HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
"ลุงปุ๊" ครูศิลป์อาสากับ "เสน่ห์” บนผืนผ้าปักมือกองหลวง
by Rachaya
9 ก.ค. 2562, 18:00
  4,051 views

ครูช่างศิลปหัตถกรรม จาก SACICT

        “ลุงปุ๊หลงรักลวดลายที่เป็นงานศิลปะที่อยู่บนผ้า มันบ่งบอกถึงภูมิปัญญาของคนรุ่นเก่า โดยเฉพาะผ้าทอเพื่อนุ่งเองลวดลายจะไม่ซ้ำกัน เพราะเขาทอเพื่อใช้เอง เป็นของที่มีเสน่ห์ เห็นไม่ได้ต้องซื้อมาเก็บไว้....”

       “ลุงปุ๊” สิริวัฑน์ เธียรปัญญา เริ่มต้นความหลงใหล“ศิลปะ”ที่อยู่บนผืนผ้า จึงเก็บผ้าทอเรื่อยมา จนถึงวันนี้ผ่านไปแล้ว กว่า 40 ปีที่เก็บสะสมผ้าทอไว้กับตัว ไม่ต้องสงสัยหากบอกไม่ได้ว่า จำไม่ได้มีผ้าที่เก็บทั้งหมดกี่ผืน เพราะมากมายเกินกว่าจะนับหรือจำได้ว่ามีจำนวนเท่าไหร่ แต่ถ้าให้บอกว่าผ้าผืนไหนเป็นของชนเผ่าอะไร แบ่งแยกเป็นชนเผ่า เป็นผ้ามาจากประเทศไหน อย่างนี้รู้หมด ตอบได้ เพราะผ้าที่เก็บรวบรวมไว้มีทั้งเป็นของชนเผ่า และเป็นผ้าจากประเทศต่าง ๆ เช่น ประเทศไทย ลาว จีน พม่า เวียดนาม อินโดนีเซีย และ เขมร

      

         การเก็บสะสมไปเรื่อย ๆ แบบนี้ ทำด้วยใจรักงานศิลปะและหลงเสน่ห์ลวดลายที่อยู่บนผืนผ้า แม้จะไม่สามารถจดจำหรือรู้ลึกถึงที่มา เรื่องเล่าของลวดลายต่าง ๆ ได้ แต่ด้วยความที่อยากรู้ อยากทราบลุงปุ๊ได้พยายามค้นคว้า ค้นหาจากหนังสือต่าง ๆ เพื่อเชื่อมโยงให้ทราบถึงลวดลาวบนผืนผ้าเป็นของชนเผ่าไหน ประเทศอะไร และมีความเชื่อมโยงกับวิตวัติศาสตร์อย่างไร ซึ่งได้มาจากการอ่านตำราและหนังสือที่เกี่ยวกับผ้าล้วน ๆ

ตกหลุมรักผ้าทอมือ...

        “ตกหลุมรักผ้าทอมือเพราะมีเสน่ห์

        ลุงปุ๊ เปิดใจให้ทราบ พร้อมเล่าอีกว่าบางผืนซื้อมาราคาเพียง 80 บาท ขณะที่บางผืนราคา 50,000 บาทแต่ก็ยังเก็บและเสาะหามาเรื่อย ๆ แบบไม่จบสิ้น ขณะนี้ที่พอจะจำได้คือ เก็บผ้านุ่งมัดหนี่ ฝ้ายย้อมครามไว้ได้จำนวนหนึ่ง ซึ่งสมัยนั้นเขาขายผืนละ 100 บาท แต่เราอยากได้ผ้าเก่าที่ทอเพื่อนุ่งเอง จึงให้ราคาผืนละ 500 บาท ก็มีเข้ามาให้เก็บอยู่เรื่อย ๆ เก็บไปเก็บมาปรากฏว่า ตอนนี้มีเก็บผ้านุ่งมัดหนี่ ฝ้ายย้อมครามอยู่กับตัวแล้ว มากกว่า 500 ผืน

ส่วนหนึ่งของผ้าเก่าที่ลุงปุ๊สะสม

      ปัญหาคือพอจะเอามาทำงานต่อยอดเพิ่มลายปักตามแบบฉบับของผ้าปักมือกองหลวงของเราเข้าไป มองดูผ้าแต่ละผืนแล้วทำใจไม่ได้ อยากให้อยู่แบบเดิม ขณะเดียวกันก็อยากต่อเติมต่อยอดให้คนอื่นได้เอาไปใช้ต่อด้วย แต่ก็เกิดอาการเสียดายอยู่บ่อยครั้ง

         “สารภาพเลยว่า บางทีก็ทำใจไม่ได้ เพราะงานเก่า ๆ แสดงให้เห็นเป็นภูมิปัญญา แต่ละผืนไม่มีลวดลายซ้ำกันเลย ถ้ามองในมุมของศิลปะหรือภูมิปัญญา มูลค่าสูงมาก ไม่ใช่แค่เป็นผ้า จากภูมิปัญญาที่สะสมมาตั้งแต่ปู่ย่าตายายถ่ายทอดกันมา จนมาทอเป็นผ้าหนึ่งผืน กว่าจะมาถึงมือเรา มีคุณค่ามาก เพราะผ้าที่เราเก็บส่วนใหญ่เป็นผ้าทอเพื่อนุ่งเองและจากคนเฒ่าคนแก่ ซึ่งเป็นงานที่แสดงถึงภูมปัญญาอย่างแท้จริง”

        จึงเป็นที่มา ของ ผ้าปักมือกองหลวง...

