ทอดน่องท่องเยาวราช-ตลาดน้อย ฟังผู้ใหญ่เล่าเรื่อง “ไหว้พระจันทร์”
“นางชื่อฉางเอ๋อ เป็นภรรยาของโฮวอี้ มีตำนานว่าโฮวอี้เป็นชายหนุ่มกำยำที่ยิงแม่นธนูมากกว่าใครในแผ่นดิน ในสมัยโบราณพระอาทิตย์มีสิบดวงที่แผดรังสีมาบนโลกจนร้อนระอุและแห้งแล้งไปทุกหย่อมหญ้า โฮวอี้ขันอาสายิงธนูทำลายดวงอาทิตย์ไปเก้าดวง เหลือไว้เพียงดวงเดียวและเป็นดวงที่มอบความสมบูรณ์แก่ผืนแผ่นดิน โฮวอี้จึงได้รับยาอมฤตเป็นรางวัล ฉางเอ๋อเป็นภรรยาของโฮวอี้ที่คอยดูแลสามีอย่างดีด้วยความรักและกตัญญู ขณะที่โฮวอี้ก็เป็นกลายเซียนธนูที่มีเมตตา คอยถ่ายทอดวิชาแก่ผู้คนไปทั่วแผ่นดินจีน...
“มีชายผู้หนึ่งชื่อทั่งเฟิงเมิ่งมาฝากตัวเป็นศิษย์เล่าเรียนวิชาธนู แต่มันเป็นศิษย์ที่คิดทรยศ วันหนึ่งทั่งเฟิงเมิ่งอยู่สำนักเพียงลำพัง มันเข้าหาฉางเอ๋อ นางพยายามต่อสู้ปัดป้องด้วยกำลังทั้งหมด ฉางเอ๋อคว้ายาอมฤทธิ์มาดื่มเพิ่อป้องกันตัว แล้วร่างนางก็ค่อย ๆ เบาหวิวจนลิ่วลอยสู่สรวงสวรรค์ไปจุติเป็นจันทรเทพ เมื่อโฮวอี้กลับมาทราบเรื่องเข้าเขาจึงสังหารทั่งเฟิงเมิงตาย...
“ด้วยความคิดถึงฉางเอ๋อ เขาจึงจัดพิธีสักการะบูชาดวงจันทร์ในวันขึ้นสิบห้าค่ำเดือนแปดอันเป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวงกลมใหญ่และสวยสดงดงามที่สุดในรอบปีเพื่อรำลึกถึงฉางเอ๋ออันเป็นที่รัก… นั่นคือที่มาของพิธีไหว้พระจันทร์”
คุณป้าใจดีที่ตลาดน้อยเล่าถึงตำนานด้วยเสียงอันสดใสในขณะที่ผมพยายามจดบันทึกเรื่องราวอันเป็นที่มาของพิธีสำคัญนี้ นอกจากเรื่องราวจะสนุกสนานน่าฟังแล้ว แต่ความกระตือรือร้นของคุณป้าที่ถ่ายทอดให้ผมฟังนั้นยิ่งทำให้ตำนานเล่าขานเรื่องนี้มีความพิเศษมากยิ่งขึ้น ผมรู้สึกเหมือนกับว่าผมเป็นลูกหลานแท้ ๆ ของคุณป้าเลยทีเดียวทั้ง ๆ ที่ผมเพิ่งเดินมาแอบชื่นชมโต๊ะไหว้พระจันทร์ที่หน้าร้านของคุณป้าเมื่อห้านาทีก่อน
วันนี้คือวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 ตรงกับวันไหว้พระจันทร์พอดี และผมรู้สึกดีใจมาก ๆ ที่ได้มาเดินชมการจัดโต๊ะไหว้พระจันทร์ในคืนนี้ที่ย่านเจริญชัย เยาวราช ตรอกเล่งบ้วยเอี๊ย และตลาดน้อยร่วมกับเฟสบุ๊ค “เครือข่ายการท่องเที่ยวภาคประชาชน” ที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจได้มาศึกษาถึงที่มาที่ไปและสัมผัสบรรยากาศการไหว้พระจันทร์แบบดั้งเดิมจากผู้คนในพื้นที่ที่ยังคงอนุรักษ์ประเพณีนี้ไว้เป็นอย่างดี
“พิธีไหว้พระจันทร์จะจัดขึ้นในวันนี้ตามปฏิทินจันทรคติจีนทุกปี เราเรียกว่าตงชิว ตงแปลว่ากลาง ชิวคือฤดูใบไม้ร่วง นอกจากจะเป็นวันที่พระจันทร์สวยสว่างสุกใสที่สุดในรอบปีแล้ว ยังเป็นวันสำคัญของการเริ่มต้นเก็บเกี่ยวพืชผล ชาวจีนในชนบทจะชักชวนญาติพี่น้องให้มาร่วมลงแรงเก็บเกี่ยวผลผลิตและไถแปลงดินให้เรียบร้อยก่อนเข้าสู่ฤดูหนาว วันไหว้พระจันทร์จึงเป็นวันรวมญาติมาสังสันทน์เฮฮากินดื่มกันให้สำราญเพื่อเพิ่มพลังก่อนลุยงานหนักที่จะตามมาในวันรุ่งขึ้นและวันต่อ ๆ ไป....
