HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
เส้นทางทาส... La Route des Esclaves
by โลจน์ นันทิวัชรินทร์
11 ก.ค. 2562, 16:40
  1,929 views

ความอัปยศที่ประเทศเบนินอยากเก็บรักษาไว้เป็นบทเรียน

        ที่เมืองอวีดาฮ์ (Ouidah) เมืองขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ของประเทศเบนิน (Republic of Benin) อดีตอาณานิคมฝรั่งเศสในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกนั้นมีถนนอยู่สายหนึ่งที่ทอดตัวยาวไปไกลหลายกิโลเมตรจากกลางเมืองไปจนจรดชายหาดริมมหาสมุทรแอตแลนติก

        ถนนสายนี้แตกต่างจากถนนสายอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัดด้วยเป็นเพียงถนนสายเดียวที่ยังคงสภาพเป็นทรายปนดินอันแสนจะขรุขระ หากเวลามีลมพัดแรง ๆ สักที ฝุ่นดินฝุ่นทรายก็พร้อมจะลอยคละคลุ้งไปทั่ว และยามใดที่มีฝนตกแม้เพียงบางเบา ถนนสายนี้ก็พร้อมจะแปรสภาพเป็นถนนโคลนดีดโคลนดูดกันได้ง่าย ๆ

        ทั้งหมดนี้คือความตั้งใจของรัฐบาลเบนินไม่ว่ายุคใดสมัยใดที่ต้องการจะปล่อยถนนสายนี้ให้คงสภาพไว้เยี่ยงนั้นนับแต่ได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสเมื่อ ค.ศ. 1976 เป็นต้นมา

เส้นทางสู่ประตูไม่หวนกลับ

        ที่ปลายสุดของถนน มีสิ่งก่อสร้างที่ดูคล้ายประตูโรมันตั้งตระหง่านอยู่ ประตูนี้มีชื่อว่า ประตูไม่หวนกลับ (La Porte de Non Retour หรือ The Gate of No Return) สันนิษฐานกันว่ามีชายหญิงแอฟริกันจำนวนตั้งแต่ 12 – 25 ล้านชีวิตที่เดินผ่านประตูนี้เพื่อข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปยัง โลกใหม่ บนแผ่นดินทวีปอเมริกาในฐานะสินค้าที่เรียกว่า ทาส ภายใต้กระบวนการค้าที่เรียกว่า Transatlantic Slave Trade อันกินเวลากว่า 300 ปีระหว่างศตวรรษที่ 16 – 19

        กว่า 60 เปอร์เซนต์ได้สูญสิ้นลมหายใจโดยยังไม่มีโอกาสได้เห็นโลกใหม่ และมีอีกจำนวนไม่น้อยที่สิ้นชีวิตโดยยังไม่มีโอกาสเดินผ่านโค้งประตูไม่หวนกลับแห่งนี้เสียด้วยซ้ำ พวกเขาเสียชีวิตด้วยความทุกข์ทรมานจากการกระทำอันแสนโหดร้ายที่มนุษย์กระทำต่อมนุษย์ด้วยกันบนถนนสายนี้..... ถนนสายเดียวกันกับที่รัฐบาลตั้งใจเก็บสภาพไว้ให้คงอยู่ดั่งเดิม เพื่อให้ลูกหลานแอฟริกันในวันนี้ได้มีโอกาสเห็นกับตาว่าบรรพบุรุษของตนนั้นต้องเดินด้วยเท้าเปล่า ๆ ไปบนดินและทรายร้อน ๆ พร้อมโซ่ตรวนหนาหนักที่จองจำทั้งคอ แขนและข้อเท้าบนสภาพถนนที่เป็นอย่างไร

จุดเริ่มต้นของเส้นทางทาส 

        ถนนสายนี้เรียกขานกันอย่างเป็นทางการว่าเส้นทางทาส หรือ La Route des Esclaves

       “พร้อมแล้วใช่ไหมครับ?” นิโกลาส์ (Nicolas) ไกด์ท้องถิ่นผู้ช่ำชองประวัติศาสตร์เส้นทางสายนี้กล่าวขึ้น เขาบอกให้ผมและพี่ ๆ น้อง ๆ ทั้งสี่คนเตรียมใจกับสิ่งที่จะได้ยิน ได้ฟัง และได้เห็นในบ่ายที่ร้อนจัดวันนั้น

