กางแผน สวทช. ทำอย่างไรให้คนไทยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น
เมื่อประเทศต้องเผชิญกับความท้าทายของโลกที่หลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยีป่วนโลก (Disruptive Technology) ที่ยังคงพัฒนาไปอย่างรวดเร็วและสร้างผลกระทบมากมายในทุกด้าน การใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science and Technology: S&T) จึงเป็นโจทย์ใหญ่ในการปรับโครงสร้างประเทศไปสู่ยุค 4.0 และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน
เรามาดูกันว่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานในกำกับของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีการวางกลยุทธ์อย่างไรในการยกระดับงานวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และดำเนินชีวิตของผู้คน
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. บอกว่า ในปีงบประมาณ 2568 สวทช. ตั้งเป้าหมายว่า จะมีผู้ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการต่างๆ มากกว่า 7 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 5 ล้านคนในปีที่แล้ว และมีหน่วยงานนำเทคโนโลยีไปใช้ไม่น้อยกว่า 20,000 หน่วยงาน โดยวางกลยุทธ์การดำเนินงานผ่าน 5 ด้านหลัก คือ
- เพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ โดยเน้นการสร้างความยั่งยืนของประเทศด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (S&T Implementation for Sustainable Thailand)
- เสริมสร้างคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่
- ส่งเสริมการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานของ สวทช. ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย และ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation) หรือ EECi เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ภาคอุตสาหกรรมและเสริมศักยภาพของธุรกิจ
- การเตรียมความพร้อมความเข้มแข็ง โดยพัฒนาความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีฐานด้านที่สำคัญของประเทศ
- การสร้างบุคลากรด้านการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม เพื่อปรับตัวได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง
เร่งเครื่องขยายผล 12 โครงการ
ภายใต้โครงการ S&T Implementation for Sustainable Thailand สวทช. มุ่งผลักดันการวิจัยและพัฒนาใน 12 โครงการเป้าหมายหลัก หรือที่เรียกว่า battles ได้แก่ นวัตกรรมการผลิตสารสกัดมูลค่าสูง (นำร่องด้วยกระชายดำ, บัวบก, กะเพรา), แพลตฟอร์มอาหารฟังก์ชั่นและส่วนผสมฟังก์ชั่น (FoodSERP), ทุ่งกุลาม่วนซื่น, แพลตฟอร์มบริหารจัดการเมือง (Traffy Fondue), แพลตฟอร์มผู้พิการและผู้สูงอายุ, ตัวชี้วัดและฐานข้อมูล Co2, CE, SDGs, อุตสาหกรรม 4.0 และอุตสาหกรรมสีเขียว, บริการการแพทย์ดิจิทัล, ชุดตรวจโรคไตและเบาหวาน, วัคซีนสัตว์, ระบบนิเวศปัญญาประดิษฐ์ (National AI Ecosystem), และ ยานพาหนะไฟฟ้า (EV) ซึ่งมีบทบาทสำคัญทั้งในมิติสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ การพึ่งพาตนเอง การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และสร้างความยั่งยืนของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ สวทช. ยังได้ทำการวิจัยและพัฒนาโครงการใหม่ (Pre-battles) ที่จะยกระดับเป็นโครงการหลักในอนาคต ได้แก่ พืชผักสมุนไพรเกษตรอัจฉริยะ, ธนาคารอาหาร, BCG-area based 5 จังหวัดนำร่อง, Thai School lunch, ยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์พลาสติก, พลังงานสะอาด, Inno-agro industry, การพัฒนาเทคโนโลยี Carbon capture and utilization (CCU, การพัฒนาสารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรม, นวัตกรรมเพื่อการศึกษา, เครื่องมือแพทย์ฝังในสำหรับรักษาโรคกระดูกและข้อ, และการบริการการแพทย์แบบแม่นยำ
