HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
เปลี่ยนรักให้เป็นรั้ว ศิลปะชิ้นเอกของสถานเอกอักราชทูตไทย กรุงมาปูตู
by โลจน์ นันทิวัชรินทร์
20 มิ.ย. 2562, 18:18
  2,197 views

ลดความสูงของรั้วเพื่อเปิดทางให้มิตรภาพ น่าคบหาด้วยงานศิลปะของคนในชุมชนและสุภาษิตสอนใจในภาษาโปรตุเกส

        สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมาปูตู (Maputo) เมืองหลวงประเทศโมซัมบิก (Moçambique) ตั้งอยู่เลขที่ 4317 บนถนนใหญ่สายหลักนามว่าอะเวนิด้า จูลีอุส นีเยเรรือ (Avenida Julius Nyerere) บนขอบของ ย่านคนขาว พอดี

        ด้านหน้าของสถานทูตคือเมืองที่ทันสมัย สวยงาม มีถนนราดยางอย่างดี เต็มไปด้วยอาคารสูงและบ้านทรงยุโรปหันหน้ารับลมทะเลที่พัดมาจากมหาสมุทรอินเดีย และเป็นที่อาศัยของคนขาวโดยเฉพาะชาวโปรตุเกสผู้เป็นอดีตเจ้าอาณานิคม ส่วนด้านของสถานทูตหลังคือแหล่งชุมชนแออัดขนาดใหญ่อันเป็นย่านที่อยู่อาศัยของคนผิวสีชาวแอฟริกันซึ่งมีทางเดินเป็นเพียงดินแดงปนทรายที่ลัดเลาะไล่เลี้ยวผ่านบ้านหลังเล็กหลังน้อยมากมายที่ล้วนสร้างขึ้นจากสังกะสีผุ ๆ พัง ๆ ช่างเป็นความแตกต่างที่สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนเพราะย่านหรูนั้นอยู่ข้างหน้า ส่วนชุมชนแออัดนั้นอยู่ประชิดติดหลังสถานทูตแบบชนกำแพง

        หากยังพอจำกันได้ ผมเคยเขียนเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองมาปูตูที่มีชื่อเดิมว่า ลอเรนซู มารเกช (Lourenço Marquês) แห่งนี้ไว้ว่าเมืองถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนหลัก ๆ มาตั้งแต่สมัยที่โปรตุเกสยังมีอำนาจปกครองโมซัมบิกอยู่ ส่วนแรกนั้นเรียกว่าเมืองซีเมนต์ หรือซีด๊าดดือ ดือ ซีเมนตู (Cidade de Cimento) ที่เคยสงวนไว้สำหรับคนผิวขาวอย่างชาวโปรตุเกสเจ้าอาณานิคมเท่านั้น สาเหตุที่ขนานนามย่านคนขาวว่าเป็น เมืองซีเมนต์ ก็เพราะว่าสิ่งก่อสร้างในบริเวณนี้ทั้งหมดล้วนทำจากซีเมนต์ ก่ออิฐถือปูนจนโอ่โถง อลังการและงดงาม นอกจากนี้ยังเป็นย่านที่ตั้งอยู่ริมมหาสมุทรอันนับว่าเป็นพื้นที่ที่ดีที่สุดของเมืองอีกด้วย

กำแพงพร้อมสุภาษิตไทยภาษาโปรตุเกสและอีกด้านคือชุมชนแออัด

        ส่วนอีกย่านหนึ่งนั้นเรียกว่า Cidade de Caniço (ซิด๊าดดือ ดือ กานิซู) อันเป็นย่านของคนผิวสีชาวแอฟริกันผู้เป็นเจ้าของประเทศ คำว่ากานิซู (Caniço) นั้น เป็นศัพท์ภาษาโปรตุเกสที่มีหมายความว่าต้นกกทั้งนี้เพราะในอดีตนั้น สิ่งก่อสร้างในย่านนี้ล้วนทำมาจากต้นกกอันเป็นวัตถุดิบพื้น ๆ ที่ไม่คงทนถาวรอย่างซีเมนต์ การกำหนดให้บ้านหรือสิ่งก่อสร้างใด ๆ ในย่านนี้สร้างขึ้นด้วยต้นกกนั้นก็เป็นกฏหมายที่บัญญัติขึ้นโดยชาวโปรตุเกสในยุคอาณานิคม ทั้งนี้เพราะหากเมื่อใดก็ตามที่ประชากรชาวโปรตุเกสที่อาศัยอยู่ในย่านคนขาวเริ่มเพิ่มจำนวนขึ้นจนแออัดและจำเป็นต้องขยายพื้นที่ให้กว้างขวางออกไปแล้วล่ะก็ การรื้อถอนบ้านที่ทำจากต้นกกของคนผิวสีก็จะทำได้ง่ายและรวดเร็ว