“ผมว่าการชวนมาชมจันทร์เป็นกุศโลบายที่แยบยลเพราะชวนแล้วใคร ๆ ก็อยากมา ถ้าชวนมาสวดมนต์ ทำสมาธิ คนอาจหายไปหมดนะ คิดเสียว่าไหว้พระจันทร์คือ Full Moon Party ในสมัยนี้ละกันนะครับ” เมื่อสิ้นเสียงบรรยายของวิทยากรก็ได้ยินเสียงฮากันครืนจากผู้ฟังทุกคน
พวกเราเดินเลาะย่านเจริญชัย เยาวราชผ่านพี่ ๆ น้อง ๆ ชาวไทยเชื้อสายจีนที่จัดโต๊ะไหว้พระจันทร์ไว้หน้าร้าน หน้าบ้านของตัวเอง ดูสวยงามมาก ๆ เล็งเห็นถึงความตั้งใจของทุกคน บนโต๊ะมีกระดาษสีสวย ๆ มากมายพร้อมกับอาหารและผลไม้หลายชนิด
มีอะไรกันบ้างเนี่ย?
“นี่ตั่วป้อ กระดาษที่ทำเป็นรูปเบี้ยจีนโบราณ หมายถึงเงินใหญ่ ๆ นั่นคือความร่ำรวย นี่ก่งมึ้ง ทำเป็นโคมไฟ หรือม่านประดับนำแสงสว่างและปัญญา นี่เต้า เป็นรูปถังเงินถังทอง หมายถึงความมั่งคั่ง นี่กระดาษสีรูปแปดเซียน เป็นเทพที่คอยปกปักรักษา ส่วนกระดาษสีที่มีตัวอักษรจีนสีทองวางเรียงเป็นขั้น ๆ นี้เรียกว่าเจียงห่าวจี้ หมายถึงบันไดสวรรค์ ยังมีพุ่มเงินพุ่มทอง และชุดทรงของจันทรเทพธิดา หรือฉางเอ๋อด้วย พอไหว้เสร็จแล้วก็จะเผาทั้งหมดนี้เลย” คุณพี่ที่ตรอกเจริญชัยเล่าให้ฟังเกี่ยวกับเครื่องกระดาษแต่ละชิ้นอย่างภูมิใจ ผมแอบมองกระดาษสวยประหนึ่งงานศิลป์ด้วยความเสียดายที่ทุกอย่างจะกลายเป็นเถ้าถ่านไปในคืนนี้ด้วยความเชื่อที่ว่าจันทรเทพธิดาจะได้รับบรรณาการทั้งหมดจากเราและท่านจะบันดาลพรนั้น ๆ กลับมาให้เราเป็นการตอบแทน
“เครื่องไหว้ต้องมีเทียนคู่ ธูปสามดอกหรือไม่ก็ห้าดอก หรือธูปมังกรหนึ่งดอก แล้วแต่ความเชื่อของแต่ละครอบครัว อาหารที่นำมาเส้นสรวงต้องเป็นอาหารเจ มีวุ้นเส้น ดอกไม้จีน เห็ดหูหนู เห็ดหอม ขนมไหว้พระจันทร์ ขนมโก๋ ผลไม้มงคลห้าอย่าง จะเป็นอะไรก็ได้ แต่ที่ต้องมีคือส้มโอลูกสวย แล้วก็มีชา และเหล้า พอไหว้เสร็จก็ทานได้ เป็นมงคล” คุณพี่บรรยายเสียงใส
ตรอกเจริญชัยเป็นแหล่งค้าขายสินค้าอันเกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรมประเพณีความที่ตั้งอยู่ใกล้กับวัดมังกรกมลาวาสและศาลเจ้าต่าง ๆ ระหว่างที่เดินดูโต๊ะไหว้พระจันทร์เราเลยได้เห็นสินค้าที่ทำจากกระดาษสีสวยมากมาย พร้อมรับทราบความหมายของแต่ละชิ้น
