หนึ่งวันในปักกิ่ง : ชมหอระฆัง ฟังกลอง ท่องหูท่ง เชิญธงชาติ
หนึ่งวันในปักกิ่ง มีอะไรให้ดูชมมากกว่าที่คิด
ผมกำลังจะเดินทางไปยังกรุงเปียงยาง สาธารณรัฐประชาชนประชาธิปไตยเกาหลี (DPRK) หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่ออันคุ้นเคยว่า “เกาหลีเหนือ” ความที่ไม่มีสายการบินใด ๆ เลยที่มีเที่ยวบินตรงจากกรุงเทพ ฯ สู่กรุงเปียงยาง ดังนั้นผมจึงต้องแวะรอเครื่องบินอยู่ที่กรุงปักกิ่งเสียหนึ่งวันหนึ่งคืน
แม้จะมีเวลาที่ปักกิ่งเพียงสั้น ๆ แต่ผมก็คิดว่าผมควรจะเที่ยวกรุงปักกิ่งเสียหน่อยให้หายคิดถึง ก่อนหน้านี้ผมเคยมาเที่ยวที่นี่อยู่หลายวัน และได้มีโอกาสไปชื่นชมสถานที่สำคัญในประวัติศาสตร์อย่างพระราชวังต้องห้าม พระราชวังฤดูร้อน หรือหอฟ้าเทียนถานมาแล้ว เมื่อมีเวลาค่อนข้างจำกัดในครั้งนี้ ผมเลยเลือกสถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ที่ผมอาจจะเคยพลาดไปจากการมาเยือนปักกิ่งในคราวก่อน ๆ และแล้วผมก็ได้ข้อสรุปว่าผมจะไปเดินเล่นเพลิน ๆ ที่ไหนสักสองสามที่เพื่อรับลมเย็น ๆ แห่งฤดูใบไม้ผลิให้พอชื่นใจได้บ้าง
ผมประเดิมการเดินทางช่วงเช้าด้วยสถานที่อันเคยมีความสำคัญของเมืองหลวงแห่งนี้ นั่นคือหอระฆัง Gulou ที่นอกจากจะเป็นหอระฆังสำคัญทางประวัติศาสตร์แล้วยังมีตำนานที่แสนสนุกด้วย
อันความเพลิดเพลินอย่างหนึ่งของการเดินทางท่องเที่ยวในแผ่นดินจีนก็คือว่าในทุก ๆ สถานที่ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวหลักหรือรองจะใหญ่โตมโหฬารหรือเล็กจุ๊บจิ๊บแค่ไหนใด ๆ ก็ตาม ทุก ๆ ที่นั้นล้วนมีเรื่องราวมากมาย ทั้งที่เป็นประวัติศาสตร์ ตำนาน หรือเรื่องเล่าประกอบทั้งหมดทั้งสิ้น และการเดินอ่านป้ายไปเรื่อย ๆ เรื่อย ๆ นี่สนุกมาก ๆ เอ่อ..... อันนี้คือในกรณีที่มีป้ายบรรยายเป็นภาษาอังกฤษนะครับ ถ้าหากไม่มีก็ต้องทำใจยอมรับลิขิตสวรรค์ว่าต้องใช้วิชาเดากันล่ะ
ส่วนความมึนของการเดินทางท่องเที่ยวจีนนั้นก็มีนะครับ สำหรับผมก็คือการอ่านออกเสียงคำภาษาจีนที่สะกดด้วยตัวอักษรโรมันให้ได้ตามสำเนียงของชาวจีนอย่างถูกต้อง อย่างในกรณีหอระฆัง Gulou นี้ ผมก็อ่านออกเสียงว่า “กู – ลู” ตามที่ผมเห็นการสะกด แต่พี่ ๆ น้อง ๆ ชาวปักกิ่งไม่ยอมรู้เรื่องกับผมเลยจนกว่าผมจะอ่านออกเสียงได้ว่า “กู่ – โหลว” ถึงจะมีคน (พอ) เข้าใจ