        ในอดีตนั้น สำหรับชาวแอฟริกันแล้ว การจะเดินข้ามเขตมาสู่ย่านคนขาวนั้นทำไม่ได้โดยเด็ดขาด ใครฝ่าฝืนมีโทษสถานหนัก จะมีเฉพาะบางคนที่นับเป็นกรณียกเว้นด้วยเหตุผลอันสมควร เช่น คนผิวสีที่ข้ามมาเป็นแรงงานในการก่อสร้าง มาทำความสะอาด หรือมารับใช้เจ้านายผิวขาว เป็นต้น และเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจในแต่ละวันแล้วก็ต้องรีบกลับไปย่านต้นกกของตนในเวลาค่ำโดยไม่สามารถค้างคืนในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ได้ และก่อนจะข้ามเขตมาสู่เมืองซีเมนต์ได้นั้น ก็ต้องมีเอกสารอนุญาตอย่างถูกต้องจากทางการที่มาพร้อมกับกฏยิบย่อยอีกหลายประการอย่างเช่น ต้องเข้ารีตประกาศตนเป็นคาธอลิก ต้องพูดภาษาปอรตุเกสได้อย่างดี ต้องแต่งตัวแบบชาวยุโรป และต้องมีกิริยาที่ “เหมาะสม” เป็นต้น

        ในปัจจุบัน แม้ว่าโมซัมบิกจะเป็นประเทศอิสระที่พ้นจากการปกครองของโปรตุเกสไปนานแล้ว และประชาชนทุกคนไม่ว่าจะผิวสีอะไรก็ตามสามารถเดินทางไปไหนต่อไหนได้อย่างอิสระ แต่เมืองซีเมนต์ก็ยังคงเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของคนขาวและชาวต่างชาติเป็นหลัก ส่วนเมืองต้นกกก็ได้กลายมาเป็นชุมชนแออัดที่กระจายตัวล้อมเมืองไว้ และยังคงเป็นถิ่นที่อาศัยของคนแอฟริกันพื้นเมืองเช่นเดิม

        หากเราไปเดินเล่นในย่านคนขาว เราจะเห็นบ้านเรือนสวยงามที่มีมาตั้งแต่ยุคอาณานิคม แทบทุกบ้านมีรั้วรอบขอบชิด และล้อมรั้วด้วยกำแพงสูงพร้อมลวดไฟฟ้า บ้านหลายหลังมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยยืนยามคอยคุ้มกันอยู่พร้อมอาวุธครบมือ

        โมซัมบิกนั้นมีอัตราการว่างงานสูงมาก ๆ ประชากรส่วนใหญ่ไม่มีอาชีพ ไม่มีรายได้ ส่งผลให้มีอัตราการก่ออาชญากรรมค่อนข้างสูง และทางการก็มักจะอ้างว่าผู้ก่ออาชญากรรมส่วนมากจะอาศัยอยู่ในชุมชนแออัดนั่นเอง

        ความที่สถานทูตไทยตั้งอยู่สุดขอบประชิดติดชุมชนแออัดเช่นนี้ ผมคิดว่ากำแพงสถานทูตน่าจะสูงเสียยิ่งกว่าสูงพร้อมด้วยลวดหนามไฟฟ้าและมีกองกำลังเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจำนวนมากคอยคุ้มกันดูแล

