HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
สำรวจเส้นทางความสำเร็จ จากสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง สู่ศูนย์วิจัย “โครงการหลวงชนกาธิเบศรดำริ”
by Dae Warunee
10 ก.ค. 2567, 08:12
  931 views

มูลนิธิโครงการหลวง พาสำรวจเส้นทางความสำเร็จจากโครงการหลวงแห่งแรก “สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง” สู่ศูนย์วิจัยแห่งล่าสุด “โครงการหลวงชนกาธิเบศรดำริ” ก่อนช้อปของจริงในงาน “โครงการหลวง 55”

HappeningBkk ชวนทุกคนย้อนรอยเส้นทางกว่าจะเป็นสุดยอดผลิตผลไฮไลต์ที่มาจำหน่ายในงาน “โครงการหลวง 55” ณ เซ็นทรัลเวิลด์ ระหว่างวันที่ 1-13 สิงหาคม 2567 ต้องผ่านการวิจัยและพัฒนา การเพาะปลูก และการคัดสรรอย่างไรบ้างตลอดเส้นทางกว่าจะถึงมือผู้บริโภค 

โครงการหลวงลำดับที่ 1 “สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง” สถานีวิจัยแห่งแรกของมูลนิธิโครงการหลวง ที่ดำเนินงานมาเป็นระยะเวลา 55 ปี
โครงการหลวงลำดับล่าสุด “ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ” ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

โดยล่าสุด มูลนิธิโครงการหลวง ได้ร่วมกับ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ จัดโครงการเยี่ยมชมการดำเนินงานโครงการหลวง พาย้อนรอยสำรวจเส้นทางความสำเร็จของศูนย์วิจัยและพัฒนาพืชเมืองหนาวกันถึงต้นน้ำ ณ โครงการหลวงลำดับที่ 1 “สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง” สถานีวิจัยแห่งแรกของมูลนิธิโครงการหลวง ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2512 ณ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันดำเนินงานมาเป็นระยะเวลา 55 ปี สู่โครงการหลวงลำดับล่าสุด “ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ” ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2566 และต่อยอดสู่การเปิด สถาบันเรียนรู้มูลนิธิโครงการหลวง สถานที่วิจัยเพื่อต่อยอดความสำเร็จเป็นสถาบันการเรียนรู้ ขยายผลรูปแบบการดำเนินงานตามแบบโครงการหลวง ไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางระดับประเทศและนานาชาติ

พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี เลขาธิการ และประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เป็นประธานในการแถลงข่าวการเปิดสถาบันการเรียนรู้มูลนิธิโครงการหลวง ร่วมกับผู้แถลงของมูลนิธิโครงการหลวง และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ จังหวัดเชียงใหม่

ในโอกาสครบรอบ 55 ปีการดำเนินงานพัฒนาพื้นที่สูงของโครงการหลวง ทำให้เกิดพืชผลเมืองหนาวกระจายอยู่ทั่วไปในพื้นที่สูง สร้างความมั่นคงแก่ประเทศ ประชาชนดำรงชีพด้วยความสุข  โครงการหลวงได้เริ่มจัดงานจำหน่ายผลิตผลจากการส่งเสริมเกษตรกรบนพื้นที่สูงครั้งแรกที่สวนอัมพร ในปี พ.ศ. 2523 เพื่อแนะนำให้ชาวไทยได้รู้จักพืชผลเขตหนาว ซึ่งยังไม่แพร่หลายดังเช่นทุกวันนี้ ต่อมาเมื่อปริมาณผลผลิตของเกษตรกรมากขึ้น จึงได้ขยายการจัดงานเป็นงานประจำปี 2 ครั้งที่จังหวัดเชียงใหม่ ในเดือนธันวาคม และที่กรุงเทพฯ ในเดือนสิงหาคม โดยการจัดงานที่กรุงเทพฯ นั้น ได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนที่ดีจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อเป็นการแนะนำผลิตผลใหม่ๆ แก่ผู้บริโภค และเป็นช่องทางสำคัญในการให้ความรู้ และส่งเสริมการบริโภคผลิตผลที่สด สะอาด ปลอดภัย สร้างสุขภาพที่ดีแก่ประชาชนชาวไทย

การดำเนินงานพัฒนาพื้นที่สูงของโครงการหลวงทำให้เกิดพืชผลเมืองหนาว สร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่

โดยในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 28 กรกฎาคมนี้ จึงเป็นโอกาสอันดีที่โครงการหลวง หน่วยงานสนับสนุน และประชาชนชาวไทย จะได้ร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว องค์นายกกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิโครงการหลวง ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงสืบสานงานของพระราชบิดา เพื่อความอยู่ดีมีสุขของปวงชนชาวไทยและชาวโลก ในงาน “โครงการหลวง 55”  กำหนดขึ้นระหว่างวันที่ 1-13 สิงหาคม 2567 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ภายใต้แนวคิด Love for the Earth สัมผัสทุกไออุ่น คุณความรักจากแผ่นดิน ซึ่งหมายถึง ความรัก ความห่วงใยที่ชาวไทยได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ ความรัก และการสำนึกในพระมหากรุณาที่ปวงชนชาวไทยพร้อมถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เจ้าหน้าที่นำชมแปลงสาลี่พันธุ์ใหม่ พันธุ์รอยัล ลัสเชิส (Royal luscious) จากการวิจัยของโครงการหลวง หนึ่งในไฮไลต์งานโครงการหลวง 55
เจ้าหน้าที่นำชมแปลงลูกพลับ ซึ่งพลับที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขางปลูกส่วนใหญ่เป็นพลับหวาน พันธุ์ฟูยู (Fuyu)

โดยมีผลิตผลไฮไลต์งานโครงการหลวง 55 นำโดย สาลี่พันธุ์ใหม่จากการวิจัยของโครงการหลวง, เมล่อนสีทอง, มะเขือเทศเชอรี่สีเหลือง, ข้าวโพดข้าวเหนียว, ซุกินีสีเหลือง, มะระหัวใจ, ต้นอ่อนถั่วลันเตา, เห็ดเป๋าฮื้อ และ น้ำผึ้งสวนกาแฟ เป็นผลผลิตที่สื่อถึงความรักที่พระราชทานแก่พสกนิกรเพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดี  นอกจากนี้การจัดตกแต่งภายในงานยังมีความพิเศษ โดยแรงบันดาลใจจากลวดลายไทย ลวดลายจากฉลองพระองค์ และลวดลายจากพืชผลโครงการหลวง

โครงการหลวงแห่งแรก “ดอยอ่างขาง” จุดเริ่มต้นความอยู่ดีมีสุขของปวงชนชาวไทยและชาวโลก

โครงการหลวงลำดับที่ 1 “สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง” สถานีวิจัยแห่งแรกของมูลนิธิโครงการหลวง ที่ดำเนินงานมาเป็นระยะเวลา 55 ปี
บ้านพักในสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ย้อนไปเมื่อ พ.ศ.2512 หรือ 55 ปีที่แล้ว สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรม ทดแทนการปลูกฝิ่น ถือกำเนิดขึ้นเนื่องจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรที่หมู่บ้านผักไผ่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ทอดพระเนตรเห็นว่าบริเวณดอยอ่างขางเป็นเขาหัวโล้น มีการปลูกฝิ่นอยู่เป็นจำนวนมาก ราษฎรชนเผ่าที่อาศัยอยู่มีฐานะยากจน ประกอบกับเขตที่ตั้งอยู่ในแนวตะเข็บชายแดนไทย-เมียนมา ซึ่งถือเป็นแนวปราการความมั่นคงของประเทศ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 1,500 บาท แลกเป็นค่าต้นไม้ในที่ดินที่ชนเผ่าปลูกพืช เพื่อแปลงทุ่งฝิ่นให้เป็นสถานีวิจัยและทดลองปลูกพืชเมืองหนาว ทั้งไม้ผล ผัก และไม้ดอก ต่อมาได้พระราชทานชื่อสถานีแห่งนี้ว่า “สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง”

แปลงบ๊วยในยุคแรกของสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง

“สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง” อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,400 เมตร ภายในสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ประกอบด้วย พื้นที่วิจัย ทดสอบ สาธิต และรวบรวมพันธุ์พืชเขตหนาวต่าง ๆ ได้แก่ สวนแปดสิบ รวมพันธุ์พืชไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาวไว้กว่า 40 สายพันธุ์, ต้นซากุระญี่ปุ่นอายุกว่า 15 ปี กว่า 1,500 ต้น ซึ่งออกดอกสวยงามในเดือนมกราคม จึงเป็นจุดท่องเที่ยวเพื่อศึกษาเรียนรู้และชมความสวยงามอันดับต้น ๆ ของประเทศ นอกจากนี้ ยังมีสวนบ๊วย ซึ่งเป็นแปลงบ๊วยในยุคแรกของสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ปลูกเมื่อปี พ.ศ. 2517 จะออกดอกช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี และจะเก็บผลผลิตในเดือนมีนาคม-เมษายน 

ปัจจุบันสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ดำเนินการสืบสาน รักษา ต่อยอด งานวิจัยไม้ผลเขตหนาว ผัก ไม้ดอก งานขยายพันธุ์พืชเพื่อขยายผลสู่การส่งเสริมอาชีพในพื้นที่โครงการหลวงแห่งอื่นๆ และส่งเสริมอาชีพแก่เกษตรกรชนเผ่าโดยรอบสถานี มีพืชส่งเสริม ได้แก่ ผักอินทรีย์ สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80 88 และ 89 ปัจจุบันการดำเนินงานของสถานีฯ อ่างขาง ครอบคลุมพื้นที่ 4 หมู่บ้าน 3 ตำบล ประชากรเป็นชาวลาหู่ ดาราอั้ง จีนยูนนาน ไทใหญ่ รวม 1,325 ครัวเรือน 7,352 คน

 

แปลงชา 2000 ชาอินทรีย์

การส่งเสริมการปลูกชาจีน เกษตรกรเผ่าดาราอั้ง บ้านนอแล

เมื่อปี พ.ศ.2535 สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ได้เริ่มงานส่งเสริมการปลูกชาอินทรีย์ โดยนำต้นชาจีนจากศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ มาทดสอบปลูกที่บ้านนอแล โดยการส่งเสริมการปลูกชาจีน มีพื้นที่ 50 ไร่ มีเกษตรกรเผ่าดาราอั้ง บ้านนอแล เข้ารับการส่งเสริม โดยอ่างขางได้รับซื้อผลผลิตสดจากเกษตรกร เพื่อนำมาแปรรูปที่โรงงานชาอ่างขาง ซึ่งตั้งอยู่ในแปลงชา เพื่อความสะดวกในการขนส่ง และการผลิตชาที่ได้มาตรฐานสากล ปัจจุบัน มีผลิตภัณฑ์ชาอยู่ 4 ชนิด ได้แก่ ชาเขียว, ชาอู่หลงเบอร์ 12, ชาอู่หลงก้านอ่อน เเละชาแดง (ชาดำ) โดยได้รับการรับรองการผลิตชาตามมาตรฐานต่างๆได้แก่ HACCP , GMP, GAP, IFOAM และการผลิตพืชอินทรีย์จากกรมวิชาการเกษตร เรียกได้ว่าผลผลิตชาที่มาจากสถานีเกษตรหลวงอ่างขางนั้น ปลอดภัยจากสารเคมี เนื่องจากเป็นการปลูกในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ รวมถึงโรงงานแปรรูปชาที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากลอีกด้วย

 

โรงเรือนสิริวัณณวรี Botanical Garden

 

โรงเรือนสิริวัณณวรี (Botanical Garden) แหล่งรวบรวมและจัดแสดงพันธุ์พืชเขตหนาว เพื่อการเรียนรู้แก่ประชาชนที่เข้าไปเยี่ยมชม

มูลนิธิโครงการหลวง ได้รับพระราชทานพันธุ์พืช และอุปกรณ์การเกษตรต่าง ๆ จากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา จึงได้นำไปปลูกทดสอบในพื้นที่ปฏิบัติงานของมูลนิธิโครงการหลวงซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งหมด 5 แห่ง ได้แก่ สถานีเกษตรหลวงอ่าง, อินทนนท์, ปางดะ, ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย และ แม่แฮ รวมทั้งได้รักษาพันธุ์อีกส่วนหนึ่งไว้ที่ศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพทางด้านพืช ภายในศูนย์ฯ ชนกาธิเบศร จ.เชียงใหม่ ผลจากการทดสอบการปลูกและขยายพันธุ์พืชหลายชนิด สามารถเพิ่มปริมาณพันธุ์ได้จำนวนหนึ่ง โครงการหลวงจึงได้นำไปรวบรวมไว้ที่สถานีฯ อ่างขาง เพื่อให้เป็นแหล่งรวบรวมและจัดแสดงพันธุ์พืชเขตหนาว เพื่อการเรียนรู้แก่ประชาชนที่เข้าไปเยี่ยมชม โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานชื่อโรงเรือนแห่งนี้ว่า “สิริวัณณวรี Botanical Garden”

ไฮไลต์งานโครงการหลวง 55

สาลี่พันธุ์รอยัล ลัสเชิส (Royal luscious)

สำหรับผลิตภัณฑ์ไฮไลต์งานโครงการหลวง 55 นำโดย สาลี่พันธุ์รอยัล ลัสเชิส (Royal luscious) สาลี่พันธุ์ใหม่ ที่มีรสชาติหวานฉ่ำ เนื้อเนียนละเอียด และมีกลิ่นหอมพันธุ์ใหม่ เนื้อภายในผลไม่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และมีอายุการเก็บรักษาได้นาน ซึ่งผลผลิตเริ่มออกตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม ถึงเดือนสิงหาคม

