HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
มองมุมต่าง : ปัญหา “ขยะล้นโลก” กับแวดวงอาร์ตสร้างสรรค์ Upcycling Waste
by HappBKK
1 ต.ค. 2567, 20:30
  301 views

Upcycling Waste ชุบชีวิตขยะเปลี่ยนโลก เมื่อ “ขยะมีไม่พอ!” สำหรับงานศิลปะ หาคำตอบที่งาน SX2024

ปัญหาขยะล้นโลก ทว่า สำหรับนักออกแบบและผู้นำการเทรนด์การอัพไซเคิล (Upcycle) กลับมองว่าเรามีขยะไม่เพียงพอกับความต้องการใช้เพื่อสร้างสรรค์ของใช้และงานศิลปะ

เสวนาเรื่อง Upcycling Waste ชุบชีวิตขยะเปลี่ยนโลก งาน Sustainability Expo 2024

นี่คือมุมมองจาก 3 คนรุ่นใหม่ผู้นำเทรนด์ด้านการอัพไซเคิล ผู้ที่เห็นค่าใน “ขยะ” คือ เอ๋-วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ศิลปิน BAB2024 ผู้รังสรรค์งานศิลป์และแฟชั่นจากของเหลือใช้ ชณัฐ วุฒิวิกัยการ หรือ ก้อง กรีน กรีน อินฟลูสายกรีน และสมภพ มาจิสวาลา จาก Recycoex ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ซื้อขายขยะแห่งแรกของไทย มาร่วมพูดคุยเรื่อง “Upcycling Waste ชุบชีวิตขยะเปลี่ยนโลก” กันบนเวทีทอล์คในงานมหกรรมความยั่งยืน Sustainability Expo 2024

ขยะคืออะไร?

ก้องกรีนกรีน มองว่า “ผมไม่อยากเรียกว่าขยะ แต่เรียกว่าทรัพยากรที่อยู่ผิดที่ จัดเก็บไม่ถูกต้อง หรือยังใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ อาจจะเป็นขยะสำหรับบางคน แต่กลับมีประโยชน์สำหรับคนอื่น เพราะบางอย่างอาจจะหมุนเวียนกลับมาใช้ได้ 100% ด้วยซ้ำ”

เอ๋ วิชชุลดา เห็นใกล้เคียงกันว่า “จริงๆ ไม่มีขยะในโลกนี้ มีแต่ของส่วนเกิน เหลือใช้ หรือยังไม่ทันใช้  ที่สามารถนำกลับมาทำให้มีคุณค่าเพิ่มขึ้น”

ขยะล้น...หรือมีน้อยไป!!

ด้วยมุมมองเช่นนี้ สำหรับนักอัพไซเคิล ของแทบทุกอย่างจึงมีประโยชน์ทั้งสิ้น เพียงแต่ว่า “ขยะ” ของคนอื่นที่จะมาเป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับผู้ที่จะนำมาใช้ประโยชน์ต่อไปนั้น ไม่ได้อยู่ในสภาพที่ดีพอจะนำมาใช้ได้

ก้องกรีนกรีนเล่าว่า ในบ่อขยะซึ่งจริงๆ แล้วควรเรียกว่าภูเขาขยะมากกว่า มีขยะทุกชนิดทั้งเศษอาหาร กระดาษ พลาสติก แก้ว ขยะอันตราย ทุกอย่างปนกันหมด และพบว่าทั่วประเทศไทยมีภูเขาขยะมากกว่า 2,000 แห่ง  กรุงเทพมหานครเพียงจังหวัดเดียวต้องใช้งบประมาณปีละกว่า 7,000 ล้านบาทในการจัดการขยะ ซึ่งงบประมาณเท่านี้สามารถสร้างสนามบินนานาชาติสุดทันสมัยได้หนึ่งแห่งสบายๆ

“ถ้าจะนำขยะมาใช้ ต้องทำความสะอาดให้ดีจึงจะรีไซเคิลได้” เอ๋ วิชชุลดา บอก

สมภพ สถาปนิกผู้นำของเหลือใช้เหล่านี้มารังสรรค์ใหม่เป็นวัสดุก่อสร้าง เช่น บล็อกปูพื้น และผู้ริเริ่มแอปพลิเคชันรับซื้อขยะ กล่าวว่า “ปัญหาตอนนี้คือการแย่งขยะ ทุกคนที่ทำเรื่องรีไซเคิล อัพไซเคิล อยากได้ขยะ เราผลิตวัสดุก่อสร้างจากขวดพลาสติก มีความต้องการขวดพลาสติกมาก แต่ยังมีวัตถุดิบเข้ามาในระบบไม่เพียงพอ เราต้องทำให้ขยะเข้ามาในระบบมากขึ้น”

กระเป๋าจากถุงขนม ผลงานการรังสรรค์ขยะสู่แบรนด์แฟชั่น "วิชชุลดา"

