่งในขั้นต้นทางสวนสุขภาพอรุณสหคลินิก มีการให้บริการตรวจสมองขั้นต้นเพื่อดูความเสี่ยงในการเป็นอัลไซเมอร์

แต่สำหรับผู้ที่ไม่อยากจะทดสอบใดๆ แต่ต้องการป้องกัน พญ.ปิยะนุช เสนอ 7 ขั้นตอนในการปรับไลฟ์สไตล์ ตามแนวทางของดร.เบรเดเซน   เพื่อป้องการการเกิดอัลไซเมอร์

 กินอาหารต้านไซเมอร์  หรือ Anti-Alzheimer’s diet 

        นั่นคือ ลดน้ำตาลและแป้ง  ซึ่งน้ำตาลเป็นศัตรูตัวฉกาจของสมอง เพราะน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว มีผลต่อการดื้อของฮอร์โมนอินซูลินซึ่งเป็นฮอร์โมนคุมน้ำตาลและเกิดการอักเสบในร่างกายและสมองได้ และเพิ่มการรับประทาน “ไขมันดี”  เช่น รับประทานน้ำมันมะกอก (EVOO หรือ Extra virgin Olive Oil) อโวคาโด ถั่ว 

ตัวอย่างเมนูคีโต ที่เสิร์ฟให้คนไข้ที่สุขภาพอรุณสหคลินิก

       นอกจากนี้ ควรกินอาการแบบคีโต และทำ IF (Intermittent fasting)  หรือการหยุดรับประทานอาหารเป็นช่วงเวลา (intermittent fasting; IF) 12 ชั่วโมงในช่วงกลางคืน และรับประทานมื้อเย็นก่อนเข้านอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมง ซึ่งเป็นผลดีต่อฮอร์โมนอินซูลินในร่างกาย และช่วยลดโปรตีนเบต้าแอมีลอยด์ที่สะสมในสมองเพิ่มศักยภาพและความสามารถในการทำงานของสมอง (optimized brain function) โดย Keto หมายถึง คีโตซิส คือ ภาวะที่ร่างกายใช้พลังงานจากไขมันเป็นหลัก และทำให้เกิดคีโตน เพื่อเป็นแหล่งพลังงานของสมอง

การออกกำลังกาย

        ช่วยเพิ่มการใช้พลังงานจากคีโตน เนื่องจากหลังออกกำลังกาย ระดับน้ำตาลในเลือดจะลดลงและระดับคีโตนในเลือดจะเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าการออกกำลังกายเป็นการกระตุ้นการเชื่อมต่อการทำงานของเซลล์สมองได้เป็นอย่างดี แนะนำให้ออกกำลังกายประมาณ 30-60 นาที 4-6 วันต่อสัปดาห์ เลือกออกกำลังกายประเภทที่ตัวเองชอบหรือสามารถทำต่อเนื่องได้อย่างสม่ำเสมอ จากงานวิจัยพบว่าการเดินวันละ 8,900 ก้าว ช่วยป้องกันภาวะความจำเสื่อมในคนที่ตรวจพบว่ามีโปรตีน อะมัยลอยด์เบต้าในสมองได้ ความสำคัญคือ การออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ยังกระตุ้นการทำงานของระบบขจัดของเสียในสมอง นอกจากนี้ยังพบว่า การออกกำลังกายแบบหนักจะเพิ่มขนาดของสมอง ซึ่งหมายถึงการเพิ่มจำนวนเซลล์สมองในผู้สูงอายุได้


นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

        การนอนเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสมอง การนอนหลับอย่างมีคุณภาพจะช่วยให้สมองมีศักยภาพด้านความคิด วิเคราะห์ ความจำ และการตัดสินใจ ควรนอนอย่างน้อย 8 ชั่วโมงและระวังเรื่องคุณภาพของการนอน เช่น บางคนอาจมีภาวะขาดออกซิเจนในขณะนอนหลับ หรือ  sleep apnea ก็ต้องแก้ไข ในกรณีที่มีปัญหาเรื่องการนอน เมลาโทนิน หรือ ทริฟโตเฟน  อาจจะช่วยได้ ในขณะนอนหลับพบว่าระบบขจัดของเสียของสมอง (glymphatic system) ที่ช่วยในการขจัดสารพิษและโปรตีนเบต้าอะมัยลอยด์จะทำงานเพิ่มขึ้น 10-20 เท่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่หลับลึก และจากการศึกษาทางการแพทย์พบว่า ท่านอนที่เหมาะสมที่ช่วยในการขจัดของเสีย คือ ท่านอนตะแคง


