Trappist beer: (เบียร์) รสพระทำ ดีที่สุดในโลก
Trappist beer เบียร์จากวัดในเบลเยียมเป็นเบียร์ที่ดีที่สุดในโลและหาดื่มยากมาก
วัดอะไรเอ่ยไม่มีน้ำมนต์ ไม่มีน้ำศักดิ์สิทธิ์ แต่มีเบียร์ขายเพื่อนำรายได้มาทำนุบำรุงวัดสืบทอดกิจการของสงฆ์
วัดในเบลเยียม!
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าพระในเบลเยียมนอกจากได้รับอนุญาตให้ทำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในวัดได้แล้วยังสามารถขายเป็นสินค้าเพื่อนำเงินมาทำนุบำรุงวัดได้อีกต่างหาก นั่นเป็นเพราะวัดในเบลเยียมไม่ได้จัดกฐินหรือผ้าป่าเพื่อเรี่ยไรเงินจากญาติพี่น้องที่มีจิตศรัทธาให้นำเอาปัจจัยไปถวายพระ เพราะฉะนั้นพระก็ต้องทำงานเหมือนคนทั่วไปเพื่อสร้างรายได้ให้กับวัดนั่นเอง
และไม่เชื่อก็ต้องเชื่ออีกว่า เบียร์ที่พระในเบลเยียมหมักหรือ Trappist beer (นับจากบรรทัดนี้เราขอเรียกว่า “เบียร์พระทำ”) นั้นได้ชื่อว่าเป็นเบียร์ที่ดีที่สุดในโลกอีกด้วย
ถึงกระนั้นมันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกนักที่พระในยุโรปจะทำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปัจจุบันก็ยังมีบ้าง เช่นในฝรั่งเศส ซึ่งการผลิตเครื่องดื่มภายในวัด (monastic alcohol) ถือว่าเป็นวิถีชีวิตอย่างหนึ่งของพระนิกายคาธอลิค หลายแห่งอาจจะไม่ใช่พระทำเองแต่ทำการว่าจ้างแรงงานมาทำเบียร์หรือไวน์ภายในบริเวณวัด ซึ่งในเบลเยียมเองก็มีเบียร์ในลักษณะคล้ายกันนี้ เรียกว่า abbey beer พระที่ทำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดก็คือ Dom Perignon จากฝรั่งเศส ภายหลังก็กลายเป็นชื่อแชมเปญที่แพงที่สุดนั่งเอง (ไว้ตอนหน้าจะมาพูดกันถึงชนิดของเบียร์ที่มีขายตามท้องตลาดว่าชนิดไหนเหมาะสำหรับกินอย่างไร ต้องกินกับอาหารประเภทไหน)

เรื่องราวของเบียร์ชนิดนี้มีอยู่ว่า Trappist เป็นชื่อเรียกนักบวชนิกาย Cistercian ซึ่งเดิมอยู่ประเทศฝรั่งเศส (ไม่ใช่เบลเยียมอย่างที่คิดกัน) ก่อตั้งในศตวรรษที่ 12 เป็นนิกายที่เข้มงวดมาก ยึดหลักว่าพระต้องสวดมนต์ ทำพิธีการเกี่ยวกับวัด ต้องใช้แรงงาน (ของพระ) และต้องอยู่แบบพอเพียง พระนิกายนี้จะผลิตสิ่งของและอาหารที่ตนเองต้องใช้ต้องกิน แรกเริ่มพระจะดื่มแต่น้ำเปล่าเท่านั้น ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงกฏให้พระดื่มเครื่องดื่มที่คนในท้องถิ่นดื่มได้ เมื่ออยู่ฝรั่งเศส พระก็สามารถผลิตไวน์ได้เหมือนชาวบ้าน พอเข้าสมัยการปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolution 1789-1799) พระนิกายดังกล่าวถูกรัฐคุกคาม โบสถ์และวิหารถูกยึดและถูกปิดตาย พระ Trappist ต้องหนีออกจากประเทศฝรั่งเศส ไปสวิสเซอร์แลนด์ เข้ารัสเซีย ท้ายสุดมาปักหลักอยู่ที่เมือง Westmalle ใกล้ Antwerp ประเทศเบลเยียม เนื่องจากคนเบลเยียมดื่มเบียร์เป็นหลัก พระจึงเริ่มต้นผลิตเบียร์เพื่อดื่มเหมือนชาวบ้าน

ปัจจุบันมีเบียร์ที่เรียกตัวเองว่าเป็น Trappist อยู่ 14 ชนิด แต่มีเพียง 12 ชนิดที่ได้รับฉลากว่าเป็น Authentic Trappist Product นั่นคือ
- จากประเทศเบลเยียม 6 ชนิดคือ Westmalle (1836), WestVleteren (1838), Chimay (1862), Rochefort (1899), Orval (1931), Achel (1998)
- จากประเทศฮอลแลนด์ 2 ชนิดคือ La Trappe (1884), Zundert (2013)
- จากประเทศออสเตรีย คือ Gregorius และ Benno (2012)
- จากประเทศสหรัฐอเมริกา คือ Spencer (2013)
- จากประเทศอิตาลี คือ Tre Fontane (2015)
- และจากประเทศอังกฤษ คือ Tynt Meadow (2018)
การที่เบียร์จะได้รับฉลาก Trappist นี้ไม่ใช่ง่ายๆ เพราะนอกจากจะต้องเป็นพระนิกาย Cistercian เท่านั้นที่เป็นผู้ผลิตเบียร์ดังกล่าว ก็ยังมีกฏอีก 3 ข้อที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดคือ
- เบียร์ต้องผลิตภายในรั้วของวัดนั้นๆ
- การผลิตต้องทำโดยนักบวช หรืออยู่ภายใต้การควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดของนักบวช
- รายได้จากการขายต้องนำไปบำรุงวัดและให้นักบวชในวัดใช้ยังชีพเท่านั้น ห้ามขายเพื่อเอากำไร
โดยทั่วไปแล้วเบียร์ Trappist ไม่จำเป็นต้องมีสีเข้ม หรือมีปริมาณแอลกอฮอล์สูง หากตอบสนองกฏข้างบนก็สามารถไปขอขึ้นทะเบียนเป็น Trappist beer ได้
มารู้จัก Trappist beer หรือเบียร์พระทำของเบลเยียม
แต่วันนี้เราจะมาพูดถึง Trappist ของเบลเยี่ยมเท่านั้น เพราะมีความคุ้นเคยมากกว่าของที่อื่น นอกจากลองดื่มเองแล้วก็ยังใช้เวลาว่างศึกษาข้อมูล และอาศัยการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับผู้มีความรู้เวลาไปนั่งดื่มที่ Stamcafe อยู่เป็นประจำ