       แต่หากอ้อมไปเบื้องหลังสถานทูตไทยแล้ว เรากลับพบกำแพงปูนในความสูงปกติ ไม่มีลวดหนามไฟฟ้าใด ๆ ไม่มีกองกำลังติดอาวุธคอยคุ้มกัน และที่ผมว่ากำแพงนี้มีความพิเศษสุด ๆ ก็เพราะว่าบนปูนฉาบนั้นปรากฏภาพสวยงามน่ารักทำจากกระเบื้องโมเสกหลากสี เป็นภาพประกอบสุภาษิตไทยที่แปลเป็นภาษาปอรตุเกสให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่าย ๆ อย่างเช่น Não ensine crocodilo a nadar (อย่าสอนจระเข้ให้ว่ายน้ำ) Quem faz coisas boas, recebe coisas boas. Quem faz coisa má, recebe coisa má (ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว) A água depende do barco. O tigre depende da florista. (น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า) Montar um elefante para apanhar um gafanhoto. (ขี่ช้างจับตั๊กแตน) และยังมีสุภาษิตไทยพร้อมภาพประกอบสวยงามน่ารักอีกมากมายหลายคำที่เรียงร้อยไปตลอดแนวกำแพงปูน

       

สุภาษิตไทยที่แปลเป็นภาษาโปรตุเกส พร้อมลายโมเสกสวยงาม

          งานศิลปะที่ปรากฏบนกำแพงโมเสกอันสวยงามเหล่านี้เป็นฝีมือของชาวโมซัมบิกซึ่งอาศัยอยู่ในชุมชนแออัดด้านหลังสถานทูตนั่นเอง พวกเขาค่อย ๆ ทำไปทีละนิดทีละนิดจนเป็นภาพสวยงามอย่างที่เห็น และวันนี้ยังคงทำต่อไปเรื่อย ๆ ในฐานะแรงงานที่ได้รับค่าจ้างจากสถานทูต

        ไม่พอ ไม่พอครับ ยังไม่พอ.....ด้านหลังสถานทูตเดิมเป็นที่รกเรื้อไร้การดูแล ทางเข้าออกจากย่านชุมชนสู่ถนนใหญ่ก็ไม่มี แต่เมื่อสถานทูตไทยมาตั้งทำเนียบอยู่ ณ บริเวณนี้  งบประมาณการจัดจ้างส่วนหนึ่งผันมาเป็นการจ้างแรงงานจากชุมชนแออัดแห่งนี้ให้ร่วมกันแผ้วถาง ทำความสะอาด ปรับภูมิทัศน์ และสร้างทางเดินเท้าด้วยปูนซีเมนต์เพื่อเป็นทางเข้าออกจากชุมชนจนเป็นรูปเป็นร่างอย่างเรียบร้อยสวยงามอย่างวันนี้

        ร้านทำผมเล็ก ๆ ของชุมชนที่มีอยู่หนึ่งร้านที่ตั้งอยู่ตรงทางเข้าออก ทางสถานทูตก็ได้นำวิธีการเดียวกันกับการตกแต่งกำแพงหลังสถานทูตมาใช้ตกแต่งร้านทำผมของชุมชนด้วย ลายโมเสกสวยงามน่ารักจึงปรากฏให้เห็นเด่นชัด ร้านที่ดูสะอาดสะอ้านน่าใช้บริการ และแน่นอนว่าเป็นการจ้างคนในพื้นที่เช่นเดียวกัน

ร้านตัดผมของชุมชนที่สถานทูตไปปรับปรุงโดยว่าจ้างแรงงานจากชุมชน

      ทุกวันนี้สถานทูตไทยกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนแออัดแห่งนี้ไปแล้วเรียบร้อย คนในพื้นที่ได้อาศัยทางเข้าออกผ่านทางด้านข้างสถานทูต สามี ภรรยา ลูกชาย ลูกสาว คนหนุ่มคนสาวหรือคนสูงอายุล้วนเป็นแรงงานสำคัญที่สถานทูตนำมาว่าจ้างเพื่อปรับสภาพภูมิทัศน์ทั้งหมด ทำให้เขามีงานทำ มีรายได้ และหันเหออกจากความเป็นมิจฉาชีพ

        สถานทูตไทยไม่ต้องสร้างกำแพงสูง ไม่ต้องล้อมรั้วไฟฟ้า และไม่ต้องจ้างเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยมาเป็นกองทัพเพื่อป้องกันอาชญากรรม และผมยังได้เข้าไปเดินเล่นในย่านชุมชนแออัดหลังสถานทูตด้วยครับ โดยมีกลาเรนซิอู (Clarencio) พนักงานขับรถของสถานทูตไทยเป็นคนพาผมไปเดิน

