HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
ตำนานอาหารรถไฟ
by ซัมเมอร์
27 มิ.ย. 2564, 00:50
  1,467 views

       หลังจากฉีดวัคซีนโควิดที่สถานีกลางบางซื่อ รู้สึกอยากนั่งรถไฟหนีไปเที่ยวไกลๆ แบบถึงก็ช่าง...ไม่ถึงก็ช่าง...และกินอาหารรถไฟที่อร่อยระดับตำนาน ทั้งไทย อินเดีย ญี่ปุ่น...

ข้าวผัดรถไฟ

       ใคร ๆ ก็รู้จักข้าวผัดรถไฟ แต่ตำรับแท้จริงเป็นอย่างไร ใส่เคทชัพ ซีอิ๊ว หรือว่าซอสเย็นตาโฟ? คำตอบคือ ผิดทุกข้อ...ข้าวผัดรถไฟของแท้และดั้งเดิมเมื่อเกือบร้อยปีก่อนนั้นสุดแสนจะหรูหรา เพราะมีที่มาจากโฮเต็ลรถไฟหัวหิน โรงแรมชั้นหนึ่งที่เข้าไปบริหารงานรถเสบียง ภัตตาคารเคลื่อนที่ บนเส้นทางธนบุรี-หัวหิน ตู้เสบียงนี้มีโต๊ะปูผ้าเสิร์ฟอาหารในจานกระเบื้องกับเครื่องเงินและถ้วยแก้ว บริกรแต่งชุดยูนิฟอร์มสวมถุงมือขาว

ข้าวผัดรถไฟจากร้านรถเสบียง
ข้าวผัดรถไฟ จากร้านบ้านฮาวด์ มีสองสาขาที่แมคโคร สาทร และจรัลสนิทวงศ์

       หนึ่งในเมนูอาหารไทยของรถเสบียงยุคแรก ที่ยังเป็นตำนานมาจนทุกวันนี้ก็คือ “ข้าวผัดรถไฟ” ที่สูตรดั้งเดิมเป็นข้าวสวยหุงร่วน ผัดกับมะเขือเทศบดเข้มข้นแบบกระป๋องยี่ห้อ Mica Tomato Paste และเนย ไข่ ถั่วพี กุนเชียง หอมหัวใหญ่ มะเขือเทศหั่นเต๋า หมูสันในหั่นชิ้น ผัดกับน้ำมันพืช กระเทียม ใส่ซีอิ๊วขาวซอสปรุงรส เสิร์ฟพร้อมไข่ดาวกรอบ มะนาว แตงกวา ข้าวผัดรถไฟสูตรดั้งเดิม นอกจากบนรถไฟเฟิร์สท์คลาสสาย SRT Prestige ยังมีอยู่ที่ร้านรถเสบียง ตรงข้ามสถานีสามเสน ร้านนี้มีคุณปู่ (คุณถาวร บุณยเกตุ) เป็นอดีตสถาปนิกการรถไฟ จึงเชื่อถือได้เรื่องรสชาติ

แกงรถไฟอินเดีย

       อาหารขึ้นชื่อของรถไฟอินเดีย ก็คือแกงแพะหรือแกะ ที่เสิร์ฟบนรถไฟชั้นหนึ่งสมัยบริติชราช  เริ่มจากสายสีน้ำเงินจากสถานีวิคตอเรียในบอมเบย์ไปกัลกัตตา เล่ากันว่า แผนกบริการอาหารของสเปนเซอร์ส เรลเวย์ ที่คุมครัวของสถานีวิคตอเรียในเวลานั้นปรับสูตรแกงอินเดียโบราณให้นุ่มนวลขึ้นด้วยการผสมเครื่องเทศแบบอังกฤษ เพิ่มกะทิและโยเกิร์ตลดความเผ็ดร้อน เสิร์ฟกับเครื่องเคียงแบบอินเดีย และขนมปังดินเนอร์โรลหรือข้าว เป็นจานโปรดของทั้งผู้โดยสารและพนักงาน

        สูตรแกงรถไฟอินเดีย ใช้เนื้อแกะ แพะ หรือไก่ กับมันฝรั่ง หอมใหญ่ มะเขือเทศ ใส่น้ำส้มสายชู น้ำมะขามเปียก หรือโยเกิร์ต ช่วยให้เก็บได้นานและชูรสเครื่องเทศ ที่มีทั้งพริกไทย อบเชย กานพลู ผงขมิ้น ลูกผักชี พริกป่น ปรุงรสด้วยพริกแดง เกลือ และใช้น้ำมันผัด