ลดความเครียด

        โดยเลือกวิธีที่ชอบ ไม่ว่าจะเป็น ฟังเพลง อ่านหนังสือ ไปเที่ยว เป็นต้น ซึ่งจะช่วยลดฮอร์โมนคอร์ติซอล หรือฮอร์โมนความเครียดที่มีผลทำลายสมองได้ หรือฝึกสมาธิเป็นประจำ จะช่วยให้สมองหลั่งสารที่กระตุ้นการพัฒนาเซลล์สมองและระบบประสาทเพิ่มมากขึ้นได้

        ความเครียดเรื้อรังจะมีผลต่อร่างกายและก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพรวมถึงทำให้สมองเสื่อม

        เมื่อมีความเครียดเกิดขึ้น เริ่มต้นด้วยการรับรู้ (awareness) ว่ามีความเครียดเกิดขึ้น การฝึกการรับรู้ให้ทันท่วงที (mindfulness) ต่อสิ่งต่างๆ ที่ส่งผลต่อตัวเรา จะช่วยให้เรารู้ทันเมื่อมีความเครียดเข้ามาและจะช่วยให้จิตอยู่กับปัจจุบัน ไม่คิดวิตกกังวลไปกับอนาคตหรืออดีต การฝึกแบบนี้คือ mindfulness practice ซึ่งตามหลักของพระพุทธศาสนา คือการฝึกสติให้อยู่กับปัจจุบันนั่นเอง

         งานวิจัยทางการแพทย์พบว่า mindfulness practice จะช่วยลดระดับฮอร์โมนความเครียด ช่วยในการนอนหลับที่ดีขึ้น รวมทั้งช่วยลดความวิตกกังวลและซึมเศร้า

ฝึกเกมกระตุ้นสมอง

        การฝึกสมองในส่วนที่เราไม่ถนัด จะกระตุ้นให้เซลล์สมองของเราเชื่อมต่อสื่อสารกันได้ดีขึ้น สมองส่วนที่เราไม่ค่อยได้ใช้จะเสื่อมไปก่อน กระตุ้นสมองด้วยการสร้างนิสัยใหม่ ฝึกฝนสิ่งใหม่ เช่นเรียนรู้เครื่องดนตรีหรือภาษา เคล็ดลับคือต้องฝึกทุกวัน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับการทำงานสมองส่วนที่เกิดขึ้นใหม่เหล่านี้  หากยังไม่มีเวลาไปเรียนอะไรอาจเริ่มจากเรื่องรอบตัว เช่น การแปรงฟันด้วยมือซ้าย หรือเขียนหนังสือโดยใช้มือข้างที่ไม่ถนัดและทำมันซ้ำ ๆ เพื่อฝึกสมองและทำให้เป็นนิสัย ดังนั้น จึงต้องฝึกกิจกรรมใหม่ๆ ให้สมอง เช่น ใครไม่ชอบคิดเลข ก็ฝึกคิด ใครที่ไม่ชอบทางด้านภาษาหรือดนตรี ก็ฝึกภาษาใหม่ๆ เล่นดนตรี เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันมีเกมฝึกสมองทางแอปพลิเคชั่นมากมายและสามารถช่วยกระตุ้นสมองได้เป็นอย่างดี

การขจัดสารพิษ (Detox)

        เริ่มจากการไม่เอาพิษเข้าร่างกาย เพราะสารพิษเหล่านั้น หรือที่ดร.เบรเดเซน ได้ให้ชื่อ“สารก่อสมองเสื่อม” (Dermatogen) เช่น งดบุหรี่หรือการได้รับควันบุหรี่ หลีกเลี่ยงมลพิษทางอากาศ หลีกเลี่ยงควันจากการจุดเทียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทียนที่ทำจากพาราฟิน แต่เทียนที่ทำจากไขผึ้งใช้ได้ หลีกเลี่ยงการหายใจทางปากเป็นเวลานาน เพราะการหายใจทางจมูกมีกลไกทางธรรมชาติที่ช่วยในการกรองฝุ่น นอกจากนี้การหายใจทางปากเป็นเวลานานยังมีผลเสียต่อสุขภาพช่องปากและปอดด้วย พิจารณาใช้เครื่องกรองอากาศแบบ HEPA filter และใช้เครื่องกรองน้ำ (carbon filter หรือ reverse osmosis) ระวังเชื้อราภายในบ้าน หลีกเลี่ยงสารเคมีที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์และเครื่องสำอาง (ปัจจุบันสามารถตรวจสอบได้ที่ Application: Think Dirty และ Skin Deep Cosmetics Database)

