HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
ยกทีมบริหาร ทรู-ดีแทค โชว์แผนธุรกิจใหม่ ไขข้อข้องใจสังคมหลังควบรวมสำเร็จ
by L. Patt
4 มี.ค. 2566, 20:44
  454 views

การเปิดตัวคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่จดทะเบียนใหม่จากการควบรวมกิจการระหว่าง ซีพี กับ เทเลนอร์ เอเชีย พร้อมนำเสนอกลยุทธ์ในการก้าวไปสู่เทเลคอม-เทค คอมปานี ชั้นนำของไทย เมื่อวันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา ได้รับความสนใจจากกองทัพสื่อมวลชนอย่างมากที่ยังคงเกาะติดการดำเนินนโยบายหลังจากการควบรวมกันแล้ว โดยเฉพาะในประเด็นที่จะมีผลกระทบต่อผู้บริโภค

ในวันถัดมา ผู้บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ก็ไปทำพิธีเปิดการซื้อขายหลักทรัพย์วันแรก หลังพักการซื้อหรือขายหลักทรัพย์เป็นการชั่วคราวเพื่อจัดสรรหุ้นสามัญของบริษัทใหม่ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของทั้งสองบริษัท และการดำเนินการอื่น ๆ โดยทั้งสองบริษัทรวมกัน (Market Capitalization) มีมูลค่าตลาดประมาณ 2.94 แสนบ้านบาท (ณ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566) แต่อดสั่นระฆัง เพราะตลาดหลักทรัพย์บอกว่า ไม่ได้เป็นบริษัทเข้าจดทะเบียนใหม่ที่มีการออก IPO ให้กับประชาชนทั่วไป

วันนี้ ลูกค้าทรูมูฟ เอช  33.8 ล้านและดีแทค 21.2 ล้านเลขหมาย สามารถใช้สัญญาณคุณภาพดีขึ้นจากสัญลักษณ์เครือข่าย dtac-True และ True-dtac บนหน้าจอมือถือ ซึ่งเป็นก้าวแรกในการพัฒนาคุณภาพสัญญาณโมบายล์อินเทอร์เน็ตด้วยการ “โรมมิ่ง” สัญญาณข้ามโครงข่าย เพื่อใช้งาน 5G และ 4G บนคลื่น 2600 MHz  และ 700 MHz โดยลูกค้าดีแทคสามารถใช้งาน 5G บนคลื่น 2600 MHz และลูกค้าทรูสามารถใช้งาน 4G และ 5G คลื่น 700 MHz ซึ่งเปิดให้บริการแล้ว ทั้งนี้จะขยายครบทั้ง 77 จังหวัดประมาณกลางมีนาคมนี้

ทรู คอร์ปอเรชั่น ยืนยัน ว่า บริษัทใหม่มีเป้าหมายในการส่งมอบสินค้าและบริการที่ดียิ่งกว่าเดิมสำหรับผู้บริโภค และจะดำเนินกลยุทธ์ทางการตลาดและการแข่งขันที่สูงเพื่อลูกค้าเราจะได้รับประโยชน์สูงสุด ทั้งการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ครอบคลุมถึงธุรกิจบริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต โทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก และบริการดิจิทัล พร้อมด้วยสิทธิประโยชน์เพื่อลูกค้าของเราอย่างต่อเนื่อง

นอกจากความเท่าเทียมในการควบรวมกิจการ โดยซีพี และเทเลนอร์ ถือหุ้นฝ่ายละประมาณ 30% แล้ว ทั้งสองฝ่ายยังมีข้อตกลงให้บาลานซ์ตัวแทนจากทั้งสองฝ่ายเข้ามานั่งในตำแหน่งบริหารระดับสูง ซึ่ง มนัสส์ มานะวุฒิเวช ได้กุมบังเหียนเป็นปีะธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือ CEO (Cheif Executive Officer)  ขณะที่ ชารัด เมห์โรทรา เป็น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (เดิมคือ CEO ของดีแทค) 

มนัสส์ ถือเป็นนักบริหารรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จในการทำตลาดให้กับทรูวิชั่นส์ และได้ก้าวขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการ ทรู กรุ๊ป ในปี 2564 ก่อนจะมารั้งตำแหน่ง CEO ของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ที่จดทะเบียนจากการควบรวม ทรู กับ ดีแทค 

ทั้งสองฝ่ายมีข้อตกลงในการดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิด "Better Together" ชีวิตดีกว่า เมื่อมีกันและกัน โดยบริษัทใหม่จะได้ประโยชน์ทั้งการผนึกกำลังร่วมกัน (Synergy) ทั้งด้านการลงทุนและรายได้ อาทิ โครงข่ายโทรคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เครือข่ายไอที การจัดซื้อ การขาย การตลาด ช่องทางการค้าปลีก และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน; ขยายขนาด (Scale) และการส่งมอบคุณค่า (Value Creation) ที่มากขึ้น

นอกจากนี้ ทรู คอร์ปอเรชั่น จะขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นผู้นำด้านดิจิทัลในภูมิภาค โดยให้ความสำคัญกับดิจิทัลสตาร์ทอัพซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ บริษัทใหม่จะร่วมกับพันธมิตรระดมทุนจำนวน 200 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 7.3 พันล้านบาท จัดตั้งกองทุน Venture Capital (VC) รวมทั้งจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมที่สนับสนุนผู้ประกอบการดิจิทัลเพื่อวางรากฐานสำหรับผลักดันสู่อนาคตของสตาร์ทอัพไทยในระดับยูนิคอร์น 

