HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
ลำบาก แต่ก็รัก เปิดใจนักแต่งเพลงประกอบ “แทน อ่อนวิมล”
by Manta
19 ก.ค. 2561, 12:48
  5,586 views

เพลงประกอบในหนังอาจจะเป็นสิ่งที่คนทั่วไปมองข้าม แต่สำหรับ “แทน อ่อนวิมล” มันคืออาวุธลับชิ้นสำคัญที่ช่วยสร้างอรรถรสไม่แพ้องค์ประกอบอื่นๆ เลย

       แต่ไหนแต่ไรมา อาชีพนักแต่งเพลงดูจะเป็นคน “เบื้องหลัง” ที่สร้างความสำเร็จให้กับนักร้องและศิลปินที่อยู่เบื้องหน้า ลองนึกดูก็แล้วว่าในบรรดาเพลงฮิตติดชาร์ททั้งหลาย หรือเพลงดังอมตะที่รู้เนื้อคุ้นทำนองกันดี มีใครบ้างที่รู้ว่านักแต่งเพลงที่สร้างผลงานพวกนี้ออกมาเป็นใคร แต่นักสร้างสรรค์ที่โลกไม่ค่อยจำเหล่านี้แหละเป็นส่วนสำคัญที่จะขาดไม่ได้เลยในกระบวนการสร้างผลงาน ไม่ใช่แค่วงการเพลงเท่านั้น ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ก็เช่นกัน ลองนึกถึง Jaws, Indiana Jones, Mission Impossible, James Bond หรือแม้แต่เกมส์มาริโอ้ที่ไม่มีเพลงธีมสิ ..... มันฟินไม่สุด เหมือนกินก๋วยเตี๋ยวขาดพริกน้ำส้มยังไงยังงั้น

        แม้อาชีพนี้จะไม่น่าหลงไหลเท่าผู้กำกับภาพยนตร์ หรือคอนดักเตอร์วงออร์เคสตร้า แต่เสน่ห์ของมันก็ทำให้ “แทน อ่อนวิมล” ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของ ดร. สมเกียรติ อ่อนวิมล นักสื่อสารมวลชนระดับตำนาน เบนเข็มจากการเดินตามรอยเท้าพ่อมาสู่การทำเพลงประกอบเต็มตัว ในวันนี้ แทน ในวัย 28 จบการศึกษาด้าน Film Scoring จาก Berklee College of Music แล้วพร้อมกับความมุ่งมั่นที่จะสร้างชื่อในฐานะนักทำเพลงประกอบชาวไทยในอเมริกา

แทนโตมากับหนังและเพลงแบบไหน

        ที่บ้านพ่อจะชอบลองยื่นสื่อต่างๆ กันตั้งแต่หนังสือ เพลงแนวต่างๆ หนังหลายๆ แบบให้เราลองเลือกเอง เหมือนตั้งใจให้เราได้สัมผัสอะไรหลายๆ อย่างแล้วตัดสินใจเอาเองว่าเราจะชอบอะไร พ่อจะชอบเปิดซีดีเพลงจาก Jurassic Park ให้ฟังตั้งแต่เด็ก ตอนนั้นคือปี 1993 ปีที่หนังเรื่อง Jurassic Park ออกมาพอดี ประทับใจในตัวหนังมากเลยชอบเพลงไปด้วย บอกได้หมดเพลงไหนอยู่ตอนไหนของหนัง เปิดเองแล้วก็กลัวไดโนเสาร์เอง แต่ก็จะขอให้พ่อเปิดให้ฟังตลอดเวลา ยิ่งเปิดดังยิ่งชอบ มันเลยเป็นความประทับใจในเพลงประกอบหนัง ช่วงที่โตมาหน่อยแล้วช่วงป. 6 แล้ว Harry Potter ออกมาเป็นหนังแล้วเพลงคือสิ่งที่ประทับใจมาก ฟังซ้ำไปซ้ำมาทั้งวัน จำรายละเอียดได้หมดเลยว่านาทีนี้เพลงจะเป็นยังไง หรือช่วงไหนเครื่องดนตรีอะไรจะดังขึ้นมา รู้สึกว่ามันสนุกไม่แพ้ดูหนังเลย ในช่วงเดียวกันนี้ผมก็เริ่มหัดแซ็กโซโฟนและเข้าวงซิมโฟนี ได้เล่นเพลงคลาสสิคมาตลอด เลยมีความเคยชินกับเพลงแนวนี้ ตอนเด็กๆ จะคุยเรื่องเพลงกับคนอื่นไม่รู้เรื่องเลยเพราะเราไม่ฟังเพลงป๊อปเลย เวลาเปิดเพลงที่เราชอบเพื่อนก็จะรำคาญมาก ส่วนใหญ่เลยฟังคนเดียวครับ

