SACIT พลิกแนวรุก ปลุกกระแสคราฟต์รับการเปลี่ยนแปลงวิถีสังคมและเทรนด์ไลฟ์สไตล์
กว่าสองทศวรรษกับภารกิจส่งเสริมสนับสนุนศิลปหัตกรรมไทย ตั้งแต่ริเริ่มศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ จนกลายมาเป็น สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย หรือที่เราเรียกกันว่า SACIT (Sustainable Arts and Crafts Institute of Thailand) วันนี้ เราชวนมาฟัง ผศ.ดร.อนุชา ทีรคานนท์ ซีอีโอ SACIT เปิดมุมมองใหม่ ปรับบทบาท และทิศทางการดำเนินงาน ให้คราฟต์ไทยเข้าถึงคนทุกเจน ควบคู่ไปกับการสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมที่กำลังจะสูญหายไป
"ที่ผ่านมา SACIT เป็นเสมือนผู้ให้การส่งเสริม (Pormoter) แต่วันนี้ เราเพิ่มบทบาทเป็นผู้ที่เสริมสร้างประสิทธิภาพ หรือยกระดับผู้ที่พัฒนางานศิลปหัตถกรรม (Enhancer) ให้มีความแข็งแรงมากขึ้น ซึ่งปีนี้จะเป็นปีแรก ที่เราเริ่มให้ทุนวิจัยแก่นักพัฒนานวัตกรรม หรือนักวิจัย เพื่อช่วยแก้ไข pain points ต่างๆ สำหรับการทำงานศิลปหัตถกรรม ไม่ใช่เป็นการทำเปเปอร์แล้วเอาไปขึ้นหิ้ง"
ดร.อนุชา บอกว่า SACIT ยังคงมีภารกิจหลักใน 3 ด้าน คือ สืบสาน สร้างสรรค์ และส่งเสริม แม้ว่า ประเทศไทยจะมีความรุ่มรวยในภูมิปัญญาด้านงานคราฟต์เมื่อเทียบกับประเทศในเอเชียด้วยกัน แต่เมื่อโลกเปลี่ยนไป ทำให้เกิดการพัฒนาทั้ง Soft Skills, Hard Skills รวมทั้งการรังสรรค์งานคราฟต์ร่วมสมัย และการทดลองใช้วัสดุใหม่ๆ ที่มาพร้อมกับวิถีชีวิตผู้คนในสังคมยุคปัจจุบัน ทำให้ SACIT ก็ต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานเช่นเดียวกัน
ปัจจุบัน มีหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงองค์กรอื่นๆ ที่มีโครงการส่งเสริมงานคราฟต์ ฉะนั้น SACIT จะเน้นการร่วมมือเป็นพันธมิตร เพื่อลดการทำงานที่ซ้ำซ้อนกัน เช่น “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ซึ่งเป็นโครงการตามแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ส่งเสริมผ้าไทยให้ทันสมัยสู่สากล เป็นที่นิยมในทุกเพศ ทุกวัย และทุกโอกาส และสร้างรายได้กลับสู่ชุมชน
สืบสานเพื่อต่อยอด
มรดกทางวัฒนธรรมหลายอย่างกำลังเสี่ยงต่อการสูญหายไป เพราะมีคนทำน้อยมาก ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายหากไม่มีการรักษาเอาไว้ ดังนั้น SACIT จึงมีโครงการ "หัตถศิลป์ที่คิดถึง" โดยนำงานคราฟต์ที่หลายคนอาจจะลืมไปแล้ว หรือไม่รู้จัก โดยเฉพาะคนเจนใหม่ ให้กลับมาอยู่ในสังคมไทยอีกครั้งหนึ่ง
ดร.อนุชา บอกว่า การสืบสานไม่ใช่เป็นการอนุรักษ์ให้อยู่คงที่ตามแบบเดิม แต่เป็นการอนุรักษ์เพื่อให้เกิดการต่อยอดต่อไป เช่น 'งานคร่ำ' ซึ่งเป็นงานหัตถศิลป์ชั้นสูง ที่มักพบลวดลายบนพื้นโลหะประเภทเหล็ก เช่น ปืนใหญ่ ดาบ และกรรไกร แต่ปัจจุบัน ครูช่าง ได้นำงานคร่ำมาพัฒนาต่อยอดให้อยู่บนข้าวของเครื่องใช้ เครื่องประดับ ที่สามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวัน
"การสืบสานไม่ได้มองแค่เรื่อง know how อย่างเดียว แต่เราจะต้องให้ความสำคัญในเรื่องความยั่งยืนด้วย ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบที่นำมาใช้ จากในอดีตที่เน้นวัสดุธรรมชาติใกล้ตัวมารังสรรค์เป็นชิ้นงาน แต่เราต้องพัฒนาเรื่องดีไซน์ และฟังก์ชั่นการใช้งาน เพื่อทำให้งานคราฟต์โลดแล่นในตลาดยุคปัจจุบันได้"
ปั้นช่างศิลป์ต่อเนื่อง
ไม่เพียงความพยายามในการถ่ายทอดวิชาความรู้ และประสบการณ์ของบรมครูช่างแขนงต่างๆ แล้ว การหาทายาทช่างศิลป์ก็ต้องปรับเปลี่ยน เพราะเดี๋ยวนี้จะหาลูกหลานมาสืบทอดก็ยากขึ้นไปทุกที ดังนั้น ทายาทจึงหมายรวมถึงลูกศิษย์ที่ครูช่างให้การรับรอง ก็สามารถเข้ามาเป็นสมาชิกครอบครัว SACIT ได้
ขณะเดียวกัน SACIT ก็ได้เริ่มโครงการ New Young Crafts ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา เพื่อเปิดโอกาสให้ช่างฝีมือ และนักออกแบบรุ่นใหม่ ได้แสดงศักยภาพ ทั้งสกิล และเทคนิคใหม่ๆ ผ่านผลงานสร้างสรรค์ร่วมสมัย เพราะการเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องเรียนจากครูในแบบเดิมๆ การเรียนรู้มันออกนอกห้อง ออกจากชุมชนไปหมดแล้ว เราต้องทำให้งานคารฟต์มีความร่วมสมัย ไม่ใช่เป็นแค่ของที่ปู่ย่าตายายใช้กัน แต่ทำให้เข้าถึงคนทุกเจน สามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบรูปทรง สี แม้กระทั่งลวดลายต่างๆ
นอกจากนี้ SACIT ยังเห็นความสำคัญกับการทำงานร่วมกับกลุ่มเปราะบาง โดยนำครูช่างเข้าไปสอนทักษะให้แก่ผู้ต้องขังในเรือนจำ ซึ่งนำร่องไปแล้วที่เรือนจำอยุธยา และกำลังจะนำครูช่างไปสอนกลุ่มผู้สูงอายุที่สุขภาพดี มีศักยภาพในการสร้างสรรค์งานคราฟต์ได้
ปูทางพัฒนาแหล่งยางรัก
รู้ไหมว่า ยางรัก เป็นวัตถุดิบที่เป็นพื้นฐานของงานหัตถศิลป์หลายชนิด เช่น เครื่องเขิน ลงรักปิดทอง งานลายรดน้ำ งานประดับมุก ประดับกระจก หัวโขน เป็นต้น แต่ยางรักกลายเป็นของหายากมากขึ้นทุกที ทำให้มีการนำวัสดุอื่นมาทดแทน แม้คุณสมบัติจะสู้ยางรักไม่ได้
ดร.อนุชา บอกว่า เราต้องรีบพูดคุยกันเรื่องการขาดแคลนยางรัก เพราะในอนาคตอันใกล้ การใช้ยางรักอาจจะหมดไป ซึ่งไม่ใช่แค่สูญเสียเอกลักษณ์เชิงวัฒนธรรมของไทยเท่านั้น แต่จะสูญเสียทั้ง know howและช่างทำหัตถศิลป์ที่เกี่ยวข้องกับยางรักด้วย ปีนี้ SACIT จึงมุ่งเน้นการศึกษาการใช้ยางรักตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ถือเป็นแผนการทำงานระยะยาว เพราะยางรักเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ที่ต้องมีอายุสิบปีขึ้นไปจึงจะสามารถกรีดน้ำยางได้ โดยพันธุ์ไม้ที่ใช้เป็นแหล่งผลิตยางรักดิบได้ เช่น ต้นรักใหญ่ และน้ำเกลี้ยง
นอกจากนี้ ในการประชุมเชิงวิชาการ “SACIT Symposium 2025” ภายใต้แนวคิด “Crafting Sustainability across ASEAN and Beyond” ระหว่างวันที่ 8-9 สิงหาคม 2568 ณ สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย จะมีการจัดนิทรรศการการศึกษาเกี่ยวกับยางรัก และเชิญช่างหัตถศิลป์ในอาเซียน และเอเชีย อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ไต้หวัน และอินเดีย มาร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่ง SACIT อยากผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาเรื่องยางรักในกลุ่มอุษาคเนย์ เพราะมีมรดกทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับยางรักทั้งสิ้น