กระนั้นก็ตาม ยังเป็นที่จับตาจากสังคมว่า บริษัทใหม่จะมีการกำหนดอัตราค่าบริการต่างๆ อย่างไร โดยก่อนหน้านี้ มีการวิเคราะห์จากหลายฝ่ายถึงผลกระทบต่อผู้บริโภคว่า ผลจากการควบรวมกิจการอาจจะนำไปสู่ค่าบริการที่สูงขึ้น รวมไปถึงความแตกต่างในเรื่องวัฒนธรรมองค์การ และแนวคิดในการดำเนินธุรกิจในอนาคต ทั้งนี้  มีพนักงานดีแทคราว 4,000 คน ที่ยังคงร่วมงานกับบริษัทใหม่ ขณะที่ 300 กว่าคน ตัดสินใจลาออกไป

7 กลยุทธ์หลักสู่เป้าหมายองค์กร   

1. ผู้นำด้านโครงข่ายโทรคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลอย่างแท้จริง (Be the Undisputed Network and Digital Infrastructure Leader ) ซึ่งไม่เพียงสร้างประสบการณ์เครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ แต่จะมุ่งสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการต่อยอดนวัตกรรมบริการดิจิทัลต่างๆ ทั้ง IoT, AI Analytic, Machine Learning, Cyber Security ที่จะช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนวิถีดิจิทัล (Digital Transformation) ทั้งนี้ บริษัทมีแผนจะขยายโครงข่าย 5G ครอบคลุม 98% ของประชากร ในปี 2569 พร้อมพัฒนาและขยายเครือข่ายทั่วประเทศ 

2. เติบโตเป็นผู้นำนอกเหนือจากบริการหลัก เพื่อส่งมอบคุณค่าและประสบการณ์ที่เหนือกว่า (Champion Growth Beyond the Core) โดยมุ่งพัฒนานวัตกรรมด้านดิจิทัล โซลูชัน รวมถึงระบบนิเวศดิจิทัลที่ครบวงจร  

3. สร้างมาตรฐานประสบการณ์ใหม่เพื่อลูกค้าในประเทศไทย (Set the Bar for Customer Experience in Thailand) - ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัล มาช่วยในการวิเคราะห์ เติมเต็มไลฟ์สไตล์ลูกค้าได้ตรงใจมากขึ้น  

4. ยกระดับวิถีชีวิตและไลฟ์สไตล์ของลูกค้า (Enhance Smart Life for Customers) ทั้งความสะดวกสบาย การดูแลสุขภาพ ความปลอดภัย และการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า 

5. ยกระดับมาตรฐานสำหรับลูกค้าองค์กร (Raise Standards for Enterprise Customers) – บริษัทใหม่จะเร่งขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของภาคธุรกิจทั้งลูกค้า SME ธุรกิจองค์กรและภาคอุตสาหกรรม  นำเทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ อาทิ IoT, Robotics, AI Analytics และ Blockchain  พร้อมทำงานร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ สู่การพัฒนานวัตกรรมโซลูชันครอบคลุมทุกมิติ 

6. สร้างสุดยอดองค์กรที่น่าทำงาน (Build the Best Place to Work) โดยมีเป้าหมายเป็นองค์กรแนวหน้าที่ขับเคลื่อนด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการทำงาน ดึงดูดคนเก่งที่มีความรู้ความสามารถจากทั่วโลก เป็นองค์กรที่สนับสนุนกลุ่มคนหลากหลาย ผสานความแตกต่าง ควบคู่กับการสร้างคนให้มีจิตวิญญาณเป็นเจ้าของกิจการ เป็นที่ทำงานที่ตอบโจทย์ความคาดหวังของผู้มีความสามารถ (Talent) ทุกเจนเนอเรชัน พร้อมกับมีสวัสดิการและสุขภาวะที่ดี (Well Being)    

7. การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เพิ่มคุณค่าขับเคลื่อนองค์กรในระยะยาว (ESG Best in class: Sustainable organization to Create Long Term Value) โดยกำหนดเป้าหมายก้าวสู่การเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน Carbon Neutral ในปี พ.ศ. 2573  และ Net zero ภายในปี พ.ศ. 2593 รวมทั้งการลดปริมาณขยะฝังกลบ และขยะอิเล็กทรอนิกส์ภายในปี พ.ศ. 2573     

ขณะเดียวกัน จะลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลโดยเดินหน้าโครงการทรูปลูกปัญญา, dtac Safe Internet,  ดีแทค เน็ตทำกิน โดยมีจุดมุ่งหมายในการสร้างทักษะและเชื่อมต่อดิจิทัลให้กับประชากรกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะประชากรกลุ่มเปราะบาง ซึ่งรวมถึงเด็กและเยาวชน ผู้หญิง ผู้พิการ ชนกลุ่มน้อย กลุ่มคน LGBTI และผู้สูงวัย

ABOUT THE AUTHOR
L. Patt

L. Patt

ALL POSTS