แทนที่จะเรียนดนตรีเหมือนเด็กทั่วไป ทำไมถึงใจเลือกเรียนด้าน film scoring

        จริงๆ ผมเรียนวารสารศาสตร์ที่ธรรมศาสตร์ก่อน เพราะตอนแรกตั้งใจจะเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ครับ ยิ่งช่วงมัธยมจะมีความคลั่งหนังมาก แต่เรื่องดนตรีก็ยังไม่ได้ทิ้ง ตลอด 4 ปีก็เล่นดนตรีให้ TU Band ต่อมาเพื่อนในคณะคงเห็นว่าเราเป็นเด็กนิเทศและเล่นดนตรีด้วยมั้ง เลยโดนลากให้มาทำเพลงให้ละครคณะทั้งๆที่ไม่เคยแต่งเพลงเลย นั่นคือครั้งแรกในชีวิตจริงๆ ที่ต้องแต่งเพลง ทำไปเรื่อยๆ เริ่มชอบ เริ่มสนุก จนเพื่อนที่เรียนภาพยนตร์ด้วยกันเริ่มยืมมือให้มาแต่งเพลงหนังธีสิส แล้วก็ค่อยๆขยับมารับจ็อบหนังสั้น หนังสารคดี ทำเพลงให้ Thai PBS จนเริ่มรู้สึกว่า เราน่าจะลองเรียนต่อยอดดูนะ เลยลองสมัครเรียนต่อที่ Berklee College of Music

