รวมศิษย์เรียนรำ ร่วมรำลึกเรือนละครแห่งบ้านปลายเนิน
ความสงบเงียบของเรือนไทยใต้ร่มไม้ใหญ่ที่แสนจะร่มรื่นหายไปทันที เมื่อสาวหลายรุ่นที่ได้ชื่อว่าเป็นคณะ “นางรำแห่งบ้านปลายเนิน” ทยอยเดินทางมาถึงตำหนักไทยใน “วังปลายเนิน” หรือ “บ้านปลายเนิน” อันเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ หรือสมเด็จครู เพื่อซ้อมรำก่อนออกโรงครั้งใหญ่ในงานฉลองวันเกิดครบ 7 รอบของหม่อมราชวงศ์เอมจิตร จิตรพงศ์ หรือคุณหญิงเล็ก ผู้ซึ่งเป็น “หลานปู่” ของสมเด็จครู ในวันที่ 17 มกราคม 2563
เมื่อมาถึงแล้วต่างก็กระวีกระวาดเข้าไปกราบครูรัตติยะ วิกสิตพงศ์ ศิลปินแห่งชาติสาขานาฏศิลป์ประจำปี 2560 ผู้สอนสาวๆ เหล่านี้มาตั้งแต่ยังวิ่งเล่นกระโดดหนังยางกันอยู่จนกระทั่งวันนี้ที่คุณครูอายุมากถึง 84 ปีแล้ว แต่ยังกระฉับกระเฉงและขับรถมาเอง ก่อนจะแยกย้ายกันจับกลุ่มคุยอัพเดตชีวิตกันเสียงจ้อกแจ้กเหมือนเมื่อตอนยังเด็ก พร้อมกับหยิบผ้าแดงมาช่วยกันนุ่งโจงกระเบนอย่างรู้งาน
สาว ๆ กลุ่มนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของโรงเรียนละครบ้านปลายเนิน ที่เกิดขึ้นจากความตั้งใจของพระทายาทในราชสกุลจิตรพงศ์ที่สืบสายพระโลหิตสมเด็จครู ที่ตั้งใจสืบทอดนาฏศิลป์และดนตรีไทยให้คงอยู่สืบไป โดยจัดพื้นที่ ที่เรียกกันว่า “เรือนละคร” อันเป็นเรือนไม้สีเขียวขนาดไม่ใหญ่นักให้เป็นที่ชุมนุมเด็กชายหญิงมากมายหลายรุ่นได้มารวมตัวกันเรียนโขน ละคร และดนตรีไทยทุกวันเสาร์ มานานกว่า 40 ปี แต่เพิ่งหยุดไปเมื่อ 3 ปีก่อน เพื่อปรับปรุงสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ในวังปลายเนิน
Happening BKK มีโอกาสได้มาชมการซ้อมรำของศิษย์เก่าที่เคยร่ำเรียนมาและฝึกฝนมาจากบ้านปลายเนิน พอได้เวลา ทุกคนเข้าประจำที่ มีการชุลมุนเล็กน้อย เพราะก่อนหน้านี้ต่างคนเคยมาพบหน้าพร้อมกันเพียงครั้งเดียวหลังจากห่างหายกันไปเป็นปีเพื่อซ้อมท่ารำ จากนั้นแยกย้ายกันไปซ้อมแบบตัวใครตัวมันที่บ้านของตนเอง โดยดูคลิปวีดีโอที่คุณครูถ่ายท่ารำไว้ให้ เพราะแต่ละคนต่างมีภารกิจการงานและครอบครัวที่ต้องดูแล ไม่สามารถมาซ้อมพร้อมกันได้