เริ่มผลิตปี 1997 โดยความช่วยเหลือจาก Trappist จาก Westmalle ที่นี่เป็นโรงเบียร์ Trappist ที่ใหม่ที่สุดของเบลเยี่ยม ตอนสมัยสงครามโลกทั้งสองครั้ง โรงเบียร์นี้ถูกทหารเยอรมันปิดและทำลายเพื่อที่จะเอาทองแดง (จากหม้อต้ม) ไปทำอาวุธ โรงเบียร์น้องใหม่นี้ผลิตเบียร์หลายชนิด มีอัลกอฮอล์ตั้งแต่ 5%-9.5% แต่มีขายตามร้านแค่ 2 ชนิดคือ Achel 8 blond และ Achel 8bruin
ส่วนชนิดอื่นๆ ถ้าอยากชิมต้องไปชิมที่วัดเท่านั้น (ตามวัดเหล่านี้จะมีผับเปิดตอนกลางวันให้คนไปดื่มเบียร์ที่วัดทำ)
ก่อตั้งโดยนักบวชจาก Westvleteren ที่ต้องการหนีออกมา ‘หาประสบการณ์ใหม่ๆ’
ผลิตหลักๆ ก็มี 4 ชนิด (ช่วงคริสมาสต์ก็จะมีรุ่นพิเศษออกมาบ้างตามอัธยาศัย)
La Chimay Doree (blond) 4.8%
Chimay red 7%
Chimay Triple 8%
Chimay blue 9%
(ชื่อสีด้านบนคือสีที่ปรากฎบนฉลาก)

เบียร์ยี่ห้อนี้มีความน่าสนใจอย่างนึงคือ โรงเบียร์ของที่นี่ผลิตเบียร์ให้ Trappist แห่งนึง ของฝรั่งเศสด้วย แต่เบียร์อันนั้นไม่สามารถใช้โลโก้ Trappist ได้เพราะไม่ทำตามกฏที่ว่าเบียร์ต้องผลิตภายในวัดของตนเองเท่านั้นห้ามไปอาศัยคนอื่นผลิต ที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ เบียร์ที่ว่าคือ Trappist ของ Mont des Cats ซึ่งวัดนี้เป็นวัดแรกในประวัติศาสตร์ของ Trappist beer ที่ผลิตเบียร์ Trappist และก็เคยได้รับโลโก้ว่าเป็น Trappist เบียร์จริงๆ แต่ต่อมาภายหลังทางวัดไม่มีโรงผลิตเบียร์เองต้องมาให้ทาง Chimay ผลิตให้ ก็เลยต้องสูญเสียโลโก้ไป

เบียร์ยี่ห้อนี้มีความแตกต่างกว่าเบียร์พระทำยี่ห้ออื่นๆ ตรงที่เป็นมีวางขายตามร้านค้าเพียงรสเดียว เพราะเบียร์รสอื่นๆ ที่ผลิตโดยพระจะวางขายเฉพาะที่วัดเท่านั้น ใครอยากจะลองชิมความหลากหลายต้องเดินทางไปที่วัดเท่านั้น
เนื่องจากเบียร์นี้เป็น Trappist แห่งเดียวที่ใช้ wild yeast ทำให้รสชาติออกเปรี้ยวนิดๆ นอกจากนี้ยิสต์ชนิดนี้ยังทำให้น้ำตาลที่ใส่ในขั้นตอนการผลิดเปลี่ยนเป็นแอลกอฮอล์ทั้งหมด จึงทำให้ Orval เป็นเบียร์ Trappist ที่มีแคลอรี่ต่ำสุด
หากมองบนฉลากเบียร์ดีๆ จะเห็นรูปปลาเทร้าท์คาบแหวนทอง ตามตำนานการก่อตั้งวัดนี้ มีเรื่องเล่าว่ามีดัตเชสคนนึงเดินทางผ่านแหล่งน้ำในหุบเขาแห่งนึง เธอก้มลงใช้มือวักน้ำจากลำธารดื่ม แหวนทองของเธอจึงหล่นลงไปในลำธาร เธอจึงสวดขอพระเจ้าให้นำแหวนมาคืน ทันใดน้ันปลาเทร้าท์แสนรู้ก็ผุดหัวขึ้นมาพร้อมกับแหวนทองของเธอ เธอตื่นเต้นมากถึงกับร้องออกว่า Val d’Or (หุบเขาสีทอง) นั่นคือที่มาของชื่อเบียร์

