ฟังเสียงของคนรักทะเล ในวันทะเลโลก World Ocean Day 2025
ถือเป็นอีกวันสำคัญที่เหล่าบรรดาคนรักทะเลมารวมตัวฉลองวันทะเลโลก หรือวันมหาสมุทรโลก (World Oean Day) 8 มิถุนายน 2568 ที่มาในธีม "WONDER Sustaining What Sustains Us: ดูแลทะเลที่หล่อเลี้ยงเรา" ซึ่งไม่ใช่แค่มาทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ แต่พวกเขาต้องการสร้างพลังให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อฟื้นฟู และรักษาทะเลและมหาสมุทรอย่างยั่งยืน
กิจกรรมที่ทำกันทุกปีก็คงเป็นการเก็บขยะทั้งบนชายหาด ป่าชายเลน และในทะเล โดยเฉพาะขยะพลาสติกซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต และห่วงโซ่อาหาร โดยมีการจัดในหลายพื้นที่ทั่วท้องทะเลไทย
ที่เกาะช้าง จังหวัดตราด เครือข่ายเกาะยั่งยืนประเทศไทย (Thailand Sustainable Island Alliance) ร่วมกับ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และหน่วยงานภาครัฐ-เอกชน องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (EJF) และภาคประชาสังคม จัดโครงการเกาะแห่งใจ ประเทศไทย [Thailand’s Heart Made Islands Project] "30+ Islands Clean Up: So Cool Mission" ณ ดิ อัยยะปุระรีสอร์เกาะช้าง
งานนี้ มีการชักชวนอาสาสมัครทั่วโลกเพื่อมาร่วมกิจกรรมเก็บขยะทะเลจากชายหาด ป่าชายเลน และดำน้ำเก็บขยะในแนวปะการังพร้อมกับประชาคมชาวเกาะกว่า 30 แห่งในประเทศไทย
ส่วนที่เกาะเต่า จังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นแหล่งดำน้ำที่เป็นที่นิยมมากอีกจุดหนึ่งในประเทศไทย WWF ร่วมมือกับ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หน่วยงานต่างๆ และผู้ประกอบธุรกิจดำน้ำบนเกาะที่ชักชวนครูสอนดำน้ำและนักดำน้ำที่อยู่บนเกาะในช่วงนี้ร่วมกันจัดกิจกรรมเก็บขยะตามชายหาดและในท้องทะเลรอบๆ เกาะเต่า พร้อมจัดการเสวนา เรื่อง ทางออกขยะเกาะ (Island Waste Solutions) โดยหน่วยงานที่ร่วมกันจัดงานครั้งนี้ รวมทั้งได้จัดนิทรรศการเกี่ยวกับความพยายามในการจัดการขยะทะเลของพันธมิตรและหน่วยงานต่างๆ
นอกจากจากกิจกรรมเก็บขยะบนเกาะต่างๆ ทั่วประเทศแล้ว ยังมีงานประชุมสัมมนาชาวเกาะเพื่อการท่องเที่ยวเกาะอย่างยั่งยืนประเทศไทย ครั้งที่ 3 พ.ศ.2568 มหัศจรรย์แห่งเกาะ: ดำรงไว้ซึ่งธรรมชาติที่หล่อเลี้ยงเรา (The 3rd Thailand Sustainable Islands Tourism Symposium 2025: Island Wonders: Sustaining What Sustains Us) ระหว่างวันที่ 9-11 มิถุนายน 2568 ณ คลองพร้าวรีสอร์ทเกาะช้าง จ.ตราด โดยจะมีพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง เครือข่ายเกาะยั่งยืนประเทศไทย กับ เครือข่ายความร่วมมือส่งเสริมการค้า การลงทุน ท่องเที่ยวและไมซ์เส้นทางชายฝั่งทะเล 3 ประเทศ (Cambodia Vietnam Thailand Economic Corridor – CVTEC)

อีกหนึ่งไฮไลต์ ก็คือ งานเสวนา "นโยบายเกาะ By เกาะ & เข็มทิศ สู่ความมั่นคงทางการท่องเที่ยวของเกาะไทย" โดยมีตัวแทนชุมชนชาวเกาะตัวจริง เสียงจริง อย่าง รำลึก อัศวชิน นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะเต่า, ภูมิกิตติ์ รักแต่งาม ประธานมูลนิธิพัฒนาท่องเที่ยวยั่งยืน ภูเก็ต, และ ธีรพจน์ กษิรวัฒน์ ที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะลันตา มาร่วมแชร์มุมมอง ประสบการณ์ และข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาเกาะไทย
เปิดวงถกอนาคตทะเลไทย
