HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
ตามเสด็จเปิดเทศกาลวูดู
by โลจน์ นันทิวัชรินทร์
14 มิ.ย. 2562, 15:43
  2,128 views

        เช้าตรู่หน้าพระราชวังหลวงแห่งราชรัฐอัลลาดา (Kingdom of Allada) ผมกับพี่ๆ น้องๆ กำลังตั้งตารออย่างใจจดใจจ่อเพราะวันนี้พระราชาแห่งอัลลาดาพร้อมด้วยพระราชินีรวมทั้งกษัตริย์อื่นๆ แห่งเครือรัฐพันธมิตรจะเสด็จไปทรงเป็นประธานเปิดเทศกาลวูดูอันเป็นเทศกาลสำคัญของสาธารณรัฐเบนิน (Republic of Benin) ประเทศเล็กๆ ในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก

         ความจริงเบนินนั้นเคยเป็นอดีตอาณานิคมของฝรั่งเศสที่เพิ่งได้รับเอกราชเมื่อ ปี ค.ศ. 1976 และชื่อนั้นก็บอกอยู่ชัดเจนแล้วว่าเป็น “สาธารณรัฐ” แต่ทำไมถึงยังมีกษัตริย์ปกครอบแว่นแคว้นต่างๆ อยู่? เรื่องนี้ต้องอธิบายไปก่อนหน้ายุคอาณานิคมเลยครับ

Le Palais Royal พระราชวังหลวงแห่งราชอาณาจักรอัลลาดา

         หากเราย้อนเวลาล่วงไปในอดีต... ก่อนที่ฝรั่งเศส หรือชนชาติใดๆ ก็ตามจากยุโรปจะเข้ามามีอิทธิพลในทวีปแอฟริกานั้นดินแดนแทบทุกตารางนิ้วในทวีปนี้ล้วนมีกษัตริย์หรือไม่ก็ประมุขเผ่าทำหน้าที่ปกครองกันมาก่อนทั้งสิ้น

         เมื่อยุโรปหลากหลายชนชาติเข้ามายึดดินแดนต่างๆ ทั่วแอฟริกาเป็นอาณานิคมนั้น พวกเขาก็จัดการกำหนดเส้นแบ่งเขตแดนกันเองตามใจชอบโดยมิได้สนใจว่าในอดีตดินแดนเหล่านี้เคยเป็นของใคร และปกครองกันมาอย่างไร และกินพื้นที่มากน้อยแค่ไหน ที่สำคัญคือไม่มีชาวแอฟริกันร่วมอยู่ในกระบวนการกำหนดเส้นแบ่งเขตแดนเลยแม้แต่คนเดียว เรียกว่าเป็นฝีมือของชาวยุโรปล้วนๆ

รายพระนามของกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรอัลลาดาแต่ละพระองค์ และปีที่ครองราชย์ รวมทั้งตราประจำพระองค์.

         ดังนั้นสาธารณรัฐต่างๆ ที่กำหนดขึ้นใหม่จึงเกิดขึ้นหลังยุคอาณานิคม และในพื้นที่ของสาธารณรัฐเหล่านั้นก็มีราชอาณาจักรเล็ก ๆ หรือแว่นแคว้นน้อยๆ ซอกซอนซ่อนเร้นอยู่เป็นจำนวนมาก ต่อให้อำนาจการปกครองประเทศในปัจจุบันจะตกเป็นของรัฐบาลกลางอันมีประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ฯลฯ ทำหน้าที่บริหารงาน ควบคุม และดูแล แต่กษัตริย์ ราชินี หรือประมุขเผ่าก็ยังมีสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น และยังคงได้รับความเคารพในเชิงผู้นำทางจิตวิญญาณ และจารีตประเพณีอยู่เช่นเดิม รวมทั้งราชรัฐอัลลาดาด้วย

          อัลลาดาเป็นเมืองที่สำคัญมากต่อลัทธิวูดู เชื่อกันว่าลัทธิวูดูถือกำเนิดขึ้นที่นี่มาตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 13 โดย ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์อัลลาดา ดังนั้นพิธีเปิดงานเทศกาลวูดูจึงเริ่มต้นขึ้นจากเมืองเล็กๆ แห่งนี้ เพื่อที่จะเป็นการส่งสัญญาณให้พื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศเบนินได้เริ่มเทศกาลวูดูกันอย่างเป็นทางการ