เพลงที่ใช้รำอวยพรในครั้งนี้พิเศษมาก เพราะครูที่กรมศิลปากรเป็นผู้บรรจุเพลงถวาย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ขณะซ้อม มีความผิดพลาดทางเทคนิคกันเป็นระยะ ๆ ลืมท่ากันบ้าง แขนชนกันบ้างด้วยความจำกัดของพื้นที่ หรือบางครั้งนางรำคิดว่าท่ารำยังไม่ลงตัว มีการประท้วงกันบ้าง ทั้งนางรำและครูถกเถียงกันในวง ช่วยกันเสนอ และทดลองปฏิบัติ จนกว่าจะเข้าที่ เรียกว่าเป็นคณะรำที่มีประชาธิปไตยกันมากๆ
“นิ่ม” มริษฎา อินทรทูต น้องเล็กของกลุ่มที่เพิ่งเปิดบริษัทออร์กาไนซ์ของตนเองเล่าว่า “พี่ชายมาเรียนโขนที่นี่ค่ะ เราตามมาวิ่งเล่น ตอนนั้นแค่ 4 ขวบ พออายุถึงก็มาเรียน เหมือนมาเล่นกับเพื่อนมากกว่า ได้แสดงเป็นผีเสื้อวิ่งไปวิ่งมาออกมาดมดอกไม้” “แป๊บ” ปานเกศ ศาตะมาน ผู้ยึดการรำและเล่นดนตรีไทยเป็นอาชีพ เล่าเสริมว่า “ทีแรกมาเรียนเพราะแม่ไม่อยากให้อยู่ว่างๆ ปกติเราต้องเริ่มจากเรียนรำเพลงช้า เพลงเร็ว รำแม่บท ตอนเด็กๆ เราเบื่อเพลงช้า ก็ขอครูไปเข้าห้องน้ำ ซ่อนอยู่ในนั้น แล้วแอบฟังพอเพลงช้าใกล้จบเราค่อยออกมา ตอนหลังพี่ๆ จับไต๋ได้ พี่ไก่อู (นทนีย์ นันทาภิวัฒน์) คอยไปลากตัวออกมาจากห้องน้ำ แล้วไงล่ะ ทุกวันนี้กลายเป็นอาชีพเลยค่ะ”
“ตอนแรกเวลามาเรียนแต่ละเสาร์ แม่ต้องซื้อรถเหล็กคันเล็กๆ เป็นของล่อใจทุกครั้ง จนสิบขวบกว่า ๆ ก็รักในการรำและไม่ต้องติดสินบนอีกต่อไปแล้ว จำได้ว่าเวลาเรียนคุณหญิงเล็กท่านมีเครื่องเล่นเทป ก็จะเปิดเสียงให้ดังครืดๆ เป็นการเรียกนักเรียน ท่านมีจิตวิญญาณครูจริงๆ ” ไก่อู-นทนีย์ นันทาภิวัฒน์ หนึ่งในนางรำเล่าให้ฟัง
ส่วนสองพระนางประจำบ้านปลายเนิน “ฝ้าย” พัทรี อิศรเสนา ณ อยุธยา และ “น้ำ” สิริมน ณ นคร นอกจากจะมีความทรงจำที่สนุกสนานเช่นเดียวกับคนอื่นๆ แล้ว ยังเล่าด้วยว่าสิ่งที่ได้เรียนจากโรงเรียนละครบ้านปลายเนินได้สร้างความภูมิใจอย่างมาก โดยเฉพาะได้เมื่อได้รับคัดเลือกให้ร่วมแสดงในมหกรรมรามเกียรติ์ของอาเซียนซึ่งจัดเป็นครั้งแรกที่ศูนย์วัฒนธรรม และมีคณะนาฏศิลป์จากทุกชาติที่มีการแสดงโขนและรามเกียรติ์มาแสดง ซึ่งทั้งสองคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “เราไม่เคยคิดว่าเราเป็นโปร แต่ได้มีโอกาสแสดงกับนักแสดงอาชีพจากหลายประเทศ”
“จิงโจ้” โชติรส นันทาภิวัฒน์ ที่ตามไก่อู ผู้เป็นน้องสาวมาเรียนที่บ้านปลายเนิน เล่าในอีกมุมหนึ่งว่า “เพิ่งมาค้นพบประโยชน์จากการรำตอนที่มาวิ่งมาราธอนคือ ไปตรวจแล้วหมอบอกว่าไม่เคยเจอใครที่มีทั้งความแข็งแรงและยืดหยุ่นมากขนาดนี้มาก่อน พอมานึกดูแล้วก็นึกออกว่าคงเป็นเพราะรำนี่แหละที่ทำให้เรามีความยืดหยุ่นมากๆ”