เหตุการณ์เช่นนี้เกิดกับผมเสมอ ๆ อย่างร้านเป็ดปักกิ่งชื่อดังที่สะกดเป็นอักษรโรมันว่า Quanjude นั้น ผมอ่านออกมาว่า “ควัน – จู – เด” บ้าง ไม่ก็ “ควัน –จู๊ด” บ้าง ก่อนที่ผมจะมาทราบในเวลาต่อมาว่ามันต้องอ่านว่า “เฉวิน – จวี้ – เต๋อ” ครับ หรืออย่างถนน Qianmen นั้น ผมก็อ่านว่า “เคียน – เมน” อยู่นานจนต่อมาผมถึงทราบว่ามันชื่อ “เฉิน – เหมิน”...... มึนไหมล่ะครับ? ฮ่า ฮ่า ฮ่า
กลับมาที่หอระฆังกู่โหลวกันต่อนะครับ ผมนั่งรถไฟใต้ดินมาถึงสถานีชื่อเดียวกันในตอนสายของวันอันแสนเย็นเฉียบเมื่อต้นเดือนเมษายน และหอระฆังกู่โหลวก็ตั้งตระหง่านง้ำอยู่เบื้องหน้าแบบหาไม่ยากและก่อนจะเล่าถึงตำนานแสนสนุก ผมขออนุญาตนำทุกท่านไปชื่นชมกับสถิติระฆังยักษ์ใบนี้ก่อนนะครับ
ระฆังที่แขวนอยู่บนหอระฆังกู่โหลวนั้นสร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิงช่วงที่พระจักรพรรดิหยงเล่อ (Emperor Yongle) ทรงครองราชสมบัติโดยเป็นระฆังที่ครองสถิติใหญ่ที่สุดในแผ่นดินจีน นั่นคือสูงถึง 7.02 เมตร มีปากระฆังกว้าง 3.4 เมตร มีเนื้อโลหะหนา 12 - 24.5 เซนติเมตร และหนักถึง 63 ตัน เมื่อตีแล้วจะส่งเสียงได้ยินไปไกลถึง 10 ลี้ (5 กิโลเมตร) ดังนั้นการตีระฆังบนหอระฆังกู่โหลวจึงเป็นการประกาศเวลาอย่างเป็นทางการของกรุงปักกิ่งมานานตลอดเวลาหลายร้อยปี และระฆังใบนี้ยังได้รับการยกย่องว่าเป็น “ราชาแห่งระฆังยุคโบราณ” (The King of the Ancient Bells)
ตามตำนานเล่าว่าเมื่อพระจักรพรรดิหยงเล่อมีพระบรมราชโองการให้สร้างระฆังยักษ์ใบนี้นั้น ไม่มีช่างคนใดสามารถหล่อระฆังที่มีขนาดมหึมาขนาดนี้ได้สำเร็จเลย แตกหักเสียหายไม่เป็นรูปตลอดมาจนพระจักรพรรดิ์หยงเล่อทรงหมดความอดทน ในที่สุดจึงทรงมีพระบรมราชโองการว่าระฆังสำคัญใบนี้นี้จะต้องหล่อให้สำเร็จเสร็จสิ้นภายใน 80 วัน มิฉะนั้นช่างหล่อทั้งแผ่นดินจะถูกประหารทั้งหมด
แม้จะมีการรวบรวมช่างหล่อโลหะฝีมือดีจากแคว้นใด ๆ ก็ตามทั่วแผ่นดินจีนให้มาร่วมมือร่วมใจกันหล่อระฆังใบนี้ให้สำเร็จ แต่เมื่อใกล้ครบ 80 วันเข้าแล้ว ระฆังยักษ์ก็ยังหล่อไม่ได้รูปจนหัวหยาน (Hua Yan) นายช่างใหญ่ได้แต่กังวลใจเป็นนิ่งนัก
และในวันที่ 80 เมื่อเจ้าหน้าที่ผู้แทนองค์พระจักรพรรดิได้เดินทางมายังโรงหล่อ เพื่อตรวจดูการหล่อระฆังเป็นครั้งสุดท้ายนั้น หัวเสียน (Hua Xian) ลูกสาวของนายช่างหัวหยานซึ่งได้ขอตามพ่อมาที่โรงหล่อด้วยนั้นได้รีบวิ่งเข้ามาหาพ่อที่กำลังยืนคุมเตาหล่อโลหะที่เดือดปุด ๆ อยู่และนางได้ร้องว่า