       ตอนนี้เราอยู่ที่ป้อมปราการฟอรตือ ดือ เซา โจเอา บั๊บติ๊ชต้า ดือ อาจูดา (Forte de São João Babtista de Ajudá) ที่ปัจจุบันกลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งเมืองอวีดาฮ์นะครับ จากชื่อก็คงรู้แล้วว่ามาจากภาษาโปรตุเกส เพราะชาวโปรตุเกสเข้ามามีอิทธิพลในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกก่อนชาติใด และนานกว่าใคร รวมทั้งเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการริเริ่มและขยายขอบเขตการค้าทาสให้กว้างขวางขึ้น ก่อนที่ชนชาวยุโรปแทบทุกชาติจะเข้าร่วมในกระบวนการนี้ ไม่ว่าเดนมาร์ก สวีเดน สเปน ฮอลแลนด์ ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม หรือแม้กระทั่งอังกฤษ เรื่อยไปจนอเมริกา รวมทั้งอาหรับ นิโกลาส์กล่าว

อาคารของผู้ว่าการในสมัยโปรตุเกสเรืองอำนาจ 

       การยึดดินแดนใน โลกใหม่ อย่างทวีปอเมริกา โดยเฉพาะในแถบหมู่เกาะแคริบเบียน ตลอดจนทวีปอเมริกาทั้งทวีปในยุคอาณานิคมนั้นก่อให้เกิดอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ขึ้นมากมายที่นำรายได้มหาศาลให้กับประเทศในยุโรปจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมน้ำตาล เหล้ารัม ยาสูบ กาแฟ โกโก้ และฝ้ายเป็นต้น อุตสาหกรรมเหล่านี้จำเป็นต้องใช้แรงงานคนมากมายมหาศาล โดยเฉพาะแรงงานเพาะปลูกในไร่

        ชาวยุโรปนั้นไม่ต้องพูดถึง เพราะไม่มีความแข็งแกร่งพอที่จะทนต่อสภาพอากาศร้อนชื้น และงานหนักแสนหนักเช่นนั้นได้ ชาวอินเดียนท้องถิ่นจำนวนมากที่เคยเป็นแรงงานหลักในภูมิภาคเหล่านั้นก็สูญเสียชีวิตลงจากการใช้แรงงานเกินขีดของความเป็นมนุษย์ ที่สำคัญคือการเสียชีวิตจากโรคใหม่ ๆ ที่มากับชาวยุโรปซึ่งเป็นโรคที่ชาวอินเดียนในทวีปอเมริกาไม่มีภูมิคุ้มกัน ดังนั้นการแสวงหาแรงงานใหม่ ๆ จากพื้นที่ใหม่ ๆ จึงเกิดขึ้น โดยมีเกณฑ์กำหนดว่าต้องเป็นแรงงานที่อึดกว่า ทนกว่า และทำงานได้หนักกว่า เพื่อเป็นกำลังผลิตให้กับอุตสาหกรรมสำคัญที่กำลังขยายตัว ดังนั้นการเลือกใช้ทาสจากทวีปแอฟริกาจึงกลายมาเป็นคำตอบ

        ที่ด้านหลังของป้อมปราการฟอรตือ ดือ เซา โจเอา บั๊บติ๊ชต้า ดือ อาจูดา จะมีลานดินที่กว้างใหญ่ ลานนี้คือลานที่ใช้เก็บกักชายหญิงที่เดินรอนแรมมาจากภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วแอฟริกาตะวันตก

ลานเก็บทาสที่เดินเท้ามาจากดินแดนต่าง ๆ

        ก่อนมาถึงป้อมปราการแห่งนี้ ชายหญิงแอฟริกันจำนวนมากจะถูกกวาดต้อนมาจากหมู่บ้านไกลแสนไกลในพื้นทวีปและเดินเท้าที่จองจำด้วยโซ่ตรวนจากเหล็ก รวมทั้งดามคอด้วยไม้หรือห่วงโลหะ ระยะเดินเท้าโดยเฉลี่ยคือไม่ต่ำกว่า 200 ไมล์