วงดนตรีบรรเลงหน้าท้องพระโรง และเป็นวงที่บรรเลงนำขบวนเสด็จด้วย

         “ไม่ทราบว่าท่านจะเสด็จเปิดงานกี่โมงครับ” ผมถามเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยบริเวณหน้าวัง

        “อีกไม่นานหรอก” นี่คือคำตอบหนที่ 5 ของคุณพี่หลังจากที่ผมถามมา 5 ครั้งแล้วเช่นกัน

          คำว่า “อีกไม่นานหรอก” มักจะแปลว่า “รอไปเหอะ” ในภูมิภาคนี้เราไม่สามารถกะเกณฑ์เวลาที่ชัดเจนได้ว่าจะเป็นตอนไหน? เมื่อไหร่? ดังนั้นจึงต้องรอต่อไป.... แต่เดี๋ยวนะ

          “อยากถ่ายรูปกับท่านไหม? แต่...ต้องมีของขวัญหน่อยนะ” การ์ดผิวคล้ำร่างใหญ่คนเดิมกระซิบผมเบาๆ แต่ได้ยินกันชัดๆ ด้วยภาษาฝรั่งเศส

          คำว่า “ของขวัญ” หรือ Cadeau ในภาษาฝรั่งเศสนั้นเป็นคำที่ผมเริ่มชินแล้วหลังจากใช้ชีวิตอยู่ในประเทศนี้มาสักพัก มันหมายถึงค่าน้ำร้อนน้ำชาที่เจ้าหน้าที่พร้อมจะเรียกจากเราเพื่อมอบบริการบางอย่างให้ และในที่นี้คือการนำผมเข้าไปในห้องท้องพระโรงเพื่อเฝ้ากษัตริย์ และราชินี

ในท้องพระโรง มีกษัตริย์และราชินีจากราชอาณาจักรอัลลาดา และราชอาณาจักรอื่นๆ บริเวณใกล้เคียง

          ขณะนั้นในมือผมมีธนบัตรใบละ 2,000 ฟรังก์ เซ.แอ็ฟ.อา. (Franc C.F.A.) และผมก็ตัดสินใจยื่นให้เขาไป มันตีเป็นเงินไทยได้ประมาณ  120 บาท และเขาก็อนุญาตให้ผมเข้าไปได้กับน้องหนิงอีก 1 คนเท่านั้น และในวินาทีต่อมาผมก็พบว่าตัวเองกำลังอยู่ในห้องรับรองเล็กๆ ท่ามกลางบุรุษและสตรีที่แต่งกายในชุดพื้นเมืองนั่งอยู่จำนวนหนึ่ง

ถ่ายรูปกับราชินี

          ผมเห็นคนมีท่าทีนบนอบต่อพวกท่าน ผมกับน้องหนิงจึงรีบทำตามด้วยความเคารพ ตอนนั้นผมพอเดาได้แล้วว่าผมกำลังอยู่เฉพาะพระพักตร์กษัตริย์และราชินีแห่งราชอาณาจักรต่างๆ ในเครือราชรัฐอัลลาดา ราษฎรในแคว้นอัลลาดาจะก้มเอาศีรษะจรดพื้นเพื่อทำความเคารพ และเรียกกษัตริย์ และราชินีของเขาว่า Sa Majesté ทุกคำ

           คำว่า Sa Majesté นั้นออกเสียงว่า ซา มาเชสเต้ เป็นราชาศัพท์ภาษาฝรั่งเศสซึ่งเทียบเท่ากับคำว่า His หรือ Her Majesty ในภาษาอังกฤษ ซา มาเชสเต้ ดีพระทัยมากๆ ที่มีอาคันตุกะหน้าจืดมาไกลจากประเทศไทย ยิ่งผมพอสื่อสารกับท่านด้วยภาษาฝรั่งเศสได้บ้าง ท่านจึงยิ่งเป็นกันเองมากขึ้น

ผมได้รับคำอธิบายว่าบุรุษในชุดขาวท่านนี้เป็นประมุขแห่งวูดู (High Priest) แห่งราชอาณาจักรอัลลาดา

           ตอนแรกผมทูลท่านด้วยคำว่า “Mon Chef” ซึ่งคล้ายกับคำว่า “ท่านหัวหน้าเผ่า” นะครับ แต่ท่านรับสั่งกลับมาอย่างรวดเร็วว่า “ไม่ใช่.... ไม่ใช่... ต้อง ซา มาเชสเต้ เพราะเราเป็นกษัตริย์” ผมล่ะรีบเปลี่ยนคำกราบทูลแทบไม่ทันเลย

