สิงห์โต สาวชาววัง (คลองเตย)
ชีวิตของสาวชาววังคลองเตยสมัยรัชกาลที่ 7
เมื่อพูดถึงชาววัง เรามักจะนึกถึงแม่พลอยที่อยู่ในวังหลวงสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ในยุคก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ยังมีเด็กชาววังอีกกลุ่มหนึ่ง ที่เติบโตมาในวังของสมเด็จพระบรมวงศ์ โดยได้รับการอบรมทั้งกิริยามารยาท วิชาการและงานฝีมือเช่นกัน
หม่อมเจ้าดวงจิตร จิตรพงศ์ พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ม.ร.ว. โต จิตรพงศ์ ทรงเล่าเรื่องเด็กชาววังคลองเตย ไว้ว่า*
“เมื่อราวพ.ศ. 2467 เสด็จพ่อเสด็จไปประทับพักผ่อนเปลี่ยนอากาศที่ศรีราชา แล้วเสด็จไปประพาสที่จังหวัดชลบุรี โดยที่ทรงคุ้นเคยกับครอบครัวนี้มานานแล้ว ด้วยแต่ก่อนเสด็จย่าเคยเสด็จไปประทับตากอากาศที่บ้านนี้มาก่อน นายเม่งเชี้ยว (ชำนาญ บุปผเวส) จึงเชิญเสด็จไปเสวยข้าวกลางวันที่บ้าน”
“แม่นั่งคุยกับเด็กหญิงคนหนึ่งไว้จุก อายุสัก 7-8 ปีอย่างสนุกสนาน เด็กหญิงนั้นชื่อสิงห์โต เป็นบุตรีของนายเม่งเชี้ยวสนใจกรุงเทพฯ มาก บอกว่าอยากไปอยู่ แม่จึงถามว่า “ไปอยู่กับฉันไหมล่ะ” ก็ย้อนถามว่า “ถ้าไปอยู่ด้วยกันจะมีงานโกนจุกแต่งตัวสวยๆ ให้ไหม” แม่ก็รับว่ามีซิ สิงห์โตถามว่า “จะมีลิเกด้วยไหม” แม่ก็ตอบว่า “อยากให้มีก็มีซิ”
“พอถึงเวลาจะลากลับ เด็กหญิงนั้นก็เข้าไปหิ้วกระเป๋าเสื้อผ้าซึ่งแอบเข้าไปจัดไว้ ตามมาด้วย ผู้ใหญ่ขัดขวางก็ร้องไห้ แม่จึงขอให้ตามใจให้ได้มาเที่ยวกรุงเทพฯ สักพักหนึ่ง ใกล้เวลาโรงเรียนจะเปิดแล้วจึงค่อยมารับกลับ แต่ถึงเวลามารับก็วิงวอนขออยู่ด้วยในกรุงเทพฯ แม่จึงขอไว้ให้ย้ายมาอยู่ที่คลองเตย จะให้ไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนเซนต์แมรี่มิชชั่น (เอส.พี.จี.) ซึ่งขณะนั้นตั้งอยู่ริมถนนราชดำริ ข้างสวนลุมพินีด้วยกันกับหญิงไอ (หม่อมเจ้ากรณิกา จิตรพงศ์) ก็เป็นที่ตกลงกันตามนั้น แม่เลี้ยงสิงห์โตไว้ใกล้ตัวมากเหมือนเป็นลูกคนเล็กไปไหนก็ไปด้วย ทางบ้านทูลมาขอประทานให้ทรงตั้งชื่อจริงๆ เสียใหม่ แต่เสด็จพ่อรับสั่งว่า “แม่ชื่อโต ลูกชื่อสิงห์โตก็ดีแล้ว”
เมื่อเด็กใหม่มาอยู่ในวัง ก็มีการรับน้องกันบ้างเล็กน้อย รุ่นพี่และเพื่อนๆ มักจะแกล้งลูบศีรษะสิงโตหินที่วางอยู่หน้าบันไดพระตำหนักไทย หัวเราะกันเป็นเชิงล้อเลียน ทำให้เจ้าของชื่อ “สิงห์โต” โมโหอยู่เสมอ แต่ก็มิได้มีการกลั่นแกล้งกันรุนแรง และ “สิงห์โต” ก็ถือได้ว่าเป็นคนโปรดของเจ้านาย
