HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
จะรับมือปัญหาเร่งด่วนอย่างไร เมื่อคนวัยทำงานต้องแบกรับภาระดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น
by HBKK
28 เม.ย. 2568, 11:20
  795 views

ไม่ใช่แค่วัยเก๋าหลังเกษียณที่จะต้องปรับตัว ปรับใจ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์กำลังส่งผลกระทบต่อคนรุ่นใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งยังไม่ค่อยมีการหยิบยกมาถกกันชัดเจนว่า จะเตรียมคนเจนใหม่ให้อยู่กับสูงวัยอย่างไร

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่มีเด็กเกิดน้อย และครอบครัวยุคใหม่มีลูกคนเดียวมากขึ้น สวนทางกับผู้สูงวัยที่มีอายุยืนยาวขึ้น ยิ่งเป็นตัวเร่งให้เกิดวิกฤตตามมามากมาย ไม่เพียงเรื่องเศรษฐกิจ แต่มีผลกระทบต่อสุขภาพจิตด้วย

รศ.ดร.อัจฉรา ชลายนนาวิน ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสาธารณะ และนโยบายสิ่งแวดล้อมและอาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า คนรุ่นใหม่อาจต้องแบกรับภาระดูแลผู้สูงอายุมากขึ้นจนอาจเกิดความตึงเครียดระหว่างรุ่น ทั้งในเรื่องการแบ่งทรัพยากรและหน้าที่ดูแล ซึ่งสะท้อนถึงความต่างด้านทัศนคติระหว่างเจเนอเรชันในสังคมไทยอย่างชัดเจน ดังนั้น การปรับตัวจึงเป็นสิ่งจำเป็น ควรเริ่มต้นจากการปลูกฝังความเข้าใจระหว่างรุ่นตั้งแต่ในโรงเรียนไปจนถึงวัฒนธรรมการทำงาน เพื่อสร้างความยืดหยุ่นและลดความเครียดทางจิตใจที่อาจลุกลามจนเป็นโรคทางจิตเวช หรือรุนแรงถึงขั้นฆ่าตัวตายได้ 

"สังคมไทยจำเป็นต้องเร่งสร้างความยืดหยุ่นทางใจ (Resilience) ให้สามารถปรับตัว รับมือกับความยากลำบากหรือความท้าทายที่เผชิญในชีวิต เพื่อให้เรามีทักษะจัดการอารมณ์และความเครียดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันยังไม่ถูกบรรจุอย่างจริงจังในระบบการศึกษา และควรได้รับการผลักดันโดยเร่งด่วน"

อัตราส่วนพึ่งพิงผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 10.7 ในปี 2537 เป็นร้อยละ 31.1 ในปี 2567 หมายความว่าประชากรในวัยทำงานทุกๆ 100 คน จะต้องแบกรับภาระในการดูแลผู้สูงอายุถึง 31 คน สถานการณ์นี้จะทำให้แรงงานในประเทศต้องเผชิญกับภาระทางการเงินเพิ่มขึ้นในครัวเรือน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้หรือบำนาญ

ขณะเดียวกัน แนวโน้มผู้สูงอายุที่อยู่อาศัยตามลำพังยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสัดส่วนของผู้สูงอายุที่อยู่ลำพังในครัวเรือนเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่าจากร้อยละ 3.6 ในปี 2537 มาเป็นร้อยละ 12.9 ในปี 2567 ซึ่งสะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างครอบครัวและวิถีชีวิตในสังคมไทยยุคใหม่ ทำให้เกิดปัญหาสุขภาวะทั้งด้านร่างกายและจิตใจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกเหงา โดดเดี่ยวอ้างว้าง ความเครียด ภาวะซึมเศร้า และความเจ็บป่วยต่าง ๆ จากการที่ลูกหลานจำเป็นต้องย้ายถิ่นฐานเพื่อไปประกอบอาชีพในเมือง ส่งผลให้ผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยตกอยู่ในภาวะเปราะบาง และเสี่ยงต่อการถูกฉ้อโกงทางออนไลน์

ลองนึกภาพดูว่า ถ้าอายุยืนยาวไปถึง 70 หรือ 80 ปี เงินเก็บหลังเกษียณก็อาจจะไม่เพียงพออีกต่อไป เพราะค่ารักษาพยาบาลมีแต่แพงขึ้น ปีละ 5-8% ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้จะเบียดเบียนเงินเก็บสำหรับผู้สูงวัยมากที่สุด โดยผู้สูงอายุหลายคนยังต้องพึ่งพาการดูแลจากภาครัฐและลูกหลานในครอบครัว 

ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) คือ มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เท่ากับหรือมากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด หรือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป  เท่ากับหรือมากกว่า 14% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปี 2548

ดร.อัจฉรา บอกอีกว่า ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า สัดส่วนของประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างแรงงานและทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวม เนื่องจากผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะไม่สามารถทำงานในภาคแรงงานได้เต็มที่ อีกทั้งภาระการดูแลสุขภาพและสวัสดิการต่าง ๆ ก็จะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้รัฐบาลต้องมีการปรับตัวในการจัดสรรงบประมาณสาธารณะ เพื่อรองรับภาระที่เพิ่มขึ้นในอนาคต เช่น การเพิ่มโครงการประกันสุขภาพ หรือการสนับสนุนด้านการเงินสำหรับผู้สูงอายุ รวมถึงการสร้างกลไกเพื่อสนับสนุนการประกันสังคมอย่างโปร่งใสและยั่งยืน 

นอกจากนี้ ประเทศไทยควรศึกษากรณีของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่มีระบบเก็บภาษีสำหรับบำเหน็จบำนาญแก่ประชาชนในอนาคต และมีการร่วมสมทบระหว่างรัฐและภาคเอกชน และนำมาปรับใช้ในระบบสวัสดิการเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสังคมสูงวัย

 

 

ABOUT THE AUTHOR
HBKK

HBKK

Live Every Day

ALL POSTS