ANGO โคมไฟสุดคราฟต์ที่ไม่ใช่แค่แสงสวยๆ แต่ยังเป็นแสงแห่งความหวัง
หากพูดถึงแบรนด์โคมไฟแฮนด์คราฟต์ระดับพรีเมียม คนไทยอาจจะไม่รู้จัก ANGO มากนัก ยกเว้นมัณฑนากร (Interior Designer) ที่มักจะไปเดินดูคอลเลกชั่นใหม่ๆ ในงานแฟร์ระดับนานาชาติ เพราะส่วนใหญ่เป็นลูกค้าต่างประเทศ ทั้งโรงแรม รีสอร์ท วิลล่า ภัตตาคาร สำนักงาน รวมถึงบ้านส่วนตัว
จุดเริ่มต้นของ ANGO แองกัส ฮัทชิสัน ดีไซเนอร์ชาวอังกฤษ ตัดสินใจย้ายมาอยู่เมืองไทย หลังจากแต่งงานกับนักสร้างสรรค์แบรนด์โฆษณา 'คณพร' เมื่อราว 20 ปีก่อน แต่ด้วยความหลงรักในวัสดุธรรมชาติและงานฝีมือของคนไทย อีกทั้งมีความสุนทรีกับแสงไฟอย่างมาก ทำให้แองกัส ริเริ่มออกแบบและผลิตโคมไฟที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
แอน-คณพร เล่าว่า ตอนแรก แองกัสทำโคมไฟเป็นงานอดิเรกที่เกิดจากความรักของตัวเอง จนกลายมาเป็นธุรกิจครอบครัว แต่ก็ไม่ได้ทำการตลาดอะไร ส่วนมากจะใช้วิธีออกบูธในต่างประเทศ และมีจัดร้านค้าชั่วคราว (Pop-up Store) ในกรุงเทพฯ บ้าง เพราะโคมไฟแองโกขายได้ด้วยตัวมันเอง ลูกค้าที่เข้ามาดูรายละเอียดสินค้าบนเว็บไซต์ angoworld.com ก็จะติดต่อสั่งซื้อเข้ามา
แต่ด้วยประสบการณ์ในวงการโฆษณามากว่า 25 ปี โดยปัจจุบัน เป็นประธาน บริษัท GREYnJ UNITED ทำให้แอน คิดว่า น่าจะสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักได้มากกว่านี้ และทำตลาดในประเทศด้วย แอนจึงเข้ามาช่วยธุรกิจของสามี เพื่อทำให้คนเห็นคุณค่าและไอเดียการออกแบบโคมไฟแองโก
แองโก นิยามตัวเองว่าเป็น Sculptural Handcrafted Lighting (โคมไฟศิลปะหัตถกรรม) หมายถึง โคมไฟที่มีความงานศิลปะ ออกแบบรูปทรงเหมือนงาน Sculpture ที่มีแสงสว่างแบบโคมไฟ และมีฟังก์ชั่นการใช้งานที่ใช้งานได้จริง ซึ่งมีทั้งแบบโคมไฟเพดาน โคมไฟตั้งพื้น และโคมไฟตั้งโต๊ะ
ในความรู้สึกของแองกัสแล้ว โคมไฟเป็นมากกว่าเฟอร์นิเจอร์ เพราะเขาต้องหาวัสดุที่ใช่ และต้องดูว่า เมื่อแสงผ่านวัสดุนั้นออกมาแล้วจะให้ความสวยงามหรือเปล่า และแสงเป็นอย่างไร ฉะนั้นจะสังเกตได้ว่า งานดีไซน์ของแองโกจะใช้วัสดุธรรมชาติ เริ่มจากรังไหม เยื่อสา หวายเส้นเล็ก ทำให้ได้แสงที่ไม่แสบตา เป็นแสงที่นุ่มนวล ละมุนละไม ให้ความอบอุ่นกับพื้นที่ นอกจากนี้ ยังใช้วัสดุคอมโพสิต ลวดเชื่อมลายเมทริก ลวดเชื่อมกับดิ้นเงินถักสไตล์โครเชต์ และรีไซเคิลพลาสติกจาก SCGP ด้วย
ทำไมถึงเป็น Light of Hope
แอนได้เข้าร่วมฝึกอบรมในโครงการ พอแล้วดี The Creator รุ่นที่ 9 เพราะนอกจากจะรู้จักกับ หนุ่ย- ดร.ศิริกุล เลขะกุล ผู้อำนวยการโครงการพอแล้วดี The Creator แล้ว ยังสนใจแนวคิดการดำเนินธุรกิจตามศาสตร์พระราชาด้วย
แอน บอกว่า การอบรมทำให้รู้จักตัวตนของเรา รู้ว่าอะไรเป็นจุดเด่นของเราที่แท้จริง ไม่ต้องวิ่งตามกระแส และได้หลักคิดแบบมีเหตุมีผล จนทำให้เราค้นพบคอนเซ็ปต์ Light of Hope กลายเป็นแสงไฟแห่งความหวังและโอกาส เพราะการที่เราสร้างสรรค์โคมไฟให้เกิดเป็นงาน Art Sculpture แต่ละชิ้น เราได้ทำงานร่วมกับน้องๆ ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ และช่างฝีมือในชุมชน ซึ่งทุกคนให้ความสำคัญกับการเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาธรรมชาติอย่างยั่งยืน ทำให้เราเห็นว่า วัสดุธรรมชาติที่เราใช้ เทคนิค handcraft ที่เราทำ สามารถที่จะไปช่วยใครต่อได้ เป็นแรงบันดาลใจให้เราสร้างคุณค่าที่เป็นมากกว่าโคมไฟ
นอกจากรู้จักตัวเองแล้ว แอนยังได้หลักคิดเรื่องการมีภูมิคุ้มกัน หากเราทำให้แบรนด์มีคนรัก ก็จะทำให้เรามีคุณค่ามากกว่าการเป็นบริษัทดีไซน์ คนที่ซื้อโคมไฟแองโกไป ก็ไม่ได้แค่ความสวยงาม หากแต่ส่งต่อโอกาสให้กับชุมชนด้วย
สนใจชมผลงานเพิ่มเติมได้ที่: เว็บไซต์: www.angoworld.com อีเมล: contact@angoworld.com