ลูกพลับ ผลผลิตจากโครงการหลวง

ลูกพลับ เป็นผลไม้ที่มีแคลอรีและไขมันต่ำ เนื้อลูกพลับจะประกอบไปด้วยเส้นใยอาหารจำนวนมาก จึงช่วยในการลดน้ำหนักหรือควบคุมน้ำหนักได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังอุดมไปด้วยวิตามินต่าง ๆ น้ำมันที่สกัดจากผลพลับมีสารแทนนินที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมและการแพทย์ มีคุณสมบัติในการใช้บรรเทาอาการเมาเหล้า ลดความดันโลหิต  ลดการขยายตัวของมะเร็งและเชื้อไวรัส  ใบพลับมีวิตามินซีสูงมากนิยมนำไปทำชาได้อีกด้วย พลับจึงเป็นผลไม้ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีในการดูแลสุขภาพของตัวเองศูนย์วิจัยการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ

ผลิตภัณฑ์ชาอินทรีย์ ผลผลิตจากโครงการหลวง

ผลิตภัณฑ์ชาอินทรีย์ เป็นชาเฉพาะแหล่งจากดอยอ่างขาง ปลูกและดูแลอย่างพิถีพิถันจากเกษตรกรชนเผ่าที่มีความชำนาญในการปลูกชาอย่างดี ชาแต่ละชนิดมีลักษณะโดดเด่นถูกใจคอชา  ได้แก่ ชาแดง (อ่างขาง) Red Tea รสเข้มข้น หอมละมุนกลิ่นผลไม้ ชาอู่หลง เบอร์ 12 (อ่างขาง) Oolong Tea 12 รสชาตินุ่มนวล กลมกล่อม และ ชาอู่หลงก้านอ่อน (อ่างขาง) Oolong Tea 17 รสชาจิหวานละมุน หอมกลิ่นผลไม้

น้ำผึ้งสวนกาแฟโครงการหลวง

น้ำผึ้งสวนกาแฟโครงการหลวง น้ำผึ้งธรรมชาติที่มีความหอมหวานของกลิ่นกาแฟ เกิดจากการปลูกกาแฟร่วมกับการปลูกป่า และเลี้ยงผึ้งโพรงในสวนป่ากาแฟ โดยในแต่ละปีกาแฟจะมีการออกดอกสีขาวเต็มต้นส่งกลิ่นหอม ผึ้งโพรงมีหน้าที่ช่วยผสมเกสรของดอกกาแฟและเก็บเกสรมาสร้างน้ำผึ้ง นอกจากนี้ผึ้งโพรงยังเป็นตัวที่ชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่าเพราะเป็นแหล่งที่ผึ้งสามารถหาอาหารได้อย่างเพียงพอ และในพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่ปลอดสารเคมีเนื่องจากผึ้งมีความอ่อนไหวต่อสารเคมีและจะไม่สามารถหาอาหารได้ น้ำผึ้งโพรงสวนกาแฟผลิตได้เพียงปีละครั้งทำให้ปริมาณน้ำผึ้งในแต่ละปีมีปริมาณน้อย

เห็ดพ็อตโตเบลโล่ เป็นเห็ดสายพันธุ์ต่างประเทศ ที่ทางโครงการหลวงสามารถเพาะและผลิตได้เองในประเทศ เห็ดพ็อตโตเบลโล่มีเนื้อสัมผัสที่หนานุ่ม มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว เป็นแหล่งโปรตีนธรรมชาติชั้นยอด และยังปราศจากไขมัน ไม่มีคอเลสเตอรอล ให้แคลอรีต่ำ แถมยังมีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย สามารถนำมาทำอาหารได้หลายเมนู ดอกและก้านเนื้อแน่น นำไปทำต้มยำ ชุปแป้งทอด ผัดน้ำมันหอย สุกี้ ย่างหรือยำ นอกจากนี้ ยังมี เห็ดแชมปิญอง หรือ เห็ดกระดุมขาว มีลักษณะหมวกดอกสีขาวคล้ายกระดุม ครีบดอกคล้ายซี่ร่ม เจริญได้ดีในหน้าหนาว  มีรสชาติดี นิยมนำไปทำเมนูซอสสปาเก็ตตี้ ผสมในผักโขมอบชีส หรือนำมาผัด ต้ม หรือต้มยำ ได้อย่างอร่อย