       “คนยุโรปไม่ใช่ผู้ที่กวาดต้อนชนพื้นเมืองมาเป็นทาสนะครับ หลายคนเข้าใจผิด คนยุโรปคือผู้ขายและผู้ซื้อเท่านั้น แต่หัวหน้าเผ่า หรือกษัตริย์ของราชอาณาจักรเล็ก ในพื้นที่แอฟริกาตะวันตกต่างหากที่เป็นผู้กวาดต้อนเชลยสงคราม หรือแม้แต่จับราษฎรของตนมาขายเป็นทาสโดยมีผลประโยชน์มากมายที่ได้รับแลกเปลี่ยนเป็นของกำนัล นิโกลาส์อธิบาย

      “ทาสชายหนึ่งคน อาจหมายถึงสินค้าฟุ่มเฟือยทั้งหลาย จากยุโรปไม่ว่าเหล้า ยาสูบ หรืออาวุธยุทโธปกรณ์หลากชนิด อย่างปืน ปืนใหญ่ กระสุน ฯลฯ ที่หัวหน้าเผ่าและกษัตริย์ในภูมิภาคนี้จำเป็นต้องใช้เพื่อการสงครามระหว่างเผ่า และของเหล่านั้นก็มีอำนาจพอจะเปลี่ยนคนคนหนึ่งให้ละทิ้งความเป็นมนุษย์ของตนเองไปได้และลานแห่งนี้คือจุดเช็คอินจุดที่หนึ่งของเส้นทางทาสสายนี้

      เราตามนิโกลาส์ออกไปยังจตุรัสแห่งหนึ่งที่วันนี้มีต้นไม้ใหญ่อายุนับร้อยปีแผ่กิ่งก้านสาขาให้ความสงบร่มรื่น มีเสื้อผ้าสีสดหลากทรงหลายสไตล์แขวนอยู่บนต้นไม้ราวกับเป็นดิสเพลย์ของสินค้า พี่ ๆ น้อง ๆ ชาวเบแน็งนัวส์ (Béninois) กำลังนั่งพักผ่อนหลบร้อน แต่ในช่วง Transatlantic Slave Trade นั้น จตุรัสแห่งนี้มีชื่อสั้น ๆ ง่าย ๆ ว่า จตุรัสจ้าจ้า หรือ Place Chacha ที่เดิมสะกดว่า Place Tchatcha  ที่ออกเสียงว่า ปลาซ จ้าจ้า เช่นกัน

     

ใกล้ ๆ กับ Place Chacha มีจตุรัสที่เรียกว่า Place des Encheres ที่ตีตรวนทาสกันกลางลานก่อนนำไปนาบไฟ

        เสียง จ้า จ้า หรือ Tcha Tcha คือเสียงเร่งฝีเท้าของผู้คุมที่จะตะโกนสั่งชายหญิงแอฟริกันให้รีบเดินออกมาจากป้อมปราการเพื่อให้มายืนโชว์ตัวกันที่ตรงลานกว้างใต้ตันไม้ใหญ่ต้นนี้เพื่อให้ชาวยุโรปชาติต่าง ๆ ได้ชมสินค้าที่เพิ่งมาถึงสด ๆ ใหม่ ๆ

       เสียงจ้าจ้ายังเป็นเสียงที่ผู้จัดประมูลเร่งรัดให้ผู้ร่วมประมูลเคาะราคาสูงสุดเพื่อที่จะครอบครองสินค้าที่มองแล้วว่าแข็งแรงที่สุด ดังนั้นจตุรัสแห่งนี้จึงอึงอลไปด้วยเสียงหวีดร้องอย่างเสียขวัญของชาวแอฟริกันที่เพิ่งรอนแรมมา เสียงร้องเมื่อถูกตีด้วยหวาย เสียงการประมูลราคา และเสียงจ้าจ้าที่เร่งรัดมาจากทุกทิศทุกทาง

