ชมงิ้ว ไหว้เจ้า เมื่อลมหนาวเริ่มมาเยือน
ค่ำวันหนึ่งในปลายเดือนพฤศจิกายน ขณะที่ลมหนาวพัดมาเบา ๆ ให้คนกรุงเทพ ฯ อย่างผมได้ยินดีกระดี๊กระด๊า ค่ำวันเดียวกันที่ชุมชน “หะเฮงเสีย” ชุมชนเล็ก ๆ ของพี่น้องชาวจีนแต้จิ๋วในซอยเจริญกรุง 29 ก็ได้จัดให้มีพิธีบูชา “ทีกง” ผู้เป็นเทพเจ้าแห่งสรวงสวรรค์และจะมีการแสดงงิ้วติดต่อกันทุกวันตั้งแต่ตอนหัวค่ำไปจนดึกถึง 5 วันติด โดยการแสดงในวันแรกวันนี้จะเป็นของคณะเตี่ยเกี๊ยะอี่ไล้เฮง
เมื่อ “หม่าม้า” คุณแม่ของเพื่อนรักสมัยมหาวิทยาลัยทราบว่าตี๋อย่างผมนั้นมีความปรารถนาอยากดูงิ้วมาก ๆ จึงเมตตาชวนผมด้วย
ชุมชนหะเฮงเสียกำลังอยู่ในบรรยากาศคึกคัก ผู้คนในชุมชนต่างมาร่วมกันในวันสำคัญวันนี้ ต่างคนต่างประกอบอาหารเมนูเด็ดของครอบครัวมาแบ่งปันกัน ศาลเจ้าประดับไฟและตกแต่งอย่างสวยงามสว่างไสว ที่ลานในซอยเล็ก ๆ มีเวทีแสดงงิ้วตั้งอยู่ ผู้คนทยอยมาเรื่อย ๆ จนเริ่มแน่นลาน เก้าอี้หลายต่อหลายตัวมีคนจับจอง และพอได้เวลาราว ๆ หนึ่งทุ่ม
“คณะเตี่ยเกี๊ยะอี่ไล้เฮงขอเสนองิ้วแต้จิ๋วเรื่องเปากงช้อถ่วง เชิญติดตามชมได้ ณ บัดนี้” ผ่าง ผ่าง ผ่าง ผ่าง.... เมื่อสิ้นเสียงประกาศของโฆษกก็ตามมาด้วยเสียงฉาบที่ตีดังกึกก้อง ตื่นเต้น และเร้าใจ พร้อมกับใบหน้าอันสับสนของผม
“เปากงช้อถ่วงคืออะไรเหรอครับหม่าม้า?” ผมหันไปกระซิบถามหม่าม้าผู้เมตตาพาผมมาชมงิ้วในวันนี้
“เรื่องท่านเปาตัดสินผิดจ้ะ เปากงก็คือเปาบุ้นจิ้น” หม่าม้ากรุณาแปลให้ตี๋อย่างผมเข้าใจ ผมรู้สึกว่าเรานี่เป็นตึ่งหนังเกี้ย (ลูกหลานจีน) ที่ไม่ได้เรื่องเอาเสียเลย ภาษาของบรรพบุรุษแท้ ๆ ควรจะเรียนรู้ไว้ให้เข้าใจและสื่อสารได้ แต่กลับไม่ได้ทำเช่นนั้น น่าจับไปลงทัณฑ์ยิ่งนัก
แล้วท่านเปาตัดสินใครและอะไรผิดพลาดหรือ? สงสัยต้องให้หม่าม้าเล่าเรื่องให้ฟังไว้ล่วงหน้าเลย เพราะถ้าดูเองก็เกรงว่าจะไม่เข้าใจ
“เปากงหรือท่านเปาต้องตัดสินคดีความระหว่างเต็กเจ็งกับเต็กฮงซึ่งเป็นขุนนางอยู่ชานเมืองซึ่งพัวพันกับการปลงพระชนม์เจ้าชายรัชทายาท ท่านเปาตัดสินให้เต็กฮงผิด แต่ลูกหลานรวบรวมหลักฐานให้ท่านเปาตัดสินใหม่ จึงเกิดการสอบสวนขึ้นอีกครั้งจ้ะ” หม่าม้าอธิบายพร้อมเสียงผ่าง ผ่าง ผ่าง และดนตรีดังกึกก้องชวนสนุก
ก่อนการแสดงงิ้วจะเริ่มขึ้นในค่ำวันนั้น หม่าม้าพาผมตะลุยไปหา “อาเจีย” ผู้เป็นหัวหน้าคณะเตี่ยเกี๊ยะอี่ไล้เฮง ท่านกำลังซ้อมขิมอย่างคร่ำเคร่ง เสียงดนตรีดังหวานก้องอยู่หน้าเวทีสีสันจัดจ้านต้องหยุดลงเล็กน้อยเมื่อผมเข้าไปสวัสดี
“อาเจีย... คุยกับเขาหน่อยสิ เขาอยากรู้เรื่องงิ้วจ้ะ” หม่าม้ากรุณาเปิดประเด็นให้ผมได้สอบถามเรื่องงิ้วจากอาเจีย