“ความจริงไหว้พระจันทร์ไม่ใช่เรื่องเครียดเลยนะครับ อยากทานอะไรก็ทำมาไหว้ มาฉลองกันได้ ขนมที่ทำมาจากแป้ง ถั่ว นัท ผลไม้รสหวาน ทั้งหมดก็เพื่อทานแล้วอิ่ม ได้พลังงานก่อนจะทำงานหนักในวันต่อ ๆ ไปที่ต้องช่วยกันเก็บเกี่ยวพืชผล แล้วที่เลือกทำเป็นทรงกลมก็เพื่อเลียนแบบทรงของพระจันทร์เต็มดวง นอกจากนี้ยังหมายถึงความสามัคคีกลมเกลียวของญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านที่ต่างมารวมตัวกันในวันนี้ด้วย” วิทยากรเล่าเสริมขณะที่เราเดินต่อไปยังตรอกอิศรานุภาพ ไปยังถนนวานิชและตลาดน้อย
ที่เยาวราชว่าคึกคักแล้ว ที่ตลาดน้อยก็คึกคักไม่แพ้กัน โต๊ะไหว้พระจันทร์จัดอย่างสวยงามตามหน้าร้านที่เป็นอาคารพาณิชย์เก่า ๆ บรรยากาศดีมากจนไม่รู้สึกเมื่อยเลย เราเลยแวะเวียนชมโต๊ะไหว้พระจันทร์ตามบ้านนู้นบ้านนี้พร้อมฟังเรื่องเล่ามากมายลุงป้าน้าอาพี่น้องที่อาศัยอยู่ในพื้นที่
ร้างเฮงเสงเป็นร้านที่ยังทำธุกิจเย็บหมอนไหว้เจ้าที่เหลือเพียงร้านเดียวในประเทศไทย นายอิ๊วเอี้ยวฮุยได้เดินทางข้าท้องทะเลเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารบนแผ่นดินสยามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ยึดอาชีพทำหมอนและที่นอนขายบริเวณตลาดน้อยจนกิจการเติบโตและส่งต่อมายังรุ่นลูกหลาน ในร้านมีหมอนไหว้เจ้าทรงกลมใบสวยสีจัดจ้านหลายขนาดวางไว้ในตู้ไม้โบราณ
“หมอนนี้เย็บมือ ไว้วางไอโฟน เป็นสินค้ารุ่นล่าสุด” คุณพี่รุ่นเหลนชี้ให้พวกเราดูหมอนขนาดน่ารักที่วางบนตู้กระจก ผมแอบยิ้มและชื่นชมในความคิดสร้างสรรค์ของลูกหลานที่พัฒนาสินค้าใหม่ ๆ พร้อม ๆ กับอนุรักษ์สินค้าของบรรพชนไว้ด้วยเช่นกัน
ที่หน้าร้านเฮงเสงมีโต๊ะที่จัดแต่งอย่างสวยงามไว้บูชาจันทรเทพธิดาฉางเอ๋อโต๊ะใหญ่ สิ่งที่สะดุดตามาก ๆ คือ “จิ๊งอั๊บ” กล่องไม้สลักและวาดลวดลายสวยงามที่ตั้งฟักเชื่อม ถั่วเคลือบน้ำตาลอยู่ โอย… สวยมาก ๆ
“เป็นของเก่า... อาก๋งซื้อจากพ่อค้าจีนเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2488 วันนั้นเป็นวันที่ญี่ปุ่นยอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตร และวันนั้นตรงกับวันไหว้พระจันทร์พอดี อาก๋งจึงอยากทำอะไรพิเศษเพื่อเฉลิมฉลองและขอบคุณต่อจันทรเทพธิดา ต้องเข้าใจว่าย่านตลาดน้อยเป็นย่านการค้า ญี่ปุ่นเข้ามายุ่มย่าม และพยายามจะทิ้งบอมบ์บริเวณนี้ ชาวบ้านต้องอยู่ด้วยความหวาดกลัวตลอดช่วงสงคราม อาก๋งจึงดีใจมากที่สงครามจบลง”