วัดที่ผลิตเบียร์ Rochefort ตั้งอยู่ในภูมิประเทศคล้ายๆ กับวัดที่ผลิตเบียร์ Oval คือมี บรรยากาศเหมาะสมสำหรับผู้ชอบเดินป่าเขา หรือนักท่องเที่ยวผู้รักธรรมชาติ หลังจากเดินป่ามาเหนื่อยๆ ก็มาจบที่ผับของวัด นั่งดื่มเบียร์ Trappist ที่โด่งดังของที่นี่ วัดนี้ก็เคยต้องหยุดการผลิตเบียร์ไปสองครั้งเมื่อสมัยสงครามโลกทั้งสองครั้ง ถึงวันนี้วัดนี้มีพระอยู่ 15 รูปที่ยังอาศัยอยู่ในวัด
เบียร์รุ่นแรกผลิตในปี 1899 มีรสชาติพิเศษเนื่องจากใช้น้ำจากแหล่งน้ำภายในบริเวณวัดเอง มี 3 ชนิด
Rochefort 6 - 7.5%
Rochefort 8 - 9.2%
Rochefort 10 - 11.3% เป็น Trappist ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์สูงที่สุด
ตัวเลขตามหลังชื่อ บ่งบอกความเข้มข้นของเบียร์ไม่ใช่ประมาณแอลกอฮอล์

Trappist ที่เป็นที่นิยมมากที่สุดยี่ห้อหนึ่งและหาดื่มได้ทั่วไป มีขายตามร้านทั่วไปอยู่ 2 แบบ คือ
Westmalle Dubbel (Bruin) 7%
Westmalle Tripel (Blond) 9.5%
Westmalle Extra หาดื่มได้เฉพาะที่วัด ผลิตขึ้นเป็นพิเศษปีละสองครั้ง มีประมาณแอลกอฮอล์แค่ 4.8% ไม่มีวางขายตามร้านเพราะผลิตให้พระในวัดดื่มเป็นหลัก
กูรูเรื่องเบียร์ให้ข้อสังเกตว่า Westmalle Tripel มีกลิ่นของกล้วยสุกๆ
ปี 2005 Westmalle ได้รับเลือกจากผู้อ่าน The New York Times จากทั่วโลกว่าเป็นเบียร์ที่ดีที่สุด
ปี 2012 Westmalle ได้รับเหรียญทองจากงาน World Beer Cup

Trappist ที่หาซื้อยากที่สุดของเบลเยี่ยมเพราะวัด Sint-Sixtusabdij หรือ St Sixtus Abbey จะผลิตประมาณ 60,000 ลังต่อปีเท่านั้น และมีกฏห้ามวางขายตามร้านหรือในร้านอาหาร เมื่อก่อนกว่าจะได้เข้าถึงรสเบียร์พระทำจากวัดนี้เป็นเรื่องที่แสนจะลำบาก เพราะใครที่อยากดื่มจะต้องโทรไปสั่งจองที่วัดและทำตามขั้นตอนที่วัดกำหนดเท่านั้น เบอร์โทรศัพท์มีเพียงเบอร์เดียว หลายคนพยายามโทรแต่กดจนมือหงิกก็ไม่ติดจนเลิกล้มความตั้งใจไปก็หลายนัยว่าไม่มีบุญได้เข้าถึงรสเบียร์พระทำ แต่ถ้าวันไหนโชคเข้าข้างกดปุ๊บติดปั๊บก็สามารถสั่งจองได้แค่สองลังเท่านั้น เวลาโทรจองจะต้องบอกทะเบียนรถที่จะขับไปรับ รับได้เฉพาะวันและเวลาที่ทางวัดกำหนดเท่านั้นต่อรองไม่ได้ ไปสายหรือไปไม่ได้ รถทะเบียนนั้นเข้าอู่ก็ถือว่าบุญมีแต่กรรมบังและหมดสิทธิเข้าถึงรสพระทำต้องไปเริ่มต้นจองใหม่ วิธีการจ่ายเงินก็ห้ามจ่ายเงินสด ไม่รับบัตรเครติด รับบัตรเดบิตอย่างเดียวเท่านั้น