เขาสอนอะไรบ้างในสาขาวิชานี้ ต้องมีพื้นฐานอะไรก่อนไปเรียนบ้าง

        เราจะได้ลองแต่งเพลงประกอบให้หนังหลายๆ แบบ เริ่มจากฉากง่ายๆ ที่ยังไม่ซับซ้อนมาก เช่นหนังสารคดี ฉากเริ่ม ฉากจบสั้นๆ แล้วแต่ละเทอมก็จะค่อยๆ ขยับไปที่ฉากที่มีความท้าทายและยาวขึ้น เช่นฉากหนังแฟนตาซี ไปจนถึงหนังแอคชั่นเราจะต้องลองแต่งโดยมีครูคอยให้คำแนะนำตลอดเทอม จนเมื่อพร้อมแล้วเราก็จะต้องเอาเพลงที่เราแต่งนั้นไปอัดเสียงกับนักดนตรีซึ่งเป็นวงออร์เคสตร้า ครั้งแรกๆ ที่ต้องไปยืนอยู่ข้างหน้าวงคือตื่นเต้นมาก ต้องคุมสติสุดๆ แต่พอเราได้ยินเพลงที่เราแต่ง ถูกบรรเลงออกเป็นครั้งแรกผมน้ำตาจะไหล ไม่ว่าจะกี่ครั้งก็ยังเป็นความรู้สึกเดิมจนถึงทุกวันนี้ เพราะว่าวันอัดมันก็เหมือนกับเป็นรางวัลให้กับนักแต่งเพลง ทำให้ความเหนื่อยทั้งหมดหายไปเลย ในเรื่องพื้นฐานที่ควรมี หลักๆ ก็ควรมีพื้นฐานทฤษฎีดนตรีสากลให้มากเท่าที่จะมากได้ นอกนั้นเราก็สามารถฝึกฝนได้ซึ่งก็ทำไปได้เรื่อยๆ ตลอดชีวิต ตอนแรกผมก็ไม่ได้รู้อะไรมากนอกจากอ่านโน้ตพอได้ แล้วการไปฝึกเขียนโน้ตให้เครื่องดนตรีทุกชนิด เราก็ไปฝึกหนักเอาตอนนั้นเลย แม้กระทั่งการ conduct นักดนตรี ก็ไปฝึกตอนไปอยู่โน่นแล้ว มันต้องอาศัยเวลาและการฝึกฝนพอควรเลยครับ ในขั้นตอนทำเพลงประกอบหนังจริงๆ แล้ว มันต้องฝึกเรื่องของเทคโนโลยีด้วย ซึ่งถ้าใครมีมากก็จะกำไรมากกว่าแน่นอน เพราะว่ายุคสมัยนี้ภาพยนตร์ต้องการแนวเพลงหลายแบบมากกว่าวงออร์เคสตร้าแล้ว มันมีเรื่องของซาวนด์แบบอิเล็กทรอนิกด้วย ดังนั้นเราต้องฝึกและเปิดโลกทัศน์ให้รอบรู้ตลอดเวลา

พอจบออกมาแล้วเป็นยังไง แวดวงนักทำเพลงประกอบเป็นยังไงบ้าง

        ตอนจบออกมานี่คือเวลาที่โหดสุดแล้วครับ เพราะตอนเรียนเรามีโอกาสได้ทดลอง มีโจทย์ต่างๆ ที่ได้มาจากครู แต่พอออกมาปุ๊ปคือโหวงเหวงจริงๆ เราไม่รู้เลยว่าจะเริ่มอย่างไร ตลาดงานก็เข้าถึงยาก หลักๆ แล้วคนที่จบมาด้วยกันจะย้ายไปอยู่ แอลเอกันเกือบจะทั้งรุ่น เพราะว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์มันอยู่ที่นี่ ดังนั้นแอลเอก็คือความใฝ่ฝันของหลายๆ คน รวมถึงผมด้วย ตอนนี้ผมย้ายมาอยู่แอลเอได้เกือบปีแล้วครับ

        อาชีพนี้ ซึ่งขออธิบายเพิ่มว่าเราไม่ได้ทำแค่เพลงประกอบหนังครับ วิดีโอเกม สารคดี ละครอะไรก็ทำได้หมด มันเป็นสายอาชีพที่ต้องดูระยะยาว ในช่วงแรกๆ มันก็จะถูไถหน่อยซึ่งเป็นปกติมาก อย่างของผมตอนแรกที่จบมานี่ว่างงานเลย ไม่มีอะไรให้ทำ ไม่มีหนังหรือเพลงให้แต่ง เราก็ทำงานเป็นผู้ช่วย Composer คนอื่นอีกทีเพื่อเรียนรู้งานไปก่อน ส่วนหนังที่ได้ทำแรกๆ ก็มีแต่หนังนักเรียนซึ่งรายได้ก็น้อยมากๆ แต่ก็ทำไปก่อนเพราะมันจะได้ประสบการณ์ อีกอย่างคือ เราก็หวังว่ามันอาจจะทำให้เราได้ connection ดีๆ เพราะ connection ก็สำคัญมากกับงานสายนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างนักแต่งเพลงกับผู้กำกับเป็นสิ่งที่สำคัญของอาชีพนี้ ช่วงแรกๆ ต้องไม่เกี่ยงงาน ทำอะไรได้ทำไปก่อน  งานทำเพลงประกอบหนังคือการสร้างงานที่เราไม่สามารถจะนี่คือผลงานของเราคนเดียวอย่างแท้จริง เพราะว่าเราต้องแต่งเพลงเพื่อประกอบภาพ ดังนั้นมันต้องขึ้นอยู่กับผู้กำกับเป็นหลัก ถ้าเขาคิดว่าเพลงของเราไม่เหมาะสมก็ต้อง และแก้กันหลายรอบมาก นักแต่งเพลงต้องอดทนมาก เวลาเขาขออะไรมาเราก็ต้องบอก yes อย่างเดียวเลยสำหรับงานสายนี้