จากร้านเฮงเสง เราเดินลัดเลาะไปตามตลาดน้อยอย่างสนุกสนานจนมาสะดุดตากับบ้านหลังหนึ่งที่จัดโต๊ะใหญ่ สวยงาม และมีซุ้มอ้อยจัดไว้ ที่นี่เป็นเพียงที่เดียวที่เราเห็นซุ้มอ้อย
“ต้องมี... ต้องมี... ไหว้ทุกปีก็จัดซุ้มอ้อยทุกปีเลย อ้อยคือความหวาน ชีวิตจะได้มีความเรียบง่าย” คุณพี่เจ้าของบ้านเล่า ขณะที่วิทยากรเสริมว่าการไหว้พระจันทร์เน้นของหวานเพราะเป็นการสักการะเทพที่เป็นหญิง
“ผมเห็นแทบทุกโต๊ะมีแป้ง มีครีม มีมอยสเจอไรเซอร์ ทั้งลา แมร์ ซัลวาซู ด็อกเตอร์จิล ฯลฯ ด้วยครับ” ผมถาม
“เราสักการะเทพที่เป็นสตรี เราก็ต้องบรรณาการท่านด้วยเครื่องประทินผิวเช่นนี้ แต่อันนี้ไม่ต้องเผานะ ฮ่า ฮ่า ฮ่า… ไหว้เสร็จใช้ต่อ จะสวยทวีคูณ” ....มิน่า บางโต๊ะเปิดขวดเตรียมรับพลังฉางเอ๋อไว้ด้วยเลย
“เมื่อก่อนมีแป้งขาวแบบแต่งหน้างิ้วด้วยนะ คนไหว้ก็ทาแป้งขาว หน้าว่อกเลยสนุกมาก ๆ” คุณป้าเล่าเสียงใส
กว่า 10 ปีก่อนคือครั้งสุดล่าสุดที่ผมไหว้พระจันทร์คือเมื่อผมเป็นนิสิตอักษรศาสตร์ เรียนไทยศึกษาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผมขอให้คุณย่าจัดไหว้พระจันทร์แบบ “จัดเต็ม” ให้ผมดูอีกครั้งหลังจากที่บ้านเราห่างหายการไหว้พระจันทร์มาหลายปี คุณย่าดีใจมาก ๆ ท่านไปซื้อไปหาเครื่องไหว้มาจนครบ และชวนผมสวดมนต์บูชาจันทรเทพธิดาเป็นภาษาจีนอยู่นาน ผมถามย่าว่าเราไหว้พระจันทร์กันทำไม? ย่าตอบว่า “เพราะบรรพบุรุษไหว้”
สำหรับผม ในตอนนั้นการไหว้พระจันทร์คือความกตัญญูที่ลูกหลานจีนอย่างเราควรสืบทอดตามวิถีที่บรรพบุรุษสร้างไว้
วันนี้ผมเข้าใจเรื่องไหว้พระจันทร์มากขึ้น และดีใจว่า “ตึ่งหนังเกี้ย” จำนวนหนึ่งยังคงอนุรักษ์ประเพณีที่สวยงามและอบอุ่นนี้เอาไว้ และผมก็เกิดความคิดว่าผมเองก็ควรจะทำต่อไป แม้ว่าประเพณีนี้จะเป็นสิ่งที่ผู้หญิงทำ
ผมเดินกลับบ้านจากตลาดน้อย อีกสักพักพี่ ๆ น้อง ๆ ในย่านต่าง ๆ ที่ผมเดินผ่านคงจะเริ่มจุดธูป ทำพิธีไหว้จันทรเทพธิดาตามความเชื่อของแต่ละครอบครัว ตอนดึกคืนนั้นฝนลงเม็ดเบา ๆ เมฆทึบจนไม่เห็นพระจันทร์ แต่เป็นวันไหว้พระจันทร์ที่ผมกระจ่างมากที่สุด
และผมต้องขอขอบพระคุณวิทยากร ชาวชุมชนเจริญชัย เยาวราช ตลาดน้อยที่มอบความกระจ่างให้กับผมในคืนวันไหว้พระจันทร์