HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
พะยูนเกยตื้นตายเพิ่มขึ้นผิดปกติ เมื่อหญ้าทะเลตายจากวิกฤตโลกร้อน
by L. Patt
24 พ.ย. 2567, 15:10
  356 views

เกิดอะไรขึ้นกับพะยูน? ปีนี้ (ถึงวันที่ 10 เดือนธันวาคม) มีพะยูนตายแล้วถึง 42 ตัว และยังพบพะยูนในสภาพอ่อนแออีกหลายตัว ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งหาวิธีแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนเพื่อช่วยชีวิตพะยูนให้ได้มากที่สุด

หลายคนอาจยังจำเรื่องราวของ มาเรียม พะยูนน้อยเพศเมีย อายุประมาณ 6 เดือนที่พลัดหลงกับแม่และมาเกยตื้นที่อ่าวทึง จังหวัดกระบี่ เมื่อปี 2562 มาเรียมกลายเป็นขวัญใจชาวไทย แต่หลังจากนั้นไม่ถึง 4 เดือน น้องก็เสียชีวิตเพราะพลาสติกอุดตันในลำไส้ใหญ่

พะยูน

จากเคส "มาเรียม" ทำให้ทั้งภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ และชุมชน ตื่นตัวและให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์พะยูน หรือที่เรียกกันว่า "หมูน้ำ" มากขึ้น จากการสำรวจในปี 2565 โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พบว่าประชากรพะยูนในไทยมีประมาณ 278 ตัว ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามัน

นับแต่นั้นมา ทั้งภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ และชุมชน ก็ตื่นตัวหันมาใส่ใจการอนุรักษ์พะยูน หรือน้องหมูน้ำกันมากขึ้น จากการสำรวจประชากรพะยูนในปี 2565 โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พบว่ามีจำนวนประมาณ 273 ตัว ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามัน 

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และรองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกว่า ในอดีตพะยูนตายเฉลี่ยเดือนละ 1 ตัว แต่ปัจจุบัน เฉลี่ยเดือนละ 3.75 ตัว ถ้านับรวมปี 2566 ถึงปลายเดือนพฤศจิกายน 2567 ก็ตายไปแล้ว 77 ตัว ซึ่งถือว่าผิดปกติอย่างมาก สาเหตุหลักก็มาจากโลกร้อนที่ทำให้เปลี่ยนแปลงปัจจัยสิ่งแวดล้อมหลายประการ ทำให้หญ้าทะเลที่เป็นอาหารหลักลดลงจนวิกฤต อีกทั้งกิจกรรมของมนุษย์ในบางพื้นที่ เช่น ขุดลอกร่องน้ำ การสัญจรทางน้ำ และการทำประมง นอกจากนี้ ยังมีภัยคุกคามอื่นๆ จากมนุษย์ ที่ชั่วร้ายสุดคือ การล่าเอาเขี้ยว (ต้องเร่งสืบสวนจับกุม โดยมีการโพสต์ขายในโซเชียลกันอย่างเปิดเผย)

วิกฤตหญ้าทะเลตายยังคงรุนแรง พื้นที่หญ้าทะเลที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง เช่น ในทะเลตรัง กระบี่ สตูล และเริ่มกระทบพื้นที่ภูเก็ตและอ่าวพังงา กำลังสร้างผลกระทบโดยตรงต่อพะยูน ตัวโตเต็มวัยต้องการหญ้าทะเล 30-40 กก.ต่อวัน หรือเฉลี่ย 13-16 ไร่ต่อพะยูนหนึ่งตัว ซึ่งพื้นที่หญ้าทะเลที่ปกคลุมอย่างน้อย 60% นั้นแทบไม่มีเหลือ

เมื่อหญ้าทะเลในบางพื้นที่หมดลง พะยูนจึงต้องเคลื่อนย้ายไปหากินในพื้นที่อื่น เช่น ภูเก็ตและอ่าวพังงา แต่ปัญหาคือ บางพื้นที่เริ่มมีหญ้าทะเลเสื่อมโทรมเช่นกัน ทำให้พะยูนต้องแย่งอาหารกัน ส่งผลให้ตัวที่อ่อนแอขาดอาหารจนป่วยหรือตาย

ปัญหาเร่งด่วนที่ต้องจัดการ

เมื่อเร็วๆ นี้ อ.ธรณ์ ได้ไปปรึกษากับอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อหาทางช่วยพะยูนที่กำลังเผชิญกับแก้วิกฤตหญ้าทะเลที่รุนแรงมากขึ้น โดยจะดำเนินการใน 3 แนวทาง คือ การทดลองให้อาหารชนิดอื่น เพราะพะยูนไม่ได้กินหญ้าทะเลอย่างเดียว ยังกินสาหร่ายบ้าง พะยูนในที่เลี้ยง เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ก็กินผักบางชนิดเป็นอาหารเสริม ที่สำคัญ เราให้หญ้าทะเลอย่างเดียวไม่ได้ เพราะไม่รู้จะไปหาจากไหนให้เพียงพอกับความต้องการในเวลาอันสั้นนี้ 

ตอนนี้มีพืชผักบางชนิดที่ให้สารอาหารและไม่น่าส่งผลกระทบ โดยจะลองให้ผัก 4 ชนิด เช่น สาหร่ายผมนาง หญ้าด่าง และผักกวางตุ้ง ซึ่งกรมทะเลจะทดลองทำแปลงลอยน้ำในบริเวณที่พะยูนเข้ามาหากิน  เช่น ที่สะพานราไวย์ ภูเก็ต และเกาะลิบง ตรัง ซึ่งที่มีพะยูนเข้ามากินหญ้าทะเลไปจนเกือบหมดแล้ว นอกจากนี้ กรมประมงได้ร่วมกับกรมทะเลศึกษาหญ้าทะเลตะกานน้ำเค็ม เพื่อเป็นอาหารพะยูน ซึ่งหญ้าทะเลชนิดนี้ เกือบทั้งหมดพบในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โตเร็ว ทนความเค็มได้ดี แต่ต้องอยู่น้ำนิ่ง จึงพบในธรรมชาติเพียงบางที่ เช่น อ่าวปัตตานี 

ทางที่สอง กรมทะเลกำลังขอความร่วมมือจากอาสาสมัครเพื่อสำรวจแหล่งหญ้าที่เหลือโดยด่วน และทางที่สาม สำรวจพะยูนว่าตัวไหนอยู่สภาพย่ำแย่ ก็อาจต้องนำมาเลี้ยงในที่ปิด ซึ่งคณะประมงอาจนำวิธีที่เคยทดลองทำกระชังยักษ์เลี้ยงปลามาใช้ในการฟื้นฟูพะยูนได้

อ.ธรณ์ บอกว่า ทุกทางเป็นกรณีฉุกเฉิน โดยเฉพาะการให้อาหารเสริมในธรรมชาติกับแนวคิดการเลี้ยงในกระชัง มันยากแน่นอนเพราะเราไม่เคยลองมาก่อน และไม่มีอะไรที่รับประกันว่าจะสำเร็จ อย่าลืมว่า สถานการณ์ที่เป็นแบบนี้เพราะโลกร้อน เมื่อเราแก้ที่ต้นเหตุไม่ได้ ก็ต้องด้วยวิธีอื่น

ส่วนในระยะยาว กรมประมงกำลังพยายามพัฒนาการเพาะเลี้ยงหญ้าทะเลให้ได้มากขึ้น และสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแรง ซึ่งได้นำไปทดลองปลูกในพื้นที่ทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทย  

ABOUT THE AUTHOR
L. Patt

L. Patt

ALL POSTS