HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
บำรุงราษฎร์ ล้ำไปอีกขั้น เปิดศูนย์ปลูกถ่ายกระจกตา ไม่ต้องรอคิวนานข้ามปี
by L. Patt
1 พ.ย. 2565, 19:22
  757 views

ด้วยความเป็นโรงพยาบาลขั้นจตุตถภูมิ (Quaternary Care) แถวหน้าของไทย บำรุงราษฎร์ยังคงเดินหน้าพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศในการรักษาด้านต่างๆ มากขึ้น ล่าสุด เป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกที่ยกระดับเป็นศูนย์ปลูกถ่ายกระจกตา ให้บริการครอบคลุมทุกการรักษาที่ซับซ้อนเกี่ยวกับกระจกตา และหมดปัญหาที่คนไข้ต้องรอเปลี่ยนกระจกตานานหลายปี

ภญ. อาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า นอกจากโรคต้อหิน และต้อกระจกแล้ว โรคกระจกตาเป็นอีกสาเหตุหลักที่ทำให้ตาบอด ซึ่งเดิมมักจะพบในผู้ป่วยที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันพบว่า อายุเฉลี่ยของคนที่เริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับดวงตาจะลดน้อยลง เนื่องจากการใช้โทรศัพท์มือถือและมีกิจกรรมกลางแจ้งในชีวิตประจำวันมากขึ้น ดังนั้น ทุกคนควรตระหนักถึงความสำคัญในการตรวจสุขภาพตาเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปี ขึ้นไป

กระจกตา คือ ส่วนที่อยู่หน้าสุดของดวงตา เปรียบเสมือนเลนส์ชิ้นหน้าสุดของกล้องถ่ายภาพ ทำหน้าที่ให้แสงผ่าน และหักเหแสงให้มาตกรวมกันที่จอตาด้านในเพื่อการมองเห็นที่ชัดเจนขึ้น หากเป็นโรคกระจกตา ไม่ว่าจะเป็นกระจกตาติดเชื้อ กระจกตาบวม กระจกตาโก่ง รูปร่างผิดปกติ กระจกตาเสื่อมจากพันธุกรรม หรือเป็นแผลเป็นที่กระจกตา อาจส่งผลให้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้

ทำไมต้องปลูกถ่ายกระจกตา

นพ. ธีรวีร์ หงษ์หยก แพทย์ผู้ชำนาญการด้านกระจกตา และผ่าตัดแก้ไขสายตา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อธิบายว่า ปัจจุบัน โรคตาที่เปลี่ยนได้ก็มีแค่ 2 ส่วน คือ กระจกตาด้านหน้า และเลนส์ตาข้างในที่เป็นต้อกระจก หากผู้ป่วยเริ่มมีอาการมองเห็นไม่ชัดหรือเป็นฝ้าหมอกตาไม่สู้แสง ค่าสายตาเปลี่ยนบ่อย สายตาเอียงมากผิดปกติ มองเห็นแสงฟุ้งๆ หรือเห็นแสงเป็นวงรอบเมื่อมองดวงไฟ รู้สึกระคายเคืองเมืองใส่คอนแทคเลนส์ หรือเกิดอุบัติเหตุ กระจกตาเป็นแผลหรือขุ่นมัว ควรมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการโดยเร็ว

ทั้งนี้ มีข้อบ่งชี้หลายประการที่จะต้องใช้วิธีผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตา ได้แก่ กระจกตาที่ขุ่น หรือเบี้ยวผิดรูปไปจนไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่น กระจกตาที่เป็นเนื้อเยื่อบางๆ แค่ 0.5 มม. มีการติดเชื้อหรือเกิดอุบัติเหตุทะลุกระจกตา หรือมีการติดเชื้ออย่างรุนแรงและรักษาด้วยยาไม่ได้ผล ส่วนการปลูกถ่ายกระจกตาเพื่อความงาม ยังไม่มีการให้บริการในประเทศไทย ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมาก

ทุกวันนี้ ด้วยพัฒนาการทั้งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เทคโนโลยีล้ำสมัย และนวัตกรรมใหม่ๆ ทำให้สามารถปลูกถ่ายกระจกตาได้อย่างปลอดภัยและได้ผลลัพธ์ดี โดยคนไข้ฟื้นตัวเร็ว และโอกาสที่ร่างกายจะต่อต้านกระจกตาใหม่มีน้อยลง เนื่องจากเป็นอวัยวะที่ไม่มีเลือด และไม่จำเป็นต้องใช้ยากกดภูมิมาก ซึ่งบำรุงราษฎร์ ได้เริ่มให้บริการปลูกถ่ายกระจกตามาตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน เป็นจำนวนเกือบ 50 ราย