        ไปได้เหรอกลาเรนซิอู.... ชาวบ้านไม่ว่าอะไรแน่นะ? ผมถาม

        “ไปได้ ไปได้ สบายมาก ยิ่งมาจาก Tailândia นี่ไม่ต้องห่วงเลย ชาวบ้านในชุมชนรักคนไทย รักเมืองไทย กลาเรนซิอูยืนยัน

       งั้น... ไป ไป ไป ผมดี๊ด๊า และออกเดินจากสถานทูตอ้อมมาด้านหลังเพื่อก้าวเข้าสู่ชุมชนแออัดในเขตเมืองต้นกกแห่งนี้

        ผมไปยืนอ่านสุภาษิตไทยภาษาปอรตุเกสพร้อมกับชมภาพลายโมเสกบนกำแพงด้านหลังของสถานทูตอยู่นานด้วยความชื่นชม ก่อนจะตามกลาเรนซิอูเดินผ่านร้านทำผมแสนสวยเข้าสู่ชุมชน กลาเรนซิอูเองก็เป็นคนที่เติบโตมาจากชุมชนแห่งนี้ และได้เห็นพัฒนาการที่เกิดขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เขาบอกว่า สภาพของชุมชนดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก ไม่มีกอหญ้ารกรุงรัง มีทางเข้าออกสู่ถนนใหญ่ แล้วยังเป็นทางลาดซีเมนต์อย่างดี

        “อากุนย่า อากุนย่า...” เด็ก ๆ วิ่งออกมาต้อนรับและเดินไปพร้อม ๆ กับผม คำว่าอากุนย่าแปลว่าคนขาว และเด็กทุกคนจะจัดชาวเอเชียผิวเหลืองอย่างเราไว้ในหมวดหมู่นี้ด้วย

        ไหนโพสต์ท่าสวย ให้พี่ถ่ายรูปหน่อยสิครับ ผมบอกน้อง ๆ แล้วก็ได้รูปนางแบบตัวน้อยที่โพสต์ท่าสวยกลับมาหลายรูป

       

บูติค (บน) และร้านขายผักประจำชุมชน

        บ้านสังกะสีหลังเล็ก ๆ หลายหลังเรียงกันเป็นพรืดตามทางเดินคดเคี้ยวที่ทอดลึกเข้าไปในชุมชน มีร้านชำขายอาหารแห้ง เครื่องกระป๋อง สบู่ ยาสระผมแบบฉีกได้เป็นซอง ๆ เมื่อเดินลึกเข้าไปก็พบกับตลาดสดเล็ก ๆ ที่มีผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์วางขาย แต่ที่ผมชอบมาก ๆ คือบูติกขายเสื้อผ้ามือสองที่มีเสื้อหลากไซส์หลากสีแขวนพรืดบนขื่อไม้

        ชาวบ้านดูเป็นมิตรและใจดี ยิ่งเมื่อรู้ว่าผมเป็นคนไทย ผมเห็นกลาเรนซิอูทักทายใครต่อใครไปตามทางด้วยภาษาปอรตุเกสจนดูเหมือนว่าพวกเขารู้จักกันไปหมด ชุมชนแออัดแห่งนี้ไม่มีความน่ากลัวเลยสำหรับผม

       “ช่วงเวลาใกล้ค่ำแบบนี้ชาวบ้านไปไหนกันครับ?” ผมถามกลาเรนซิอู

       ไปสนามบอล... ใคร ก็ไปสนามบอล มันเป็นพื้นที่โล่งของชุมชน คนไปเตะบอล ไปเดินเล่น ไปสูดอากาศในที่โล่ง กลาเรนซิอูตอบ แล้วเราก็พากันสาวเท้าไปที่นั่นกัน

 

        ที่สนามบอลเป็นพื้นที่โล่งกว้างสุดในชุมชน หนุ่ม ๆ กำลังวิ่งไล่กวดลูกบอลกันอย่างสนุกสนานท่ามกลางเสียงเชียร์ของใครต่อใคร เด็ก ๆ ก็วิ่งเล่นกันไป แม่ ๆ ก็มายืนดูลูกและสังสันทน์กันไป ผมบันทึกภาพที่ดูอบอุ่นน่ารักของชาวบ้านนั้นไว้ในความทรงจำก่อนเดินกลับออกมาตอนค่ำ