หลายๆ คนมองว่าเพลงประกอบเป็นอะไรที่อยู่เบื้องหลัง เป็นเสียงในแบคกราวน์และมักไม่ให้ความใส่ใจมากนัก แทนคิดอย่างไร เล่าให้ฟังหน่อยว่าเพลงประกอบมีความสำคัญอย่างไร

        ตอนเรียนอยู่ที่ Berklee ครูท่านนึงบอกเป้าหมายเพลงประกอบหนังคือ จะต้องทำให้คนดู “ไม่รู้สึกถึงเพลงของเราได้” เราจะต้องทำยังไงก็ได้ให้เขาไม่รู้ว่ามีเพลงเราเล่นอยู่ เพราะถ้ามันโดดออกมานั่นแปลว่าเพลงของเรามันไม่เข้ากับภาพ แล้วจะทำให้คนดูหลุดโฟกัสหนัง ถ้าเขาไม่ได้ใส่ใจมากนักนั่นน่ะแหละว่าเราทำงานถูกแล้ว (ฮา) เป้าหมายของเราคือช่วยผู้กำกับเล่าเรื่อง เพลงที่เล่นคลออยู่ในทุกๆ ฉากคือสิ่งที่ช่วยทำให้การแสดงของนักแสดงมีมิติขึ้นไปอีก เราคือช่วยขยายการแสดงของนักแสดงให้คมชัดขึ้นอีกด้วย ดังนั้นเอาจริงๆ เราไม่ได้สนใจมากนักว่าคนจะใส่ใจไม่ใส่ใจ เพราะในจุดนั้นแล้วเราได้ทำงานที่เรารักซึ่งแค่นี้มันก็พอแล้ว

แทนมีแนวทางการแต่งเพลงหรือเอกลักษณ์ของตัวเองหรือยัง

        ผมเป็นคนชอบแต่งธีมไม่ว่าจะหนังแนวไหน ธีมต้องมาก่อน มันจะทำให้เพลงเรามันมีคาแรกเตอร์ขึ้นมาทันที อาจจะเป็นธีมของหนัง ธีมของตัวละคร อะไรก็ได้ตามสมควร อย่างล่าสุดได้ทำเพลงประกอบสารคดีชุด Tripitaka: The Living Message ซึ่งเป็นสารคดีเกี่ยวกับพระไตรปิฎก เป็นประสบการณ์ที่สนุกมากๆ เพราะ เฮ้ย…. ต้องแต่งธีมให้พระพุทธเจ้า คือเราต้องดึงความขลัง ความน่าเคารพ ความศรัทธา ความยิ่งใหญ่ ขณะเดียวกันต้องคงความสากลไว้เพราะอย่าลืมว่ามันไม่ใช่เพลงไทย นี่คือเรื่องของศาสนาระดับโลก ซึ่งเป็นโจทย์ที่ยากมาก

        แนวเอปิกผมก็ชอบ อย่างเช่นแนวๆ Lord of the Rings ซึ่งชอบมาก  แต่ในอีกด้านก็จะชอบแต่งเพลงให้เพลงมันระเบิดๆ หรือโหดไปเลย ยิ่งโปรเจ็กต์ล่าสุดที่ทำอยู่ตอนนี้คือมาแนวหลอนๆ ไปทางสยองขวัญเลย สนุกมาก เหมือนได้ระบายอารมณ์ จริงๆ เมืองไทยหนังผีเยอะนี่น่าจะเข้าทางเรา (ฮา)