อย่างไรก็ตาม คนไทยส่วนใหญ่ยังต้องรอคอยการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตานาน 3-5 ปี เพราะต้องรอคิวการบริจาคกระจกตาผ่านสภากาชาดไทย ซึ่งมีผู้ป่วยที่ต้องการปลูกถ่ายกระจกตาทั่วประเทศกว่า 17,000 ราย ในขณะที่มียอดบริจาคดวงตาหลังเสียชีวิตเพียง 2% ของประชากรไทย ทำให้แต่ละปีจะมีผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายกระจกตาเพียง 600-700 รายเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ บำรุงราษฎร์ จึงร่วมเป็นเครือข่ายกับธนาคารตา (Eye Bank) ในสหรัฐอเมริกา เพื่อให้บริการปลูกถ่ายกระจกตาทำได้รวดเร็วขึ้น โดยใช้เวลารอเพียง 2-3 เดือนเท่านั้น โดยค่าใช้จ่ายในการปลูกถ่ายกระจกตาเบื้องต้นประมาณ 400,000 บาทต่อราย

ด้าน รศ.พญ. งามจิตต์ เกษตรสุวรรณ ประธานชมรมกระจกตาและการแก้ไขสายตาแห่งประเทศไทย และแพทย์ผู้ชำนาญการด้านกระจกตา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า วิธีการปลูกถ่ายกระจกตา จะเป็นการผ่าตัดเอากระจกตาที่ขุ่นหรือเป็นโรคออก แล้วปลูกถ่ายด้วยกระจกตาของผู้บริจาค ซึ่งนอกจากจะทำให้การมองเห็นดีขึ้นแล้ว ยังช่วยเสริมความแข็งแรงของกระจกตาในกรณีที่ผู้ป่วยมีกระจกตาบางหรือทะลุ และช่วยควบคุมการติดเชื้อที่กระจกตาได้อีกด้วย โดยบำรุงราษฎร์จะใช้กล้องผ่าตัดรุ่นใหม่ ที่เรียกว่า Microscope-integrated intraoperative optical coherence tomography ช่วยการแยกชั้นกระจกตาในระหว่างผ่าตัดได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ส่งผลให้การรักษามีความแม่นยำมากขึ้น

การปลูกถ่ายกระจกตาแบ่งได้เป็น 3 ชั้น คือ ชั้นผิวของกระจกตา ชั้นกลางที่เป็นส่วนที่หนาที่สุด และชั้นในซึ่งเป็นชั้นเซลล์บางๆ ประมาณ 10-15 ไมคอน ที่มีหน้าที่ดูดน้ำออกจากกระจกตาทำให้กระจกตาใส ถ้าผู้ป่วยมีความผิดปกติ หรือมีพยาธิสภาพที่กระจกตาทุกๆ ชั้น จะต้องมีการปลูกถ่ายเปลี่ยนกระจกตาทุกชั้น

ส่วนอีกประเภทคือ การปลูกถ่ายกระจกตาเฉพาะชั้น หมายถึง การปลูกถ่ายกระจกตาเฉพาะชั้นเยื่อบุโพรงกระจกตาหรือกระจกตาชั้นใน ถือเป็นการผ่าตัดชั้นสูงขึ้นไปอีก และต้องใช้เทคโนโลยีที่สามารถตรวรจวินิจฉัยได้ว่า มีความผิดปกติที่กระจกตาชั้นไหน แม้แต่ความผิดปกติชั้นในที่เป็นเซลล์ก็สามารถปลูกถ่ายได้แล้ว ซึ่งเป็นชั้นมีความซับซ้อนละเอียดอ่อนมากที่สุด

ในบางกรณี แพทย์ต้องวิเคราะห์อาการของโรคว่า คนไข้มีทั้งโรคกระจกตาเสื่อมที่เซลล์ชั้นในร่วมกับต้อกระจกหรือไม่ เพราะหากทำการรักษาต้อกระจกอย่างเดียว อาจทำให้เซลล์เสียหายมากขึ้น ฉะนั้น จึงจำเป็นต้องมีเทคโนโลยีขั้นสูงขึ้น เพื่อจะวิเคราะห์และวางแผนการผ่าตัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รศ.พญ. งามจิตต์ ยังแนะอีกว่า กระจกตาโก่ง เป็นโรคที่พบกันเยอะมาก และเตือนพ่อแม่ที่มีลูกเล็กๆ จะต้องห้ามไม่ให้เด็กขยี้ตาอย่างเด็ดขาด ถ้าพบว่ามีอาการเคืองตามาก ตาแดง มีขี้ตา น้ำตาไหลเยอะ ต้องมาพบแพทย์ทันที

แม้คนไทยจะมีปัญหาเกี่ยวกับดวงตากันมากขึ้น แต่ 50% ของโรคทางตาเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ ฉะนั้น บำรุงราษฎร์จึงรณรงค์ให้คนไทยมีการตรวจสุขภาพสายตาอย่างสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของดวงตา

 

ABOUT THE AUTHOR
L. Patt

L. Patt

ALL POSTS