HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
ทุนทางวัฒนธรรม สร้างโมเดลใหม่ ต่อลมหายใจเซรามิกลำปาง
by L. Patt
11 ก.ค. 2565, 11:42
  1,551 views

จากโจทย์ที่ต้องการแก้ปัญหาธุรกิจชุมชนซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางก็เจอทางรอด ฟื้นฟูทุนทางวัฒนธรรมล้านนา ถ่ายทอดอัตลักษณ์อันงดงามสู่ดีไซน์เซรามิกร่วมสมัย

ถ้าเอ่ยถึงลำปาง คนก็มักจะถึงรถม้า กับเครื่องปั้นเซรามิก โดยเฉพาะถ้วยชามตราไก่ที่สืบทอดกันมาเกือบ 70 ปี แต่วันนี้ โรงงานขนาดเล็กที่เป็นธุรกิจครอบครัวต้องเผชิญกับสาระพัดปัญหา ยิ่งมาเจอสถานการณ์โควิด-19 ก็ทำให้ผู้ประกอบการหลายแห่งต้องปิดตัวลง บางแห่งก็หยุดการผลิตเป็นเวลาหลายเดือน

รศ. ธิติมา คุณยศยิ่ง อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง หัวหน้าโครงการจัดการทุนทางวัฒนธรรมท้องถิ่นเพื่อรักษาคุณค่าสู่การยกระดับมูลค่าทางเศรษฐกิจของเซรามิก จังหวัดลำปาง ด้วยการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เล่าว่า กว่าหนึ่งปีที่ผ่านมา ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง ลงพื้นที่สำรวจเก็บข้อมูลอย่างละเอียดใน 13 อำเภอ และระดมความคิดเห็นจากผู้ประกอบการ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชน นักวิชาการที่มีองค์ความรู้เรื่องทุนทางวัฒนธรรม รวมไปถึงการจัดการด้านการตลาด ในที่สุด ก็ได้ข้อสรุปร่วมกันและนำไปสู่การเริ่มต้นกระบวนการฟื้นฟูอุตสาหกรรมเซรามิกลำปาง

ทีมวิจัย ได้ร่วมกับ 12 โรงงานระดับครัวเรือนที่มีลูกจ้างไม่เกิน 9 คน และสมัครใจเข้าร่วมโครงการนำร่อง โดยมีการปรับปรุงเทคนิคการผลิต น้ำยาเคลือบ  และสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย โดยอิงเอกลักษณ์ดั้งเดิมของวัฒนธรรมล้านนา จังหวัดลำปาง ไม่ว่าจะเป็นลวดลายของวัดพระธาตุลำปางหลวง จิตกรรมฝาผนัง หรือการละเล่นของจังหวัดลำปาง มาใช้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์เซรามิก เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า

แต่ละโรงงานจะมีการผลิตสินค้าไม่ซ้ำกัน เช่น โรงงานบ้านปั้นแต่งดินเผา จะพัฒนาผลงานกระถางปลูกต้นไม้จากแนวคิด "ลายคำล้านนา" โรงงานเสมียน จะพัฒนาระฆังเซรามิกจากแนวคิด "ลายคำจั๋งโก๋" โรงงานฆ้อนทองเซรามิก โรงงาน ก. เซรามิก ปั้นกระถางปลูกต้นไม้จากแนวคิด "นาคทัณฑ์หรือคันทวย"  โรงงานประภาสิทธิ์เซรามิก ออกแบบชุดสปาจากแนวคิด "ลายเตาเมืองวัง" และโรงงานลีลามิค ทำแจกันจากแนวคิด "เครื่องแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์" เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีการรวมตัวกัน 5 โรงงานขนาดเล็ก ทดลองกรรมวิธีการผลิตจากเดิมที่ใช้ดินขาวเพียงอย่างเดียว มาเป็นการนำดินพื้นบ้านมาผสม เป็นการใช้เทคนิคใหม่ในการทำทั้งเนื้อดิน และน้ำยาเคลือบ โดยอาศัยองค์ความรู้มาต่อยอดภูมิปัญญาดั้งเดิม ทำให้ระยะเวลาการเผาสั้นลง ใช้อุณหภูมิต่ำลง ซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิตลงได้

รศ. ธิติมา กล่าวว่า นอกจากได้แนวคิดการปรับปรุงสินค้าเซรามิกแล้ว ทีมงานวิจัยได้ทดลองสร้างช่องทางจำหน่าย โดยริเริ่มผลิต "ระฆังอธิษฐาน" ไปจัดจำหน่ายที่วัดพระธาตุดอยพระฌาม (พระอมิตาภพุทธะ) หลวงพ่อใหญ่ ไดบุทสึ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง โดยได้รับความร่วมมือกับเจ้าอาวาสในการออกแบบจุดแขนระฆังเพื่อเป็นสิริมงคลให้เข้ากับบรรยากาศของวัด พร้อมทั้งจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งปรากฎว่า ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคในการแขวนระฆังพร้อมเขียนคำอธิฐานขอพรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม เสมียน  เสนาบูรณ์ ซึ่งเรียนจบทางด้านเซรามิก และเปิดโรงงานเสมียนเซรามิกมากว่า 20 ปี ยอมรับว่า ผู้ประกอบการเซรามิกลำปาง ยังคงเผชิญกับความท้าทายที่ต้องหาทางแก้ไขเพื่อสานต่อภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่คู่กับวิถีชุมชน โดยเฉพาะดินขาวที่เป็นวัตถุดิบหลักและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเซรามิกลำปาง จะขาดแคลนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเนื่องจากข้อจำกัดในการขอประทานทานบัตรเหมืองแร่ดินขาว ประกอบกับแรงงานมีฝีมือทั้งการปั้นและวาดลวดลายหายาก ซึ่งเป็นปัญหาของทุกโรงงาน

รศ. ธิติมา กล่าวว่า ทีมวิจัยยังคงศึกษาไปถึงแนวทางการขยายตลาดเซรามิกให้กว้างขึ้น ซึ่งรวมถึงช่องทางการขายสินค้าออนไลน์ แต่ผู้ประกอบการจะต้องพัฒนาสินค้าให้มีความหลากหลาย ดีไซน์ทันสมัย ตลอดจนเรื่องบรรจุภัณฑ์ และการขนส่ง เพื่อให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์และความต้องการของผู้บริโภคยุคปัจจุบัน

ขณะเดียวกัน ทีมวิจัย เตรียมเสนอขอสนับสนุนทุนจาก บพท. เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาย่านวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นในจังหวัดลำปาง เพื่อให้สามารถำนำเสนอสินค้าใหม่ๆ ที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมพื้นถิ่นตามแนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ควบคู่ไปกับองค์ความรู้ด้านการตลาด ซึ่งไม่เพียงสร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการชุมชน หากแต่ก่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนได้อีกด้วย

ABOUT THE AUTHOR
L. Patt

L. Patt

ALL POSTS