HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
โซลูชั่นเปลี่ยนเกมวงการแฟชั่นด้วยขยะรีไซเคิล
by L. Patt
15 ต.ค. 2567, 14:54
  832 views

ฝันร้ายสายแฟ (ชั่น) เมื่ออุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึง 10% ของการปล่อยคาร์บอนทั้งหมดในแต่ละปี มากกว่าอุตสาหกรรมการบินและการขนส่งทางเรือรวมกัน

นับจากนี้ไป เราจะเห็นเสื้อผ้า เครื่องแต่งกายที่รีไซเคิลมาจากขยะหลายประเภทมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทำให้ได้คุณภาพดีเหมือนกับของใหม่ อีกทั้งยังถูกกดดันจากกฎกติกาสากลที่จะทยอยกันออกมาบังคับใช้ โดยเฉพาะสหภาพยุโรป หรืออียู รวมทั้งเทรนด์ผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้นด้วย

หลายคนอาจไม่รู้ว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั่วโลกเป็นตัววายร้ายที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึง 10% ของการปล่อยคาร์บอนทั้งหมดในแต่ละปี ซึ่งมากกว่าอุตสาหกรรมการบินและการขนส่งทางเรือรวมกันเสียอีก และที่น่าตกใจคือ มีแค่ 1% ของขยะสิ่งทอจำนวน 92 ล้านตันต่อปี ทั้งวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิตและเสื้อผ้าใช้แล้วที่ถูกนำมารีไซเคิล นอกนั้นไปจบที่หลุมฝังกลบขยะหรือเผาทำลาย ส่วนประเทศไทยมีปริมาณขยะเสื้อผ้าประมาณ 300,000 ตันต่อปี โดยมีการรีไซเคิลเพียง 24% ฉะนั้น ระบบสิ่งทอหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ หรือ Circular textile จึงถูกพูดกันอย่างมากในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา

ภายในงาน SX2024 ที่ผ่านมา เรามีโอกาสได้ไปชมบูธของ บีเอเอสเอฟ (BASF) ซึ่งเป็นผู้ผลิตเคมีชั้นนำระดับโลกจากประเทศเยอรมนี ที่นำนวัตกรรมความยั่งยืนมาโชว์ผ่านผลิตภัณฑ์ที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ตื่นจนถึงเข้านอน และยังได้ความรู้จาก สิริชัย พิริยะศิริพันธ์ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายธุรกิจโมโนเมอร์ บริษัท บีเอเอสเอฟ (ไทย) จำกัด ที่มาเล่าให้ฟังใน หัวข้อ "From Waste to Wear: a breakthrough for sustainability fashion with recycling textile waste" ซึ่งทำให้เราเห็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งจะพลิกโฉมวงการแฟชั่นทั่วโลกจากแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน

สิริชัย พิริยะศิริพันธ์ บอกว่า “เทรนด์ในปี 2030 การใช้เส้นใยสังเคราะห์ (Synthetic fibers) จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 ใน 3 ของปริมาณการใช้ทั้งหมด โดย 85% เป็นเส้นใยโพลิเอสเตอร์ เพราะคุณสมบัติการใช้งานจะมีความเบาบาง ทำเฉดสีได้ง่าย และเพิ่มคุณบัติของความแข็งแรงได้ง่ายกว่า เมื่อเทียบกับเส้นใยธรรมชาติ แต่ข้อวิตกก็คือ ปัจจุบันมีไมโครไฟเบอร์ที่เกิดจากกระบวนการซักล้างของการผลิตสิ่งทอมากถึง 5 แสนตันต่อปี ที่ถูกปล่อยลงทะเล ดังนั้น ความพยายามในการนำขยะสิ่งทอหมุนเวียนกลับเข้ามาในกระบวนการผลิต (Circular Textile) จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มยังใช้น้ำอย่างมหาศาล โดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 170,000 ล้านลูกบาศก์เมตรภายในปี 2025 ซึ่ง 20% ของมลพิษทางน้ำมาจากกระบวนการผลิตสิ่งทอ ไม่ว่าจะเป็นซักล้างและย้อมสี ยกตัวอย่าง การผลิตกางเกงยีนส์ 1 ตัว จะต้องใช้น้ำมากถึง 7,500 ลิตร สำหรับประเทศไทย จากรายงานของสถาบันสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พบว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอในไทยใช้น้ำถึง 145 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และปล่อยน้ำเสียออกสู่แหล่งน้ำธรรมชาติประมาณ 64 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งมีสารเคมีต่างๆ ปนเปื้อนอยู่ด้วย”

บริบทใหม่ของอนาคตแฟชั่น

นับเป็นข่าวดีที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ล้ำหน้าไปอย่างมาก ซึ่งจะเห็นได้จากการนำเสนอในงานแสดงสินค้าระดับโลกเกี่ยวกับอุตสาหกรรมสิ่งทอ "Techtextil 2024: Shaping the future of the textile industry with sustainable solutions" เมื่อเดือนเมษายน 2024 ที่เมืองแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี ซึ่งจะช่วยผลักดันการเปลี่ยนแปลงในวงการสิ่งทอและแฟชั่นไปสู่ความยั่นยืนได้มากขึ้น