“ที่วังวรดิศมีการฉายภาพยนตร์ถวายทอดพระเนตรทุกวันเสาร์ วันไหนมีเรื่องดีๆ ควรทอดพระเนตร ท่านก็มักเชิญเสด็จเสด็จพ่อไปทอดพระเนตรด้วยพร้อมทั้งลูกหลาน แม่คีบหนีบเอาสิงห์โตติดไปด้วยเสมอ จึงเป็นที่คุ้นเคยกับเจ้านายวังนั้น”
“เมื่อพระเจ้ากรุงเดนมาร์กสมัยเมื่อยังดำรงพระยศเป็นมกุฏราชกุมารเสด็จมาเมืองไทย ทางวังวรดิศมีงานรับเสด็จจัดถวายของไทยๆ ต่างๆ ให้ทอดพระเนตร ทรงขอยืมสิงห์โตไปแสดงการแต่งตัวเป็นอย่างเด็กไทยไว้จุกแบบโบราณ แม่จึงจัดการแต่งตัวให้ไปถวายพวงมาลัยแก่เจ้าหญิงอักเษล ซึ่งเสด็จมาในขบวนด้วย ดังรูปถ่ายที่สิงห์โตหวงนักหวงหนาเก็บไว้อย่างดีนั้น ผู้ที่ได้เห็นชมเชยสืบถามกันมาว่าลูกเต้าเหล่าใคร หน้าตาก็สะสวยกิริยามารยาทก็นุ่มนวลน่ารัก”
ในช่วงที่ยังไว้จุกอยู่นี้ ทุกวันพฤหัสบดี สิงห์โตมีหน้าที่แต่งตัว ให้คุณแก่ที่วังเกล้าผมจุก และรอรถจากวังวรดิศมารับไปนั่งเป็นแบบให้จิตรกรคอร์ราโด เฟโรชี (ศ.ศิลป์ พีระศรี) วาดภาพเด็กผมจุก ได้รางวัลที่นั่งนิ่งๆ อยู่หลายครั้งเป็นตุ๊กตาและดินสอสีหนึ่งกล่อง
“พอถึงกำหนดที่ควรจะโกนจุก ก็โปรดให้จัดงานขึ้นที่วังท่าพระ มีสวดมนต์เย็นบนท้องพระโรงในวันแรก รุ่งขึ้นเช้าทำพิธีตัดจุก เย็นทำขวัญ แต่งตัวสวงยามถูกต้องตามธรรมเนียมทุกเวลา ในงานนั้นเสด็จพ่อทรงยืมเต็นท์ขนาดใหญ่องกระทรวงวังมาสำหรับมีละคร แต่เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์เสนาบดีกระทรวงวัง เอื้อเฟื้อนำปะรำโรงละครเคลื่อนที่มาปลูกถวายเสียเลย งานจึงมโหฬารยิ่งขึ้น เกินกว่าที่คิด ทั้งยังเอื้อเฟื้อนำละครหลวง แสดงโดยเด็กหญิงที่ถวายตัวเป็นข้าหลวง ซึ่งฝึกหัดขึ้นใหม่เป็นแบบละครดึกดำบรรพ์มาเล่นสมทบถวายอีก 2 วัน จึงกลายเป็นมีละครฉลองถึง 3วัน แม่คัดค้านว่าใหญ่โตหรูหราเกินไป ท่านก็กระซิบกระซาบว่าไม่เป็นไรอยากถือโอกาสให้สมเด็จทอดพระเนตร จะได้ทรงติชมแก้ไขให้ดีขึ้น”
“ตัวละครที่แสดงในครั้งนั้นที่ยังมีชีวิตอยู่เท่าที่ถ้ายกเป็นตัวอย่างแล้วจะต้องร้อง “อ๋อ” ก็มีครูเจริญใจ สุนทรวาทิน ซึ่งแสดงเป็นนางมะเดหวีในวันที่แสดงเรื่อง “อิเหนา” และเป็นนางมณฑาในวันที่แสดงเรื่อง “สังข์ทอง” แม่ยืมตัวคนทำห่อหมกที่บ้านเมืองชลให้มาทำเลี้ยงชาวกรุง แต่ทางบ้านสิงห์โตไม่ยอมบอกว่าทำด้วยปลาตายจวนเน่าจะอร่อยได้อย่างไรเสียชื่อแย่ จึงยกกองกันเช่ารถบรรทุกมาพร้อมทั้งสิ่งของเพื่อทำห่อหมก ด้วยวิธีออกไปจับปลาที่โป๊ะแต่เช้ามืดใส่ถังน้ำมาทำ ผู้ที่ได้รับประทานเลี้ยงชมกันหมดว่าเป็นห่อหมกที่อร่อยที่สุดที่เคยได้รับประทานมา”
