HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
ถ่ายรูปด้วยใจสไตล์ “วิศรุต”
by ซัมเมอร์
16 มี.ค. 2562, 02:09
  1,898 views

วิศรุต อังคทะวานิช เล่าเรื่องการใช้ใจถ่ายภาพ ที่ทำให้รูปปลากัดไทยว่ายน้ำไปไกลทั่วโลก

        ถ้าคุณเคยสงสัย ว่าซื้อกล้องใหม่จะถ่ายรูปได้ดีขึ้นหรือเปล่า ต้องแบกเลนส์กระบอกข้าวหลาม หรือใช้โทรศัพท์รุ่นไหนรูปถึงจะออกมาได้ดังใจ และรูปที่ดีเป็นแบบไหน ไอจีสวยคืออะไร เราจะพาไปฟังวิศรุต อังคทะวานิช เล่าเรื่องการใช้ใจถ่ายภาพ ที่ทำให้รูปปลากัดไทยว่ายน้ำไปไกลทั่วโลก...

Photos by Visarute Angkatavanich 

        วิศรุตบอกว่า ก่อนอื่น เราต้องดูที่ความหมายของการถ่ายภาพ ในยุคที่กล้องมือถือทำได้แทบทุกอย่าง และทุกคนก็ถ่ายรูปได้ โดยไม่จำเป็นต้องเรียนรู้เทคนิคการใช้กล้อง แต่ความรวดเร็วง่ายดายก็ทำให้เรากดชัตเตอร์กันมากมายจนลืมนึกถึงความหมายของการถ่ายรูป ดูแล้วยังนึกไม่ออกว่าถ่ายที่ไหนเพราะอะไร

       แล้วภาพแบบไหนถึงจะเป็นภาพถ่ายที่ดี...คำตอบก็คือ เป็นภาพที่ตอบโจทย์ของคนถ่าย ทั้งบันทึกความทรงจำ ทำข่าวสารคดี โฆษณาเปลี่ยนทัศนคติ หรือทำงานศิลปะที่ดีต่อใจ

       การบันทึกความทรงจำ ภาพอาจจะไม่ต้องสวยงาม ไม่จำเป็นต้องหลังเบลอจัดแสงภาพที่มีค่าที่สุดอาจเป็นภาพถ่ายตอนเด็กที่เห็นห้องรกในบ้าน มีรายละเอียดของช่วงเวลาที่จะไม่หวนกลับมาอีก โดยไม่ต้องเน้นเทคนิคองค์ประกอบ ส่วนภาพข่าวสารคดี แก่นคือข้อเท็จจริง ไม่ควรมีการรีทัชตกแต่งใดๆ แม้แต่ปรับสีหรือแสง ส่วนงานโฆษณาไม่ได้เน้นความจริงที่เกิดขึ้น แต่เป็นความจริงในเชิงคอนเสปต์ เล่าเรื่องของสินค้า ให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย องค์ประกอบ สี ที่เลือกใช้ เป็นการจงใจที่จะสื่อ สำหรับภาพที่เราถ่ายเพื่อศิลปะ ดีต่อใจของเรา อยากทำอะไรก็ได้เต็มที่ รวมทั้งรีทัช เวลาดูภาพอาจต้องดูว่าเขาถ่ายเพื่ออะไร จะได้เข้าใจตรงกัน

        “Be original, be yourself, be better you”

        เราจะพัฒนาการถ่ายภาพของเราได้อย่างไร?เราอาจพัฒนาโลกภายนอกหาความแปลกใหม่ อุปกรณ์ ซึ่งต้องใช้เงิน หรือ จะพัฒนาตัวเราเอง ที่ไม่ต้องใช้เงินมาก เทคนิคอุปกรณ์ลอกเลียนกันได้ แต่ตัวตน ถ้าเราไปลอกเลียนใคร นั่นคือเรื่องตลก เพราะการ่ถ่ายภาพเป็นการสะท้อนตัวเราเองออกมา ถ้าเราพยายามเป็นคนอื่น ภาพของเราจะดูไม่จริงและเสแสร้ง 

       

       “พัฒนาการใช้ชีวิต แทนที่จะซื้อกล้องใหม่”เทคนิคใหม่ความคิดเหมือนเดิม ภาพก็ออกมาเหมือนเดิม เพราะเรายังไม่ได้เปลี่ยนตัวเอง ทั้งในเรื่องเทคนิคและศิลปะที่เป็นความรู้สึก ซึ่งไม่มีไม้บรรทัดวัด ไม่ต้องเชื่อตามนักวิจารณ์ เป็นเรื่องความรู้สึกที่เรามีต่อภาพนั้น เราไม่จำเป็นต้องชอบโมนาลิซ่ากันทุกคนเป็นรสนิยม เหมือนอาหาร เราชอบหวาน คนอื่นชอบเผ็ด เราจะบอกเผ็ดไม่อร่อยก็ไม่ใช่