หม่อมหลวงสุธานิธิ จิตรพงศ์ “คุณแจ๋ว” พระปนัดดาของสมเด็จครู ที่เริ่มมาเรียนรำเพราะ “อยากมาเล่น” ด้วยบรรยากาศน่าสนุกมีแต่เด็กในรุ่นราวคราวเดียวกันมาวิ่งเล่น คุณแจ๋วมีความทรงจำร่วมกับนางรำทุกคนที่ได้เริ่มต้นจากการแสดงเป็นกระต่าย ผึ้ง วิ่งไปวิ่งมาก่อนจะพัฒนามาแสดงแบบเป็นเรื่องเป็นราวในละครดึกดำบรรพ์ที่มีบทสนุกสนาน เล่าให้เราฟังว่าเธอเคยสนุกสนานกับบท นางค่อม ในเรื่องอิเหนา และนางเฒ่า ในเรื่องหลวิชัย คาวี เพราะเป็นตัวละครที่มีสีสัน ได้ออกท่าออกลีลา สนุก
“พอปรับปรุงวังปลายเนินเสร็จ อยากเปิดโรงเรียนละครอีกครั้ง ระหว่างนี้ต้องเตรียมหลักสูตร เพราะอยากให้เป็นกลุ่มเล็กๆ เรียนได้อย่างมีคุณภาพ อยากให้เป็นโรงเรียนที่มีสมดุลระหว่างจำนวนนักเรียนกับสถานที่ เพื่อให้โรงเรียนนี้สืบสานมรดกของชาติต่อไปอีกนาน ๆ” คุณแจ๋วกล่าวในฐานะพระทายาทและศิษย์เก่า
บรรยากาศแห่งความอบอุ่น ความสนุกสนานของศิษย์บ้านปลายเนินที่มาร่วมรำลึกถึงกันในวันนี้ สะท้อนให้เห็นถึงการบ่มเพาะเพื่อสร้างความเข้าใจ ความรัก และความหลงใหลในนาฏศิลป์ และดนตรีไทยที่ได้รับมาในวัยเด็กจากเรือนละครแห่งนี้ และในอนาคตเรือนละครแห่งบ้านปลายเนินจะกลับมาทำหน้าอีกครั้ง เพื่อรักษาและสืบสานมรดกสำคัญของชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงละครดึกดำบรรพ์ให้คงอยู่ต่อไป
บ้านปลายเนิน ต้นกำเนิดละครดึกดำบรรพ์
เมื่อเอ่ยถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ คนส่วนมากจะรำลึกถึงพระองค์ท่านในฐานะผู้ทรงเป็นปราชญ์ทางด้านสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม การออกแบบในเชิงนฤมิตศิลป์ รวมทั้งการช่าง ทั้งนี้เพราะทรงได้รับการถวายพระสมัญญานามว่า “นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม”
แต่ความจริงแล้วสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นี้ทรงพระปรีชาสามารถในเชิงวรรณศิลป์และการดนตรีเป็นอย่างยิ่ง พระองค์ได้ทรงนิพนธ์ทำนองเพลงไว้หลายเพลง สำหรับเพลงไทยเดิมที่คนไทยจำนวนมากคุ้นหูก็น่าจะเป็นเพลงเขมรไทรโยค ที่ไม่ว่าใครก็ตามที่เรียนดนตรีไทยชนิดไหน ๆ ก็ล้วนต้องหัดเรียนเพลงเขมรไทรโยคกันทั้งนั้น