“ท่านพ่อคะ ...ดูอะไรนั่น” พร้อมกับชี้มือขึ้นไปบนฟ้า
เมื่อหัวหยานเงยหน้ามองตามปลายมือของลูกสาว ก็พบเมฆก่อตัวเป็นเกลียวคลื่นอย่างสวยงาม ในวินาทีต่อมาหัวเสียนก็ตะโกนออกมาว่า “ลูกขอลาก่อนค่ะท่านพ่อ.....” พร้อมกับกระโดดลงหม้อโลหะเดือดนั้นทันที และแล้วระฆังยักษ์ใบนี้ก็สามารถหล่อได้สำเร็จในที่สุดและเป็นระฆังสำคัญของเมืองปักกิ่งมาอีกหลายร้อยปี
ใกล้ ๆ กับหอระฆังกู่โหลวแล้วมีหอกลองซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกัน บนหอกลองจะมีกลองโบราณใบใหญ่ ๆ วางเรียงรายกัน ตัวกลองทำจากไม้ขึงด้วยหนังสัตว์ และใช้ตีเพื่อบอกเวลามาตั้งแต่สมัยราชวงศ์หยวน หากไปถึงหอกลองในเวลาช่วง 11 โมง หรือบ่ายโมงก็จะมีการสาธิตการตีกลองให้ชม ตอนที่ผมไปนั้น ผมไม่ทราบว่ามีกิจกรรมดังกล่าวจนได้ยินเสียงกลองกระหึ่มขึ้นมา พอรีบวิ่งและตะกายปีนกระไดขึ้นไปก็พบว่าการสาธิตการตีกลองได้จบลงไปแล้วเรียบร้อย แม้จะเสียดายที่ไม่ได้ชม แต่ก็ยังได้ยินเสียงทุ้มและหนักของกลองใบยักษ์ หากใครสนใจไปชมก็ควรศึกษาเวลาการสาธิตการตีกลองให้ดีนะครับ จะได้ไม่พลาด
บริเวณรอบ ๆ หอระฆังและหอกลองนั้นมี “หูท่ง” (Hutong) เล็ก ๆ ตั้งอยู่รายล้อมหลายพื้นที่ และผมคิดว่าเราไม่ควรพลาดที่จะไปเดินเล่นในหูท่งต่าง ๆ ของเมืองปักกิ่งด้วยเช่นกัน
ผมรู้จักคำว่าหูท่งจากพระราชนิพนธ์แปลเรื่อง “ตลอดกาลน่ะนานแค่ไหน” ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี (พระราชอิสริยยศในขณะที่ทรงแปลหนังสือเล่มนี้) ได้ทรงแปลมาจากนิยายของนักเขียนวรรณกรรมร่วมสมัยชาวจีนนามว่าเถี่ยหนิง ในพระราชนิพนธ์แปลจากภาษาจีนเล่มนี้มีเรื่องราวของหูท่งเยอะมาก และในท้ายหนังสือเล่มนั้น ได้ทรงพระกรุณาพระราชทานคำอธิบายและพระราชวินิจฉัยเกี่ยวกับความเป็นมาของหูท่งไว้อย่างน่าสนใจ
จึงคิดว่า ถ้ามาปักกิ่งแล้วไม่ไปทำความรู้จักกับหูท่ง ก็คงบอกใครไม่ได้ว่ามาปักกิ่ง
จากคำอธิบายที่พระราชทานมานั้น สรุปได้ว่าหูท่งเกิดขึ้นในเมืองปักกิ่งในสมัยราชวงศ์หยวน (ค.ศ. 1279 – 1368) เมื่อปักกิ่งมีสถานะเป็นเมืองหลวง แต่ยังใช้ชื่อเดิมว่าต้าตู ในตอนนั้นประตูเมืองต้าตูมีทั้งสิ้น 11 ประตู ครอบคลุมทั้ง 4 ทิศคือเหนือ ใต้ ตะวันออกและตก
