HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
อึ้ง....แฟนพันธ์แท้หนังไทยบนเกาะวานูอาตู
by โลจน์ นันทิวัชรินทร์
2 ส.ค. 2560, 18:12
  3,400 views

วานูอาตู (Vanuatu) เป็นประเทศหมู่เกาะเล็ก ๆ ที่ประกอบไปด้วยเกาะ 87 เกาะเรียงต่อกันเป็นตัวอักษร Y อย่างโดดเดี่ยวกลางมหาสมุทรแปซิฟิก

ถ้าจะหาวานูอาตูให้พบก็ต้องหาเมืองบริสเบน (Brisbane) ให้เจอเสียก่อน นั่นคือใกล้ปลายติ่งมุมขวาบนของประเทศออสเตรเลีย จากนั้นก็ลากเส้นยาว ๆ ออกมาจากเมืองนี้พาดผ่านมหาสมุทรแปซิฟิกไปทางฮาวาย (Hawaii) ไปเรื่อย ๆ ก็จะเจอหมูเกาะวานูอาตูเป็นอักษร Y ตัวจิ๋ว ๆ ตะแคงขวางไว้เสียก่อนจะถึงฮาวาย

 สรุปง่าย ๆ คือวานูอาตูอยู่เลยออสเตรเลียออกไปก่อนจะถึงฮาวายนะครับ

แก็งเด็กบน The Happiest Island

เชื่อหรือไม่ว่าประเทศเล็ก ๆ ไกลแสนไกลแห่งนี้ มีดีกรีเป็นประเทศที่เคยครอบครองตำแหน่ง “ประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก” อยู่หลายปีติดต่อกันเลยทีเดียว โดยเฉือนชนะแชมป์อย่างประเทศภูฏานไปแบบขาดลอย

หลักเกณฑ์การวัดดัชนีความสุขประชากรนั้นก็ไม่ได้ทำแบบมั่ว ๆ ไร้มาตรฐานนะครับ เพราะเป็นการจัดทำขึ้นโดยองค์กรที่เชื่อถือได้ของอังกฤษองค์กรหนึ่งที่จะตรวจสอบจำนวนผู้ป่วยที่เป็นโรคอันเกิดจากความเครียด ความหดหู่  และอาการซึมเศร้าที่มีสาเหตุมาจากภาวะความโดดเดี่ยวในสังคม (นั่นคือสังคมขาดความอบอุ่นและเข้าอกเข้าใจกัน)

รวมทั้งยังนำอัตราการหย่าร้าง จำนวนผู้ติดยาเสพติด จำนวนผู้ก่ออาชญากรรม และจำนวนนักโทษมาเป็นส่วนประกอบในการคำณวนดัชนีนี้ด้วย โดยเทียบสัดส่วนกับจำนวนประชากรของแต่ละประเทศเพื่อความยุติธรรม

ด้วยเหตุนี้ วานูอาตูจึงได้รับฉายาว่า “เกาะที่มีความสุขที่สุดในโลก” หรือ ‘The Happiest Island’

ทางเดินที่สวยที่สุดในโลกจากบังกะโลไปร้านชำ

ผมเองนั้นก็เป็นพวกสุขนิยม จึงตะกายบินข้ามน้ำข้ามทะเลกว่า 10,000 กิโลเมตรจากกรุงเทพ ฯ สู่วานูอาตู โดยเลือกบินต่อไปพักยังเกาะแอมบริม (Ambrym) อันไกลโพ้นที่ไม่มีแม้แต้ไฟฟ้าหรือน้ำประปา เรียกว่าห่างไกลผู้คน และยังเป็นธรรมชาติสุด ๆ ด้วยความหวังว่าจะไม่มีใครรู้จักมักจี่ทีนี้จะได้นอนตีพุงสบาย ๆ ไปหลาย ๆ วัน

แต่ผมคิดผิดถนัดครับ เพราะชาวเกาะแอมบริมนั้น “ซี้” กับเราชาวไทยมาก

ย้ำว่า “ซี้มาก ๆ” นะครับ ไม่ใช่แค่สนิท และผมคงต้องเฉลยเสียทีว่าทำไมเขาซี้กับเราได้ขนาดนี้ ทั้ง ๆ ที่เราแทบไม่รู้จักเขา

หมู่บ้านรานอนและหาดลาวาสีดำอันเลื่องชื่อ ของเกาะแอมบริม

หมู่บ้านที่ผมไปพักบนเกาะแอมบริมนั้นชื่อว่าหมู่บ้านรานอน (Ranon) นะครับ และวินาทีแรกที่ผมเดินขึ้นบกไปยังบังกะโลที่ผมติดต่อมานั้น ผมก็ได้รู้จักกับป้าเอมม่า (Emma) ผู้ที่เมตตาผมดั่งลูกชายในไส้โดยให้ผมเรียกเธอว่า “มาม่า” หรือแปลได้ว่าคุณแม่

ผมนั้นเตรียมตัวมาตั้งแต่บนเครื่องบินที่จะอธิบายว่าประเทศไทยนั้นตั้งอยู่ตรงไหนอย่างไร และเราไม่ใช่ “ไต้หวัน” นะ เราคือ “ไทยแลนด์” แต่.....