        ช่วงที่ผมเดินทางไปนั้นตรงกับวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน นั่นคือวันที่ 29 กรกฎาคมเมื่อปีก่อน หนึ่งในกิจกรรมที่สถานทูตไทย ณ กรุงมาปูตู จัดขึ้นคือการทำความสะอาดและปรับแต่งภูมิทัศน์รอบบริเวณสถานทูต ผมมีโอกาสได้เห็นภาพคนในชุมชนออกมาร่วมกับข้าราชการสถานทูตทำความสะอาดถนน ตัดแต่งต้นไม้ ตัดหญ้า เก็บขยะ พวกเขาร่วมกันใส่เสื้อสีเหลืองและรับรู้ว่านี่คือวันสำคัญของคนไทยเช่นกัน

       

ชาวบ้านร่วมใส่เสื้อเหลืองและช่วยสถานทูตปรับปรุงภูมิทัศน์ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา

ในสมัยอาณานิคมโปรตุเกสอาจขีดเส้นเพื่อแบ่งแยกเมืองออกเป็นสองส่วนตามบริบทของการปกครองในวันนั้น แต่วันนี้ความพยายามของสถานทูตไทยคือการลบรอยขีดเดิมออกให้หมด

        ภาพโมเสกบนกำแพงหลังสถานทูตนั้นดูสวยงาม แต่ข้างหลังภาพคือมิตรภาพที่สวยงามขึ้นไปอีกหลายร้อยเท่า ทั้งหมดเกิดจากความรักและปรารถนาดีที่ต่างมีต่อกัน และนั่นคือรั้วที่แข็งแรงที่สุด

ก่อนที่เรื่องนี้จะจบลง ผมอยากเขียนอะไรสั้น ๆ เกี่ยวกับกลาเรนซิอู ผู้ที่ผมคิดว่าเขาเป็นชาวโมซัมบิกหัวใจไทย

       กลาเรนซิอู โนเวลลือ (Clarencio Novele) คือเจ้าหน้าที่สถานทูตไทยที่ทำหน้าที่ขับรถให้กับกิ๊กซึ่งเป็นเพื่อนรุ่นน้องร่วมมหาวิทยาลัยเดียวกันกับผม ผู้รับราชการอยู่ ณ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมาปูตู ประเทศโมซัมบิก กลาเรนซิอูคือคนที่ผมเจอตั้งแต่วันแรกและอยู่กับผมทุกวันตลอดเวลาที่ผมอยู่ที่มาปูตูจนมาส่งผมที่สนามบินเพื่อเดินทางกลับประเทศไทย

        วินาทีแรกที่ผมเจอเขานั้น เขายกมือ ไหว้ สวัสดีแบบไทย ๆ และไหว้ได้สวยเสียด้วย ครั้งแรกที่ผมเห็นผมออกอาการอึ้งนิดหน่อย เพราะผมไม่เคยเห็นคนแอฟริกันยกมือไหว้มาก่อนในชีวิต แต่ต่อมามันคือสิ่งที่ปกติมาก ๆ เพราะทุกครั้งที่เจอ และลาจากกันในแต่ละวัน กลาเรนซิอูจะยกมือไหว้สวัสดีทุกครั้ง เวลาผมซื้อน้ำ ซื้อขนม หรือเลี้ยงข้าวเขา เขาก็จะยกมือไหว้ ส่วนผมก็จะยกมือรับไหว้เขาแบบคนไทยปฏิบัติต่อกัน และถ้าเมื่อไหร่ที่อารมณ์ความเป็นไทยของเขาบรรเจิดขึ้นมา เราก็อาจได้ยินเขาพูดเขิน ๆ ว่า สวัสดีครับ หรือ ขอบคุณครับ” ด้วยสำเนียงโปรตุเกส แล้วก็รีบหัวเราะกลบเกลื่อนอย่างอาย ๆ

       

        กลาเรนซิอูเป็นผู้ติดตามผมไปทุกที่ในมาปูตู ความจริงผมว่าเขานำผมมากกว่านะครับ เพราะเขาคือคนที่พาผมไปในที่ที่ผมตั้งเป้าหมายว่าจะไปเที่ยวในแต่ละวัน โดยผมจะนั่งจดรายชื่อโบสถ์ วิหาร พิพิธภัณฑ์ ตลาด ตึกสวย ๆ ฯลฯ ที่เป็นสถานที่ที่ผมอยากไปชื่นชมในมาปูตู เพื่อมาบอกเขา และเขาจะช่วยผมวางแผนว่าผมควรจะไปที่ไหนก่อนและหลังและไปด้วยกันกับผม 