เมื่อตัดถนนเชื่อมทุก ๆ ประตูแบบสมมาตร (Symmetry) ระหว่างกันก็จะเกิดเป็นช่องสี่เหลี่ยมกึ่งจตุรัสจำนวนหนึ่งกินพื้นที่กระจายไปทั่วนครต้าตู พื้นที่สี่เหลี่ยมระหว่างถนนหลักนี้จึงกลายเป็นที่อยู่ของชาวเมือง และในแต่ละพื้นที่สี่เหลี่ยมนี้ก็จะมีการก่อสร้างบ้านเรือน ร้านค้า และสร้างซอกซอยเล็ก ๆ ระหว่างบ้านแต่ละกลุ่มเพื่อเป็นทางสัญจร รวมทั้งเป็นเส้นทางกันไฟไหม้ไม่ให้ลุกลามถึงกันหมดในกรณีที่เกิดเหตุอัคคีภัยขึ้นมา
พื้นที่ที่เป็นหมู่อาคารร้านค้าและที่พักในพื้นที่ซอกซอยในแต่ละสี่เหลี่ยมนี้จึงเรียกว่าหูท่ง
ในมาตรวัดความกว้างของถนนของจีนในสมัยก่อนนั้นจะแบ่งออกเป็น หูท่ง (คือพื้นที่กว้าง 6 ก้าว) เสี่ยวเจีย (คือพื้นที่กว้าง 12 ก้าว) และต้าเจีย (คือพื้นที่กว้าง 24 ก้าว) ดังนั้นหูท่งคือชุมชนในซอกซอยอันเป็นหน่วยย่อยที่สุด คนในหูท่งจะรู้จักกัน ผูกพันกัน ดูแลกัน ดำรงอาชีพคล้ายกัน และเป็นตัวสร้างเมืองปักกิ่งให้เกิดขึ้นและคงอยู่มาหลายร้อยปี
ปัจจุบันหูท่งกลายเป็นของหายาก เพราะโดนรื้อทำลายเพื่อสร้างเป็นอาคารสูง ที่พัก หน่วยงานราชการ บริษัท โดยเฉพาะช่วงที่จีนเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิคเมื่อปี ค.ศ. 2008
รัฐบาลจีนจึงได้พยายามอนุรักษ์หูท่งไว้ให้นักท่องเที่ยวไปเดินซึมซับบรรยากาศเดิม ๆ ก่อนที่จะสูญหายไปหมด ดังนั้นอย่าลืมหาเวลาไปเดินหลง ๆ งง ๆ ในหูท่งนะครับ เพราะหูท่งคือกำเนิดของกรุงปักกิ่ง
ตลอดบ่ายวันนั้นผมไปเดินเล่นมาหลายที่แบบงง ๆ เรื่อย ๆ เปื่อย ๆ ไปตั้งแต่หูท่งรอบ ๆ หอระฆังและหอกลองไปจนหูท่งในย่านอื่น ๆ เพื่อแอบดูร้านชำแบบชาวบ้าน แอบดูอากงมาตัดผมในบาร์เบอร์โบราณเล็ก ๆ แอบดูสมาชิกในชุมชนมานั่งโขกหมากรุก แอบบดูเด็ก ๆ เล่นดว้ยกันส่งเสียงเจี๊ยจ๊าว แอบดูแมวอ้วน ๆ นั่งอาบแดด แอบดูปลาทองหัววุ้นที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ในบ่อ แอบดูแม่บ้านต้ม ทอด ตุ๋น กับข้าวกับปลาไว้สำหรับอาหารมื้อต่อไป แอบดูวิถีชีวิตชาวบ้านต่าง ๆ นานาสารพัดจะแอบดู
ผมพบว่าหูท่งจำนวนหนึ่งยังคงสภาพแบบเดิม ๆ ตามที่ผมพอจะจินตนาการได้จากการอ่านหนังสือพระราชนิพนธ์แปลเล่มนั้น แล้วก็มีหูท่งอีกจำนวนหนึ่งที่ได้กลายพันธุ์ไปมากจนดูเป็นย่านคาเฟ่เก๋ ๆ ร้านเปรี้ยว ๆ แนวเรโทรในตึกเก่า ๆ