“ไม่ต้อง ไม่ต้อง.... มาม่ารู้จักประเทศไทย มาม่ารู้จักแบงคอกว่าเป็นเมืองหลวง มาม่ารู้จักจาพนม ยีรัมย์” มาม่าพูดออกมาแบบ non stop ส่วนผมนั้นอ้าปากค้าง

“ที่นี่ทั้งหมู่บ้านรานอน.... ไม่ใช่สิ ทั้งเกาะแอมบริม เราดูองค์บากครบทุกภาค ดูต้มยำกุ้งด้วย ดูกันหลายรอบมาก ติดกันทั้งเกาะ” มาม่าสาธยาย พร้อมกับเรียกภาพยนตร์โปรดด้วยสำเนียงท้องถิ่นว่า “อุ๊ง-บัก”

เมื่อกี๊ผมอ้าปากค้างใช่ไหมครับ คราวนี้ผมถึงแก่ร้องออกมาว่า “คุณพระ!!!

ร้านชำและแผงโซลาร์เซลด้านหน้า ศูนย์จ่ายพลังงานของเกาะ

ที่หมู่บ้านรานอนไม่มีไฟฟ้า ยกเว้นที่ร้านชำกลางหมู่บ้านซึ่งมีแผงโซล่าร์เซลแผงใหญ่ดูดซับพลังงานแสงอาทิตย์มาเพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า และบริเวณนี้เป็นดั่งศูนย์กลางชุมชนที่ตกเย็นใคร ๆ ก็จะหอบลูกจูงหลานมานั่งดูแผ่น VCD กันเอิกเกริก และภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมตลอดกาลคือองค์บากและต้มยำกุ้งนั่นเอง

วันรุ่งขึ้นผมเดินเท้าจากบังกะโลไปร้านชำกลางหมู่บ้าน เมื่อเด็ก ๆ ที่เล่นอยู่แถวนั้นเห็นผม จึงรี่เข้ามา

“มาจากเมืองไทยใช่ไหม?” เด็ก ๆ กลุ่มนึงเข้ามาถาม

“ใช่แล้ว ทำไมรู้ล่ะ?” ผมสงสัย

“เอมม่ามาบอกเมื่อวานเย็นว่ามีแขกที่บังกะโลมาจากเมืองไทย” เด็ก ๆ เฉลยให้ผมเข้าใจ อ๋อ....ที่แท้ก็มาม่านี่เองที่มาประกาศข่าวเด็ดนี้

“มาต่อยกัน” เด็ก ๆ เริ่มเข้ามาชวนผมต่อย

“อะ...อะ...อะ...ไรนะ มาต่อยกัน เฮ้ย!!! ไอ้หนู” ผมเริ่มไปไม่เป็น

“ถ้านายมาจากเมืององค์บากจริง ๆ นายต้องมีพลังเตะต่อยตีลังกาได้... ไหนโชว์หน่อยดิ๊” เด็กตื๊อ

มาสู้กันเถอะ

วันนั้นผมต้องเล่นต่อสู้กับเด็ก ๆ ที่หมู่บ้านรานอนอยู่หลายรอบ ยิ่งเขารู้ว่าผมพักอยู่ที่บังกะโลของมาม่า เขายิ่งตามมาชวนผมออกไปเล่นด้วย

เรื่องที่คิดว่าจะมานอนเงียบ ๆ อ่านหนังสือรับลมริมหาดลาวาสีดำ เริ่มจะไม่ใช่ละ... เพราะเด็ก ๆ มากันแทบทุกวัน จนเราซี้กันในที่สุด และเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นไม่เช้าก็บ่ายของทุกวัน

ตลอด 7 วันที่ผมมาเป็นสมาชิกหมู่บ้านรานอน นอกจากเด็ก ๆ ที่ชอบการต่อสู้อย่างจริงจังแล้วยังมีผู้ใหญ่ด้วยนะครับ แต่ละวันผมต้องเดินเท้าไปร้านชำเพื่อเอาแบตเตอรี่กล้องไปชาร์จที่นั่นเพราะเป็นที่เดียวที่มีไฟฟ้า และทุกวันผมก็จะเจอเพื่อหน้าใหม่ ๆ ที่เข้ามาทักทาย

ร้านชำกับพี่คนขายซึ่งเป็นแฟนองค์บากเช่นกัน

“จาพนมที่แสดงองค์บากนี่เขาสบายดีไหม?”