        ในอดีตลุงปุ๊ไม่เคยทอผ้า หรือ เย็บผ้ามาก่อน รู้แต่ว่าชอบงานศิลปะ หลังจากได้พยายามลองทอผ้าแต่ไม่สำเร็จ จึงคิดว่าไม่น่าจะใช่แนวทางที่ตนเองถนัด สิ่งที่ตนเองถนัด ชอบและทำได้ดี คือ การวาดลวดลายลงบนผืนผ้า แล้วนำมาปักด้วยการปักมือ ใช้เทคนิคธรรมดาแบบการปักลูกโซ่ เมื่อทำออกมาแล้วสวยงาม จึงเรียกงานที่ทำนี้ว่า งาน“ผ้าปักมือกองหลวง”

        ลวดลายที่วาดเพื่อนำมาปักลงบนผืนผ้าตามแบบฉบับของงานผ้าปักมือกองหลวง เป็นลวดลายแบบบ้านนา มีแรงบันดาลใจมาจากวัด โดยเฉพาะวัดเก่าแก่ในจังหวัดลำปาง ยังมีผลงานความวิจิตลวดลายแบบล้านนาให้เห็นอยู่มาก ลวดลายที่วาด เช่น ลายปทุมทิพย์ ลายเครือเถา ลวดลายธรรมชาติ อย่าง ผีเสื้อ นก เป็นต้น

        นอกเหนือจากลวดลายที่เป็นล้านนา ใช้เทคนิคการปักผ้าแบบลูกโซ่ ความโดดเด่นหรือเป็นเอกลักษณ์อีกอย่างของงาน “ผ้ามือกองหลวง” คือ เป็นงานที่ต่อเติมหรือเพิ่มมูลค่าให้กับผ้าเก่าที่ลุงปุ๊ได้สะสมมา จะเห็นได้ว่าเมื่อลวดลายล้านนาที่วาดและปักใหม่ต่อเติมอยู่บนผืนผ้าเก่า เกิดความสวยงาม แปลกตา เป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่ไม่เหมือนใคร จึงกลายเป็นที่ต้องการของผู้ที่ชื่นชอบผ้าไทยอยากมีไว้สวมใส่ได้สักผืน

ผ้าปักกองหลวง ฝีมือลุงปุ๊

ผืนเดียวหนึ่งเดียวในโลก...

        ปัจจุบัน งานผ้าปักมือกองหลวง ได้รับการยอมรับและยกย่อง โดยเมื่อปี 2545 ครูปุ๊ ได้รับการยกย่องเป็น ครูช่างศิลปหัตถกรรมจาก ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ “SACICT” ซึ่งมุ่งมั่นพัฒนาฝีมือช่างศิลป์แขนงต่างๆ ด้วยการอนุรักษ์ สืบสาน และต่อยอด โดยเร็วๆ นี้ได้จัดโครงการจิตอาสาสัญจร "SACICT จิตอาสา พัฒนาอาชีพ" พาวิทยากรจิตอาสาไปให้ความรู้และพัฒนาฝีมือด้านการปักผ้าให้แก่ชาวชุมชนใน ต.แม่สรวย อ.แม่สรวย จ.เชียงราย  ทั้งนี้เพราะเอกลักษณ์โดดเด่นของผ้าปักมือกองหลวง เป็นการใช้ผ้าลายปักโบราณ งดงามอยู่บนซิ่นลายล้านนา

        ผสมผสานได้อย่างลงตัว ผนวกเข้ากับความประณีของงานทอ ซึ่งเป็นผ้าพื้นเมืองทั้งจากผ้าฝ้ายและผ้าไหมรวมถึงผ้าจากเส้นใยธรรมชาติ เช่น เส้นใยกัญชงแบบดั้งเดิม ผ้าถุงของไทลื้อ ผ้าถุงของลาวครั่ง ผ้าถุงไหมมัดหมี่ของสุรินทร์ และผ้ามัดหมี่ของอีสานและผ้าพื้นเมืองอื่น ๆ ใช้เทคนิคปักแบบลูกโซ่ที่มีความละเอียดและประณีต และวาดลายด้วยมือ โดยลุงปุ๊วาดแต่เพียงผู้เดียว ไม่มีการลอกลาย

        ด้วยเหตุนี้ งานผ้าปักมือกองหลวง จึงมีเอกลักษณ์โดดเด่น แต่ละผืนและลายจึงมีลวดลายไม่ซ้ำแบบกัน หรืออาจจะกล่าวได้ว่า เป็นผืนเดียวหนึ่งเดียวในโลก (ก็ว่าได้)

 

ABOUT THE AUTHOR
Rachaya

Rachaya

ALL POSTS