นับเป็นบุญของ “สิงห์โต” ที่ได้ถวายการรับใช้ใกล้ชิดนักปราชญ์ที่ยูเนสโกยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลก “หลังจากที่โกนจุกแล้วก็ได้รับหน้าที่ให้อยู่เวรผลัดเปลี่ยนกันกับลูกหลานและเด็กอื่นที่ทรงเลี้ยงไว้ ตอนเย็นเมื่อกลับจากโรงเรียนอาบน้ำรับประทานอาหารแล้ว ต้องไปอยู่เฝ้าคอยรับใช้ ปัดแส้ถวายบ้าง ไปตามคนที่รับสั่งให้หาบ้าง ไปหยิบของที่ต้องพระประสงค์บ้าง ระหว่างนั้นก็ทำการบ้านไป ตามที่น้อยชมสิงห์โตว่ามีความสามารถเหลาดินสอได้สวยราวกับใช้เครื่องมือนั้น ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทรงสอน ท่านเห็นเหลาดินสอชนิดถากๆ ไปตามบุญตามกรรม หักไปเสียบ้าง เหลาสองสามครั้งก็หมดแท่ง จึงทรงสอนประทานเสียใหม่จนเหลาได้เก่งจนได้ชม ทรงฝึกหัดเรื่องความละเอียดถี่ถ้วน ความมัธยัสถ์ ความซื่อตรง ความกล้าหาญอยู่เป็นนิจ เช่นหัดไม่ให้กลัวผีกลัวฟ้าร้อง ไม่ให้ใช้เงินทองและสิ่งของทิ้งๆ ขว้างๆ จนสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น ไม่ให้พูดปด ทำผิดต้องรับผิดเป็นต้น”
ในช่วงที่ “สิงห์โต” อยู่ที่วังคลองเตย สมเด็จยังเสด็จวังท่าพระอยู่เสมอ “สิงห์โต” จึงมีโอกาสตามเสด็จ และมักจะไปที่พระบรมมหาราชวัง คุยกับคุณพนักงานตลอดจนถึงเที่ยวดูช้างหลวงที่คนเลี้ยงพาออกมาอาบน้ำ ชาววังสมัยนั้นนิยมให้คนเลี้ยงเก็บหางช้างที่หลุดร่วง รวบรวมได้พอสมควรก็นำมารัดด้วยข้อทอง ประดับพลอยแดงเป็นแหวนนำโชค และยังชอบสวมแหวนพิรอดไว้ป้องกันภัย แน่นอนว่าสิ่งใดที่เป็นความนิยมของชาววังสมัยนั้น “สิงห์โต” จะต้องไม่พลาด นอกจากนี้ “สิงห์โต” ยังสนใจการเย็บปักถักร้อยตามแบบท่านหญิงไอ และเรียนรู้จนเปิดร้านตัดเสื้อได้ในเวลาต่อมา
“เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้น ฐานะและความเป็นอยู่ก็เปลี่ยนแปลงไป ทรงห่วงใยเด็กที่ทรงอุปถัมภ์ไว้ว่าจะพลอยลำบากและมีภัยไปด้วย จึงทรงติดต่อปรึกษาหารือกับพ่อแม่ ให้รับกลับไปอยุ่บ้านกันหมด สิงห์โตจึงกลับไปอยู่บ้าน แต่ทั้งครอบครัวก็ยังติดต่อมาเฝ้าแหน ช่วยเหลือธุระกิจการอยู่เสมอ”
เมื่อ “สิงห์โต” จะแต่งงาน ก็ได้รับพระเมตตาจากสมเด็จฯ และท่านหญิงอามอย่างสูงสุด ลายพระราชหัตถเลขาซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงส่งจากตำหนักปลายเนิน คลองเตยไปถวายสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่บ้านซินนามอน ปีนัง เล่าถึง “สิงห์โต” ไว้ว่า “จะทูลสนองข้อที่ทรงพระปรารภเรื่องเด็กสิงห์โต ชายหนุ่มที่เขามาขอนั้นไม่ใช่คนไกลหาไหนมา เป็นเด็กที่นายเม่งเชี้ยวเตี่ยสิงห์โตใช้สอยในการททำมาหากินอยู่นั้นเอง นับกันว่าเป็นญาติด้วย นายเม่งเชี้ยวควบคุมบริษัทตั้งทำน้ำแข็งที่เมืองชล