        

         “เราใช้กล้องแทนปากกาในการถ่ายทอดเรื่องราว” จึงต้องรู้จักสิ่งที่เราจะถ่าย ยิ่งเรามีความรู้เรื่องนั้นมาก เราก็จะถ่ายรูปออกมาได้ดี ต้องรู้จักก่อนจะมีเรื่องเล่า ถ้าเรารู้จักสิ่งที่เราถ่ายมากพอ อย่างบุคลิกของคนที่เราจะถ่าย ไม่ใช่แค่คนยิ้มให้กล้อง แต่ถ้าเรารู้จักเขา เราก็จะดึงคาแรคเตอร์ออกมา เวลาเราถ่ายรูปอะไรก็ตาม ต้องรู้จักสิ่งที่เราถ่าย อย่างวิศรุตถ่ายปลากัดมามาก ถ้าไม่รู้พฤติกรรมปลา อาจจะไม่ได้รูปอย่างที่เขาถ่าย เช่น เอาตัวผู้มาวางด้วยกันมันจะพอง โชว์ออฟ ไล่กัน เป็นต้น 

        “ทัศนคติมีผลต่อการถ่ายรูป ทัศนคติเปลี่ยนไป ภาพก็จะเปลี่ยนตาม” ถ้าเราถ่ายสิ่งที่เรารู้สึกลบ รูปก็ออกมาไม่สวย ตอนเริ่มถ่ายรูปใหม่ๆ วิศรุตออกไปเดินถ่ายรูปกรุงเทพ รู้สึกว่าเสาไฟฟ้า สายไฟฟ้ารุงรัง ถ่ายไปไม่กี่ปีก็หยุดถ่าย รู้สึกติดกับภาพที่เห็นในหนังสือภาพว่าเมืองที่เจริญต้องสวยงามแบบญี่ปุ่น ลอนดอนมีตึกสวยๆ ทัศนคติกับกรุงเทพในการถ่ายภาพเป็นลบมาตลอด แต่พอมีการถ่ายรูปมากขึ้น มีประสบการณ์ชีวิตมากขึ้น เดินทางไปหลายๆ ที่ เขาเริ่มรู้สึกแล้วว่า สายไฟรกๆ กับแทกซี่สีชมพูเขียวเหลืองแสบตาเป็นเสน่ห์ของกรุงเทพซึ่งที่อื่นไม่มี พอทัศนคติเปลี่ยนไป เขาก็กลับมาเดินถ่ายรูปกรุงเทพใหม่ ในวันที่อากาศไม่ร้อน ด้วยมุมมองที่ต่างจากเดิม        

     “ถ่ายได้ ถ่ายเป็น ถ่ายเก่ง ถ่ายรูป” วิศรุตมองว่าความต้องการของช่างภาพก็คล้ายความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ คือปัจจัยสี่ การยอมรับของสังคม อย่างแรกคือถ่ายได้ ใครๆ ก็ตามที่จับกล้องก็จะอยู่เลเวิลนี้คือถ่ายเหตุการณ์ ความประทับใจ แล้วบางคนจะอยากไปมากกว่านี้ ก็คือถ่ายเป็น ศึกษาเทคนิค อุปกรณ์ เลนส์ต่างๆ จากนั้นคือถ่ายเก่ง ต้องการชื่อเสียง สังคม เงินทองจากสิ่งที่ถ่ายภาพ แล้วถึงจะถ่ายรูป คือบรรลุอิสรภาพในการสร้างสรรค์ ซึ่งก็จะมีกับดักในแต่ละสเตป ซึ่งไม่ใช่ว่าขึ้นมาได้เรื่อยๆ คุณอาจจะติดอยู่ที่บางขั้นก็ได้

        “ยอดไลค์คือกับดัก” สุดท้ายเป็นเรื่องของถ่ายรูปที่หลุดพ้น คือบรรลุ มีอิสระในการสร้างสรรค์ ไม่ได้ยึดติดว่าถ่ายไปลงเฟสแล้วคนกดไลค์เยอะๆ ไม่แคร์ไลค์ เราแค่อยากถ่ายรูป คนอื่นชอบไม่ชอบก็ไม่เป็นไรแต่เราต้องชอบก่อน แล้วจะหวนคืนสู่เบสิกคือถ่ายรูป ทำตามที่ใจชอบ เราก็ต้องรู้ว่าตอนนี้เราอยู่เลเวลไหน อยากไปต่อไหม บางทีไม่จำเป็นต้องไปต่อ มีความสุขก็พอแล้ว ไม่เป็นไร แต่ขั้นถ่ายเป็นนี่เป็นกับดัก คือติดอุปกรณ์ จากนั้นก็ติดถ่ายเก่ง ลงแล้วต้องมีคนกดไลค์ ทำให้เราไปต่อไม่ได้