ดร.ชูกิจ ให้ความสำคัญเรื่องการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก และบอกว่าปัญหาใหญ่คือ ความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงครูที่มีคุณภาพ เนื่องจากครูเก่งๆ ด้าน S&T ไม่เพียงพอและส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ๆ ซึ่งการเรียนการสอนระบบออนไลน์ หรือให้เด็กดูคลิปวิดีโอบนยูทูป ไม่ใช่คำตอบ ขณะที่ครูก็ตรวจได้แค่ว่า เด็กคนไหนได้คะแนบสอบดีหรือไม่ดี แต่เทคโนโลยีดิจิทัลสามารถแก้ปัญหาตรงนี้ได้
ขณะนี้ นักวิจัย สวทช. กำลังพัฒนาแพลตฟอร์มโดยใช้ AI มาช่วยให้เด็กมีโอกาสเจอครูเก่งๆ ขณะเดียวกัน AI ก็สามารถวิเคราะห์ผลการเรียนของเด็กแต่ละคนได้ชัดเจนว่าไม่รู้เรื่องหรือไม่เข้าใจเรื่องอะไร เพราะเด็กจะมีจุดอ่อนไม่เหมือนกัน ซึ่งจะทำให้ครูเสริมความรู้ให้เด็กได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
สวทช. คาดว่า จะสามารถพัฒนานวัตกรรมเพื่อการศึกษาให้ใช้งานได้จริงในอนาคตอันใกล้ ซึ่งจะนำไปใช้ในการเรียนการสอนได้ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา ไปจนถึงมหาวิทยาลัย
อุตสาหกรรม 4.0 ก้าวหน้าไปถึงไหน
ภาครัฐผลักดันการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 มาเกือบทศวรรษแล้ว เพราะมีผลกระทบอย่างยิ่งต่อขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่จนถึงปัจจุบัน การใช้ระบบอัตโนมัติในสายการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมไทยส่วนใหญ่ยังอยู่ที่ระดับ 2.5 โดยเฉพาะเอสเอ็มอี หมายความว่า ยังมีการใช้แรงงานคนอยู่ในสัดส่วนที่สูง แต่การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และโรบอทยังอยู่ในระดับต่ำ
ดร. รวีภัทร์ ผุดผ่อง ผู้อำนวยการ กลุ่มแพลตฟอร์มสนับสนุนอุตสาหกรรม 4.0 สวทช. เล่าว่า ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนไปสู่ 4.0 ก็คือ ต้องทำให้ผู้ประกอบการมีแนวทางว่าจะเริ่มต้นอย่างไร และมองเห็นความคุ้มค่าการลงทุน ซึ่ง สวทช. ได้ร่วมกับพันธมิตรหลายหน่วยงานเพื่อเร่งขับเคลื่อนการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและยกระดับอุตสาหกรรมของไทย
เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการปรับตัวได้เร็วขึ้น สวทช. ได้วางแนวทางบันได้ 4 ขั้น ภายใต้ Industry 4.0 Platform โดยเริ่มขั้นแรกจากการประเมินสุขภาพโรงงานอุตสาหกรรมด้วยตนเองผ่านระบบ Thailand i4.0 CheckUp ซึ่งเดิมเป็นการประเมินด้วยผู้เชี่ยวชาญ ทำให้มีข้อจำกัดไม่สามารถขยายสเกลได้มาก แต่เดี๋ยวนี้ ผู้ประกอบการสามารถประเมินระดับความพร้อมขององค์กรในการก้าวสู่การผลิตยุคดิจิทัลเบื้องต้นด้วยตนเอง จากแบบประเมิน 'Thailand i4.0 checkup online & interactive self-assessment' บนเว็บไซต์ของ สวทช. ซึ่งทำได้เองอย่างง่ายๆ ใช้เวลาน้อย ถูกต้อง แม่นยำ ทำให้ผู้ประกอบการรู้แนวทางเบื้องต้นว่าต้องปรับปรุงอะไรในสายการผลิต และยังเปรียบเทียบตัวเองกับค่าเฉลี่ยของผู้นำในอุตสาหกรรมของตนเองได้ด้วยหลังเปิดตัว Thailand i4.0 CheckUp ไปเมื่อ 7 เดือนที่แล้ว มีโรงงานเข้ามาประเมินตนเอง 400 ราย ซึ่ง สวทช. ตั้งเป้าจะส่งเสริมให้โรงงานอุตสาหกรรมเข้ามาประเมินถึง 5,000 ราย ภายในปี 2571