จัดให้เด็กหนุ่มคนนั้นประจำดูแลทำน้ำแข็ง ฝึกหัดในการทำมาหากิน ไม่ใช่นักการเมือง สังเกตกิริยาท่าทางดูก็เรียบร้อยคล่องแคล่วดีทั้งจัดว่ามีหลักฐาน มารดาเขาเกล้ากระหม่อมรู้จัก เป็นคนมีอัฐ บิดาเขาชื่อหลวงบุรีบริบาล ว่าเป็นผู้รับใช้อยู่ในพระวิมาดาเธอ น่าที่หญิงพูนจะรู้จัก แต่ความประพฤติตัวเขาจะเป็นอย่างไรไม่ทราบ เชื่อว่าบิดามารดาของสิงหืโตคงจะได้ใส่ใจดู เห็นแล้วว่าดีแล้วจึงได้ยกให้”
“หญิงอาม (หม่อมเจ้าดวงจิตร) รับธุระจัดเสื้อผ้าเครื่องแต่งตัวให้สิงห์โตในการแต่งงาน แต่มีความหนักใจว่าพวกเมืองชลเขาจะไม่ชอบ จึงไล่เลียงสิงห์โตได้ทราบความแปลกๆ เห็นว่าควรจะกราบทูลให้ทรงทราบด้วยติดจะขันๆ ว่าเสื้อผู้หญิงที่ตัดฟิตอย่างทุกวันนี้พวกเมืองชลชอบ เพราะเข้าแบบเสื้อกระบอกหรือเสื้อเอวซึ่งเคยใส่มาแตก่อน ส่วนเสื้ออย่างโคร่งคร่างคาดเข็มขัดหลวมๆ ลงไปยานอยู่แค่สะโพกซึ่งเลิกไปแล้วนั้นเขาไม่ชอบว่าเหมือนปลากระบอกท้องไข่ ดัดผมคลื่นเขาเรียกว่าผมกาบมะพร้าว เพราะถูกไฟเกรียมเส้นแข็งเหมือนเส้นกาบมะพร้าว ผู้หญิงที่แต่งแต้มปากเขาว่าเป็นหญิงคนชั่ว แปลว่าแบบสากลนั้นพวกชาวเมืองชลไม่ชอบ ทั้งทางบ้านเกล้ากระหม่อมก็ไม่ชอบประกอบกันถึงสองแรง คงจะเป็นเหตุไม่ให้สิงห์โตเป็นไปในทางไม่งามตามที่ทรงรำพึง"
“สิงห์โต” ได้รับพระราชทานสิ่งของติดตัวเจ้าสาวตามประเพณี มีเสื้อผ้าและเครื่องเรือนเป็นต้น อีกทั้ง สมเด็จฯ ยังประทานพระพรผ่านลายพระราชหัตถเลขาไปยังบิดาของ “สิงห์โต” ว่า “ฉันมีความเสียใจเปนอันมากที่มาช่วยการแต่งงานสิงห์โตไม่ได้ ด้วยหนทางไกลไปมาลำบาก จึงขอส่งหนังสือนี้มาอำนวยพรแทนตัวด้วยใจจำนง ขอให้บ่าวสาวทั้งคู่จงแอยู่ปกครองกันเป็นสุขชั่วกาลนาน บริบูรณ์ด้วยทรัพย์บริวารมากมี ให้บังเกิดลูกที่ดีเชิดชูวงศสกุลทั้งสองฝ่ายให้จำเริญยืนยาวเถิด อนึ่ง สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพมีลายพระหัตถ์มาถึงฉัน ขอให้บอกแก่สิงห์โตว่า ทรงยินดีด้วย ขอให้อยู่เย็นเปนสุขเถิด”
พระตำหนักปลายเนิน วังคลองเตย เป็นสถานที่แห่งความทรงจำ เก็บรักษาเรื่องราวมากมาย จนถึงปัจจุบัน ยังมีคนรุ่นใหม่ที่ได้รับพระเมตตาไม่น้อยกว่า “สิงห์โต” ผ่านทางมูลนิธินริศรานุวัดติวงศ์ ที่ให้ทั้งทุนการศึกษา และโอกาสในการแสดงความสามารถ เวทีในสวนข้างพระตำหนักไทย และศาลาแสดงนิทรรศการผลงานนักศึกษา คือจุดเริ่มต้นที่ส่งให้หลายคนได้สร้างชื่อเสียงทั้งเพื่อตนเองและประเทศชาติ.
*จากหนังสือที่ระลึกงานฌาปนกิจ นางเรณู อุทัยชลานนท์ (สิงห์โต บุปผเวส)
STORY BY ซัมเมอร์