ทำไมไม่กลับมาทำงานที่เมืองไทย ทำงานที่อเมริกาดีกว่ายังไง

        ถ้าบอกตามตรงก็คือ มันก็คงต้องอยู่ที่วงการภาพยนตร์ไทยด้วย ปีหนึ่งมีหนังไทยออกมากี่เรื่อง และแต่ละเรื่องเขาต้องการเพลงแบบไหน สเกลใหญ่เล็กยังไง ซึ่งว่าตามตรงแล้วมันยังไม่หลากหลายมาก เราอาจจะมีละคร มีสารคดีบ้าง แต่มันยังไม่หลากหลายพอ มันก็ยังมีโอกาสนะครับ แต่มันอยู่แค่ว่าเราจะโชคดีแค่ไหน หรือว่าเราจะขวนขวายหางานที่ออกไปไกลจากไทยหน่อยก็ย่อมได้

        ส่วนสาเหตุหลักที่ยังอยากทำงานที่นี่คือ อเมริกานั้นมีบุคลากรที่จะทำงานสายนี้ครับ ไม่ใช่ที่ไทยไม่มีนะ แต่ว่าถ้าสมมติเราจะทำเพลงประกอบหนังแล้วต้องอัดเสียง หานักดนตรี ที่นี่เราจะมีนักดนตรีที่เป็น Session Player ที่คุ้นเคยกับการอัดเพลงแนวนี้ จะทำให้เราทำงานแข่งกับเวลาได้ดี ดังนั้นเราสามารถรับงานจากที่ไหนก็ได้ จะเป็นหนังชาติใดก็ได้ แต่การที่เราประจำอยู่แอลเอมันหมายความว่าจะทำให้เพลงนั้นออกมาได้มีประสิทธิภาพ และทันกำหนดที่โปรดิวเซอร์ต้องการ และนอกจากนี้ผมก็ยังอยากผจญภัย ค้นหาโอกาสจากที่นี่ต่อด้วย เพราะแอลเอเป็นเมืองแห่งโอกาส เรายังคงตื่นเต้นที่จะค้นหาโอกาสดีๆ วันหนึ่งผมอาจจะได้แต่งเพลงให้หนัง Hollywood ก็ได้

มีคนไทยในแวดวงนี้มากน้อยแค่ไหนในอเมริกา

        ก็มีบ้างครับ ได้ยินว่ามีอยู่สองสามคน หลักๆ เลยก็มีพี่คนไทยคนนึงที่ร่วมงานด้วยกันมาตั้งแต่ปีที่แล้วชื่อพี่บาส พันธวิต เคียงศิริ พี่คนนี้คือครูเลย เพราะเป็นคนที่สอนให้เราทำงานแบบมืออาชีพจริงๆ สมัยเรียนเราก็อาจจะได้ลองแต่งเพลงให้ฉากสองฉาก แต่พอมาร่วมงานกับพี่เขา เขาก็บอก “อะ เอาไป หนังสั้นเรื่องนึง ทำให้เสร็จอาทิตย์หน้านะ” แรกๆ ก็เหวอครับ แต่การรับงานด่วนฟ้าผ่าแบบนี้มันก็ทำให้เราแกร่งขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะเอาจริงๆ พอทำงาน จะรออะไรละเมียดละไมตามใจฉันแบบตอนเรียนไม่ได้แล้ว