        กลาเรนซิอูไม่ได้แค่พาไปส่งนะครับ เขาลงไปเดินกับผมด้วย บางช่วงเป็นการเดินไล่ดูตึกต่าง ๆ ยาวเป็นกิโลเมตร เขาก็เดินไปกับผมอย่างอารมณ์ดี

        ผมกำลังคลั่งภาษาปอรตุเกสเพราะกำลังร่ำเรียนอยู่ และคนที่ผมใช้ทดสอบความรู้ภาษานี้ด้วยก็คือกลาเรนซิอูผู้นี้เพราะผมจะพูดแต่โปรตุเกสกับเขา (เกือบ) ตลอดเวลา จะมีกรณีจำเป็นที่ผมต้องสับลิ้นเป็นภาษาอังกฤษคือเวลาที่กลาเรนซิอูกระซิบผมอย่างเกรงใจว่า พูดภาษาอังกฤษเถอะ ผมไม่รู้เรื่องเลยว่าคุณกำลังพูดอะไร ฮ่า.. ฮ่า... ฮ่า... และเมื่อนั้นกลาเรนซิอูก็จะได้รับการอธิบายเป็นภาษาอังกฤษจากผมเป็นรางวัล โดยมีข้อแม้ว่าเขาจะต้องแปลภาษาอังกฤษเมื่อที่ผมเพิ่งสื่อสารไปเมื่อสักครู่กลับมาเป็นภาษาปอรตุเกส และเขาต้องทนฟังผมฝึกพูดตามเขาเพื่อทบทวนอีกนับสิบรอบ รวมทั้งช่วยสะกดคำต่าง ๆ ที่ผมสะกดไม่ได้หรือแม้แต่ช่วยเขียนลงสมุดจดให้ผม ...โค-ตะ-ระจะใจเย็นเลย

        กลาเรนซิอูเกิดและเติบโตในย่านชุมชนแออัดหลังกำแพงสถานทูต แต่เขาพูดภาษาอังกฤษได้ดีมาก ๆ และผมก็อึ้งไปเลยเมื่อรู้ว่าเขาเรียนด้วยตัวเองจากการที่ทำงานกับนายที่ต้องสื่อสารกับเขาด้วยภาษาอังกฤษเป็นหลัก ไม่ใช่แค่สำเนียงดีเท่านั้น เขายังสามารถอรรถาธิบายสิ่งต่าง ๆ อันเป็นประวัติศาสตร์ ประเพณี ความเชื่อ หรือศิลปะของโมซัมบิกให้ผมเข้าใจได้

       ไม่พอ ไม่พอครับ ยังไม่พอ... เขาจะคอยกระซิบเตือนและให้ข้อมูลผมหลาย ๆ อย่างดังเช่น

อย่าถ่ายรูปตรงนี้ เดี๋ยวตำรวจมาลากตัวไปนะ
ตรงนี้ขายของแพง แค่ดู ก็พอ ถ้าจะซื้อเดี๋ยวพาไปแมรกาดู เซนตราล นู่น.... ถูกกว่าเยอะ
สตอว์เบอร์รี่นี้มันดูไม่ค่อยสะอาด ผมว่าอย่าซื้อทานเลย
ถ้ามาร้านนี้ ต้องซื้อผ้ากาปูลาน่าเพราะมันสวยสุดในเมืองมาปูตูแล้ว
ด้านหลังของสถานีรถไฟมีพิพิธภัณฑ์ดีมาก คุณน่าจะชอบนะ

        สถานที่บางแห่งไปแล้วเกิดอาการ ปิด ไม่ให้เข้าเสียอย่างนั้น  อย่างเช่นโบสถ์ “ที่คั้นน้ำมะนาว” อันแสนสวยงามแห่งมาปูตู และผมถึงกับเข่าทรุดด้วยความเสียดายเมื่อคิดว่าจะอดเข้าไปเดินดูด้านในโบสถ์สำคัญแห่งนี้ แต่กลาเรนซิอูเดินไปเจรจากับเจ้าหน้าที่เพื่อขอให้ผมเข้าไปได้จนสำเร็จ และผมเป็นคนที่เดินดูภายในโบสถ์นั้นเพียงคนเดียว และนานเท่าที่ผมต้องการ

