HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
The Wireless House One Bangkok ย้อนอดีต 111 ปีของถนนวิทยุ จุดเริ่มต้นการสื่อสารไร้สาย
by Ohnabelle
15 ม.ค. 2568, 13:46
  418 views

บ้านไม้มีเชิงชายฉลุลายสีเขียวสไตล์สมัยรัชกาลที่ 6 ตรงหัวมุมถนนวิทยุ ติดกับตึกกระจกสูงของโครงการวัน แบงค็อก ชวนให้คนสงสัยว่าบ้านใครหนอ  การเปิดตัว “เดอะ ไวร์เลส เฮาส์ วัน แบงค็อก” ได้เฉลยคำตอบแล้วว่า นี่คือ สถานีวิทยุโทรเลขศาลาแดงที่จำลองมาจากอาคารจริง ซึ่งเคยตั้งอยู่ภายในพื้นที่ที่เป็นโครงการวัน แบงค็อก ที่ถูกปฏิสังขรณ์พร้อมทั้งย้ายมาสร้างในพื้นที่ใหม่ และนำสิ่งของจากการขุดค้นมาจัดแสดงในนิทรรศการที่เล่าเรื่องราวของพื้นที่นี้ได้อย่างกะทัดรัด น่าสนใจ

ที่มาของชื่อถนนวิทยุ

โครงการวัน แบงค็อก ได้ถือเอาวันที่ 13 มกราคม 2568 เป็นวันเปิดตัว “เดอะ ไวร์เลส เฮาส์ วัน แบงค็อก” เพราะเป็นวันครบรอบการเปิดใช้งานสถานีวิทยุโทรเลขศาลาแดงแห่งนี้เมื่อ 111 ปีก่อนและพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จฯ มาทรงเปิดด้วยพระองค์เอง

ถ้าจะพูดให้คนเจนใหม่เข้าใจว่าวิทยุโทรเลข คืออะไร อาจจะพูดได้ง่ายๆ ว่า คือ การสื่อสารไร้สายยุคแรกสุดนั่นเอง เป็นการใช้คลื่นความถี่วิทยุส่งข้อมูล ข้อความ เช่น โทรเลข กระจายเสียง และเป็นที่มาของชื่อ “ถนนวิทยุ” ดังนั้น สถานีวิทยุโทรเลขศาลาแดง จึงไม่ได้มีค่าเพียงแค่เป็นอาคารเก่า สวยงาม ดูย้อนยุคน่าถ่ายรูปเช็คอิน แต่ยังมีเรื่องราวมากมายซ่อนอยู่ 

เมื่อมองจากด้านหน้า จะเห็นสะพานไม้ทอดเข้าสู่ตัวบ้าน ซึ่งเป็นการจำลองแบบจากของเดิม ให้ลองจินตนาการดูว่าเมื่อร้อยกว่าปีก่อน บริเวณแถบนี้ถือว่าอยู่นอกเมือง พื้นที่ทั้งหมดเป็นทุ่งนา จึงต้องสร้างสะพานข้ามทุ่งนาให้เจ้าหน้าที่เข้ามาทำงานที่สถานีนี้ได้สะดวก  ก่อนจะเดินขึ้นไปดูอย่าลืมแวะไปดูเสาค้ำสะพานก่อน เพราะมีการนำตอม่อของเดิมบางส่วนมาใช้ให้เราได้เห็นภาพสมัยนั้นได้อย่างชัดเจน

ทางด้านขวา ก่อนเข้าตัวบ้าน จะเห็นงานประติมากรรมเป็นรูปลำโพงหลากหลายขนาด สีเงินและสีทอง ซึ่งเป็นผลงานของ ยูริ ซูซูกิ ศิลปินชาวญี่ปุ่น ที่รังสรรค์ขึ้นสื่อถึงความสำคัญของอาคารหลังนี้ ที่ผู้เข้าชมสามารถทดลองพูดในลำโพงสีเงิน และให้เพื่อนฟังเสียงที่ออกมาในลำโพงสีทองได้

มองเลยไปทางด้านหลังอาคารนี้ จะเห็น เสาสัญญาณวิทยุโทรเลขของเดิม ที่นำมาแสดงให้ได้เห็นกันบางส่วน เพราะเสาของจริงสูงถึง 60 เมตร ไม่สามารถจัดแสดงได้ทั้งหมด ให้คนรุ่นเราและรุ่นหลังพอจะเห็นภาพว่าหน้าตาเสาแบบนี้แหละ ที่ช่วยกระจายคลื่นวิทยุ ทำให้คนทั่วประเทศรับส่งโทรเลขกันได้ เรือประมงทั่วท้องทะเลไทย สามารถรับฟังการพยากรณ์อากาศ น้ำขึ้น น้ำลง เตือนภัยพายุกันได้สะดวกเมื่อสมัยร้อยกว่าปีที่ผ่านมา