คุณพ่อคุณแม่ให้คำแนะนำเรื่องงานและการใช้ชีวิตยังไงบ้าง

        อดทนคือสิ่งที่พ่อย้ำตลอด เพราะการสู้งานสายนี้จริงๆ แล้วมันค่อนข้างโหดเลยทีเดียว บางครั้งก็ถึงกับอดหลับอดนอน จนเริ่มลืมไปแล้วว่านี่มันงานสาย Creative จริงๆ รึเปล่า (วะเนี่ย) คือบางทีไม่ได้หลับได้นอน เหนื่อยมาก แต่มันต้องเสร็จ! เท่านั้นไม่พอ มีแก้อีก หรือเขาอาจไม่เอางานผมลยก็ได้ คือบางทีมันเหนื่อยและท้อมาก แต่พ่อแม่ขอให้อดทนสู้ต่อไป โดยที่ท่านก็บอกเสมอว่า งานทุกสายมันก็มีความยากลำบากในแบบของมันเอง พูดง่ายๆ ทุกคนก็เหนื่อยเหมือนกันหมด เราต้องอาศัยความเข้าใจ และใจเย็นแบบคนไทยเรานี่แหละถึงจะสู้งานต่อไปได้


มีใครเป็นไอดอลในด้านนี้บ้าง ชอบผลงานชิ้นไหนของเขาเป็นพิเศษ

         คงไม่มีใครอื่นนอกจาก John Williams ผู้ให้กำเนิดเพลงในหนังอย่าง Jurassic Park, Star Wars, Harry Potter, E.T. โห .... อีกมากมาย นักแต่งเพลงท่านนี้คือปรมจารณ์แห่งเพลงประกอบหนังที่แท้จริง เพลงของเขาเต็มไปด้วยรายละเอียดที่นั่งฟังนั่งอ่านโน้ตทุกวันไปก็มีอะไรให้น่าทึ่งอยู่เสมอ และตอนนี้ท่านอายุ 86 แล้ว แต่ก็ยังคงแต่งเพลงให้ Star Wars Episode 9 ที่จะเข้าฉายปีหน้า ไม่มีอะไรนอกจาก ปู่เจ๋งโคตร ผลงานที่ชอบสุดๆ แล้วคงยกให้ Jurassic Park ภาคแรกที่ได้ยินตั้งแต่อนุบาล และทำให้รักในเพลงประกอบหนังมาจนวันนี้ ไม่มีวันลืมเลย


อยากบอกอะไรกับคนที่สนใจงานด้านนี้

         ในฐานะของคนที่ไม่ได้มีพื้นฐานดนตรีลึกซึ้ง ไม่ได้ถูกเทรนให้เป็นนักดนตรีหรือ conductor ใดๆ แล้วมาเรียนทีหลังตอนโตแล้ว บอกเลยว่ามันอยู่ที่ใจแค่นั้นเอง ถ้าเราอยากทำเพลงประกอบอย่างแรกก็คือต้องฟังเพลงเยอะๆ หลายๆ แบบเพราะเพลงประกอบหนังมันเป็นเพลงแนวอะไรก็ได้ในโลก ยิ่งฟังมากก็ยิ่งเป็นกำไร ดูหนังเยอะๆ ด้วย เราจะได้เห็นอารมณ์หลายๆแบบ และมันจะทำให้เห็นการตีความต่างๆ ไปเพราะเราจะต้องเป็นคนที่เล่าเรื่องด้วยเพลง ดังนั้นการเข้าใจการเล่าเรื่องในหนังก็สำคัญ ส่วนเรื่องเทคนิคต่างๆ ค่อยๆฝึกกันไป ทุกวันนี้ผมก็ยังดู Youtube ตลอด  แต่ท้ายสุดอย่าลืมว่านี่คือดนตรี มันคือศิลปะ มันคือความสุขที่จะได้สร้างเสียงอะไรใหม่ๆ ดังนั้นอย่าทิ้งเป้าหมายหลักว่าต้องเล่นดนตรีอย่างมีความสุขด้วย

 

 

ABOUT THE AUTHOR
Manta

Manta

นักดื่ม นักจิบ ดื่มบ้างบ่นบ้าง

ALL POSTS