HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
“ทั่วหล้า เทิดไท้ ถวายใจสดุดี” เชิญชวนถวายพระพรและแสดงความจงรักภักดี
by HBKK
22 ก.ค. 2567, 17:24
  296 views

สยามพารากอน ร่วมกับ 12 สถานเอกอัครราชทูต จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ทั่วหล้า เทิดไท้ ถวายใจสดุดี” ภายใต้แนวคิด “มิตรไมตรี” วันที่ 26-29 ก.ค. 2567

เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 28 กรกฎาคม 2567  บริษัท สยามพารากอน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ร่วมกับ สถานเอกอัครราชทูต 12 ประเทศ จัดกิจกรรม “ทั่วหล้า เทิดไท้ ถวายใจสดุดี” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแด่พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักของปวงชนชาวไทย นำการแสดงทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของแต่ละประเทศทั่วโลก ร่วมถวายพระพรและแสดงความจงรักภักดีภายใต้แนวคิด “มิตรไมตรี” ระหว่างวันที่ 26-29 กรกฎาคม 2567 ณ พาร์คพารากอน ศูนย์การค้าสยามพารากอน พร้อมตื่นตากับผลงานหัตถศิลป์อันวิจิตร รังสรรค์โดย สกุล อินทกุล ณ บริเวณโซนจีเวล ตลอดเดือนกรกฎาคมนี้ โดยได้รับการสนับสนุนจาก ธนาคาร
ไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด

การแสดงสุดพิเศษจากสถานเอกอัครราชทูต 12 ประเทศ ระหว่างวันที่ 26-29 กรกฎาคม 2567

สยามพารากอน Global Destination อันดับ 1 ที่ครองใจนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ร่วมกับ สถานเอกอัครราชทูตจาก 12 ประเทศ นำการแสดงสุดพิเศษมาร่วมถวายพระพรและแสดงความจงรักภักดีภายใต้แนวคิด “มิตรไมตรี” ได้แก่  ออสเตรเลีย นำเสนอการแสดงเต้นร่วมสมัยในชื่อ Shared Language , ภูฏาน นำการแสดงทางวัฒนธรรมหาชมยาก อาทิ ระบำหน้ากากหมูป่า , ระบำครุฑ และระบำกลอง , จีน  มาพร้อมงานแสดงทางวัฒนธรรมพื้นบ้านเอ็งกอ  ซึ่งเป็นการแสดงที่ผสมผสานรูปแบบต่างๆ เช่น ศิลปะการต่อสู้ อุปรากรจีน และการเต้นรำ, ฝรั่งเศส ชวนเพลิดเพลินไปกับการแสดงเดี่ยวเปียโน และศิลปินร่วมขับร้องบทเพลงอันไพเราะ, อินเดีย นำการแสดงนาฏศิลป์ รามายณะ ตอนนารายณ์อวตาร  และตอนพระอินทร์อวตาร

อินโดนีเซีย นำการเต้นรำแบบดั้งเดิมในชื่อ Puspawresti และยังมีการแสดงจากเครื่องดนตรีอังกะลุงรวมถึงการเต้นรำที่ถ่ายทอดวัฒนธรรมของประเทศ, ญี่ปุ่น นำการแสดงสาธิตศิลปะการต่อสู้อันเป็นเอกลักษณ์อย่างคาราเต้ มาให้ชมอย่างใกล้ชิด, เกาหลีใต้ จำลองขบวนแห่งเฉลิมฉลองของชาวเกาหลี ในชื่อกิลโนรี และการบรรเลงคายากึมซึ่งเป็นเครื่องดนตรีพื้นบ้านของเกาหลีร่วมกับดนตรีไทย ระบำกลองจินโด และโมดึมบุค เป็นต้น , ลาว นำการแสดงอันสะท้อนความงดงามทางวัฒนธรรม อาทิ การรำ การขับรอง และการแสดงด้วยเครื่องดนตรีอย่าง แคน เป็นต้น , เนเธอร์แลนด์ นำการแสดงดนตรีแจ๊ส โดยศิลปินแจ๊สที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติมาขับร้องและเล่นเครื่องดนตรีด้วยท่วงทำนองอันไพเราะ , สเปน มาพร้อมการเต้นรำฟลาเมงโก ที่มีชื่อเสียงเป็นเอกลักษณ์และออกแบบท่าเต้นเป็นพิเศษในโอกาสสำคัญนี้   และสหรัฐอเมริกา นำการแสดงส่วนหนึ่งจากละครบอร์ดเวย์อันเลื่องชื่ออย่าง ชิคาโก  มาสร้างความตื่นตาตื่นใจ รวมถึงไฮไลท์ ประเทศไทย ที่นำการแสดงโขนและนาฏศิลป์ร่วมสมัย มาถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ อาทิ รัตนโกสินทร์เรืองรอง, จตุรทิศแผ่นดินไทย, ตำนานวสันตนิยาย และ มรดกภูมิปัญญาศิลปะต่อสู้ไทย รวมถึงการแสดงดนตรีจากกรุงเทพมหานครฯ มาจัดแสดงให้ประชาชน ตลอดจนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติได้สัมผัสถึงความงดงามของศิลปวัฒนธรรมในโอกาสมหามงคลนี้ 

 

“บุษบัญชลี มาลีนพรัตน์เฉลิมพระชนม์” หัตถศิลป์สุดตระการตา ณ โซนจีเวล ชั้น M ระหว่างวันที่ 1-31 กรกฎาคม 2567

สยามพารากอนชวนสัมผัสวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าและจิตวิญญาณความเป็นไทย ผ่านงานประติมากรรมสุดตระการตา ภายใต้ชื่อ “บุษบัญชลี มาลีนพรัตน์เฉลิมพระชนม์” สร้างสรรค์ผลงานโดย สกุล อินทกุล ศิลปินนักจัดดอกไม้ระดับนานาชาติ ซึ่งปัจจุบันผันตัวเป็นศิลปินร่วมสมัยที่เน้นงานประติมากรรม ควบคุมการผลิตดอกไม้ไทยประดิษฐ์โดยผศ.ดร.จักรพันธ์ รูปงาม หัวหน้าสาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ศึกษา คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ร่วมด้วยนักศึกษาคหกรรมศาสตร์ศึกษาอีกหลายร้อยชีวิต ที่หลอมรวมใจรังสรรค์ผลงานอันวิจิตรงดงามเพื่อร่วมถวายพระพรและแสดงออกถึงความจงรักภักดี

สกุล อินทกุล  กล่าวถึงการรังสรรค์ผลงานมาสเตอร์พีซครั้งว่า “นับเป็นครั้งแรกของการทำงานที่ยิ่งใหญ่และเป็นโอกาสพิเศษ สำหรับศิลปินแล้ว ผลงานที่จัดแสดงในครั้งนี้ มีความท้าทายมากแตกต่างจากการจัดแสดงงานในแกลเลอรี่ เนื่องจากสยามพารากอนถือเป็นเดสติเนชั่น ที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมามากมายมหาศาล ดังนั้นจะทำอย่างไรให้งานที่ปรากฎตรงหน้าสะกดทุกสายตา ให้คนถ่ายรูปและแชร์ออกไปได้ งานจึงต้องมีความร่วมสมัยอยู่ในนั้น ซึ่งจะได้เห็นว่า ผลงานชิ้นนี้นอกจากจะแสดงถึงวัฒนธรรมและจิตวิญญาณของความเป็นไทยแล้ว ยังเป็นงานที่ร่วมสมัย คนทุกเพศทุกวัยสัมผัสได้ถึงความสวยงาม และยิ่งหากได้รับรู้ถึงแรงบันดาลใจและรายละเอียดของงานแล้ว ยิ่งเป็นการยกระดับคุณค่าผลงานให้มากขึ้น และที่ลึกซึ้งไปกว่านั้นคือ การได้ร่วมถวายพระพร และแสดงความจงรักภักดีแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสมหามงคลนี้” 

 สำหรับผลงานสุดตระการนี้  สกุล ได้รับแรงบันดาลใจมาจากดอกไม้ไทยนานาพรรณ โดยเฉพาะดอกรวงผึ้ง ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำพระองค์จำนวน 46 ดอก รังสรรค์เป็นงานคราฟท์โดยใช้ผ้าแทนดอกไม้สด ผสานเทคนิคการพับจับจีบกลีบใบตอง อาทิ กลีบรังแตน, กลีบกระทุ้ง, กลีบรักเร่, กลับผกาซ้อน, กลีบเล็บมือนาง ฯลฯ ส่วนเกสรของดอกไม้แต่ละดอกแสดงถึงสัญลักษณ์ความเป็นไทยในรูปแบบคล้ายปั้นเหน่ง พร้อมแต่งแต้มด้วยผ้าตาดแทนสีของอัญมณีสิริมงคล อาทิ เพชร มุก มรกต ทับทิม  เพทาย บุษราคัม โกเมน ไพลิน ไพทูรย์ เมื่อผสานกับการออกแบบร่วมสมัย จึงกลายเป็นผลงานหัตถศิลป์ที่สะกดทุกสายตา 

นอกจากนี้ในฐานะที่ สกุล เคยมีโอกาสถวายงานรับใช้สมเด็จนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จึงนำดอกกล้วยไม้คัทลียาควีนสิริกิติ์ ซึ่งเป็นดอกไม้ตามพระนามาภิไธยมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานครั้งนี้ด้วย เนื่องจากในเชิงสัญลักษณ์ ดอกกล้วยไม้คัทลียาควีนสิริกิติ์  เป็นหนึ่งในดอกไม้พระนามของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้อัญเชิญมาไว้ด้วยกัน ซึ่งเปรียบเสมือนสายใยแห่งความรักของทั้งสองพระองค์  โดยดอกกล้วยไม้พระนามนี้ ได้นำเสนอด้วยเทคนิคการถักตาข่ายของงานประดิษฐ์ดอกไม้ไทย โดยประดิษฐ์จากทั้งดอกรัก และดอกพุด เป็นลวดลายที่แตกต่างหลากหลายลวดลายด้วยกัน

ขอเชิญประชาชนร่วมเฉลิมพระเกียรติและถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมชมการแสดงสุดพิเศษจากประเทศต่างๆ ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ระหว่างวันที่ 26-29 กรกฎาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 13.00 -19.00 น. โดยจะมีพิธีเปิดงานในวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 เวลา 14.00 น. ซึ่งได้รับเกียรติจากเอกอัครราชทูต

พร้อมตัวแทนจากประเทศต่างๆ มาร่วมงาน และชมการแสดงของประเทศไทย นำโดยศิลปินดัง อาทิ ระนาดเอก โดย อาร์ม-กรกันต์ สุทธิโกเศศ และชมการแสดง 4 ภาคที่ออกแบบการแสดงโดย ดร.สุรัตน์ จงดา โดยมีนักแสดงสาวญาดา-นริลญา กุลมงคลเพชร ร่วมแสดงด้วย ณ บริเวณ พาร์ค พารากอน ชั้น M ศูนย์การค้าสยามพารากอน  สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 02-610-8000 หรือติดตามรายละเพิ่มเติม เฟสบุ๊ก : SIAMPARAGON

 

 

#LongLiveTheKing

#SiamPiwat #SiamParagon

ABOUT THE AUTHOR
HBKK

HBKK

Live Every Day

ALL POSTS