          ตอนนั้นผมอยากจะทูลถามซา มาเชสเต้ ว่าจะเสด็จกี่โมงเพราะที่หน้าวังมีผู้คนมายืนออกันอย่างล้นหลาม นักท่องเที่ยวต่างชาติมากมาย โดยเฉพาะชาวฝรั่งเศสที่ถือว่าเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มหลัก แต่ผมเกรงว่าจะเป็นการไม่สมควร ผมเลยคิดว่าผมน่าจะชวนท่านถ่ายรูปด้วยกันดีกว่า พอดีกับที่ซา มาเชสเต้ พระองค์หนึ่งทรงพระกรุณาถามผมว่า  “อยากได้อะไรจากพวกเราบ้างไหม?”

          “อยากได้รูปหมู่ถ่ายด้วยกันพะยะค่ะ” ผมชิงตอบ และไม่กี่วินาที... แชะ.... ผมก็ได้รับพระเมตตามา 2 – 3 รูปเลยทีเดียว เวลาผ่านไปอีกสักพักใหญ่เจ้าหน้าที่ก็มาเชิญให้ผมออกจากห้องเพราะถึงเวลาเสด็จแล้ว

รูปหมู่

          ขบวนเสด็จนั้นยิ่งใหญ่อลังการโดยมีนักดนตรีที่มีทั้งคนตีกลอง คนเป่าแตร และคนขับร้องเดินนำ มีหน่วยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคอยกันคนให้พ้นทางเสด็จ  มีคนกั้นพระกลดถวายเพื่อบังแดด และมีผู้หญิงคนหนึ่งถือพัดและคอยพัดให้พระองค์ท่านตลอดเวลา ประมุขแห่งลัทธิวูดูซึ่งอยู่ในชุดสีขาวก็เดินตามเสด็จมาพร้อมกันด้วย

เสด็จออก

          ช่วงแรกท่านเสด็จไปวนรอบต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์หน้าวังหลวงเป็นจำนวน 3 รอบ และเป็นขบวนเสด็จที่โกลาหลมากๆ ครับเพราะขบวนนั้นยาวพอสมควร สื่อมวลชน ช่างภาพ และนักท่องเที่ยวจำนวนมากต่างก็พยายามจะเดินตามเก็บภาพกันจ้าละหวั่นจนขบวนเคลื่อนเหมือนงูกลืนหางที่หัวกับท้ายแทบจะเกยกัน

ขบวนเริ่มโดยการเดินวนรอบต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์หน้าวัง 3 รอบก่อน
สื่อมวลชนหลายสำนักและนักท่องเที่ยวอีกหลายกุรุส

      จากต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ลำดับต่อมาก็จะเป็นการเดินไปตามเส้นทางผ่ากลางเมืองอัลลาดาไปยังลานพิธีซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 2 กิโลเมตร เมืองอัลลาดานั้นก็มีสภาพคล้ายๆ หมู่บ้านเล็ก ๆ ของไทยในชนบทอันห่างไกลดังนั้นถนนสายหลักของเมืองจึงไม่ใช่ถนนราดยาง แต่เป็นถนนดินแดงที่ขรุขระและมีฝุ่นฟุ้งมากๆ ผมพยายามตามเก็บภาพให้ได้มากที่สุดโดยผมต้องวิ่งนำขบวนไปดักรอด้านหน้าเพื่อเตรียมชวงชิงพื้นที่ก่อนช่างภาพคนอื่นๆ ที่กำลังแห่กันมา บางช่วงผมต้องเดินถอยหลังไปถ่ายภาพไปรวมทั้งหลบคนที่มาคอยชมขบวนบ้าง หลบเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยบ้าง หลบหลุมและบ่อบนถนนที่แสนจะขรุขระ พร้อมกับสูดฝุ่นแดงจำนวนมหาศาล แต่เป็นช่วงเวลาที่สนุกมากๆ เลยทีเดียว และเมื่อครบ 2 กิโลเมตรแล้ว เราก็มาถึงลานพิธีที่จะทำการเปิดเทศกาลวูดูอย่างเป็นทางการ