สิริชัย พิริยะศิริพันธ์ เล่าว่า “บีเอเอสเอฟ มีหลายโซลูชั่นเพื่อความยั่งยืน และที่ถือเป็นไฮไลต์สำคัญก็คือ นวัตกรรม Loopamid (Designed for circular fashion) ด้วยการรีไซเคิลจากขยะสิ่งทอ 100% หรือ Textile-to-textile recycling ซึ่งเป็นรายแรกของโลกที่ทำให้สามารถนำขยะสิ่งทอกลับมาทำเป็นเสื้อผ้าใหม่อีกครั้ง ด้วยกระบวนการทางเคมีเพื่อผลิตเม็ด Polyamide 6 (ที่เรียกกันทั่วไปว่า ไนลอน) ใหม่ขึ้นมา โดยยังคงคุณสมบัติและคุณภาพได้เหมือนเดิม นับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของบีเอเอสเอฟในการหมุนเวียนไนลอนกลับมาใช้งานได้ใหม่สำหรับอุตสาหกรรมแฟชั่น” 

บีเอเอสเอฟเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำ สิ่งที่ทำได้คือ พยายามร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งห่วงโซ่คุณค่า (Textile Value Chain) เพื่อทำโปรเจ็กต์ต่างๆ ตั้งแต่ผู้ขายวัตถุดิบ ผู้ผลิตเคมี ไฟเบอร์/เส้นใย ผ้า, สิ่งทอ เจ้าของแบรนด์แฟชั่น ไปจนถึงผู้บริโภค

Loopamid x ZARA

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา บีเอเอสเอฟ ร่วมกับ บริษัท Indetex จากสเปน หนึ่งในแบรนด์แฟชั่นรายใหญ่ที่สุดในโลก อาทิ Zara, Pull&Bear และ Massimo Dutti ได้เปิดตัวคอลเลกชั่นแรก "Loopamid x ZARA" ซึ่งเป็นแคปซูลแจ็กเก็ตที่ทำจากขยะสิ่งทอ 100% ไม่ว่าจะเป็นผ้า ด้าย ซิป ตัวบุข้างใน กระดุม หรือแม้แต่ป้ายชื่อ และได้ขายหมดเกลี้ยงไปแล้ว โดย Zara ยังคงจะผลิตคอลเลกชั่นใหม่ๆ ออกมาอีกในอนาคต ขณะที่บีเอเอสเอฟก็มีแผนการนำโซลูชั่น Loopamid มาร่วมกับแบรนด์แฟชั่นในเอเชียด้วย ซึ่ง loopamid จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้ถึง 70% เมื่อเทียบกับการผลิตที่ใช้พลังงานฟอสซิล

นอกจากรีไซเคิลจากขยะสิ่งทอแล้ว บีเอเอสเอฟยังมีโซลูชั่น Ultramid Ccycled ที่ผลิตไนลอนจากการรีไซเคิลยางรถยนต์เก่า โดยบีเอเอสเอฟ ได้ร่วมกับ โวเด แบรนด์แฟชั่นเอาท์ดอร์จากเยอรมนี ออกคอลเลกชั่นกางเกงสำหรับกีฬากลางแจ้ง และร่วมกับ Pingponq แบรนด์อิตาลี ผลิตกระเป๋าจากยางรถยนต์เก่า ซึ่งนวัตกรรมนี้จะเป็นอีกแนวทางในการลดขยะยางรถยนต์ที่มีมากกว่า 1,000 ล้านชิ้นทั่วโลก

คัดแยกขยะสิ่งทอไม่ใช่เรื่องง่าย

ก่อนจะเอาขยะกลับมารีไซเคิลก็ต้องมีการคัดแยก แต่บางทีก็แยกไม่ออกระหว่างคอตตอนกับโพลีเอสเตอร์ เพราะมีเทคโนโลยีที่ทำให้เนื้อผ้าใกล้เคียงกับพวกเส้นใยสังเคราะห์เยอะขึ้น เสื้อบางตัวอาจจะมีส่วนผสมทั้งไนลอน โพลีเอสเตอร์ หรือสแปนเด็กซ์ ดังนั้น การคัดแยกด้วยมือจึงเป็นเรื่องที่ยากมาก 

สิริชัย พิริยะศิริพันธ์ บอกว่า “บีเอเอสเอฟได้ร่วมกับสตาร์ทอัพปลดล็อกปัญหาด้วยการพัฒนาโซลูชั่น TrinamiX Mobile NIR Spectroscopy ที่สามารถระบุความแตกต่างของสิ่งทอได้มากกว่า 15 ชนิด ทำให้การคัดแยกมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว อีกทั้งยังสามารถพกพาไปตรวจสอบได้ที่หน้างานแทนการส่งมาทดสอบในแล็บ โดยข้อมูลจะเชื่อมโยงกับแอปพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟน และแท็ปเล็ต ซึ่งการคัดแยกขยะที่ชัดเจนจะทำให้คุณภาพสิ่งทอรีไซเคิลมีคุณภาพที่ดีขึ้น”

เมื่อกลางปีที่แล้ว โบเออร์ กรุ๊ป (Boer Group) ซึ่งเป็นองค์กรนานาชาติที่ดำเนินการเรื่องรีไซเคิลสิ่งทอ ได้ร่วมมือกับบีเอเอสเอฟ นำ TrinamiX Mobile NIR Spectroscopy ไปใช้ในการคัดแยกขยะสิ่งทอที่ศูนย์คัดแยกในเนเธอร์แลนด์ โดยโบเออร์มีการจัดเก็บขยะมากกว่า 400,000 กิโลกกรัมต่อวันในกว่า 100 ประเทศ

ปัจจุบัน บีเอเอสเอฟ ร่วมกับหลายองค์กรและสถาบันในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย เพื่อนำเครื่อง TrinamiX Mobile NIR Spectroscopy ไปเพิ่มประสิทธิภาพในการคัดแยกขยะสิ่งทอ และขยะพลาสติกทั่วๆ ไปด้วย

ABOUT THE AUTHOR
L. Patt

L. Patt

ALL POSTS