เพราะฉะนั้นถ้าโชคดีได้ซื้อเบียร์นั่นก็แปลว่าคุณจะหมดสิทธิ์ไปอีก 60 วัน พอครบกำหนดจึงจะเริ่มโทรจองได้อีก ทั้งนี้เพราะทางวัดต้องการให้คนทั่วไปมีโอกาสได้เข้าถึงรสเบียร์พระทำกันถ้วนหน้า
แต่ระยะหลังทางวัดพบว่ามีพ่อค้าคนกลางเล่นไม่ซื่อไปแฮ็คระบบโทรศัพท์ทำให้ตัวเองสามารถโทรได้ตลอดและกันไม่ให้คนอื่นโทรเข้าได้เพื่อจะเอาไปขายต่อในราคาที่สูงกว่าเดิม วัดจึงแก้ปัญหาด้วยการประกาศยกเลิกระบบโทรจองทางโทรศัพท์ไปเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และพัฒนาระบบการจองซื้อเบียร์ใหม่ โดยการทำการว่าจ้างคนทำระบบการจองออนไลน์ จดจำทะเบียนรถที่เข้ามาซื้อแบบอัตโนมัติ ทันทีที่ขับรถเข้าไปรับเบียร์ก็มีระบบเซ็นเซอร์จดจำป้ายทะเบียนรถได้ทันที
การเปิดให้จองออนไลน์ในปัจจุบันนี้จะเปิดเพียงแค่เดือนละสองวันผ่านทางเว็บ http://www.trappistwestvleteren.be เฉพาะวันพุธเว้นวันพุธ ระหว่างเวลาบ่ายโมงถึงห้าโมงเย็นเท่านั้น ระบบจองจะมีการคัดเลือกคนโดยอัตโนมัติซึ่งระบบการจองใหม่ก็แสนจะฉลาดจำขาประจำได้แต่ไม่เลือก จะเลือกคนหน้าใหม่หรือคนที่ไม่ค่อยซื้อ เพื่อเปิดโอกาสให้คนได้เข้าถึงรสพระทำกันในวงกว้างขึ้น
คนไทยได้ยินก็คงคิดทันทีว่า แหม่! จะไปยากอาร๊ายยยย ก็เปลี่ยนทะเบียนรถที่ใช้จองและรับของสิ ถ้าอยู่เมืองไทยก็คงทำได้ไม่ยากเท่าไหร่เพราะแต่ละบ้านมีรถกันหลายคันเหลือเกิน แต่บังเอิญว่าคนเบลเยียมไม่มีบ้านไหนมีรถหลายๆ คันจอดไว้ดูเล่น บางทีเงินก็ไม่สามารถจะซื้อได้ทุกอย่าง
พระวัดนี้บอกไว้ว่าทางวัดไม่มีนโยบายจะเพิ่มกำลังการผลิต เพราะวัดนี้เป็นวัดเล็กๆ และผลิตเบียร์ตามกำลังเท่านั้น ในแต่ละปีพระในวัดจะมีตาราง “ทำงาน” แน่นเอี๊ยด การผลิตเบียร์เป็นเพียงหนึ่งในหน้าที่หลายๆ อย่างของพระวัดนี้ ในตารางจะมีวันที่ผลิตเบียร์ได้ประมาณ 40 วันต่อปีเท่านั้น และขั้นตอนทำเบียร์แต่ละขวดใช้เวลาถึง 16 สัปดาห์ รายได้ที่ได้จากเบียร์ก็คือไปใช้จ่ายประจำวันและบูรณะซ่อมแซมวัดเท่านั้น ไม่ได้ทำเพื่อหวังกำไร เพราะพระที่นี่อยู่กันแบบสมถะจริงๆ รถที่ใช้ก็เป็นรถบรรทุกใช้ขนเบียร์ ไม่ได้มีรถสปอร์ตหรือรถโบราณขับไปหาญาติโยมแต่อย่างใด หากพระที่นี่จะไปไหนมาไหนก็ใช้จักรยานหรือนั่งรถประจำทางกัน