“งิ้วมีมานานกว่า 2,000 ปีแล้วนะ งิ้วมีอยู่หลายหลายประเภท ทั้งงิ้วในราชสำนัก งิ้วปักกิ่ง งิ้วกวางตุ้ง งิ้วแต้จิ๋ว... ของแต้จิ๋วอาจจะมาในตอนหลัง เพราะอยู่ในมณฑลทางใต้ห่างไกลจากปักกิ่ง แต่งิ้วแต้จิ๋วก็มีอายุไม่ต่ำกว่า 450 ปีแล้ว” อาเจียเล่าไปพร้อมกับจับไม้ตีขิมเบา ๆ อีกครั้ง
“งิ้วน่าจะรุ่งเรืองในสมัยราชวงศ์ถังที่ศิลปะทุกแขนงได้รับการฟื้นฟูและกำหนดแบบแผน ฮ่องเต้พระองค์หนึ่งทรงพระนามว่าหลี่หล่งกี่ฮ่องเต้โปรดงิ้วมาก และทรงแสดงด้วยพระองค์เองด้วย” อาเจียเล่าให้ผมฟัง
“ท่านชอบเล่นเป็นตัวตลก” หม่าม้าช่วยเสริมในขณะที่ผมพยายามจดความรู้ที่ได้รับใหม่นี้ และพยายามทวนชื่อภาษาจีนและสะกดให้ใกล้เคียงเสียงที่ถูกต้องที่สุด
เทศกาลบูชาเทพเจ้าตามคติความเชื่อของชาวแต้จิ๋วมักจะเริ่มในช่วงปลายปีอย่างเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป และต้องมีงิ้วเล่นด้วยเพื่อเป็นการแสดงกตัญญุตาต่อเทพเจ้าที่ดูแล คุ้มครอง และปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายมาทั้งปี และเป็นการขอพรให้ท่านดูแลพวกเราต่อไป
“งานแสดงงิ้วยังมีเรื่อย ๆ ในช่วงปลายปีแบบนี้ ก็พยายามรักษาให้คงอยู่ต่อไป พยายามสอนเด็ก ๆ และหนุ่มสาวให้รู้จักและสืบทอดงิ้วต่อไปเรื่อย ๆ” อาเจียอธิบายขณะที่ผมก็สังเกตเห็นสมาชิกคนหนึ่งในวงดนตรีที่เป็นเด็กน้อยอายุใกล้สิบขวบผู้กำลังซ้อมขิมไปพร้อม ๆ กับอาเจีย ต่อมาเมื่อมีการแสดงงิ้วจริง ๆ ผมก็พบว่าน้องชายผู้นี้มีหน่วยก้านที่ไม่เลวเลย เพราะน้องสามารถเล่นขิมบ้าง ตีกลองบ้าง ร่วมกับนักดนตรีรุ่นใหญ่ เขาอาจเป็นหนึ่งในความหวังของการรักษาการแสดงโบราณประเภทนี้ให้คงอยู่ต่อไป
“คณะเตี่ยเกี๊ยะอี่ไล้เฮงเราไปเล่นถึงมาเลเซีย สิงคโปร์เลยนะ ไปทีเป็นเดือน ๆ ที่นั่นมีชุมชนจีนอยู่มาก แต่ไม่มีงิ้วเล่นกันแล้ว เขาเลยต้องมาจ้างคณะจากเมืองไทยไป หลังจากนี้คณะกำลังจะไปเล่นกันที่นั่น” อาเจียเล่าให้ฟัง ผมแอบอยากตามงิ้วคณะนี้ไปเที่ยวด้วยเลย
อาเจียกรุณาอนุญาตให้หม่าม้าพาผมตะลุยไปถึงด้านหลังเวทีระหว่างที่ตัวแสดงกำลังแต่งหน้าแต่งตา ภาพที่ปรากฏอยู่เป็นภาพที่สวยงามมาก ๆ แสงไฟสีนวลจับลงบนหน้าของพี่ ๆ น้อง ๆ นักแสดงที่กำลังวาดสีสวย ๆ ลงบนใบหน้าตัวเอง ผมรีบขออนุญาตถ่ายภาพอย่างอดใจไม่ไหว เป็นภาพที่ผมชอบมาก ๆ และนักแสดงทุกท่านก็อนุญาตผมอย่างเต็มใจ
“พี่ ๆ แต่งหน้ากันไปเรื่อย ๆ นะครับ ผมขอบันทึกภาพหน่อยครับ อย่าเกร็งนะครับ” ผมรีบบอกทุกคนพร้อมกับกดไอโฟนรัวภาพที่เห็น
พี่สาวท่านหนึ่งกำลังแต่งทรงผมด้วยวัสดุอะไรบางอย่างที่เป็นของเหลวหนืดเหนียว มันคืออะไรกันหนอ?
