นครราชสีมา, อุบลราชธานี, อุดรธานี และ ขอนแก่น 4 เมืองตัวแทนภาคอีสานในคู่มือมิชลิน ไกด์ ประเทศไทย ปี 2566
มิชลิน ไกด์ รุกก้าวสู่ปีที่ 6 ด้วยการขยายขอบเขตการคัดสรรร้านอาหารครอบคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ “ภาคอีสาน” ของไทย
‘มิชลิน ไกด์’ ประเทศไทย ขยายขอบเขตคัดสรรร้านอาหารเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือ “ภาคอีสาน” ของไทย โดยคู่มือมิชลิน ไกด์ ประเทศไทย ประจำปี 2566 ซึ่งเป็นฉบับที่ 6 ของไทย ที่มีกำหนดเผยแพร่ปลายปี 2565 นี้ เลือก นครราชสีมา, อุบลราชธานี, อุดรธานี และ ขอนแก่น เป็น 4 เมืองตัวแทนอีสาน ที่จะสะท้อนอัตลักษณ์อาหารอีสานที่โดดเด่นและมีรสชาติจัดจ้าน ตลอดจนแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่หลากหลาย
‘มิชลิน ไกด์’ จับมือกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมแถลงข่าวการขยายขอบเขตคัดสรรร้านอาหารครั้งนี้ ซึ่งทางเกว็นดัล ปูลเล็นเนค (Gwendal Poullennec) ผู้อำนวยการฝ่ายจัดทำคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ทั่วโลก บอกว่าเป็นจังหวะที่เหมาะมากๆ หลังจากข่าวดีเรื่องการผ่อนผันการเดินทางของประเทศไทยที่จะเกิดขึ้น ในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้
การขยายขอบเขตครั้งนี้ไม่ใช่เป็นการเพิ่มแค่จังหวัดเดียวแต่เป็น 4 หัวเมืองอีสาน นครราชสีมา, อุบลราชธานี, อุดรธานี และ ขอนแก่น เข้าเป็นตัวแทนของ 20 จังหวัดของภาคอีสาน” ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดของไทย และมีอัตลักษณ์อาหารอีสานที่โดดเด่นและมีรสชาติจัดจ้าน ตลอดจนแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่หลากหลาย
ทั้งนี้ทางผู้ตรวจสอบของมิชลินได้เริ่มดำเนินการค้นหาร้านมาติดดาวและกล่าวถึงในลิสต์ความอร่อยแล้ว ซึ่งทุกคนล้วนแต่ตื่นเต้น รวมถึงท่านผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นายยุทธศักดิ์ สุภสร ที่กล่าวว่า "ส่วนตัวแล้วผมเป็นคนอีสาน และผมตื่นเต้นที่จะได้เห็นไกด์ของปีหน้ามาก แทบจะอดใจรอไม่ไหว"
ผู้ว่าททท. กล่าวเสริมบนเวทีแถลงข่าวว่า ตัวเขาเองเคยคุยกับทางมิชลินเมื่อ 5 ปีที่แล้ว และเมื่อทางมิชลินถามว่าอยากเห็นจังหวัดไหนในไกด์ เขาตอบทันทีว่า อุดรธานี ซึ่งในครั้งนี้ดูเหมือนว่าจะได้สมหวัง
มร. เกว็นดัล ปูลเล็นเนค (Gwendal Poullennec) ผู้อำนวยการฝ่ายจัดทำคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ทั่วโลก เปิดเผยว่า ผู้ตรวจสอบของมิชลินประทับใจที่ชาวอีสานยังคงปรุงอาหารจากวัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่น อย่างสดใหม่ ถึงแม้ว่าจะมีซุปเปอร์มาร์เก็ตขึ้นอย่างดาดดื่น
เขากล่าวเสริมว่า อาหารอีสานที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นและรสชาติจัดจ้าน ซึ่งแม้จะใช้วิธีการประกอบอาหารที่เรียบง่าย ไม่ว่าจะเป็นการต้ม, ย่าง, นึ่ง หรือตุ๋นด้วยไฟอ่อน (Slow Cooking) แต่กลับให้รสชาติที่ลึกซึ้งและซับซ้อน ทั้งยังมีเทคนิคการถนอมอาหารที่ถือเป็นจุดเด่นของอาหารอีสานและแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาพื้นบ้านในการหมักดองปลาและผักตามฤดูกาลให้สามารถเก็บไว้ใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับประกอบอาหารได้นานขึ้น โดยมีเครื่องปรุงรสพื้นฐานในครัวอีสานอย่าง “ปลาร้า” ที่ทำจากการนำปลาในท้องถิ่นมาหมักกับเกลือและข้าว เป็นวัตถุดิบยอดนิยมที่ใช้ใส่ในอาหารและน้ำจิ้มต่างๆ แทบทุกจาน ทั้งยังได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติมาตั้งแต่ปี 2555
"นอกไปจากนั้นมีคนอีสานจำนวนมากที่ไปทำงานในระดับต่างประเทศ และเชฟชาวอีสานได้นำความรู้และความชำนาญกลับมาช่วยยกระดับวงการอาหาร และนอกจากนั้นหลายคนยังเปิดร้านอาหารของตัวเองอีกด้วย" มร.ปูลเล็นเนค กล่าว
อาหารอีสานมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ โดยได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากอาณาจักรสุโขทัยและเขมรโบราณ รวมทั้งจากประเทศเพื่อนบ้าน พื้นที่ที่ราบสูงและเทือกเขาของอีสานเหมาะกับการทำปศุสัตว์ นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งปลูกข้าวคุณภาพสูง ทั้งข้าวหอมมะลิที่โด่งดังไปทั่วโลกและข้าวเหนียว อาหารอีสานส่วนใหญ่จะไม่ใช้อาหารทะเลเป็นวัตถุดิบเนื่องจากพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ไม่ติดกับทะเลหรือมหาสมุทร แต่เนื่องจากภูมิภาคนี้มีแม่น้ำหลายสายไหลผ่าน โดยเฉพาะแม่น้ำแม่โขง จึงมีปลาน้ำจืดจำนวนมากให้เลือกใช้เป็นวัตถุดิบประกอบอาหาร
โดยอาหารอีสานมี“ปลาร้า” ที่ทำจากการนำปลาในท้องถิ่นมาหมักกับเกลือและข้าว เป็นวัตถุดิบยอดนิยมที่ใช้ใส่ในอาหารและน้ำจิ้มต่างๆ แทบทุกจาน ทั้งยังได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติมาตั้งแต่ปี 2555
นายยุทธศักดิ์ กล่าวในวาระที่ทาง ททท. ได้ต่อสัญญาอีก 5 ปีกับทางมิชลินไกด์ว่า การจัดทำคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ประเทศไทยตลอด 5 ปีที่ผ่านมา มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุน ททท. ส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยบนเวทีโลกในฐานะแหล่งท่องเที่ยวด้านวัฒนธรรมอาหารมาก ในขณะที่บรรดาร้านอาหารต่างพยายามพัฒนาคุณภาพและบริการเพื่อให้ได้มาตรฐานตามเกณฑ์ของ ‘มิชลิน ไกด์’… ยังช่วยสร้างการรับรู้และสร้างกระแสการท่องเที่ยวเชิงอาหาร หรือ Gastro-tourism ให้กับทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติในวงกว้างมากขึ้น
โดยจำนวนร้านอาหารในคู่มือฯ ที่เพิ่มขึ้นทุกปี ...ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการรุกดำเนินการสำรวจพื้นที่ใหม่ในภูมิภาคต่าง ๆ ของไทยเพื่อค้นหาร้านอาหารที่ดีที่สุด จากเดิมคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ประเทศไทย ฉบับปฐมฤกษ์ ปี 2561 กับคู่มือฉบับล่าสุด ปี 2565 พบว่า และร้านอาหารติดดาวมิชลิน เพิ่มขึ้นจาก 17 ร้าน เป็น 32 ร้าน และร้านที่ได้รับรางวัล ‘บิบ กูร์มองด์’ จาก 35 ร้าน เป็น 133 ร้าน
ขณะที่ขอบเขตพื้นที่ในการเข้าไปดำเนินการคัดสรรและจัดอันดับร้านอาหารในแต่ละปีก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากที่คู่มือฉบับปี 2561 ครอบคลุมเฉพาะเขต “กรุงเทพมหานคร” จนล่าสุดคู่มือฉบับปี 2565 ครอบคลุมถึง 5 จังหวัด ได้แก่ “กรุงเทพมหานคร พระนครศรีอยุธยา เชียงใหม่ ภูเก็ตและพังงา และในปี 2566 เราจะได้เห็นร้านอาหารจากนครราชสีมา, อุบลราชธานี, อุดรธานี และ ขอนแก่น เข้ามาอยู่ในลิสต์
“ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีศักยภาพสูง ทั้งในแง่วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ด้านอาหาร, สถานที่ท่องเที่ยวในท้องถิ่น ตลอดจนเสน่ห์ของวิถีชาวบ้าน นอกจากการเดินทางตามรอยร้านอร่อยในภาคอีสานที่คู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ คัดสรรมาให้แล้ว นักเดินทางทุกวัยยังสามารถเที่ยวชมสถานที่ท่องเที่ยวหลากรูปแบบ อาทิ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดนครราชสีมาและได้รับเลือกเป็นหนึ่งในมรดกโลกทางธรรมชาติโดยองค์การยูเนสโก, อุทยานแห่งชาติผาแต้ม จังหวัดอุบลราชธานี, แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี และพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง จังหวัดขอนแก่น” นายยุทธศักดิ์ กล่าว
นอกจากนี้ภาคอีสานยังมีสินค้าประเภทอาหารและหัตถกรรมที่โด่งดังมากมายสำหรับเลือกซื้อเป็นของขวัญของฝาก จนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์มากถึง 34 รายการ ผมเชื่อว่าคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ประจำปี 2566 ที่มีกำหนดเผยแพร่ปลายปีนี้ จะทำให้ผู้คนทั่วโลกได้รับรู้ถึงบรรยากาศที่โดดเด่นของแวดวงอาหารในภาคอีสาน และมีส่วนช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้