Did you see any pattern? งานออกแบบลายผ้าของสถาปนิกสาวจากแรงบันดาลใจจากสิ่งใกล้ตัว
เมื่อก่อน มีแต่ห้องเสื้อแบรนด์ระดับโลกเท่านั้นที่จะออกแบบลายพิมพ์ผ้าของตัวเองได้ แต่เดี๋ยวนี้ ดิจิตอลเทคโนโลยีเปิดโอกาสให้พิมพ์ลวดลายด้วยอิงค์เจทได้ดังใจในจำนวนที่ต้องการ
อั้น—เกวลิน พิมพ์สอน สถาปนิกสาวเก๋ นำเทคโนโลยีนี้มาใช้ในการสร้างงานศิลปะ ออกแบบจัดองค์ประกอบลวดลายด้วยการวาดมือ พิมพ์ออกมาเป็นผ้าหลา ผ้าพันคอ และทำรองเท้าแฮนด์เมด เป็นผลงานทีควรค่าแก่การสวมใส่และเก็บสะสม สวนกระแสฟาสต์แฟชั่นที่เสื้อผ้ามาไวและไปเร็วแทบจะใช้แล้วทิ้ง...
เธอเริ่มออกแบบลวดลาย จากความชอบในการวาดรูป และได้แรงบันดาลใจจากสิ่งใกล้ตัว
“จุดเริ่มต้นของงานออกแบบลายผ้า คือ การอยากทำอาชีพนักออกแบบลายแพทเทิร์น ซึ่งจริงๆตอนนั้นไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาเรียกอาชีพนี้ว่าอะไร เพราะในบ้านเราไม่มีอาชีพนี้ที่เฉพาะเจาะจง แต่ก็เริ่มจากการชอบวาดรูปอยู่แล้ว“
“การวาดรูปเริ่มจากการวาดแบบแยกองค์ประกอบค่ะ หมายถึง วาดเป็นชิ้นๆ แล้วเอามารวมเป็นเรื่องราว การวาดแบบนี้มันสามารถนำมาประกอบเป็นแพทเทิร์นผ่านการจัดเรียงในโปรแกรมได้ แรงบันดาลใจแรกเริ่มมาจาก วิถีชีวิต ความเป็นอยู่แบบไทยๆ แบบบ้านๆ ชอบทานอาหารไทยๆ ซึ่งอาหารเหล่านี้ก็เป็นที่รู้จักแพร่หลาย”
“แพทเทิร์นแรกๆ จะเป็นพวกอาหารค่ะ เช่น ลายแกงส้ม ต้มยำ ข้าวเหนียวมะม่วง และขนมไทย เป็นต้น มันเกิดจากความที่เราชอบกินอาหารธรรมดาๆแบบนี้ คลุคลีอยู่กับอะไรเดิมๆ ทำอะไรซ้ำๆ เวลากลับไปบ้านที่นครสวรรค์ เมนูอาหารที่อยากให้แม่ทำให้กินก็จะเดิมๆ เรามีความสุขกับการทำอะไรซ้ำๆ มันเลยเกิดเป็นแพทเทิร์นของความสุข ที่มาพร้อมความอร่อยด้วย”
“หลังจากนั้นก็เริ่มแตกยอดเป็นแพทเทิร์นของดอกไม้ ใบหญ้า ที่อยู่รอบตัวเราในวิถีชีวิตชนบทเพราะได้กลับไปใช้ชีวิตที่นครสวรรค์ พักใหญ่ๆเลยมีอะไรให้วาดเต็มไปหมดเลย ช่วงหลังๆอั้นได้มีโอกาสออกแบบลายผ้าเพื่อจำหน่ายมากขึ้น หมายถึง มีการพิมพ์ผ้าออกมาเป็นม้วนๆ แล้วตัดขายทำร่วมกับร้านผ้า JFabric เป็นผ้า Cotton จากโรงงานเกาหลี”
ลวดลายของผ้าม้วนส่วนหนึ่งมาจากแพทเทิร์นที่สะสมไว้มากมาย นอกจากนี้ ยังมีเวิร์คชอปที่เปิดสอนมาตลอดช่วง 2-3 ปี และนำผ้าที่ออกแบบเองมาทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ อย่างกระเป๋าและรองเท้าแฮนด์เมดด้วย