แยกขยะอย่างไรให้ชุบชีวิตใหม่ไม่รู้จบ 

สิ่งสำคัญที่ต้องทำคือการสร้างจิตสำนึกของทุกคนในการแยกขยะ ปัจจุบันคนไทยโชคดีที่มีพี่ๆ ซาเล้งกว่า 300,000 รายทั่วประเทศที่ขับรถหรือขี่รถมอเตอร์ไซค์พ่วงข้างมารับซื้อและช่วยแยกขยะให้ถึงบ้าน แต่ในอนาคต คนที่อยากทำงานนี้จะมีน้อยลง จำเป็นที่ผู้บริโภคแต่ละคนจะต้องช่วยกันแยกขยะที่ต้นทางให้ถูกต้อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการขยะ และช่วยให้มีขยะเข้าสู่ระบบมากขึ้นเพื่อนำไปอัพไซเคิล ผลิตเป็นของใช้อื่นๆ ได้มากยิ่งขึ้น

ส่วนการนำของที่คนอื่นเรียกว่าขยะมาอัพไซเคิลไม่ได้เป็นเรื่องยาก เพียงนำมาชุบชีวิต (Regenerative) “คุณไม่จำเป็นต้องเป็นนักออกแบบก็ได้ แค่เอาความชอบของเราเข้ามาจัดการก็จะได้ของใหม่ๆ  แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ เราต้องมีสติในการบริโภค ต้องมองสิ่งของต่างๆ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนปลายน้ำว่าจะใช้ประโยชน์อย่างไรให้คุ้มค่า” วิชชุลดา บอก

ขณะที่สมภพมองว่าการปรับปรุงกฎหมายให้เอื้อต่อการคัดแยกและจัดการขยะอย่างถูกต้อง เป็นส่วนสำคัญที่จะผลักดันการแก้ไขปัญหาขยะ ขณะที่ความตระหนัก ความรับผิดชอบของผู้บริโภคก็สำคัญ

กระเป๋าจากเศษผ้าเหลือใช้ดีไซน์สวย ผลงานการรังสรรค์ขยะสู่แบรนด์แฟชั่น "วิชชุลดา"

“กว่าที่ของแต่ละอย่างจะมาเป็นของให้เราใช้ โลกต้องใช้เวลาหลายล้านปีสร้างทรัพยากรขึ้นมา สร้างน้ำมันดิบให้เราขุดขึ้นมากลั่นเป็นน้ำมัน เป็นปิโตรเลียม ก่อนจะนำไปผลิตเป็นเม็ดพลาสติก สำหรับมาผลิตของใช้อย่างถุงพลาสติก แต่เราอาจจะใช้ของนั้นแค่ 2-3 นาทีแล้วก็ทิ้ง”

ผู้นำเทรนด์ทั้งสามคนเห็นพ้องกันว่า จำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องตระหนักเรื่องการแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นทาง เริ่มจากผู้ผลิตที่ควรคิดถึงปลายทางด้วยว่าจะมีการจัดการอย่างไร เพราะปัจจุบันการซื้อกาแฟ 1 แก้ว ก่อให้เกิดขยะอย่างน้อย 3 ชิ้น คือ แก้ว ฝา และหลอด บางร้านมีถุงใส่ให้อีก เท่ากับมีขยะเพิ่มอีก 1 ชิ้น

“จริงๆ ก่อนที่จะมาคิดกันเรื่อง 3R หรือ Reduce, Reuse, Recycle เราควรเริ่มจาก Refuse คือปฏิเสธที่จะใช้หรือบริโภค เราควรคิดก่อนว่าจำเป็นไหมที่เราจะต้องใช้ผลิตภัณฑ์นั้น อย่าคิดแค่ว่ามันเป็น “สิทธิ” ของเราที่จะใช้ แต่ขอให้ใช้สิทธิที่จะปฏิเสธของที่เกินความจำเป็นก่อน เพื่อช่วยลดขยะ” ก้องกรีนกรีน กล่าวสรุป

เพราะความยั่งยืนเป็นเรื่องของทุกคน ที่จะมาร่วมกันเปลี่ยนโลกใบนี้ให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน ผ่านกิจกรรมมากมาย พร้อมแลกเปลี่ยนแนวคิด และไอเดียสุดเจ๋งด้านความยั่งยืนกับวิทยากรชื่อดัง ศิลปิน และเหล่าไอดอลจากทุกแวดวง ตื่นเต้นไปกับสุดยอดนวัตกรรมกอบกู้โลกให้คุณได้เรียนรู้ และพร้อมปรับตัว เพื่อความอยู่รอดในวิถีชีวิตประจำวันยุคโลกเดือดได้อย่างมีความสมดุล ในงาน Sustainability Expo (SX2024) ได้ตั้งแต่วันนี้-วันที่ 6 ตุลาคม 2567 เวลา 10.00-20.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (QSNCC)

 

 

ABOUT THE AUTHOR
HappBKK

HappBKK

Live Every Day

ALL POSTS