ปัจจุบันรถไฟอินเดียยังมีแกงชนิดนี้ ส่วนในไทย มีให้ชิมที่ห้องอาหารมายา โรงแรมฮอลิเดย์อินน์ สุขุมวิท 22

เอกิเบ็น

        เมื่อร้อยกว่าปีก่อน รถไฟเป็นการคมนาคมหลักในญี่ปุ่น เวลารถไฟเข้าสถานี จะมีคนเดินขายข้าวกล่องที่ชานชาลา จนมีชื่อเรียกว่า เอกิเบน ที่แปลว่าข้าวกล่องสถานี ที่แต่ละเมืองก็จะมีเครื่องปรุงประจำท้องถิ่นแตกต่างกันไป เป็นรสชาติของการเดินทาง ตำนานกำเนิดเอกิเบนอย่างเป็นทางการเล่าว่า ตอนที่เจอาร์เปิดเส้นทางรถไฟจากสถานีโอมิยาในไซตามะ ไปยังสถานีอุตสุโนมิยะที่โทชิจิในยุคเมจิปี ค.ศ. 1885 ชิโรกิยะ เรียวกัง ที่อุตสุโนมิยะ เป็นเจ้าแรกที่ริเริ่มขายเอกิเบน ข้าวกล่องสมัยนั้นเป็นแบบเรียบง่าย มีโอนิกิริ กับหัวผักกาดดองในกล่องไม้ไผ่ ขายราคา 600 เยน ถือว่าแพงเพราะเป็นยุคที่ข้าวหายาก จึงเป็นอาหารที่คนมีฐานะซื้อรับประทานบนรถไฟ

         ต่อมาในยุคโชวะ เอกิเบนก็มีสีสันหลากหลาย เพิ่มของอร่อยที่เป็นเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่น โดยตั้งราคาให้คนทั่วไปซื้อหาได้ ทุกวันนี้ มีเอกิเบนกว่า 4,000 แบบ ใส่วัตถุดิบชั้นเลิศอย่างข้าวปลาหมึกอากาชิ, อาหารทะเลฮอกไกโด, ไก่อะคิตะฮิไน, ปลาไหลโตเกียว, อิชิการิ แซลม่อน, หมูดำอิวาเตะ, เนื้อโยเนซาวะ และลิ้นวัวเซนได เอกิเบนที่นิยมกันมากได้แก่คามะเมชิของโอกิโนยะ จังหวัดกุนมะ เป็นข้าวสตูว์ในถ้วยพอร์ซเลน, ชาโมจิ-คาคิเมชิ ของจังหวัดฮิโรชิม่า เป็นหอยนางรมผัดกับข้าวในกล่องรูปช้อน แล้วยังมีเอกิเบนที่ทำเป็นรถไฟ, ตุ๊กตาดารุมะ, สโนว์แมน, ปู รวมทั้งกล่องที่อุ่นร้อนในตัวเองได้อีกด้วย ถ้าหิวข้าวกล่องรถไฟในตอนนี้ กรุงเทพก็มีร้านเบนโตะเล็ก ๆ ที่ทำโดยคนญี่ปุ่นแท้ ชื่อ Tom& Mammy อยู่ที่สุขุมวิท 33/1 ชั้น 1 โครงการ Ellsie boutique

ร้านอาหาร

รถเสบียง ใกล้สถานีรถไฟสามเสนโทร. 02-271-3265 /02-610-7247 Line@: @rosabieng

บ้านฮาวน์ (Baan Hound by Greyhound Cafe) สาขาแม็คโคร สาทร (+66953374028) และแม็คโคร จรัลสนิทวงศ์ FB: @baanhound

Tom & Mammy https://tom33mammy.wixsite.com/tom-mammy

Maya Restaurant and Bar โรงแรม Holiday Inn สุขุมวิท 22  โทร. 02-683-4888

ข้อมูล:

https://anglo-indian-recipes.com/

https://www.buynowtw.com/p/srt-prestige-train-promotion-travel-package/

http://portal.rotfaithai.com/

https://www.tsunagujapan.com/japan-ekiben/

 

ABOUT THE AUTHOR
ซัมเมอร์

ซัมเมอร์

เขียนหนังสือ แปลหนังสือ เป็นคอลัมนิสต์พลอยแกมเพชร หลงไหล K-pop และติดตามวงการแฟชั่น

ALL POSTS