HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
"การปรับตัวก่อนคือโอกาสทอง" พันธุ์ธัมม์ ทองสังข์ เผยวิธีพาอุตสาหกรรมบันเทิงไทยสู่เวทีโลก
by บางกอกน้อย ๆ หน่อย
7 ต.ค. 2567, 13:23
  4,843 views

"ความรู้เก่าไม่พอแล้ว" พันธุ์ธัมม์ ทองสังข์ แชร์วิธีปรับตัวในยุคสตรีมมิ่งของผู้ผลิตหนัง ซีรีส์ ในคอร์สเจาะลึก

เมื่อพูดถึงนักสร้างสรรค์ในวงการภาพยนตร์และโทรทัศน์ไทยที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ  หนึ่งในชื่อที่โดดเด่นคือ "ปุ๊ก" พันธุ์ธัมม์ ทองสังข์ ผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ผู้มีผลงานมาหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์ชุด Sleepless Society, The Underclass หรือภาพยนตร์อย่าง “ไอ้ฟัก” และ “มะหมาสี่ขาครับ” ผลงานของเขาไม่เพียงเป็นที่ชื่นชอบในบ้านเรา แต่ยังสร้างชื่อในเวทีนานาชาติจากการร่วมงานในฐานะโคโปรดิวเซอร์ของภาพยนตร์เรื่อง “สัตว์ประหลาด” และ “แสงศตวรรษ” โดยผู้กำกับชื่อดัง อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

"ปุ๊ก" พันธุ์ธัมม์ ทองสังข์ ผู้กำกับและโปรดิวเซอร์

ประสบการณ์กว่า 30 ปีในวงการทำให้พันธุ์ธัมม์เข้าใจกลไกของธุรกิจบันเทิงเป็นอย่างดี ไม่เพียงแต่ในฐานะผู้กำกับหรือโปรดิวเซอร์ แต่ยังรวมถึงบทบาทของ International Business Producer ที่เปิดโอกาสและต่อยอดความรู้จากการเข้าร่วมโครงการระดับสากล เช่น Produire au Sud ในฝรั่งเศส และในบทสัมภาษณ์นี้ เราจะได้เรียนรู้เรื่องราวที่น่าสนใจจากประสบการณ์ของเขา รวมถึงวิสัยทัศน์ในอนาคตสำหรับวงการภาพยนตร์และโทรทัศน์ไทย

ในประเทศคนอาจจะรู้จักพี่ปุ๊กในฐานะผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ หนัง ซีรีส์หลายๆ เรื่อง แต่อยากให้พี่ปุ๊กเล่าประสบการณ์เป็น International Bussiness Producerให้ฟังหน่อย

: มันเริ่มมาจากการที่เรา ได้รับข้อเสนอให้มาเป็นหนึ่งในผู้ลงทุนของหนังเรื่องสัตว์ประหลาด ที่มี เจ้ย อภิชาติพงศ์ เป็นผู้กำกับ โปรดิวเซอร์หลักชื่อ ชาลส์ มาคุยกับเราว่าเขาต้องการให้เราลงทุนแค่ประมาณ 5 ล้านบาท ซึ่งสิ่งที่เขาจะให้เราเป็นผลตอบแทนคือให้สิทธิ์ของหนังเรื่องนี้ในประเทศไทยทุกช่องทาง ให้สิทธิ์ขาดการค้าขายรายได้ทั้งหมดเป็นของเรา แถมถ้ารายได้ที่ต่างประเทศ เขาเก็บเงินได้คุ้มทุนแล้ว เขาจะแบ่งให้เรา 15-20% (จำตัวเลขแน่ๆ ไม่ได้] แถมหนังจะมีสิทธิ์ได้ไปฉายที่เทศกาลคานส์อีกด้วย 

โอกาสจะได้เงินจากต่างประเทศก็จะมีสูงแล้วก็จะทำให้บริษัทที่เพิ่งเปิดของเรามีชื่อเสียงในระดับสากลขึ้นมาทันที เราก็แปลกใจว่ามีแบบนี้ด้วยหรอเลยสนใจมาก ก็นำไปเสนอพี่บูลย์อนุมัติ เราก็ตกลง หนังได้รางวัล เราก็ค้าขายได้กำไรนิดหน่อย แต่ที่สำคัญบริษัทที่ฟ้า และชื่อของเรามีเครดิตระดับโลก