 

นิทรรศการภายในอาคาร

ภายในอาคาร แบ่งการจัดแสดงนิทรรศการถาวรเป็น 4 โซน ที่ให้ภาพรวมของกิจการวิทยุโทรเลข การขุดค้นทางโบราณคดี และชีวิตคนในสมัยนั้นที่เกี่ยวข้องกับย่านศาลาแดง-วิทยุ  

โซนแรก เล่าเรื่องสถานีวิทยุโทรเลขศาลาแดงว่ามีความเป็นมาอย่างไร เป็นจุดเริ่มต้นของการสื่อสารไร้สายของประเทศและนำพาความทันสมัยมาสู่ย่านนี้ การใช้งานของสถานี ผู้เข้าชมสามารถลองเล่นส่งรหัสมอร์สและสแกนรับข้อความได้ทางโทรศัพท์มือถือ ชมฉนวนแก้วที่ขุดค้นพบบริเวณเสาสัญญาณเดิม 

โซนที่ 2 เป็นยุควิทยุกระจายเสียง หลังจากใช้รับส่งโทรเลขเป็นหลักในยุคแรก ต่อมาได้ทดลองส่งวิทยุกระจายเสียงผ่านสถานีแห่งนี้  นิทรรศการส่วนนี้เล่าถึงพัฒนาการของการกระจายเสียง บรรยากาศและอุปกรณ์ที่ข้อง ผู้ชมจะได้เห็นตัวอย่างบัตรรับส่งโทรเลข หน้าตาของวิทยุโบราณที่มีหลอดสุญญากาศ 8 หลอดที่เสียงดังฟังชัดและเป็นที่มาของคำว่าเสียง 8 หลอด รวมทั้งสามารถลองเปิดฟังเสียงวิทยุที่ออกอากาศในสมัยนั้นได้

ห้องจัดแสดงถัดไป น่าจะเป็นที่ชื่นชอบของสายถ่ายภาพ เพราะตลอดทั้งผนังมีการจัดแสดงสิ่งของที่ขุดค้นพบในพื้นที่โครงการระหว่างการขุดค้น และมีการจัดแสงไว้สวยงามน่าดูมาก ถ่ายภาพก็สวย ของที่จัดแสดงมีมากมายเช่น ถ้วยกระเบื้อง ขวดแก้ว ขวดซอส ขวดเครื่องสำอาง ซึ่งแม้ไม่ได้เป็นของที่พบในสถานีเดิม แต่พบในชั้นดินที่มีการถมทับอยู่ แต่ก็สามารถสะท้อนวิถีชีวิตของคนในยุคนั้นได้  รวมทั้งยังเจอกระเป๋านักเรียนนายร้อยตำรวจ ที่บ่งบอกชัดเจนว่าบริเวณนี้เคยเป็นโรงเรียนเตรียมทหารมาก่อนอีกด้วย  บนพื้นมีการเจาะพื้นใส่กระจกใส ให้มองลอดลงไปเห็นโครงสร้างฐานรากอาคารบางส่วน

และผนังอีกด้าน จัดแสดงโมเดลของอาคาร รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับอาคารนี้  และถ้าอยากเห็นฐานรากเดิมอย่างเต็มตา ให้เดินต่อไปทางหลังอาคาร ที่สถาปนิกออกแบบไว้น่าชม โดยเปิดชั้นใต้ดินโล่งให้มองเห็นโครงสร้างของอาคารโบราณของจริงที่ถูกขุดค้น และตัดบางส่วนมาจัดแสดงไว้ได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ

และโซนสุดท้าย เป็นโซนที่เล่าเรื่องราวย่านวิทยุ – พระรามที่ 4 อดีต – ปัจจุบัน – อนาคต แสดงเรื่องราวพัฒนาการของย่านตั้งแต่ยุคทุ่งศาลาแดง จากทุ่งนาข้าวและได้ถูกพัฒนามาเป็นย่านธุรกิจสำคัญ มีความทันสมัย ตั้งแต่ นวัตกรรม สถาปัตยกรรม วิธีคิดและวิถีชีวิตของผู้คน ไปจนถึงศักยภาพในอนาคตของย่าน รวมทั้งอนาคตของย่านนี้ แนวคิดการพัฒนาเมือง สถานที่น่าสนใจในย่าน และความทรงจำของผู้คนที่มีต่อย่านนี้