โดยส่วนตัวแล้วผมชอบหูท่งโทรม ๆ เก่า ๆ อย่างหูท่งแถวหอกลอง หอระฆัง รวมทั้งเขตอื่น ๆ นะครับ ส่วนหูท่งฮิป ๆ อย่างแถวทะเลสาป Beihai หรือแถวถนน Nanlouguxiang นี่ผมว่าไม่ใช่หูท่งแล้วล่ะ มันเปรี้ยวเกิ๊นนนน ....อันนี้เป็นความชอบส่วนตัวนะครับ แต่ใครก็ตามที่มีโอกาสมาที่นี่ก็ไม่ควรพลาด เพราะเมื่อเดินเข้าไป เราจะพอจินตนาการได้ว่าปักกิ่งสร้างจากชุมชนที่เป็นเช่นไร
ผมใช้เวลาตลอดบ่ายจนใกล้ค่ำแล้วผมก็นึกขึ้นได้ว่าผมมีภารกิจสำคัญอีกอย่างที่ไม่ควรพลาดในการมาพักที่ปักกิ่งครั้งนี้ นั่นคือไปร่วมชมประเพณีเชิญธงขาติ ณ จตุรัสเทียนอันเหมิน
ทุก ๆ วันที่จตุรัสเทียนอันเหมินอันแสนวุ่นวายจะมีเวลาสั้น ๆ เพียง 15 นาทีที่ทุกอย่างนิ่งสนิท สงบเงียบ และอาจได้ยินเสียงหายใจของตัวเองอยู่เบา ๆ แม้จะรายล้อมด้วยผู้คนนับพันที่ออกันอยู่ในบริเวณนี้ก็ตาม แม้แต่พี่ ๆ น้อง ๆ ชาวจีนเองที่ปกติจะแผดพลังเสียงอย่างกึกก้องก็ยังพร้อมใจกันลด Volume ได้จนน่าประหลาดใจ
15 นาทีทองนั้นเกิดขึ้นจากพิธีเชิญธงชาติที่จตุรัสนี้นั่นเอง
จีนมีประเพณีเชิญธงชาติ ณ เสาธงใหญ่ที่จตุรัสเทียนอันเหมินมาหลายสิบปีตั้งแต่เริ่มเป็นสาธารณรัฐ และเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบเนื่องต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าสภาพอากาศจะเป็นอย่างไร จะฝนตก แดดออก หรือหิมะท่วมแค่ไหนก็ตาม ก็จะต้องมีพิธีเชิญธงชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การเชิญธงนั้นมีทั้งเชิญธงขึ้นในตอนเช้าและเชิญธงลงในตอนเย็น นักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถไปดูได้ แต่เวลาเชิญธงนั้นจะต่างกันไปทุกวัน เพราะไม่ได้เชิญขึ้นตอน 8.00 น. หรือเชิญลงตอน 18.00 น. การเชิญธงชาติจะแปรผันตามวินาทีที่พระอาทิตย์ขึ้นและตก ถ้าขึ้นตอนตี 4 ก็เชิญธงขึ้นตอนตี 4 ถ้าตกตอน 3 ทุ่ม ก็เชิญธงลงเวลานั้น ประเทศที่มี 4 ฤดูอย่างจีน เวลาพระอาทิตย์ขึ้นและตกในแต่ละวันแต่ละฤดูอาจแตกต่างกันได้มาก ๆ นักท่องเที่ยวสามารถหาข้อมูลได้โดยลองค้นหาจากคำว่า Tiananmen national flag raising ก็จะพบเวลาในวันนั้น ๆ กำหนดเรียงกันต่อเนื่องไป
อย่างวันที่ผมไปในวันนี้จะมีพิธีเชิญธงขึ้นตั้งแต่ 5.45 น. และลงตอน 18.48 น.ดังนั้นผมจึงจดไว้ใน Note ตั้งแต่เช้าเลยว่าผมต้องพาตัวเองจากที่ไหนก็ตามให้ไปโผล่ยังลานเสาธงหน้าจตุรัสเทียนอันเหมินให้ทันก่อน 18.48 น.
