HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
ไม่ต้องกินหวาน ก็เป็นเบาหวานได้
by Ohnabelle
16 เม.ย. 2568, 21:08
  130 views

ความเข้าใจผิดข้อใหญ่ที่หลายคนคิด คือ “กินหวานมากจะเป็นเบาหวาน” แต่สิ่งที่เข้าใจถูกคือ ถ้าเป็นเบาหวานแล้ว ปล่อยจอยไปเรื่อยๆ ไม่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดี เป็นแผลเล็กๆ ที่เท้า ก็อาจลุกลามถึงต้องตัดขา และเสียชีวิตได้

ทำไมกินหวานไม่ได้เป็นเหตุให้เกิดเบาหวาน?

จริงๆ แล้ว น้ำตาลหรือความหวาน หมายถึงพลังงานที่ร่างกายได้รับ ถ้ามากเกินไปจะเกิดภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน  และความอ้วนนี่ต่างหากที่ทำให้ร่างกายดื้อต่ออินซูลิน เพราะไขมันส่วนเกินจะถูกย่อยและกลายเป็นกรดไขมันและน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งถ้ามีมากตลอดเวลา ตับอ่อนที่มีหน้าที่ผลิตอินซูลินสำหรับดูดซึมน้ำตาลในเลือดออกไป ถึงกับต้องยอมแพ้สู้ไม่ไหว จึงเกิดภาวะดื้ออินซูลิน และโรคเบาหวานในที่สุด

นั่นหมายถึงว่า ต่อให้ไม่ได้กินหวานมาก หวานจัดตลอดเวลา แต่รักการกินกล้วยทอด เฟรนช์ฟราย หนังไก่ทอดกรอบกร้วม มันฉ่ำไหลเยิ้มระเบิดในปากเป็นประจำ ก็ทำให้ร่ายกายได้รับแคลอรี่สูง ซึ่งทำให้อ้วน และมีโอกาสเป็นเบาหวานได้ไม่ต่างกัน

นายแพทย์ชัยชาญ ดีโรจนวงศ์

นายแพทย์ชัยชาญ ดีโรจนวงศ์ นายกสมาคมต่อมไร้ท่อแห่งประเทศไทย และประธานวิชาการ สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ อธิบายว่า ความเสี่ยงสำคัญ 4 ข้อที่เพิ่มโอกาสในการเป็นเบาหวาน คือ ความอ้วน อายุโดยเฉพาะเมื่ออายุเกิน 35 ปีขึ้นไป พันธุกรรม และไลฟ์สไตล์ไม่ว่าจะเรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกาย การพักผ่อน ความเครียด

จากความเสี่ยงทั้ง 4 ข้อนี้ จะเห็นได้ว่าข้อที่เกี่ยวข้องกับอาหารและโภชนาการมีถึง 2 ข้อ การลดความเสี่ยงของโรคเบาหวานที่ดีจึงต้องเริ่มต้นจากอาหาร

“อาจจะพูดได้ว่า 80% ของความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานนั้น มาจากอาหารที่เรารับประทาน ซึ่งสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 หรือผู้ที่มีภาวะดื้ออินซูลิน จริงๆ แล้วสามารถหายได้ ฟื้นฟูได้ ถ้าดูแลเรื่องโภชนาการอย่างเหมาะสม ขอให้เราเน้นที่ปริมาณแคลอรี่ที่ได้รับ ไม่ใช่ปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่เรากิน” นายแพทย์ชัยชาญ กล่าว

ดร.โฮเซ โรดอลโฟ จูเนียร์ 

ดร.โฮเซ โรดอลโฟ จูเนียร์ ผู้อำนวยการฝ่ายโภชนาการการแพทย์ ประจำภูมิภาคแปซิฟิกเอเชียของแอ๊บบอต ซึ่งได้เข้าร่วมประชุม World Diabetes Congress ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ บอกว่า ตัวเลขล่าสุดจากสหพันธ์เบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Federation หรือ IDF) พบว่า 60% ของผู้ป่วยเบาหวานทั่วโลกอาศัยอยู่ในเอเชีย