ตรงกลางของโซนนี้ จัดแสดงปิ่นโตเซรามิก PintONE ผลงานของ วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ เจ้าของรางวัลศิลปาธร สาขาศิลปะการออกแบบ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากชิ้นส่วนของไหน้ำปลาและเศษกระเบื้องที่ขุดพบในพื้นที่  และศิลปินได้ใช้จินตนาการมาสานต่อจนเป็นงานศิลปะชิ้นนี้  ที่สื่อถึงการแบ่งปัน การร่วมแรงร่วมใจ และความสุขจากการทำกิจกรรมร่วมกัน  

และผลงานอีกชิ้นหนึ่งคือ Greeting of Times โดย นักรบ มูลมานัส ที่นำภาพผู้คน สิ่งของ สถาปัตยกรรม และกิจกรรมต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นในย่านวิทยุ-พระรามที่ 4 มาเรียบเรียงขึ้นใหม่ด้วยเทคนิคการตัดแปะหรือคอลลาจลงบนแม่พิมพ์ทองแดงโลหะที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการสื่อสารด้วยวิทยุโทรเลข

 

ต่างมุมมอง เป้าหมายเดียว

การพัฒนา เดอะ ไวร์เลส เฮาส์ วัน แบงค็อก ถือได้ว่าเป็นตัวอย่างของการอนุรักษ์ในพื้นที่ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมนัชญา วาจก์วิศุทธิ์ สถาปนิกชำนาญการพิเศษ สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร กล่าวว่า การอนุรักษ์กับการพัฒนาต้องควบคู่กันไปจึงจะเกิดประโยชน์  สำหรับโครงการอนุรักษ์อาคารสถานีวิทยุโทรเลขศาลาแดงนี้ แม้จะต้องมีการย้ายที่อาคารที่ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน แต่ได้มีการปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่และนำมาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ในเชิงอนุรักษ์มากขึ้น   

ในมุมมองของสถาปนิกอนุรักษ์อย่าง วทัญญู เทพหัตถี ผู้อยู่กับโครงการนี้มาเกือบ 8 ปี กล่าวว่า เดอะ ไวร์เลส เฮาส์ วัน แบงค็อก เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของโครงการอนุรักษ์ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างผู้พัฒนาโครงการวัน แบงค็อก กรมศิลปากร สถาปนิกอนุรักษ์ นักโบราณคดี และอีกหลายฝ่าย ที่ช่วยกันนำเรื่องราวแต่ละส่วนมาปะติดปะต่อกัน แล้วต่อยอดให้กลายเป็นสถานที่ที่อนุรักษ์อดีต สอดคล้องกับปัจจุบัน สื่อถึงการพัฒนาในอนาคตได้ด้วย และโครงการนี้จะเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับโครงการในอนาคตที่จะมีทั้งการอนุรักษ์และการพัฒนาอย่างเข้มข้นต่อไป

นันทกานต์ ทองวานิช ภัณฑารักษ์ ฝ่ายศิลปะและวัฒนธรรม โครงการวัน แบงค็อก กล่าวว่า “โครงการนี้ทำให้เรารู้ว่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ และงานโบราณคดี สามารถต่อยอดไปได้มากมายเกินกว่าในเชิงวิชาการ  เดอะ ไวร์เลส เฮาส์ วัน แบงค็อก ทำให้เรานำประวัติศาสตร์มาใกล้ชิดกับชีวิตประจำวันของคนได้มากขึ้น คนที่มาทำงานมาเดินในโครงการ มาใช้ชีวิตในที่นี้ในชีวิตประจำวัน สามารถเข้ามาสัมผัสกับประวัติศาสตร์ได้ ไม่จำเป็นต้องไปพิพิธภัณฑ์เท่านั้น”

เดอะ ไวร์เลส เฮาส์ วัน แบงค็อก จึงเป็นจุดหมายใหม่ของย่านที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนได้สนุกกับการเรียนรู้อดีต ใช้ประโยชน์ในปัจจุบัน และมองเห็นศักยภาพในอนาคตได้สบายๆ 

สำหรับ เดอะ ไวร์เลส เฮาส์ วัน แบงค็อก (The Wireless House One Bangkok) เปิดให้บริการทุกวัน ไม่มีค่าเข้าชม ตั้งแต่เวลา 10.00 น. – 20.00 น.

 

 

ABOUT THE AUTHOR
Ohnabelle

Ohnabelle

Work hard, Eat harder ศิษย์เก่าออสเตรเลียแต่วนเวียนกับเรื่องสวิตเซอร์แลนด์

ALL POSTS