รูปแบบการลงทุนแบบนั้น มันทำให้เราอยากรู้ว่าวิธีการที่เขาหาเงินมา และมาแบ่งผลประโยชน์ให้เราได้อย่างนี้มันทำยังไง เราก็พยายามศึกษา จนวันนึง เปิ้ล ศิวพร ที่เป็นหนึ่งในทีมเขียนบท RS ตอนนั้นแนะนำให้เรา ไปสมัครอบรมการเป็นโปรดิวเซอร์ในโครงการที่ชื่อว่า Produire Au Sud 

การมีเครดิตเป็นโคโปรดิวเซอร์ของหนังอภิชาติพงศ์ ทำให้เราได้รับเลือกไปเรียนที่ฝรั่งเศส 5 วัน นับเป็น 5 วันที่เปิดโลกมาก เปิดโลกให้เรารู้ว่าการหาเงินทำหนังในสากลไม่ได้มีแบบเดียว มันมีวิธีหาเงินหลายแบบและสามารถตอบแทนผู้ลงทุนได้หลายรูปแบบเช่นเดียวกัน 

ไม่ใช่แบบเมืองไทยคือ เอาโปรเจกต์ไปเสนอเสี่ยหรือค่ายหนังคนใดคนหนึ่ง แล้วเขาก็ให้เงินเรามาทำหนัง สุดท้ายหนังก็เป็นของเขา

จากการที่ได้อบรมจึงได้มาทำหนังกับเจ้ยต่ออีกเรื่องนึง คือแสงศตวรรษ ในเรื่องนี้เหมือนเป็นการทดลองการทำงาน Business โปรดิวเซอร์เรื่องแรกของเรา เราได้ใช้ความรู้ที่เรียนมา ลองฝึกหัดทำจริง เมื่อได้ทำจริงเราก็เลยเข้าใจ จากนั้นเราก็เลยยึดอีกหนึ่งอาชีพ นอกจากเป็นโปรดิวเซอร์หรือเป็นผู้กำกับเราก็ยังเป็น Business โปรดิวเซอร์ให้คนทำหนังอิสระ 

สถานการณ์สภาพตลาด ทั้งสตรีมมิ่งแฟลตฟอร์มต่างๆ เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ ตอนนี้เป็นอย่างไร? โอกาสของแหล่งทุนทั้งในและต่างประเทศ 

: สถานการณ์ตอนนี้ เป็นสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปมาก  เราเริ่มเอะใจตั้งแต่เราไปทำ HBO คุณ David ที่เป็นเจ้านายใหญ่ของ WBD จะพูดเสมอว่าสิ่งที่จะมาแข่งขันกับ WARNER ไม่ใช่แค่ค่ายหนังแข่งกันเอง แต่คู่แข่งสำคัญที่สุด คือโซเชียลมีเดีย 

แถมเมื่อเราได้คุยกับเพื่อนๆ ที่เป็นคนค้าขายหนังกับต่างประเทศก็จะพูดว่า เมื่อมี Streaming เข้ามามันทำให้ landscape ของการลงทุนทำธุรกิจแตกต่างไป 

ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เราเริ่มตระหนักว่าความรู้เก่าที่เรามีไม่พอแล้ว เมื่อโลกเปลี่ยนสิ่งแรกที่เราต้องทำคือ  เรียนรู้การเปลี่ยนแปลง เราจึงออกเดินสายเรียนรู้เพื่อหาข้อมูล และแนวทางของการทำธุรกิจภาพยนตร์ รวมถึงธุรกิจ ละคร ทีวี ซีรีส์ ใหม่หมดอีกครั้ง เพื่อเตรียมตัวรับการเปลี่ยนแปลง และวันนี้เห็นได้ชัดในผลกระทบที่มีต่อธุรกิจละครโทรทัศน์บ้านเรา หลายๆ สถานีถึงกับหยุดการผลิตละคร ทางออกคือการหารายได้ช่องทางอื่นๆ นอกจากการขายโฆษณามาเพิ่ม  ซึ่งหนึ่งในการหาช่องทางรายได้เพิ่มคือ การหาตลาดในต่างประเทศ และการหา Co production partner ในประเทศอื่นๆ มาร่วม