        ผมอยากถ่ายรูปเรือของวาชกู ดา กามา (Vasco da Gama) ซึ่งทำจากกระจกสีที่ตั้งตระหง่านในศาลาว่าการเมืองมาปูตู ซึ่งปกติสถานที่ราชการเช่นนี้จะห้ามถ่ายภาพ แต่กลาเรนซิอูก็เข้าไปเจรจากับเจ้าหน้าที่เพื่อขออนุญาตให้ผมบันทึกภาพประวัติศาสตร์นี้ลงในไอโฟนได้สำเร็จ

กลาเรนซิอู ผู้พาไปเดินชมชุมชนแออัดหลังสถานทูตไทย

        และเมื่อผมอยากไปเดินเล่นในชุมชนแออัดในย่านเมืองต้นกกที่ตั้งอยู่หลังสถานทูตอย่างวันนี้ กลาเรนซิอูก็คือคนที่อาสาพาผมไปและคอยดูแลความปลอดภัยให้ผมอย่างดี

        กลาเรนซิอูเกิดและเติบโตในย่านชุมชนแออัดของมาปูตู เขาเรียนหนังสือไปได้ไม่เท่าไหร่ก็ต้องเลิกเรียน จะด้วยอะไรก็ตาม กิ๊กได้รับเขามาให้เป็นพนักงานขับรถของสถานทูตไทย และได้ให้ทุนเขากลับไปเรียนหนังสืออีกครั้งในเวลาค่ำหลังเลิกงานทุกวันตั้งแต่ 1 ทุ่มจนถึง 3 ทุ่ม

        ดังนั้นผมจะถือเป็นข้อปฏิบัติว่าผมจะกลับที่พักราว ๆ 5 โมงเย็นเพื่อให้เขาได้พักผ่อน ทำใจให้โล่ง จะได้ไปเรียนหนังสืออย่างมีสมาธิ ไม่เหน็ดเหนื่อยเกินไป และผมก็ทำหน้าที่ช่วยติวภาษาอังกฤษให้เขาทุก ๆ วันเป็นการแลกเปลี่ยน

         ผมโชคดีมากที่ได้ทำงานกับคนไทย ผมมีอาชีพ ผมมีการศึกษาเพราะนายผมส่งให้ผมกลับไปเรียนอีกครั้ง ครอบครัวผมก็โชคดีเพราะน้องชายผมก็ได้งานจากสถานทูต.....ทุกคนเมตตาผมและครอบครัวอย่างดี กลาเรนซิอูเอ่ยให้ผมฟังเวลาผมคุยกับเขาเรื่องการไปเรียนที่โรงเรียนศึกษาผู้ใหญ่ภาคค่ำ

        วันที่ผมลากลับเมืองไทย ผมไม่มีอะไรให้นอกจากของฝากเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ผมเตรียมไปจากเมืองไทยและกลาเรนซิอูก็ไหว้ขอบคุณผมอีกครั้ง ก่อนกล่าวอำลาผมบอกเขาว่า

         เราจะรอต้อนรับนายที่เมืองไทยนะ เราจะพานายไปทุกที่เหมือนที่นายพาเราไป เราเชื่อว่าจะได้เจอกันอีก ผมแอบหวังเช่นนั้น ก่อนที่เราจะยกมือไหว้สวัสดีกันอีกครั้ง

         ชาวโมซัมบิกหัวใจไทยคนนี้คือหนึ่งในความทรงจำที่ดีที่สุดที่ผมมีต่อประเทศโมซัมบิกแห่งนี้

Photos courtesy of Facebook เพจ “โฮโย ๆ โมซัมบิก” ที่จัดทำโดยสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมาปูตู ประเทศโมซัมบิก

ABOUT THE AUTHOR
โลจน์ นันทิวัชรินทร์

โลจน์ นันทิวัชรินทร์

หนุ่มเอเจนซี่โฆษณาผู้มีปรัชญาชีวิตว่า "ทำมาหาเที่ยว" เพราะเรื่องเที่ยวมาก่อนเรื่องกินเสมอ ชอบไปประเทศนอกแผนที่ที่ไม่มีใครอยากไปเลยต้องเต็มใจเป็น solo backpacker

ALL POSTS