“พอดีเจอกับผู้ผลิตรองเท้าที่เป็นงานแฮนเมดเลยลองทำ เป็นรองเท้าสวม รูปแบบง่ายๆ เรียบๆ แต่เราใส่ความพิเศษโดยตัวลายผ้าของเราที่ออกแบบเอง มีหลายลาย แต่มันค่อนข้างมีข้อจำกัดตรงที่ เราไม่ได้สั่งมาสต๊อคเยอะๆแบบมีทุกเบอร์ เราอยากทำในขนาดเล็กไปก่อน เบอร์ส่วนมากก็จะมี 38,39,40 ให้ลูกค้าได้พอเห็นผลิตภัณฑ์ของเราบ้าง ซึ่งรองเท้าสำหรับแบรนด์ Did you see any pattern?แล้วก็ถือว่าเป็นสินค้าที่แปลกไปจากแนวสินค้าเดิมๆ มาก อย่างพวกกระเป๋าหรือเสื้อค่ะ เหมือนกับตอนนี้อั้นก็กำลังวางแนวทางรูปแบบของสินค้าให้มันหลากหลาย ได้ทั้งกลุ่มวัยรุ่น วัยทำงาน ผู้ใหญ่ อนาคตก็อาจจะมีสินค้าอื่นๆออกมา เช่น ของแต่งบ้าน เครื่องครัว เป็นต้นค่ะ”
“การไปออกบูธขายของหรือการฝากขายตามร้านจะมีโอกาสขายได้ง่ายกว่าขายออนไลน์ค่ะ เพราะลูกค้าได้เห็นของจริง ได้ลองใส่ ถูกใจก็ซื้อเลย มีลูกค้าในเพจสั่งทีเดียว 3 คู่ เพราะเค้าเคยซื้อตอนที่อั้นไปออกบูธแถวๆเจริญกรุง ก็ทำให้เราประทับใจมากขึ้นไปอีกค่ะ”
โอกาสของแบรนด์ไทยในยุคของฟาสท์แฟชั่น...
“อั้นมองว่ามีค่ะ ยอมรับว่าฟาสท์แฟชั่นก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เราต้องคิดทบทวนว่า งานของเราเป็นแฟชั่นหรือปล่าว เราต้องการแบบมาไวไปไวมั้ย อั้นอยากวางเป้าหมายให้งานของอั้นเป็นงานที่อยู่เรื่อยๆ อยู่ยาวๆ โดยมีเรื่องราวบอกเล่าถึงความคิดถึงวิถีชีวิตไทยๆ ที่เราสัมผัสผ่านประสบการณ์ของคนที่พบเห็น งานของอั้นมันจะมีกลิ่นอายของความไทยแบบบ้านๆ ความทรงจำในวัยเด็ก หรือวิถีชีวิตแบบคนเดินถนน สตรีทฟู้ดต่างๆ ซึ่งเป็นที่ขึ้นชื่อของบ้านเรา จึงเกิดเป็น Did you see any pattern?”
นิยามของ Did you see any pattern?...
“แบรนด์แพทเทิร์นที่ชวนเรามองหาความสุขเล็กๆที่ซ่อนตัวอยู่ในวิถีชีวิตที่จำเจของเรา แฝงไปด้วยการนำเสนอ เรื่องราวในประเทศไทยอีกรูปแบบนึงให้ชาวต่างชาติได้คิดถึงประเทศเรา เป็นการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวให้เมืองไทยเราอีกด้วยค่ะ เพียงขอให้ storyแข็งแรง และสามารถผลิตสินค้าออกมาได้สอดคล้องกันกับconcept ให้ผู้ที่ชื่นชอบได้ซื้อหาไว้เป็นที่ระลึก เป็นของฝาก หรือใช้เองก็สามารถทำให้แบรนด์เราเติบโตได้ค่ะ ก็เป็นจุดเริ่มต้นในความยั่งยืนได้ค่ะ”
FB: Did you see any pattern ?