ขั้นที่สอง จะเป็นการตรวจประเมินด้วยผู้เชี่ยวชาญ ซึ่ง สวทช. จะร่วมมือกับอาจารย์มหาวิทยาลัยเพื่อให้มีผู้เชี่ยวชาญประเมินโรงงานได้มากขึ้นและเร็วขึ้น
เมื่อประเมินอุตสาหกรรมของตนเองได้แล้วว่าจะต้องปรับปรุงพัฒนาอะไร ก็มาถึง ขั้นตอนที่สาม คือการวางแผนรักษา โดยผู้เชี่ยวชาญ สวทช. จะช่วยทำแผนการลงทุนและพัฒนาสายการผลิต มีการคำนวณ ROI (Return on Investment) มีการทำ feasibility study ให้ผู้ประกอบการตัดสินใจ ขณะเดียวกัน ก็สามารถไปยื่นขอรับสิทธิประโยชน์จากบีโอไอ หรือสินเชื่อจากธนาคาร
ส่วนขั้นตอนสุดท้าย เป็นการดำเนินการตามแผน ซึ่ง สวทช. มี Low-cost affordable platform สำหรับสนับสนุนเอสเอ็มอีด้วย เช่น การจัดการพลังงาน การวัดประสิทธิภาพการผลิต และการตรวจสุขภาพเครื่องจักรแบบเรียลไทม์ด้วยระบบเซ็นเซอร์
นอกจากนี้ สวทช. ยังมีผู้เชี่ยวชาญอีกหลายสาขาที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมให้สามารถนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการปรับปรุงการผลิต เช่น แพลตฟอร์มไอโอทีและระบบวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรม (Industrial IoT and Data Analytics Platform)โดย ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing Center: SMC) ที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลจากจากอุปกรณ์ IoT ตรวจจับสัญญาณต่าง ๆ จากเครื่องจักรในกระบวนการผลิต สู่การวิเคราะห์และบูรณาการข้อมูล ทำให้ทราบสถานภาพของเครื่องจักร นำไปสู่การบริหารจัดการการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพและอนุรักษ์พลังงาน และตอบสนองความจำเป็นเร่งด่วนต่อการปรับตัวของเอสเอ็มอีในภาคการผลิต
สร้างมาตรฐานกลางการประเมิน
ดร. รวีภัทร์ บอกว่า ตอนนี้ สวทช. ได้สร้างเครื่องมือในการประเมินสุขภาพโรงงานอุตสาหกรรมให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมดแล้ว โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมนำระบบ Thailand i4.0 Checkup ให้ผู้ประกอบการประเมินในการเข้าสู่หลักเกณฑ์อุตสาหกรรมสีเขียว GI3 (Green Industry) ขณะที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยก็มีแพลตฟอร์ม ID4 Connect (Online & Interactive Self-assessment) ซึ่งเป็นการประเมินระดับความพร้อมขององค์กรแบบออนไลน์ด้วยตนเองเพื่อเตรียมความพร้อมการยกระดับองค์กรสู่ 4.0 โดย สวทช. สร้างระบบหลังบ้าน หรือ API (Application Programming Interfaces) เชื่อมกัน
ขณะนี้ สวทช. กำลังจะเชื่อมโยงกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME Bank รวมถึงกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้ใช้แบบประเมินกลางนี้เป็นทางเข้าของข้อมูลเดียวกัน จากนั้น สวทช. ก็จะสามารถจับคู่โรงงานกับหน่วยงานที่ให้การส่งเสริมในเรื่องนั้นๆ ได้
ด้วยเครื่องมือประเมินที่เป็นมาตรฐานเดียวกันนี้ จะทำให้เรามองเห็นข้อมูลได้ชัดขึ้นว่า อุตสาหกรรมไทยตอนนี้มีการปรับปรุงพัฒนาการผลิตไปถึงขั้นไหน ซึ่งดาต้าเบสนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการวางนโยบายและมาตรการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 ได้ดียิ่นขึ้น