        “เห็นบ้านหลังเล็ก ตรงนั้นไหม? เมื่อใครประมูลทาสไปได้ ก็จะลำเลียงเข้าไปในบ้านหลังนั้น สิ่งต่อมาที่เกิดขึ้นก็คือการเอาเหล็กร้อนเผาไฟนาบที่หน้าผาก หรือหน้าอกเพื่อตีตราว่าเป็นสินค้าของใคร ชาติไหน ในตอนนั้นมียุโรปหลายชาติที่มีกิจการรุ่งเรืองจากการขายทาส ไม่ว่าโปรตุเกส สวีเดน ดัทช์ ฝรั่งเศส ฯลฯ เราเรียกขั้นตอนนี้ว่า Branding การตีตราเช่นนี้เพื่อป้องกันความสับสนในล็อตสินค้านั้น ว่าเป็นของใคร และของชาติใดนิโกลาส์เล่า และในวินาทีนั้น ชายหญิงแอฟริกันเหล่านั้นจะกลายสภาพเป็นทาสโดยสมบูรณ์ไปแล้ว

บ้านเขียว เป็นที่นาบเหล็กร้อนเพื่อตีตราทาส 

        ที่ลานไม่ไกลจากบ้านสีเขียวมีจตุรัสเล็ก ๆ ที่มีต้นไม้ใหญ่ ๆ ปกคลุมอยู่ ลานนั้นมีชื่อว่าปลาซ เด ซ็องแชรส์ (Place des Enchéres) ที่จะนำทาสที่เพิ่งตีตราด้วยโลหะร้อน ๆ มาหมาด ๆ มาให้ผู้ประมูลตรวจสอบสินค้าอีกครั้ง หากใครยังคิดจะสู้ราคาเพื่อเป็นเจ้าของทาสที่ดูแข็งแรงกว่าก็ยังสามารถประมูลกลับได้ เมื่อทุกอย่างจบลง ผู้คุมก็จะนำทาสทั้งหมดมาตีตรวนเท้า ข้อมือ และดามคออีกครั้ง บางคนที่ยังมีแรงฮึดและต่อต้านก็อาจต้องคาท่อนไม้ไว้ในปากด้วย

       จากนั้นนิโกลาส์ก็พาเราเดินฝ่าเปลวแดดอันร้อนระอุไปยังจุดหมายต่อไป ผมจำได้ว่าผมใส่รองเท้าผ้าใบหนา แต่ว่าความร้อนสะสมบนพื้นดินตามเส้นทางเดินยังแอบทะลุขึ้นมาถึงฝ่าเท้าจนรู้สึกได้ ผมหลับตานึกถึงพวกเขาที่ต้องเดินย่ำด้วยเท้าเปล่า ๆ บนเส้นทางสายนี้ไปเรื่อย ๆ หลังจากรอนแรมมาไกลแสนไกลจากบ้านเกิด ที่สำคัญก็คือพวกเขาล้วนเป็นมนุษย์ที่มีเนื้อมีหนัง มีความรู้สึก และมีหัวใจ...... ไม่ต่างจากผม

       เรามาถึงบริเวณที่เรียกว่าลา ก๊าส นัวร์ (La Case Noire) หรือมีอีกชื่อว่า ลา ก๊าส โซมาอี (La Case Zomaï) ซึ่งปัจจุบันเป็นเพียงลานโล่ง ๆ ขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ แต่ในสมัยก่อนที่นี่คืออาคารหลังใหญ่ที่สร้างอย่างอุดอู้และมืดทึมเพื่อเป็นแหล่งพักพิงของทาสที่ลำเลียงต่อมาจากลานก่อนหน้านี้เพื่อมาพำนักและรอเรือไม้ลำใหญ่ที่กำลังเดินทางมารับเพื่อล่องข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปยังทวีปอเมริกา

La Case Noire เคยเป็นบ้านที่ใช้กักกันทาส

       ระยะการรอเรือนั้นโดยปกติแล้วจะกินเวลาตั้งแต่ 2 – 4 สัปดาห์ ห้องกักกันทาสเป็นห้องที่สร้างด้วยอิฐหนาเพื่อป้องกันการหลบหนี และมีช่องระบายอากาศเพียงเล็ก ๆ จึงอับลมและแสง ห้องเล็ก ๆ เหล่านี้ใช้กักขังทาสไว้คราวละหลายร้อยคนอย่างแออัด พื้นที่แคบ ๆ แห่งนี้จึงเป็นทั้งที่กิน ที่ยืน ที่นั่ง ที่นอน ที่ขับถ่าย รวมทั้งที่ลมหายใจเฮือกสุดท้ายของหลายชีวิตได้หมดลง

    “แผลที่เกิดจากการนาบเหล็กร้อนมักจะอักเสบ ยิ่งอยู่ในสภาพสกปรกเช่นนี้ ผมไม่แปลกใจเลยว่าที่นี่คือแดนสังหาร ภาวะขาดอาหาร ขาดอากาศ และกดดันทำให้มีทาสหลายคนคลุ้มคลั่งเสียสติในระหว่างการกักขังที่ลา ก๊าส นัวร์ แห่งนี้ สิ่งที่คนขาวทำก็คือจับพวกเขามัดมือไพล่หลัง เอาท่อนไม้ยัดปาก และนำไปนั่งตากแดดตากฝนให้ทาสคนอื่น ที่เพิ่งมาใหม่ได้เห็น เพื่อจะกำราบไม่ให้คิดต่อต้านหรือหืออือ... อยากรู้ไหมครับว่าพวกเขานั่งกันท่าไหน? ลองดูประติมากรรมปูนปั้นที่ประดับลานนี้สิครับ นั่นแหละครับ นั่นคือท่าที่พวกเขาต้องนั่งทรมานอยู่เป็นวัน หรือหลายวัน ผมถึงเรียกพื้นที่นี้ว่าลานประหาร นิโกลาส์กล่าวพร้อมกับชี้ให้ดูประติมากรรมปูนตรงนั้น ผมนึกถึงคนที่ต้องนั่งด้วยอากัปกิริยาเช่นนั้นเป็นวัน ๆ และน้ำตาผมก็รื้นขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว

La Case Noire เคยมีบ้านที่กักขังทาสก่อนส่งขึ้นเรือไปยังโลกใหม่ (ทวีปอเมริกา) // (บน) ทาสจะถูกนำมาโดยมีดุ้นไม้อุดปาก เอามือไพล่หลัง และให้นั่งมัดแขนขา 

        หากมีการเสียชีวิต หรือเกิดโรคระบาด ร่างของพวกเขาจะได้รับการลำเลียงมายังลานฝังซึ่งอยู่เลยไปบนเส้นทางทาสสายนี้ ปัจจุบันได้กลายมาเป็นอนุสรณ์สถานที่สงบและสวยงาม ประตูทางเข้ามีป้ายภาษาฝรั่งเศสเขียนไว้ชัดเจนว่า “กรุณาอยู่ในอาการสำรวมเพื่อให้เกียรติกับวิญญาณของผู้วายชนม์ เชื่อกันว่ามีศพทาสไม่ต่ำกว่าหนึ่งล้านศพที่ลำเลียงมาโยนและฝังกลบ ณ ลานแห่งนี้

อนุสรณ์สถานสร้างขึ้นในบริเวณที่ทิ้งศพทาส เชื่อว่ามีศพทาสฝังไว้ที่นี่กว่าหนึ่งล้านศพ// (บน) ทางเข้าที่ทิ้งศพทาส

         บนลานนั้นมีประติมากรรมปูนปั้นเป็นรูปทาสที่ชูมือขึ้นพร้อมกับโซ่ตรวนที่ขาดสะบั้นออกจากกัน นั่นคือความเชื่อที่ว่าในที่สุดวิญญาณทาสที่ทุกข์ทรมานเหล่านั้นจะได้รับการปลดปล่อยสู่ความอิสระเสรีในวินาทีที่เขาสิ้นลมจากโลกอันแสนโหดร้ายใบนี้ไปแล้ว