“หนึ่งในสาเหตุที่ผู้ป่วยเบาหวานส่วนมากอยู่ในเอเชีย เพราะวัฒนธรรมการกินอยู่ของคนเอเชีย ซึ่งมักรับประทานอาหารที่ประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรตคุณภาพต่ำในปริมาณสูง ทำให้การควบคุมน้ำตาลในเลือดไม่ดีนัก นอกจากนี้ การที่เมืองขยายตัว คนใช้ชีวิตเร่งรีบ ไม่มีเวลาดูแลโภชนาการ ขาดการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม นอนไม่พอ ปัจจัยเหล่านี้ยิ่งทำให้มีโอกาสเป็นเบาหวานมากขึ้น” ดร.โฮเซ อธิบาย

แม้ว่าภาครัฐและเอกชนจะได้ร่วมมือกันรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวานแล้ว แต่จำนวนผู้ป่วยใหม่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  สถิติของสหพันธ์เบาหวานนานาชาติ ระบุว่า สำหรับในประเทศไทยมีคนไทยในวัยผู้ใหญ่ประมาณ 6.5 ล้านคนที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน  หรือคิดเป็น11.6% ของประชากรทั้งหมด  ในแต่ละปี จะพบว่ามีผู้ป่วยรายใหม่ได้รับการวินิจฉัยโรคเพิ่มขึ้นถึง300,000 คน  แนวโน้มนี้ยังไปต่อได้อีก หากไม่สามารถลดโรคอ้วนได้

ดร.โฮเซ กล่าวว่า หัวใจสำคัญของการป้องกัน ลดความเสี่ยง และดูแลผู้เป็นโรคเบาหวานให้เข้าสู่ระยะสงบ (Diabetes Remission Guidelines) ต้องเริ่มต้นจากการดูแลโภชนาการ  การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต และที่สำคัญที่สุดคือผู้ที่เป็นโรคเบาหวานต้องมีความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนอย่างจริงจัง

การดูแลโภชนการอาจเป็นเรื่องยากหรือมีข้อจำกัดมากสำหรับหลายคนที่มีไลฟ์สไตล์ที่เร่งรีบ นวัตกรรมด้านโภชนาการที่จะช่วยบรรเทาปัญหานี้ได้คือ อาหารทดแทนสูตรครบถ้วนสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน (Diabetes-Specific Formula หรือ DSF)   ซึ่งจากการศึกษาทางคลินิกถึง 64 โครงการของแอ๊บบอต ครอบคลุมกลุ่มตัวอย่างกว่า 6,000 คน ใน 19 ประเทศ พบว่า หลังจากให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารทดแทนสูตรครบถ้วนสำหรับผู้ป่วยเบาหวานต่อเนื่องประมาณ 3 เดือน ผู้ป่วยสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ  และยังช่วยควบคุมน้ำหนักตลอดจนลดไขมันในร่างกายได้ถึง 2 เท่า

แม้ว่าจะมีการให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาใหญ่คือผู้ป่วยจำนวนมากไม่สามารถปรับเปลี่ยนโภชนาการของตนเองได้ เพราะการรับประทานให้อร่อย คือความสุขพื้นฐานของมนุษย์

นายแพทย์ชัยชาญ กล่าวสรุปว่า “บางทีเราก็ต้องให้ผู้ป่วยเขาคุยกันเอง เรียนรู้จากประสบการณ์ของคนอื่น ให้เขาเห็นว่าเมื่อเป็นแล้ว โรคนี้มีผลรุนแรงได้แค่ไหน  คนที่เห็นหน้ากันบ่อยๆ ตอนมาหาหมอ จากที่เคยเดินได้กลับต้องนั่งรถเข็น ให้เขาเรียนรู้ว่าไม่มีอะไรที่จะดีไปกว่าการดูแลตัวเองแต่เนิ่นๆ เพราะเบาหวานจะไม่มีสัญญาณเตือนที่ชัดเจนในระยะแรก กว่าจะเห็นอาการก็เมื่อโรครุนแรงมากแล้ว ดังนั้น ต้องดูแลตัวเอง อย่าให้เป็นเบาหวานดีที่สุด” 

ABOUT THE AUTHOR
Ohnabelle

Ohnabelle

Work hard, Eat harder ศิษย์เก่าออสเตรเลียแต่วนเวียนกับเรื่องสวิตเซอร์แลนด์

ALL POSTS