“อันนี้เรียกว่าหลาเต๊า เป็นกึ่งครีม กึ่งเจล กึ่งแป้งเปียกใช้แต่งผม ติดวิก... สั่งมาจากเมืองจีนเลยนะคะ” คุณพี่อธิบาย
หลังเวทีมีชุดงิ้วสีสวยแขวนพรืดอยู่บนราว มีหมวกประดับขนนกสวยงามมากมายหลายใบ มีแส้ และอาวุธหลายชนิดสำหรับใช้ประกอบการแสดงในค่ำวันนั้น
ผ่าง ผ่าง ผ่าง เสียงฉาบยังดังกึกก้อง พร้อมกับเสียงกลองที่หนักแน่นเร้าใจ สลับกับเสียงขิมที่บรรเลงโดยเด็กน้อยบ้างนักดนตรีอื่น ๆ บ้าง เสียงซอแว่วหวาน เสียงปี่ และมีเชลโล่ร่วมวงด้วย.... โอย... สนุก สนุก สนุก
ผมฟังไม่รู้เรื่องเลยนะครับ แต่ผมสนุกมากกับลีลาการพูด การร้อง การกรีดกรายร่ายรำ โดยมีหม่าม้าคอยอธิบายเป็นช่วง ๆ
“ที่เห็นนี้เป็นท่าขึ้นม้า เห็นไหมว่าเขาต้องกระตุกแส้ก่อน” หม่าม้าอธิบาย นอกจากท่าขึ้นม้าแล้วยังมีท่าขึ้นบันได ขึ้นบ้าน ขึ้นเกี้ยว ฯลฯ ที่เมื่อได้รับคำอธิบายแล้วจะร้อง “อ๋อ” ออกมา ท่าท่างเหล่านี้ช่วยเล่าเรื่องให้คนดูจินตนาการตามได้ว่าตัวแสดงอยู่ไหน ทำอะไร และอย่างไร
ก่อนท่านเปาจะตัดสินความจบ ผมก็จำเป็นต้องกลับบ้านก่อนเพราะผมต้องมีภารกิจแต่เช้าตรู่ ผมจึงต้องกราบลาหม่าม้าด้วยความเสียดาย
ผมคิดว่าความสัมพันธ์ของคนในชุมชนเป็นสิ่งสำคัญในการที่จะร่วมกันรักษาและต่อยอดวัฒนธรรมดี ๆ ให้คงอยู่สืบไป ไม่ว่าการแสดงความเคารพบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพชน รวมทั้งการต่อลมหายใจของการแสดงอย่างงิ้วให้ยังคงอยู่
“ขอบพระคุณหม่าม้ามาก ๆ ครับ ที่ชวนผมมาในวันนี้ นี่เป็นครั้งแรก ๆ ที่ผมได้มีโอกาสดูงิ้ว ผมสนุกมาก มีงิ้วเล่นที่ไหนอีกหม่าม้ากรุณาเรียกตี๋ด้วยนะครับ” ผมกล่าวขอบพระคุณหม่าม้าอีกครั้งก่อนเดินจากมาด้วยความหวังว่าผมจะได้กลับไปร่วมกิจกรรมทางวัฒนธรรมกับชุมชนนี้ทุกปี... ทุกปี