อีกเพลงที่เป็นเพลงพระนิพนธ์ที่คนไทยทุกคนล้วนรู้จักเป็นอย่างดีก็คือเพลงสรรเสริญพระบารมี ที่พระองค์ท่านทรงนิพนธ์คำร้องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2431 เพื่อใช้ในพระราชพิธีลงสรงของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรกของไทย ซึ่งต่อมาได้นำมาใช้เป็นต้นแบบของเพลงสรรเสริญพระบารมีที่ใช้กันในปัจจุบัน
พระอัจฉริยภาพอีกด้านของพระองค์ท่านคือการละครในรูปแบบที่เรียกขานกันว่า “ละครดึกดำบรรพ์” โดยในปี พ.ศ. 2434 พระยาเทเวศรวงษ์วิวัฒน์ (หม่อมราชวงศ์หลาน กุญชร) ได้เดินทางไปยุโรปและได้มีโอกาสชมโอเปร่าซึ่งสร้างความประทับใจกับท่านเป็นอย่างยิ่ง
เมื่อเดินทางกลับมายังประเทศไทย ท่านได้กราบทูลเล่าให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงทราบถึงการแสดงชนิดนี้ และทำให้พระองค์ท่านมีพระประสงค์จะปรับปรุงการแสดงละครในพระราชสำนักอย่างที่เรียกกันว่าละครในให้มีวิวัฒนาการมากขึ้น เช่นการทำฉากประกอบเพื่อช่วยเสริมจินตนาการของผู้ชมให้สนุกยิ่งขึ้นจากการแสดงแบบเดิมที่มีเพียงตั่ง และความที่พระองค์ท่านทรงมีฝีพระหัตถ์เป็นเลิศในเชิงศิลป์ จึงทรงสามารถออกแบบฉากให้ผู้ดูรู้ว่าเรื่องดำเนินไปในสถานที่แบบไหน มีสภาพอย่างไร เกิดปรากฏการณ์ใดขึ้นบ้าง โดยทรงนำใช้เทคนิคใหม่ ๆ เข้ามาใช้ สำหรับการดำเนินเรื่องนั้นก็ทรงหาวิธีที่จะทำให้กระชับขึ้น มีการนำบทเจรจามาใช้แทนการร่ายรำเพียงอย่างเดียว รวมทั้งมีการนำฉันทลักษณ์อื่น ๆ มาประกอบเช่น นำเพลงพื้นเมือง การขับเสภา การนำเพลงกล่อมเด็ก ฯลฯ รวมทั้งนำการละเล่นต่าง ๆ มาสอดแทก อย่าง การจับระบำ การฟ้อน การเล่นแม่งู การร้องประสานเสียงเพลงเต่าเห่ ฯลฯ มาเพื่อเพิ่มอรรถรส ซึ่งโดยรวมลักษณะละครที่วิวัฒนาการขึ้นมาจากโอเปร่านั้นเรียกขานกันว่าละครดึกดำบรรพ์
นอกจากเรื่องฉาก และวิธีการแล้ว สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ยังได้นิพนธ์บทละครดึกดำบรรพ์ไว้หลายเรื่อง เช่น อิเหนา ตอนตัดดอกไม้ฉายกริช ตอนไหว้พระ และตอนบวงสรวง รามเกียรติ์ ตอนศูรปนขาตีสีดา หลวิชัย คาวี ตอนเผาพระขรรค์ ตอนชุบตัว และตอนหึง รวมทั้งสังข์ทอง ตอนทิ้งพวงมาลัย ตอนตีคลี และตอนถอดรูป เป็นต้น
ภาพโดย หม่อมหลวงตรีจักร จิตรพงศ์
เรื่องโดย Ohnabelle, โลจน์ นันทิวัชรินทร์