ขายตลาดต่างประเทศ
นอกจากนำเสนอผลิตภัณฑ์หัตถกรรมผ่านงานเทศกาลไทย "Thai Festival 2025" ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศกำหนดจัดในเมืองสำคัญๆ ทั่วโลกแล้ว ปีนี้ สถานทูตไทยในลอนดอนยังเป็นเจ้าภาพให้ sacit มีโอกาสได้เข้าร่วมงาน London Craft Week 2025 เป็นครั้งแรก ระหว่างวันที่ 12-18 พฤษภาคม 2568 ซึ่งเป็นเวทีใหญ่ที่จะได้เผยแพร่งานคราฟต์ของไทย พร้อมทั้งสาธิตการทำจากช่างศิลป์ด้วย
ขณะเดียวกัน SACIT ก็เล็งเจาะตลาดในภูมิภาคตะวันออกกลาง อาทิ ซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน คูเวต โอมาน การตาร์ สหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ และเยเมน โดยเริ่มเข้าไปศึกษาโอกาสทางการตลาด และไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค ณ กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย เพื่อพัฒนางานคราฟต์ให้ตอบโจทย์ความต้องการ และมีแผนจะจัดโรดโชว์ในเดือนพฤษภาคมนี้
เป็นอีกข่าวดี เมื่อห้างดังของโอมิยะ จังหวัดเกียวโต ที่ขายผ้าและตัดชุดกิโมโนแบบดั้งเดิม สนใจจะนำเอาผ้าทอมือของไทยไปตัดเย็บเป็นกิโมโน โดยเตรียมจะเซ็นเอ็มโอยู กับ SACIT เพื่อร่วมกันแสวงหาผ้าทอที่เหมาะสม และตรงตามสเปค ซึ่งจะเป็นพันธมิตรสำคัญในต่างประเทศ
ดร.อนุชา เล่าว่า แม้โลกจะพัฒนาไปขนาดไหน ประเทศญี่ปุ่นจะทันสมัยไปเพียงใด แต่การสวมใส่กิโมโนถือว่าเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมที่คนญี่ปุ่นยังถือครองอยู่ค่อนข้างมั่นคง ฉะนั้น ห้างที่โอมิยะ ถือว่าเป็นหนึ่งในพันธมิตรสำคัญของเราในต่างประเทศ
งานที่คนรักคราฟต์ต้องมา
ปักหมุดไว้เลยกับงาน Crafts Bangkok 2025 ที่จะจัดขึ้นวันที่ 18-22 มิถุนายน 2568 ตั้งแต่ 10.00-20.00 น. ณ ฮอลล์ 5 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพราะเป็นงานที่รวบรวมผลิตภัณฑ์คราฟต์ร่วมสมัยจากผลงานครู ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม สมาชิก sacit และผลิตภัณฑ์หัตถกรรมไฮไลต์จากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ อาทิ ผ้าไหม ผ้าฝ้าย จักสานกระจูด ไม้แกะสลัก ผ้าปัก ผ้าชาวเขา และเครื่องปั้นดินเผา ทั้งยังเตรียมเปิดตัวผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ที่ปรับประยุกต์เข้ากับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคเพื่อตอบโจทย์เทรนด์ในยุคปัจจุบัน เช่น Craft Toy และงานคราฟต์หมวดหมู่อื่นๆ รวมกว่า 300 บูธ
Crafts Bangkok เป็นงานใหญ่แห่งปีที่ประสบความสำเร็จในการส่งเสริมตลาดคราฟต์ในประเทศ กลายเป็นงานแสดงสินค้าที่บรราดาสายคราฟต์ต้องมาละลายทรัพย์ อัพเดทเทรนค์งานสร้างสรรค์ ซึ่งปีที่ผ่านมา เราจะเห็นเยาวชนคนรุ่นใหม่สนใจมาชมมาช้อปงานคราฟต์กันมากขึ้น