ปุ๋ยอินทรีย์และไฮโดรโพนิคส์ มูลนิธิโครงการหลวง

ปุ๋ยอินทรีย์และไฮโดรโพนิคส์ มูลนิธิโครงโครงการหลวง โดยหน่วยงานที่นำงานวิจัยการกำจัดของเหลือจากการเกษตรของโครงการหลวง มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงพืชภายใต้แนวคิด Zero Waste 

การดำเนินงานภายในศูนย์วิจัย “โครงการหลวงชนกาธิเบศรดำริ”

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม จัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง เป็นศูนย์ปฏิบัติการแห่งใหม่ของมูลนิธิฯ และพระราชทานนามว่า “ชนกาธิเบศรดำริ” หมายถึง เป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สร้างขึ้นเพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ภายในบริเวณศูนย์วิจัยฯ ประกอบด้วย อาคารทำการ อาคารเรียนรู้ อาทิ อาคารอารักขาพืช อาคารเทคโนโลยีชีวภาพ อาคารเมล็ดพันธุ์และแปรรูปสมุนไพร ศูนย์ผลิตผลโครงการหลวง โรงชีวภัณฑ์ชมผลิตภัณฑ์ป้องกันกำจัดศัตรูพืชหอศิลปหัตถกรรมพื้นที่สูง ร้าน Royal Project Tea House & Coffee   

บ้านชาโครงการหลวง (Royal Project Tea House & Coffee)

บ้านชาโครงการหลวง (Royal Project Tea House & Coffee) ภายในศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ

การปลูกชาของโครงการหลวง เป็นหนึ่งในงานส่งเสริมที่สร้างอาชีพที่มั่นคงให้แก่เกษตรกรบนพื้นที่สูงด้วยการใส่ใจและดูแลต้นชาให้คงอยู่คู่กับธรรมชาติ จากการวิจัย สู่การส่งเสริม ด้วยระบบผลิตภายใต้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และ GAP นำไปสู่กระบวนการผลิตชาอย่างพิถีพิถัน จนได้ชาอบแห้งพรีเมียมที่มีอัตลักษณ์พิเศษ เป็นชาที่ดี มีคุณภาพ ควรค่าแก่การดื่มเพื่อสุขภาพร้านชาต้นแบบของโครงการหลวง เพื่อเป็นแหล่งถ่ายทอดองค์ความรู้การปลูกชา วิธีชงชาที่ถูกต้อง และลิ้มลองชา กาแฟเฉพาะถิ่นที่มีความหลากหลายของโครงการหลวง ภายในร้านมีการออกแบบตกแต่งให้เสมือนบ้าน  ทำให้ผู้ที่เข้ามารู้สึกผ่อนคลายและมีความสุข นอกจากนี้ ยังเป็นการผลักดันให้ชาพื้นที่สูงของไทยเป็นที่รู้จักของประชาชนและนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยือนจังหวัดเชียงใหม่  และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ยั่งยืนและมั่นคง

นอกจากผลิตผลจาก สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง มูลนิธิโครงการหลวงยังมีผลผลิตที่เกิดจากการวิจัยและส่งเสริมแก่เกษตรกรในพื้นที่รับผิดชอบ อีก 39 แห่ง ใน 6 จังหวัดภาคเหนือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา และตาก ผลผลิตที่มีความหลากหลาย เป็นที่รู้จัก เชื่อถือต่อประชาชนในประเทศอย่างกว้างขวาง เส้นทางการผลิตจากต้นทางคือ แปลงเกษตรกรชาวเขาจนถึงมือผู้บริโภค ได้รับการการันตีด้านคุณภาพ ภายใต้ตราสินค้า “โครงการหลวง”

ทั้งนี้ ประชาชนจะได้สัมผัสผลิตผลโครงการหลวงจากแหล่งผลิตบนพื้นที่สูงต่าง ๆ รวมทั้ง สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ผ่านการเลือกซื้อและเที่ยวชมงาน “โครงการหลวง 55” สัมผัสทุกไออุ่น คุณความรักจากแผ่นดิน ซึ่งกำลังจะเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง ระหว่างวันที่ 1-13 สิงหาคม 2567 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ติดตามความเคลื่อนไหวเซ็นทรัลพัฒนา คลิก www.centralpattana.co.th 

 

 

ABOUT THE AUTHOR
Dae Warunee

Dae Warunee

นักกฎหมายที่หยั่งรากบนเส้นทางสายนักเขียน เซียนเรื่องกินเที่ยว หวังเก็บเกี่ยวทุกประสบการณ์

ALL POSTS