ส่วนด้านหนังก็คล้ายกัน หนังไม่สามารถทำแล้วหวังรายได้ในตลาดไทยตลาดเดียวได้อีกต่อไป เพราะถ้า ทำขายแต่ในประเทศเรา เราก็จะมีงบประมาณในการทำน้อย เมื่องบน้อยแต่คนดูส่วนใหญ่ยังคุ้นเคยกับหนัง Production Value ที่สูงขึ้น เราก็จะไม่สามารถทำได้

นอกจากนี้ เมื่อ landscape ธุรกิจเปลี่ยน วิธีและหลักการในการหา partner ก็ต้องทำในมุมมองที่เปลี่ยนไป ซึ่งโอกาสมีอยู่ แต่หลายคนยังไม่เรียนรู้ ไม่ปรับตัว ถ้าเราเรียนรู้ก่อน ปรับตัวก่อน ลงมือก่อน เราก็จะมีโอกาสก่อน

ความพร้อมของผู้ผลิตไทยทั้งในเวทีโลกยังขาดปัจจัยอะไร หรือควรเสริมอะไร รัฐหรือคนในอุตสาหกรรมควรสนับสนุนอย่างไร?

: ปัจจัยที่ผู้ผลิตไทยควรได้รับเสริมคือ การเรียนรู้ ความรู้ใหม่ๆ ในแทบทุก ขั้นตอน เริ่มจากการผลิต การเขียนบท เริ่มตั้งแต่การเรียนรู้ ธรรมชาติและจิตวิทยาของคนดู เพื่อจะเขียนบทให้ถูกใจคนดู

แต่เดิมเราทำละครไทยเพื่อขายประเทศไทยอย่างเดียว เราก็คุ้นเคยกับการนำเสนอวิธีเล่าให้คนไทยดูเท่านั้น แต่เมื่อตอนนี้เราไม่สามารถหารายได้จากในประเทศไทยที่เดียว เราต้องหารายได้จากที่อื่นด้วย ต่อจากนั้นก็เป็นลีลาการเล่า ทั้งของผู้กำกับ  ตากล้อง ตัดต่อ ทุกอย่างเราก็ต้องเรียนรู้ใหม่ทั้งหมด ในการเรียนรู้ใหม่ไม่ได้หมายความว่าเราต้องเปลี่ยนเลย แต่เราต้องรู้ก่อนว่าเราจะทำหนังหรือละครเรื่องนี้ขายใครบ้าง  สิ่งที่เราถนัดทำมีคนที่ไหนชอบดูอยู่บ้างไหม

เราต้องเรียนรู้ก่อน บางทีสิ่งที่เราทำอยู่อาจจะไปตรงใจกับคนดูในมุมโลกอื่นๆ อยู่แล้วเราก็ไม่ต้องเปลี่ยน แต่ถ้าสิ่งที่เราชอบทำถนัดทำมันขายได้เฉพาะคนไทย แล้วมันไม่คุ้มกับการลงทุน เราก็ต้องเรียนรู้ที่จะเปลี่ยน เพื่อทำให้คนดูมีจำนวนมากพอที่จะคุ้มกับการลงทุน 

เพราะฉะนั้น ถ้าต้องตอบว่าปัจจัยที่รัฐต้องส่งเสริม อันดับแรกในวันนี้คืออะไร จะขอตอบว่าคือ สนับสนุนการเรียนรู้ของบุคลากรระดับชั้นนำ เพื่อพัฒนาเขาเหล่านั้นให้ไปสร้างความสำเร็จ สร้างตัวอย่างให้คนอื่นๆ ได้เห็นเป็นแบบอย่าง

การเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือการหาเงินมาให้บุคลากรระดับสูงนั้นได้ทดลอง เสี่ยงทดลองหาการเขียนบท การเล่าเรื่อง การถ่ายทำในแนวทางใหม่ๆ จนกว่าจะมีคนที่เข้าใจมันจริงๆ ถ้ากล่าวโดยง่าย รัฐต้องมีทุนให้เกิดการเรียนรู้ การให้ทุนการเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือ การให้ทุนในการทดลองทำจริง

