โลกของพอลลีน: นิยามสองเพศประเทศไทย
ตั้งแต่กลับมาเมืองไทยพร้อมการแกรนด์โอเพนนิ่งเปิดตัวให้ตัวเอง ทำให้พอลลีนได้มีโอกาสไปแสดงทัศนะเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศในหลายเวที ทั้งผ่านการออกอากาศทางสื่อมวลชนและบนเวทีเสวนาที่จัดโดยองค์กรส่งเสริมสิทธิของคนคนหลากหลายเพศต่างๆ
พอลลีนเองไม่ได้วางบทบาทตัวเองเป็นนักกิจกรรมหรือเคลื่อนไหวทางสังคม (Social Movement) แต่อย่างใด เพราะถือว่าตัวเองยังใหม่เหลือเกินในวงการ แต่ก็ถือว่าได้รับเกียรติอย่างสูงจากผู้ที่ได้ทุ่มเททำงานด้านนี้อย่างเข้มข้นมาเป็นเวลานาน แม้จะเพิ่งได้เริ่มเข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนแปลงตัวเองมาได้ไม่กี่ปี แต่ก็ได้สังเกตและวิเคราะห์ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศมาโดยตลอด ยิ่งได้ก้าวข้ามเพศด้วยตัวเอง ความเข้าใจในเรื่องนี้ยิ่งตกผลึกมากขึ้นตามลำดับ มีประเด็นหนึ่ง ที่พอลลีนยังไม่ได้แสดงมุมมองของตัวเองในเวทีต่างๆ เนื่องด้วยเวลาอันจำกัดในแต่ละเวที จึงยังไม่มีโอกาสที่จะแสดงความแตกต่างในมุมมองให้ได้ขบคิดกัน
ในการนิยามคำว่า LGBT จากอังกฤษให้เป็นไทย คำที่เราจะได้ยินบ่อยที่สุด และมีการถกเถียงตลอดเวลาคือคำว่า “หลากหลายทางเพศ” “เพศทางเลือก” และ “เพศที่สาม” นักเคลื่อนไหวหลายคนไม่นิยมจะใช้คำว่า “เพศที่สาม” หรือ “เพศทางเลือก” เพราะมันอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดพลาด ไม่มีใครอยากถูกจัดอันดับเป็นตัวเลข 1…2…3…4… (ตราบใดที่ไม่ถูกจัดเป็นอันดับหนึ่ง) และเพศสภาพของคน ในความเป็นจริงมันก็ไม่ใช่ทางเลือก แต่มันเป็น “สัจจะ” จริงๆ ของจิตวิญญานเลยทีเดียว
พอลลีนอาจจะเห็นต่างกับคำทั้ง 3 คำ แม้แต่คำว่า “หลากหลายทางเพศ” ที่ดูทันสมัยและไร้อคติมากที่สุด เพราะพอลลีนเห็นว่า “ในโลกนี้มีแค่สองเพศ” นั่นคือ “ชายกับหญิง” ไม่มีเพศอื่น ที่คิดแบบนี้ เพราะพอลลีนมองความเป็นเพศที่จิตใจ หรือถ้าจะให้ใช้คำที่ลึกซึ้งขึ้นไปอีกคือ “จิตวิญญาน” ที่แยกเป็นปัจเจกกับ “ร่างกาย” อันเป็นที่มาของ “ความต้องการและรสนิยมทางเพศ”
ผู้หญิงข้ามเพศอย่างพอลลีนและใครอีกหลายคน ก็เป็น “ผู้หญิง” โดยจิตใจ และจะนำไปสู่ความเป็น “ผู้หญิง” โดยร่างกายในภายหลัง ผู้ชายข้ามเพศเองก็เช่นเดียวกัน พวกเขามีจิตใจที่เป็นผู้ชาย มีจำนวนไม่น้อยที่ผ่านการเปลี่ยนแปลงร่างกายสู่ความเป็นชายโดยสมบูรณ์ ผู้หญิงข้ามเพศ ไม่ได้อยากเป็น “กระเทย” หรือเพศอื่นใด นอกจาก “ผู้หญิง” ไม่ได้อยากอยู่ตรงกลาง ไม่ได้อยากเป็น “สาวสอง” หรือเพศที่สามเพศที่สี่ห้าหกเจ็ดแปดเก้าสิบบบบ