Greenpeace จัดงาน Life on Sand: From Seabed to Protected Areas ณ ชั้น 1 BACC หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยมีนิทรรศการให้ชมกันตั้งแต่วันที่ 3-8 มิถุนายนนี้
ส่วนคนรักทะเลไม่ควรพลาดงานเสวนาในวันมหาสมุทรโลก 8 มิถุนายน เพราะ Greenpeace เปิดวงพูดคุยของคนในวงการทะเลและมหาสมุทรไทย เค้าจะมาถกกัน และกำหนดทิศทางอนาคตทะเลไทยและทะเลโลก
วงสนทนาแรก "On Board: เหตุเกิดบนเรือ Rainbow Warrior" เรื่องเล่าสุดมันส์จากภารกิจเก็บตัวอย่างสัตว์หน้าดิน! (13:00 - 14:10 น.) กว่าจะมาเป็น citizen science บนเรือ Rainbow Warrior และการออกแบบการทำงานร่วมกับชุมชน
วงสนทนาที่สอง "จริงหรือหลอก ที่เขาบอกว่าทะเลร้าง" (14:15 - 15:25 น.) เปิดผลวิจัยสุดว้าวจากทะเลชุมพรและสงขลา พร้อมคำตอบว่า ความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลคืออะไร และทำไมต้องมีทะเลชุมชน

วงสนทนาสุดท้าย One Ocean: เมื่อทะเลหน้าบ้านเราดี มหาสมุทรโลกก็แข็งแรง (16.30 - 18.00 น.) บทบาทของไทยในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลในระดับภูมิภาคและระดับโลก อาทิ วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย อัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล นักรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร และ Af Dillah กรีนพัช อินโดนีเซีย
วันทะเลโลก หรือ วันมหาสมุทรโลก (World Ocean Day) ได้กำหนดขึ้นในคราวการประชุมสุดยอดระดับประเทศผู้นำว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (UN Conference on Environment and Development: UNCED) หรือการประชุม Earth Summit ณ กรุงริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล เมื่อปี 2535 เพื่อเผยแพร่ความรู้และรณรงค์ประชาชนทั่วโลกให้ช่วยกันปกป้องและรักษาทะเล จนกระทั่งปี 2551 องค์การสหประชาชาติ จึงกำหนดให้วันที่ 8 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันทะเลโลก โดยเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในปี 2552
สำหรับการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยมหาสมุทร ครั้งที่ 3 (United Nations Ocean Conference – UNOC) ณ เมืองนีซ ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 9-13 มิถุนายน 2568 ภายใต้แนวคิด "We Are Ocean" มีเป้าหมายหลักในการผลักดันมาตรการเชิงรูปธรรมเพื่อการอนุรักษ์และปกป้องมหาสมุทร โดยมีวาระสำคัญๆ อาทิ การผลักดันสนธิสัญญา BBNJ (Marine Biodiversity Beyond National Jurisdiction) เพื่อคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ทะเลนอกเขตอธิปไตยของประเทศต่างๆ, การระดมทุนเพื่อสนับสนุนโครงการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรอย่างยั่งยืน รวมถึงการเปิดตัวพันธบัตรสีน้ำเงิน (Blue Bonds) และกองทุนเพื่อการลงทุนในระบบนิเวศชายฝั่งและทะเล, และ การบูรณาการการอนุรักษ์มหาสมุทรกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
การจัดกิจกรรมพร้อมๆ กันบนแทบจะทุกเกาะทั่วประเทศแบบนี้ น่าจะช่วยให้คนทั่วไปได้หันกลับมามองว่าเรารักทะเล แต่เราดูแลทะเลกันด้วยความรับผิดชอบและดูแลทะเลอย่างเพียงพอแล้วหรือยัง อย่างน้อยที่สุด ไปทะเลคราวหน้า เราคงจะตระหนักกันมากขึ้นว่าควรทำอะไรเพื่อชะลอผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้บ้าง
With additional report by Onabell
#วันทะเลโลก2025 #WorldOceanDay2025 #ทะเลไทย #ขยะทะเล #อนุรักษ์ทะเล