เปิดพาสปอร์ตไทยเล่มใหม่ ไฮเทคโนโลยีมีความหมาย
สมัยโบราณ คนเดินทางใช้ตราสัญลักษณ์ และเอกสารเป็นใบผ่าน ก่อนจะพัฒนามาเป็นเล่มสมุด สำหรับประเทศไทย หนังสือเดินทางสำหรับไปต่างประเทศมีขึ้นครั้งแรกในปีพ.ศ. 2436 แต่ยังไม่มีกฎเกณฑ์เข้มงวดในการเข้าออกประเทศ จนถึงยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 จึงเกิดปัญหา เมื่อรัฐบาลประเทศต่าง ๆ เริ่มมีการตรวจลงตราหนังสือเดินทางของคนต่างชาติ คนไทยที่ไม่มีหนังสือเดินทางถูกห้ามเข้า จับกุมหรือส่งกลับ ต่อมาในปีพ.ศ. 2460 จึงมีประกาศในราชกิจจานุเบกษา “ว่าด้วยผู้เดินทางไปนอกพระราชอาณาเขตร์ ให้มีหนังสือเดินทาง”
จากนั้น เมื่อองค์การสันนิบาตชาติจัดประชุมที่กรุงปารีสในปีพ.ศ. 2563 เพื่อหารือและกำหนดรูปแบบหนังสือเดินทาง ไทยก็ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุม นำมาซึ่งการปรับเปลี่ยนรูปแบบของหนังสือเดินทางเป็นเล่มแบบสากล โดยยุคแรกใช้ภาษาฝรั่งเศสกับไทย แล้วเปลี่ยนเป็นภาษาอังกฤษกับไทยตั้งแต่ปีพ.ศ. 2520 จากนั้นก็พัฒนาสู่ระบบดิจิตอลและอิเลคโทรนิคส์
ในปีนี้ นักเดินทางไทยก็จะมีพาสปอร์ตเล่มใหม่ที่ใส่เทคโนโลยีและซ่อนความหมายไว้มากมาย...
เริ่มจากความปลอดภัย ได้มาตรฐานด้วยคุณลักษณะเฉพาะทางเทคนิค (Technical Specifications) ตามข้อกำหนดขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ป้องกันการปลอมแปลงด้วยภาพใบหน้าเน้น 3 จุด และโฮโลแกรม กับลายเซ็นแบบนูน พร้อมแผ่นใสพิมพ์อักษรเบรลล์ด้านใน
ทุกหน้ากระดาษจัดพิมพ์ในระบบเทียบเท่าธนบัตร และมีความหมายที่ซ่อนไว้ในลวดลาย เริ่มจาก ประจำยามประยุกต์ เป็นแม่ลายพื้นฐานของไทย ใช้สำหรับออกลาย ผูกลายต่อ ๆ ไป รูปแบบเป็นสี่เหลี่ยมทแยงมุม ตรงกลางเป็นวงกลม มีกระจังใบเทศหรือตาอ้อยสี่ใบ มักจะประดับตามเสา ขอบประตูหน้าต่างโบสถ์วิหารและปราสาท ถือว่าเป็นยามรักษาการณ์ ป้องกันโจรกรรม
ภาพการเดินทางผ่านยุคสมัยในประวัติศาสตร์สี่ราชธานี อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย วัดไชยวัฒนารามอยุธยา ป้อมวิไชยประสิทธิ์ธนบุรี และวัดเบญจมบพิตรรัตนโกสินทร์
มุมหน้ากระดาษมีภาพช้างน้อยไชโย เมื่อกรีดพลิกเร็วๆ จะเคลื่อนไหวต่อเนื่องชูงวงทักทายได้แบบอนิเมชั่น ช้างเป็นสัตว์ประจำชาติที่เคยอยู่บนธงไทย และไชโย ก็เป็นคำที่สื่อถึงการเฉลิมฉลอง
ดวงตราบัวแก้ว รูปเทวดาถือดอกบัวและวชิระ เป็นตราราชการตั้งแต่สมัยพระบรมไตรโลกนาถ มีมาตั้งแต่กฎหมายตราสามดวง จตุสดมภ์ จนกลายมาเป็นตราของกระทรวงการต่างประเทศ
พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม เป็นภาพในหน้าแรกและยักษ์วัดแจ้งอยู่หน้าสุดท้าย ยักษ์ไทยมีรูปลักษณ์สง่างาม และยังเป็นผู้ปกป้องรักษาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขับไล่ความชั่วร้าย นอกจากนี้ วัดอรุณยังหมายถึงความรุ่งโรจน์ และมีชื่อเดิมว่าวัดมะกอก ที่กลายมาเป็นชื่อบางกอกหรือกรุงเทพในปัจจุบัน
ทั้งหมดนี้รวมอยู่ในพาสปอร์ตเล่มใหม่ที่สวยทันสมัยกว่าเดิม แต่ของใครยังไม่หมดอายุก็ไม่จำเป็นต้องรีบทำใหม่ เพราะรุ่นนี้ยังมีอายุ 5 ปีเท่าเดิม ส่วนพาสปอร์ต 10 ปี กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไขระเบียบที่เกี่ยวข้อง ก่อนออกประกาศต่อไป
fb #LaiiThai
www.Mfa.go.th