“เขาจะทำภาคต่อไปอีกรึเปล่า?”

“ตัวจริงเขาเตะต่อยได้แบบในหนังไหม? หรือเก่งกว่ามาก?”

“คนไทยเตะต่อยตีลังกาได้แบบนี้หมดเลยใช่ไหม?”

นี่คือคำถามจากพี่ ๆ น้อง ๆ ชาววานูอาตูที่ประเคนมาให้ผมเสมอ ๆ บางคนนอกจากถามแล้วยังมาชวนผมไปลองชกลมชกใบไม้กันด้วย และจากคำถามเหล่านี้ บางครั้งผมก็ต้องสารภาพกับพวกเขาว่าผมตอบไม่ได้ ไว้ถ้ากลับไปแล้วผมจะพยายามหาข้อมูลแล้วบอกพวกเขาอีกที

วานูอาตูเคยเป็นอาณานิคมของทั้งอังกฤษและฝรั่งเศส ที่นี่มีโรงเรียนที่สอนทั้ง 2 ภาษา และเด็ก ๆ ก็สามารถพูดภาษาเหล่านี้ได้ดีพอ ๆ กับภาษาบิสลามา (Bislama) ซึ่งเป็นภาษาถิ่นของวานูอาตู

ดังนั้น ภาษาจึงไม่เคยเป็นอุปสรรคเลย

แต่ละวันที่ผ่านไปผมรู้สึกว่าผมเริ่มกลายเป็นเพื่อนสนิทกับพวกเขาไปโดยไม่รู้ตัว แม้ว่าผมจะดูตี๋ขาวผุดผ่องในขณะที่พี่ ๆ น้อง ๆ ชาวเกาะนั้นผิวคล้ำดำเข้ม แต่เขาก็เปิดใจต้อนรับพร้อมกับถามไถ่เรื่องราวต่าง ๆ จากผมเยี่ยงเพื่อนสนิท

พระอาทิตย์ลับฟ้าบนหาดลาวาสีดำ

ทุก ๆ วันผมจะไปดำน้ำ เดินป่า ปีนภูเขาไฟ หรือไปเดินเที่ยวตามหมู่บ้านต่าง ๆ แล้วกลับมาเล่นกังฟูกับเด็ก ๆ จนเสร็จ ครั้นพอช่วงบ่ายหรือเย็นผมก็จะแวะไปร้านชำเพื่อนำแบตเตอรี่กล้องถ่ายรูปไปชาร์จ

แต่ละครั้งที่ร้านชำผมจะใช้เวลานานขึ้น นานขึ้น และนานขึ้นเพื่อคุยกับพวกเขา จากเรื่องขององค์บาก จาพนม ต้มยำกุ้ง ไปจนเรื่องอื่น ๆ อีกมากมายที่เกี่ยวกับไทยไม่ก็วานูอาตู

ที่สำคัญ เขายังชวนผมให้ไปเที่ยวบ้านพวกเขาด้วย อันนี้ผมถือว่าผมโชคดีมาก ๆ

แซมวลและผลงานแกะสลัก

แซมวล (Samuel) เป็นหนึ่งในคนที่ชวนผมให้แวะไปหาเขาที่สตูดิแกะสลักตุ๊กตาไม้ท้องถิ่นที่เรียกว่า “แทมแทม” (Tamtam) และเมื่อผมเดินเข้าไปหาเขา

“แชง คู ยู ไน” แซมวลกล่าวอะไรบางอย่างพร้อมทำท่าคล้าย ๆ ย่อเข่าพร้อมเอามือซ้าย-ขวามาทำเป็นงาช้างอยู่ข้างจมูก

“อะไรนะแซมวล?” ผมไม่แน่ใจว่าเขาทำอะไร

“แชง คู ยู ไน ไงล่ะ... จากเรื่องต้มยำกุ้งที่พระเอกตามหาช้างน่ะ” แซมวลอธิบาย

ทีนี้ผมเข้าใจแล้วว่าเขากำลังทำท่าช้างพร้อมบอกว่า “ช้างกูอยู่ไหน?” นั่นเอง และพอผมรู้ ผมถึงกับต้องแอบกลั้นยิ้ม