ที่บริเวณจตุรัสเทียนอันเหมินนั้น เจ้าหน้าที่เริ่มกันพื้นที่บริเวณลานรอบเสาธง โดยให้นักท่องเที่ยวและพลเรือนออกไปจากลานนั้นทั้งหมด พวกเราต้องมายืนอบู่ฝั่งตรงข้ามแล้วมองกลับไปที่จตุรัส บนลานที่เคยวุ่นวายก่อนหน้านี้นั้นจะไม่เหลือพลเรือนแม้แต่คนเดียว จะมีก็แต่เพียงแถวทหารในชุดสีเขียวขี้ม้าเข้มเท่านั้น
ก่อนพิธีเชิญธงไม่กี่นาที รถทุกชนิดที่สัญจรไปมาบนถนนรอบ ๆ จตุรัสจะหายไปหมดเพราะจะมีการปิดการจราจรจากทุกด้าน ทำให้ถนนโล่ง เรียบ และเงียบมาก ๆ เสียงคนที่คุยกันจ้อกแจ้กจอแจก็พลันเงียบลงไปด้วย
แถวทหารจำนวนหนึ่งเดินสวนสนามอย่างสง่างามและเป็นระเบียบออกมาจากประตูเทียนอันเหมินด้านพระราชวังหลวงจนมาหยุดยืนทำความเคารพหน้าเสาธง จากนั้นพิธีเชิญธงลงจึงเริ่มขึ้น
ไม่รู้ทำไม... แต่ผมแอบขนลุก ทั้ง ๆ ที่อยู่ไกล แม้จะมองเหตุการณ์เห็นชัดพอสมควร แต่ก็ถ่ายภาพเพื่อเก็บบรรยากาศไม่ได้อย่างที่ตัวเองรู้สึกหรืออยากจะสื่อ ผมเลยเลือกดูด้วยตาไปเรื่อย ๆ ดีกว่า
ธงชาติจีนผืนใหญ่ค่อย ๆ ลดลงจากยอดสู่โคนเสาพร้อมเพลงชาติ ก่อนถูกพับอย่างเรียบร้อยด้วยท่าทางขึงขังของชายชาติทหาร เพื่อเชิญไปพร้อมกับกองกำลังที่สวนสนามผ่านประตูเทียนอันเหมินเข้าสู่พระราชวังหลวง
15 นาทีที่เงียบสงัดหมดลงไป ไฟที่จตุรัสเปิดขึ้น รวมทั้งไฟที่กำแพงหน้าวังซึ่งฉายขึ้นไปจับภาพใบหน้าของท่านประธานเหมาเจ๋อตง และความจอแจก็กลับมาอีกครั้ง ผู้คนมากมายกลับมาพูดคุยกันเสียงสนั่น แย่งหามุมดี ๆ เพื่อถ่ายรูปสวย ๆ ของจตุรัสนี้เมื่อยามพลบค่ำ รวมทั้งรถราที่แล่นถลามาจากทุกทิศ
พิธีเชิญธงในวันที่ 1 มกราคมทุกปีเป็นวันที่คนจะเนืองแน่นจตุรัสเทียนอันเหมินอันกว้างใหญ่ เพราะคนจีนเชื่อว่านั่นคือการเริ่มต้นที่ดีงาม และการร่วมพิธีเชิญธงขึ้น ณ ที่นี้ถือเป็นมงคลของชีวิต และหากคุณผู้อ่านมีเวลา ลองไปหาคลิปวิดิโอจาก YouTube เพื่อชมลีลาการ “สะบัดธง” อันเป็นเอกลักษณ์ในเวลาเชิญธงขึ้นสู่ยอดเสานะครับ มันดูสง่างาม เข้มแข็ง แสดงถึงพลังรักชาติ... และผมอยากเห็นท่านี้ด้วยตาของตัวเองมาก ๆ
สงสัยต้องมาแวะใหม่จากลับจากเปียงยางอีกสักวันก่อนกลับกรุงเทพ ฯ เสียแล้ว