NitadeXtension คืออะไร? ส่งมอบอะไรให้คนในอุตสาหกรรมและผู้ผลิตรุ่นใหม่ๆ  

: นิเทศ Extension คือรูปแบบการเรียนการสอนโดยใช้บุคลากรที่เป็นมืออาชีพมาสอน เพราะเราเล็งเห็นว่า สิ่งสำคัญที่สุดตอนนี้คือการเรียนรู้โดยการเอาประสบการณ์มาสอน การเรียนรู้โดยการได้ลองทำจริงๆ และการเรียนรู้ที่จะลองทำจริงจะต้องถูกสอนโดยมืออาชีพ

เราตั้งชื่อ Nitadextension เพราะตอนที่เราไปเรียนที่อเมริกา เริ่มต้นเราไปเรียนเพื่อจะเอาปริญญาโทที่นิวยอร์ก แต่เราเสียเวลาไป 1 เทอม เราได้เรียนวิชาที่เกี่ยวกับการทำหนังทำละครแค่ วิชาเดียว คือวิชาการแสดง ที่เหลือเราต้องเรียนประวัติศาสตร์อเมริกา ต้องเรียนวิทยาศาสตร์ วิชาพื้นฐาน เพราะเป็นข้อบังคับของการจะได้ปริญญาโท 

ซึ่งเรารู้สึกว่าเสียเวลา เราจึงค้นพบว่าที่แคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส มีโรงเรียนที่ชื่อว่า ucla Extension ซึ่งที่นี่ไม่ต้องเรียนวิชาเฉพาะวิชาพื้นฐานใดๆ คุณมาเรียนการทำหนัง การกำกับหนัง การถ่ายหนัง การตัดต่อหนังกับมืออาชีพที่ทำงานอยู่ใน Hollywood จริงๆ เลย 

เราเลยย้ายจากนิวยอร์กมาเรียนที่ลอสแองเจลิส และเราก็พบว่ามันเป็นสิ่งที่วิเศษมาก มาถึงวันนี้ เมื่อเกิดสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่ เราคิดว่าสิ่งสำคัญมากที่สุดคือการให้บุคลากร ทุกระดับชั้นได้เกิดการเรียนรู้ Up skill re skill re learn จากมืออาชีพจริงๆ มืออาชีพที่เคยลงสนามทำงานจริงๆ

การเขียนบทต้องสอนด้วยนักเขียนบท การกำกับต้องสอนโดยผู้กำกับ การโปรดิวซ์ต้องสอนโดย producer นี่คือที่มาของการที่เรามาตั้งNitade Extension ที่มีสโลแกนว่า Learn from Professional เรียนรู้จากมืออาชีพ

 

หลักสูตรของ NitadeXtension ต่างจากคณะที่สอนการผลิตภาพยนตร์  หรือหลักสูตรอื่นๆ อย่างไร 

น่าจะต่างกันตรงตัวผู้สอน ที่จะต้องมีความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์ตรงการทำงานแบบมืออาชีพ และการสร้างสรรค์เนื้อหาหลักสูตรในการสอน ซึ่งจะเป็นการนำเอาประสบการณ์ความรู้จากมืออาชีพมาสอน  ไม่ใช่การมาสอนทฤษฎีตามที่เขียนในหนังสือ

 

มาสัมผัสมุมมองระดับสากลกับ พันธุ์ธัมม์ ทองสังข์ ผู้สร้างสรรค์วงการบันเทิงไทยสู่เวทีโลก! พร้อมเจาะลึกประสบการณ์กว่า 30 ปี เรียนรู้วิธีการปรับตัวในยุคสตรีมมิ่ง และการพาอุตสาหกรรมบันเทิงไทยสู่ความสำเร็จในระดับโลก โอกาสพิเศษสำหรับแฟนเพจ Happeningbkk มาถึงแล้ว กดดูที่หน้าเพจได้เลย!!!

- HappeningBKK Service 

ABOUT THE AUTHOR
บางกอกน้อย ๆ หน่อย

บางกอกน้อย ๆ หน่อย

เด็กสุขุมวิท โตสามย่าน ปัจจุบันเตร็ดเตร่แถวบางกอกน้อย

ALL POSTS