        ทางด้านโภชนาการควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารทะเลที่มีปรอทสะสมอยู่มาก เลือกผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมสำหรับผลิตภัณฑ์ที่เสี่ยงต่อสารพิษยาฆ่าแมลงได้ที่ ewg.org

       “สารก่อสมองเสื่อมแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ โลหะหนัก เช่น ตะกั่ว ปรอท แคดเมี่ยม หรือ สารพิษในอากาศ เช่น คาร์บอนมอนน๊อคไซด์ ไนโตรเจน ไดออกไซด์ เป็นต้น อีกกลุ่มคือ  Organic chemicals เช่น ยาฆ่าแมลง สี น้ำมัน เป็นต้น และ Biotoxins เช่น การติดเชื้อจากเชื้อรา แบคทีเรีย ไวรัส พยาธิ ซึ่งนอกจากเป็นพิษด้วยตัวเองแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายด้วย

        แต่ก่อนจะขจัดสารพิษ ต้องมีการตรวจเพื่อหาสารพิษและดูความสามารถของร่างกายในการขจัดสารพิษก่อนที่จะขอคำแนะนำจากแพทย์ แต่ถ้ายังไม่อยากพบแพทย์ สิ่งที่เริ่มได้ด้วยตนเองคือ ดื่มน้ำสะอาดวันละ 1– 4 ลิตร  ทำให้เหงื่อออก อาจจะออกกำลังกาย อบความร้อน เช่น ซาวน่าหรือสตีม นอกจากนี้รักษาสุขภาพของอวัยวะขจัดพิษที่อย่าง ตับและไต และอาจจะไปทำดีท็อกซ์โดยการนวดกระตุ้นระบบน้ำเหลือง หรือฝังเข็ม 

 กินอาหารเสริม (Supplement)

        เติมส่วนที่ขาด โดยพบว่า วิตะมิน เกลือแร่ และสารต้านอนุมูลอิสระหลายอย่างที่จะช่วยรักษาหรืออาจจะช่วยป้องกันอัลไซเมอร์ได้ แต่ทั้งนี้  แนะนำให้ไปพบแพทย์และตรวจประเมินความผิดปกติของร่างกายก่อน เช่น การตรวจเลือดดูระดับโฮโมซิสเตอีน ตรวจโลหะหนักที่อาจจสะสมเป็นพิษในร่างกาย เป็นต้น เพราะแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ตัวอย่างวิตะมินและเกลือแร่ที่ช่วยบำรุงเซลล์สมองและเพิ่มความเชื่อมต่อของเซลล์สมอง เช่น วิตะมินบี 6,9,12 วิตะมินดี วิตะมินอี วิตะมินเค 2  โคเอ็นไซคิว 10 สารสกัดจากขมิ้น สารสกัดจากองุ่น เช่น เรสเวอราทรอล และไขมันดี เช่น ดีเอสเอ ไขมันเอ็มซีที เป็นต้น

        การเติมอาหารเสริมตามที่ร่างกายพร่อง จะช่วยให้ร่างกายและสมองมีสภาวะที่สมดุล และกลับมาทำงานได้ดียิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยพันธุกรรมที่แตกต่างกันในแต่ละบุคคล รวมถึงระดับความเครียดและผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่แตกต่างกันออกไปจะทำให้ความต้องการอาหารเสริมแตกต่างกัน และอาจเปลี่ยนแปลงเมื่อเวลาผ่านไปโดยแพทย์จะเป็นผู้แนะนำอาหารเสริมที่เหมาะสมเฉพาะบุคคล ทั้งนี้อาหารเสริมเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งเพื่อเสริมสุขภาพสมองเท่านั้น

        ทั้ง 7 ขั้นตอนอาจฟังดูยาก แต่บางอย่างก็เริ่มได้ด้วยตัวเองเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการนอน การออกกำลังกายและการกินอาหารแบบคีโต การนั่งสมาธิ หรือเล่นเกมฝึกสมอง ทั้งนี้ ทุกข้อไม่เพียงแต่ยับยั้งการเกิดสมองเสื่อมเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ร่างกายและสุขภาพโดยรวมแข็งแรงขึ้นอีกด้วย

ABOUT THE AUTHOR
Veen T.

Veen T.

Ex-lifestyle editor who's all about the slow-life vibe and still trying to nail it

ALL POSTS