แซมวลทำงานไม้ของเขาไปส่วนผมก็ยืนดูเขาอยู่เงียบ ๆ พร้อมกับขอถ่ายภาพเขาไปด้วย

นี่ไง ตุ๊กตาแทมแทม

“ตุ๊กตาพวกนี้เป็นศิลปะของวานูอาตู แกะสลักส่งไปขายทีเมืองหลวงพอร์ต วิลาบ้าง ส่งออกไปนิว คาลีโดเนียบ้าง ไปออสเตรเลียบ้าง บางตัวราคาในตลาดถึง 2,000 เหรียญเลยนะ” แซมวลอธิบาย พร้อมทำงานอย่างปราณีต และตั้งใจ

“แซมวล... คนที่นี่น่ารักมาก ๆ เลย พรุ่งนี้ผมต้องเดินทางกลับไปเกาะเมืองหลวงแล้ว ยังไม่อยากไปเลย แค่คิดก็เศร้าแล้ว" ความเสียดายที่เวลาบนเกาะนี้กำลังจะหมดลงทำให้ผมพูดอะไรบางอย่างออกมา

“ไปแล้วก็กลับมาใหม่นะ มาเยี่ยมพวกเรา You are our friend แซมวลพูด เขาเงยหน้าจากงานแกะขึ้นมายิ้มกับผมก่อนก้มหน้าลงไปทำงานต่อไป

เรือมาจากเมืองหลวงขนทั้งคนทั้งสินค้า

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 13 มีนาคม ค.ศ. 2015 พายุไซโคลนแพม กำลังแรงกว่า 320 กิโลเมตรต่อชั่วโมงถล่มประเทศวานูอาตูเกือบทั้งประเทศ เกาะน้อยใหญ่เกือบทั้ง 87 เกาะอยู่ในสภาพยับเยิน

เดือนตุลาคมปีนั้น ผมเดินทางจากกรุงเทพ ฯ ไปยังหมู่บ้านรานอน เกาะแอมบริม ประเทศวานูอาตู และได้มีโอกาสพบเห็นร่องรอยความเสียหายที่ยังคงค้างคาอยู่

การที่ชาวบ้านในหมู่บ้านเล็ก ๆ ไกลแสนไกลกลับรู้จักมักคุ้นกับประเทศไทยนั้น คือสิ่งที่สร้างความประหลาดใจให้กับผม ส่วนหนึ่งคือภาพยนตร์ชื่อดังจากเมืองไทยที่ชาวเกาะติดกันอย่างงอมแงม

แต่ส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งก็คือ “ข้าว” ที่รัฐบาลไทยส่งไปให้เป็นความช่วยเหลือแก่ประเทศเล็ก ๆ แห่งนี้

บนกระสอบข้าวมีข้อความเป็นภาษาอังกฤษอ่านได้ว่า “ด้วยความปรารถนาดีจากประเทศไทย”

และข้าวไทยนับเป็นความช่วยเหลือชุดแรก ๆ จากนานาชาติที่มาถึงประเทศวานูอาตู มาถึงเกาะแอมบริม และมาถึงหมู่บ้านรานอนแห่งนี้ในขณะที่ทั้งประเทศกำลังอยู่ในสภาพอดอยากอย่างยับเยิน

เล่นน้ำกับเพื่อนซี้

You are our friend ไม่ใช่ประโยคที่ผมได้ยินจากปากของแซมวลเป็นครั้งแรก แต่เป็นประโยคที่ผมได้ยินจากเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ชาววานูอาตูบนเกาะนี้ทุกครั้งเวลาที่เขาเล่าเรื่องข้าวจากเมืองไทยให้ฟัง

You are our friend เหมือนจะแปลง่าย แต่หนนี้ผมกลับแปลไม่ได้.....

ตลอด 7 วัน ผมพบว่าผมได้กลายเป็นคนที่มีความสุขที่สุดในโลกในดินแดนที่แสนจะซี้กับบ้านเกิดของผมโดยไม่รู้ตัว

 

ABOUT THE AUTHOR
โลจน์ นันทิวัชรินทร์

โลจน์ นันทิวัชรินทร์

หนุ่มเอเจนซี่โฆษณาผู้มีปรัชญาชีวิตว่า "ทำมาหาเที่ยว" เพราะเรื่องเที่ยวมาก่อนเรื่องกินเสมอ ชอบไปประเทศนอกแผนที่ที่ไม่มีใครอยากไปเลยต้องเต็มใจเป็น solo backpacker

ALL POSTS