ถึงบริเวณลานพิธี

         พิธีเปิดเทศกาสวูดูแห่งอัลลาดาเริ่มต้นด้วยรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมแห่งเบนินกล่าวถวายรายงานด้วยภาษาฝรั่งเศสที่รัวเร็วมากๆ จนผมฟังออกแต่คำว่า “ซา มาเชสเต้” เท่านั้น จากนั้นเสียงกลองก็ดังรัวขึ้นจากมุมนู้นมุมนี้รอบลานพิธี เหล่านักบวช นักเต้น จากสำนักวูดูต่างๆ ทั่วราชอาณาจักรอัลลาดาล้วนมารวมตัวกันที่นี่ และกำลังออกลวดลายการเต้นแบบไม่ยั้ง สีสันของเสื้อผ้าที่สดใสหลากเฉดสี เครื่องประดับทั้งสร้อย กำไล ต่างหู หมวก และรัดเกล้าเต้นระริกอยู่ใต้เปลวแดดอย่างรัวเร็วไปตามจังหวะการเคลื่อนตัวของผู้เต้นพร้อมเสียงปี่กลองอันสุดเร้าใจบนลานพิธีเล็กๆ แห่งนั้น ผมสังเกตเห็นรอยบากตามร่างกายของผู้เต้นทั้งชายหญิงหลายต่อหลายคน และต่อมาก็ได้รับคำอธิบายว่านั่นคือลวดลายที่แสดงว่าบุคคลผู้นั้นมาจากเผ่าไหน

กล่าวรายงาน
ซา มาเชสเต้ องค์อื่น ๆ ที่มาจากรา๙อาณาจักรพันธมิตรใกล้เคียง
การแต่งกายที่สวยงามและสีสันสดใส
รอยที่แขนถือเป็นตราสัญลักษณ์ที่แสดงว่ามาจากเผ่าไหน

          ในแอฟริกาตะวันตก วูดูยังคงฝังรากและมีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของพวกเขาเสมอ และการเต้นนั้นก็ถือว่าเป็นพลีกรรมที่พึงกระทำเพื่อเชื่อมต่อมนุษย์กับวิญญาณของบรรพบุรุษ ของผืนดิน ผืนฟ้า แผ่นน้ำ  หรือสรรพสิ่งอันควรบูชาที่รายล้อมอยู่รอบตัว

          ผมกับพี่ๆ น้องๆ เดินดูการเต้นของสำนักวูดูต่างๆ อย่างตื่นตาตื่นใจ มีจามมีไอกันบ้างค่อกๆ แค่กๆ เนื่องด้วยฝุ่นนั้นมีปริมาณมหาศาล ดังนั้นใครที่คิดจะไปชมพิธีสำคัญนี้ควรมีหน้ากากอนามัยติดมือไปด้วยนะครับ

ระบำวูดูจากสำนักต่าง ๆ ในราชอาณาจักอัลลาดา
ระบำวูดูจากสำนักต่าง ๆ ในราชอาณาจักอัลลาดา

             ในขณะที่การเต้นโดยสำนักวูดูต่างๆ กำลังเกิดขึ้นอยู่บนลานนั้น อีกพิธีหนึ่งก็กำลังจะเริ่มขึ้นในบริเวณป่าศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ติดกับลานนั้นด้วยเช่นกัน และพิธีที่ว่าก็คือพิธีบูชายัญ

          ต้นไม้สูงใหญ่หลายต้นถูกหุ้มด้วยผ้าแถบสีขาวและแดง เหล่านักเต้นจำนวนหนึ่งได้ย้ายสำนักจากลานมายังป่าศักดิ์สิทธิ์ที่จะประกอบพิธีบูชายัญ พร้อมกับเหล่านักตีกลองที่ตามมาด้วยอีกกลุ่มใหญ่ ที่ใต้ต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่งมีเทวรูปไม้แกะสลักวางอยู่ พร้อมกับเทียน และเหล้าหลายชนิด ผมคิดว่าพื้นที่นี้คือปะรำพิธีบูชายัญ และไม่ไกลกันนักผมเห็นหมูและแพะอย่างละตัวมัดอยู่

ป่าศักดิ์สิทธิ์ข้างๆ ลานพิธี

         ไม่นานจากนั้น เมื่อกษัตริย์แห่งอัลลาดาและประมุขลัทธิวูดูมาถึง ผมก็ได้ยินเสียงร้องของแพะและหมูดังแหวกอากาศมาถึงหูก่อนที่จะเงียบเสียงลงไป เนื่องด้วยมีคนมารอดูการบูชายัญจำนวนมากมายมหาศาล ผมจึงไม่มีโอกาสเห็นช่วงเวลาสำคัญที่หน้าแท่นพิธีบูชายัญจนเมื่อผมเข้าไปได้แล้วผมก็พบว่าทั้งหมูและแพะนั้นได้นอนแน่นิ่งไปเรียบร้อยแล้ว พร้อมกับการเปิดเทศกาลวูดูนั้นได้เริ่มขึ้นครบทุกกระบวนการ