        “เราต้องดูเป้าหมาย ถ่ายงานก็ทำตามโจทย์ แต่รูปที่เราถ่ายเพื่อศิลปะ ถ่ายเพื่อตัวเองเพื่อความสุข ก็เป็นตัวของตัวเองไม่ต้องแคร์ไลค์ ไม่ตามเทรนด์เพราะถ้าตามเราจะไม่มีวันกลายเป็นเทรนด์เซ็ตเตอร์”

        “ทุกวันนี้ สิ่งที่มีค่าจริงๆ คือความแปลกใหม่ เวลาจะถ่ายภาพ ให้นึกถึงตรงนี้เอาไว้” การสร้างสรรค์ที่ดีต้องมีความเป็นoriginal เป็นสิ่งที่คนอื่นเป็นไม่ได้ การทำตามคนอื่นไม่มีประโยชน์ โลกต้องการภาพที่ไม่เคยมี สิ่งที่คุณหาไม่ได้ในกูเกิ้ล ไอเดียใหม่ วิฌ่วลที่ไม่เคยเห็นมาก่อน หรือสิ่งที่แปลก ซึ่งอาจเป็นของเดิมในมุมมองใหม่ก็ได้ 

        คุณไม่จำเป็นต้องเดินทางไกล หนึ่งปีคุณไปฟูจิได้กี่ครั้ง คุณอาจถ่ายรูปสิ่งที่อู่หลังบ้าน ในมุมมองใหม่ ทำแล้วกทำใหม่ มีไอเดียได้เรื่อยๆ กับสิ่งเดิม อย่ามองข้ามสิ่งใกล้ตัว สิ่งที่เรามี วัฒนธรรมไทย

 Photos by Visarute Angkatavanich 

       ก่อนวิศรุตจะถ่ายปลากัด ช่างภาพที่ถ่ายกันทั่วไปจะเน้นขายปลา ตัวแบนๆ เห็นสีชัดเจน แต่วิศรุตสนใจปลา และเลี้ยงตั้งแต่เด็ก นั่นคืออดีตและประสบการณ์ที่สร้างตัวตนของเขา แต่เท่านั้นยังไม่พอ เขาตั้งใจจะเป็นตัวเองให้ดีขึ้น ไปดูงานประกวดปลา เห็นมันวิ่งไล่กัน ประทับใจและถ่ายภาพตอนกำลังว่ายน้ำออกมา แต่หลังจากถ่ายปลากัดแปดปี ก็อยากให้มีแง่มุมที่ไม่ซ้ำเดิม จึงต้องเปลี่ยนวิธีถ่าย จัดแสง ขนาดตู้ปลา การเคลื่อนไหว และมีสายพันธุ์สีสันใหม่ๆ ที่พัฒนามาเรื่อยๆ เช่นลายปลาคาร์ฟ 

 

        "สุดท้ายคุณต้องสนุกกับมัน” ถ้าหมดความสนุก หมดแพชชั่น คุณจะหยุดถ่ายภาพ เมื่อไหร่คุณรู้สึกหมดสนุก คุณจะหมดแพชชั่น หมดไฟแล้วคุณจะไม่อยากทำ ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายภาพการทำงานครอบครัวความรักอะไรก็ตาม คุณต้องสนุกกับมัน คุณต้องคีพความสนุกเอาไว้ คุณอาจจะทำผิด ไม่ใช่เรื่องแปลก ชีวิตผิดพลาดได้ เมื่อผิดพลาดคุณก็ต้องแก้ไข แต่อย่าหมดความสนุก

       เหนือสิ่งอื่นใด...“จงสนุก เพราะการถ่ายภาพเป็นเรื่องสนุก”

 จากการเสวนาในกิจกรรม บำรุงสุขกับภาพ : Rediscovery Photo ใช้ใจถ่ายภาพ กับ วิศรุต อังคทะวานิช

ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรม #ระลึกคุณ #บำรุงสุข จัดโดย สมาคมนิสิตเก่านิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับ ฝ่ายกิจการนิสิต เพื่อระลึกถึงพระคุณของ ศ.บำรุงสุข สีหอำไพ ผู้ก่อตั้งคณะนิเทศศาสตร์ จุฬา

ติดตามข่าวสารและสำรองที่นั่งเข้าร่วมกิจกรรมดีๆในอนาคตได้ที่ FB: nitadechulaalumni 

STORY by ซัมเมอร์

ABOUT THE AUTHOR
ซัมเมอร์

ซัมเมอร์

เขียนหนังสือ แปลหนังสือ เป็นคอลัมนิสต์พลอยแกมเพชร หลงไหล K-pop และติดตามวงการแฟชั่น

ALL POSTS