ผู้คนที่เรียกเราเป็นอย่างอื่นที่ไม่ใช่ “ผู้หญิง” เพราะคนส่วนใหญ่มองแต่เพียงกายภาพโดยกำเนิด เพราะเป็นสิ่งจับต้องได้ที่เป็นรูปธรรมมากที่สุด การที่ผู้หญิงข้ามเพศคนใดคนหนึ่งจะลุกขึ้นมาดื้อดึงต่อต้านข้อเท็จจริงนี้ ก็เป็นเรื่องที่ยากลำบาก และอาจถูกมองเป็นตัวตลกเอาได้ง่ายๆ กว่าจะข้ามเพศสภาพทางกายจากชายเป็นหญิงก็ยากลำบากอยู่แล้ว ผู้หญิงข้ามเพศส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะโอนอ่อนตามคำตัดสินของสังคม โดยการยอมรับคำตัดสินนั้น และเรียกตัวเองว่ากระเทย เพราะเป็นสิ่งที่คนทั่วไปเข้าใจได้ง่ายที่สุด
การเป็นชายหรือหญิงตามสภาพของจิตใจนั้น ในบางครั้งก็อาจจะไม่ได้ชัดเจนล็อคตายตัว เพราะคนทุกคนก็มีฮอร์โมนเพศตรงข้ามอยู่ในกาย นั่นคือเหตุผลที่ว่า ผู้หญิงโดยกำเนิดบางคน ก็ไม่ได้รักสวยรักงาม ไม่แต่งหน้าทาปาก ในขณะที่ผู้ชายโดยกำเนิดจำนวนไม่น้อยก็มีนิสัยจุกจิก เจ้าสำอางชอบทาโลชั่นบำรุงผิวพรรณ ได้เช่นกัน
ถ้าพอลลีนบอกว่า ในโลกนี้มีเพียงเพศหญิงกับชายเท่านั้น หลายคนอาจจะค้านด้วยคำถามที่ว่า “แล้วเราจะเรียกคนที่มีรสนิยมทางเพศหลากหลายว่าเป็นเพศอะไร”
ความละเอียดในการใช้คำเป็นสิ่งที่ต้องตระหนักให้มาก ในบรรดาพฤติกรรมทางเพศ ชายชอบชาย หญิงชอบหญิง หรือเพศไหนก็ได้ เหล่านี้ พอลลีนไม่ได้มองว่าเป็น “เพศสภาพ” แต่เป็น “วิถีชีวิต” หรือหากจะใช้คำในเชิงวิชาการ น่าจะใช้คำว่า “เพศวิถี” เสียมากกว่า
ความชอบในการเลือก “คู่รัก” หรือ “คู่เพศ” มันก็เหมือนกับความชอบในการทานอาหาร ดูหนังฟังเพลง ซึ่งมีประเภทหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ไทย จีน ฝรั่ง ญี่ปุ่น อาหรับ อินเดีย อิตาเลียน หนังบู๊ หนังสืบสวน หนังชีวิต หนังตลก ฯลฯ แล้วแต่คนจะชอบ ชายชอบชายทั้งหลาย รวมถึงบรรดาคนแต่งกายข้ามเพศ หรือ crossdresser เป็นครั้งคราว ก็ไม่ได้อยู่ในจุดที่ต้องการจะเรียกตัวเองว่าเป็นเพศหญิงอย่างถาวร ยังคงแต่งกายเป็นชายหรือใช้แฟชั่นชายในชีวิตประจำวัน ยังคงเล่นกล้ามและใส่น้ำหอมกลิ่นผู้ชายอยู่ อันนี้ก็รวมถึง หญิงชอบหญิงหรือ เลสเบี้ยน ในทางกลับกัน
อย่างไรก็ตาม ชายชอบชาย หรือหญิงชอบหญิง “บางคน” อาจจะใช้ “วิถีเพศ” ในช่วงนี้ค้นหาตัวเองก่อนที่จะรอความพร้อมและนำไปสู่การข้าม “เพศสภาพ” ไปในฝั่งตรงกันข้าม พูดให้เข้าใจง่ายก็คือ “เกย์บางคนอาจมีความเป็นคนข้ามเพศ (ในอนาคต) แต่คนข้ามเพศทุกคนไม่ต้องการเป็นเกย์”
อันนี้ก็เป็นมุมมองของพอลลีนเอง การจะปฏิวัติความคิดของสังคมอาจจะยังมีหนทางอีกยาวไกล พอลลีนขออนุญาต “ทำเท่าที่พอทำได้” นะคะ