ปะรำบูชายัญ
เลือดจากการบูชายัญ

          สิ่งที่ตามมาต่อจากนั้นคือการเชิญวิญญาณของบรรพบุรษ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้มาสิงในกองฟาง และสิ่งนี้เรียกรวมกันว่า Zangbeto นะครับ เชื่อกันว่า “ซังเบโต” เป็นเหมือนผู้พิทักษ์ ซึ่งจะทำหน้าที่คุ้มครองดูแลหมู่บ้าน หรือพื้นที่นั้นๆ ให้ปลอดภัย ไร้การรบกวนจากสิ่งชั่วร้าย รวมทั้งปกป้องคนดีจากคนชั่ว และนำความปลอดภัยมายังพื้นที่นั้นๆ และเชื่อกันว่าภายใต้กองฟางที่วิ่งไปมานั้นไม่มีร่างกายมนุษย์อยู่ แต่สามารถเคลื่อนที่ได้ด้วยวิญญาณ

Zangbeto ผู้ปกป้องหมู่บ้าน เชื่อว่าภายใต้ชุดฟางนั้นไม่มีมนุษย์อยู่ แต่เคลื่อนไหวได้เพราะเชิญวิญญาณผู้ปกป้องหมู่บ้านมาสิง

           อันนี้เป็นคำอธิบายที่ผมได้รับทราบจากเจ้าหน้าที่เช่นกันนะครับ ส่วนจะเชื่อหรือไม่อย่างไรนั้น ผมขอให้เป็นการใช้วิจารณญาณของแต่ละบุคคลละกัน ผมเองก็พยายามสังเกตว่าซังเบโตเคลื่อนที่ได้อย่างไร? มีเท้ามนุษย์โผล่มาหรือเปล่า? แต่ผมขอสารภาพว่าผมไม่สามารถหยุดเพ่งมองได้ถนัดเพราะซังเบโตเคลื่อนที่เร็วมากๆ เดี๋ยววิ่งไปทางนู้นทีไปทางนี้ทีโดยมีผู้ติดตามคอยตะโกนให้ผู้คนหลีกทางให้กันจ้าละหวั่น .....ถ้าหลีกไม่ทันนี่มีโดนพุ่งชนได้ง่ายๆ เลยนะครับ

พิธีในป่าศักดิ์สิทธิ์ ข้างลานพิธีกรรม

 

ในป่าศักดิ์สิทธิ์

      พวกผมใช้เวลาอยู่ในลานพิธีและพื้นที่ป่าศักดิ์สิทธิ์กันอีกพักใหญ่เพื่อซึมซับบรรยากาศที่อยู่รอบตัวทั้งสิ่งที่มองเห็นและมองไม่เห็น วันนั้นผมได้รับประสบการณ์ที่ผมไม่มีวันลืมได้เลย การมาร่วมเทศกาลวูดูก็ถือว่าน่าตื่นเต้นแล้ว การได้ตามเสด็จซา มาเชสเต้ไปเปิดเทศกาลนี่ถือว่าที่สุดของที่สุดจริงๆ

Image Contributor
รูปโดย ดวงฤทัย พุ่มชูศรี
ลูกคนกลางที่เกิดวันพฤหัส มีโลกส่วนตัวสูง แต่ชอบตะลุยโลกกว้าง
ขีดๆ เขียนๆ บันทึกเอามัน สีน้ำบ้าง ถ่ายรูปด้วยความหลงไหลด้วยฟิล์มบ้าง ดิจิตอลบ้างตามอารมณ์
ติดตามบันทึกการเดินทางประเทศไม่ธรรมดาที่ Facebook หน้า Nings Homemade และ IG : thursday_morning

Story by โลจน์ นันทิวัชรินทร์

ABOUT THE AUTHOR
โลจน์ นันทิวัชรินทร์

โลจน์ นันทิวัชรินทร์

หนุ่มเอเจนซี่โฆษณาผู้มีปรัชญาชีวิตว่า "ทำมาหาเที่ยว" เพราะเรื่องเที่ยวมาก่อนเรื่องกินเสมอ ชอบไปประเทศนอกแผนที่ที่ไม่มีใครอยากไปเลยต้องเต็มใจเป็น solo backpacker

ALL POSTS