         เมื่อเรือลำใหญ่มาถึง ทาสที่ยังมีชีวิตจะได้รับการต้อนออกมาจากลา ก๊าส นัวร์ เพื่อเดินต่อไปยังต้นไม้สองต้น ต้นหนึ่งคือต้นไม้แห่งการลืม (L’Arbre d’Oubli) โดยเชื่อว่าพวกเขาจะลืมแผ่นดินแอฟริกาได้โดยไม่อาลัยอาวรณ์อีกต่อไป ต้นไม้ที่สองคือต้นไม้แห่งการหวนกลับ (L’Arbre du Retour) โดยเชื่อว่าเมื่อเขาสูญเสียชีวิตไปแล้วไม่ว่าที่ไหนก็ตามบนโลกใบนี้ รวมทั้งทวีปอเมริกา ดวงวิญญาณของพวกเขาจะกลับมายังต้นไม้ต้นนี้ บนแผ่นดินแม่ และจะคงอยู่ตลอดไป โดยทาสชายจะเดินเป็นวงกลม 9 รอบ ส่วนทาสหญิง 6 รอบต้นไม้เหล่านี้ ทั้งนี้เป็นไปตามความเชื่อที่ว่าผู้ชายมีซี่โครง 9 ซี่และผู้หญิงมีซี่โครง 6 ซี่

         

บนจั่วของประตูที่ไม่หวนกลับ จะมีรูปทาสกำลังเดินไปขึ้นเรือเพื่อไปยังโลกใหม่ (ทวีปอเมริกา) // (ล่าง) อีกด้านจะเป็นรูปทาสกลับมายังต้นไม้แห่งการหวนกลับ เพื่อเชิญดวงวิญญาณทาสให้กลับมายังต้นไม้นี้
 

        และในตอนใกล้ค่ำ เส้นทางทาสได้พาผมและพี่ ๆ น้อง ๆ มายังจุดหมายปลายทางสุดท้ายนั่นคือประตูไม่หวนกลับ ซึ่งตั้งตระหง่านอยู่ริมมหาสมุทรแปซิฟิก และเลยไปไกลแสนไกลก็คือทวีปอเมริกา

       “เมื่อก่อนประตูนี้เป็นแค่ช่องไม้ที่ให้ทาสเดินลอดไปขึ้นเรือเล็ก ก่อนไปขึ้นเรือใหญ่กลางทะเลลึก หลายคนถึงขั้นเสียสติ ทำร้ายตัวเอง และมีอีกหลายคนที่เลือกกระโดดน้ำทะเลพร้อมโซ่ตรวนเพราะไม่อยากจากบ้านไปยังโลกใหม่นิโกลาส์กล่าว

         เสียงของนิโกลาส์ค่อย ๆ แผ่วลงและจางหายไปพร้อมกับลำแสงสุดท้ายของเย็นวันนั้นเมื่อพระอาทิตย์ที่กำลังจะอำลาขอบฟ้าลงสู่มหาสมุทรแอตแลนติก เราสี่พี่น้องยืนนิ่ง มองไปข้างหน้า ลำคอแหบแห้ง ความเงียบงันนั้นสงัดอยู่รอบตัว

         ประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งได้ปิดฉากลงไปแล้ว สิ่งสำคัญคือเราเรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์กันบ้าง? และเราพยายามกันแค่ไหนที่จะไม่ทำให้สิ่งเลวร้ายเช่นนั้นเกิดขึ้นอีก?  และเราพยายามกันมากพอแล้วหรือยัง?

 

Photo Contributor

ดวงฤทัย พุ่มชูศรี

ลูกคนกลางที่เกิดวันพฤหัส มีโลกส่วนตัวสูง แต่ชอบตะลุยโลกกว้าง ขีด ๆ เขียน ๆ บันทึกเอามัน สีน้ำบ้าง ถ่ายรูปด้วยความหลงไหลด้วยฟิล์มบ้าง ดิจิตอลบ้างตามอารมณ์

ติดตามบันทึกการเดินทางประเทศไม่ธรรมดาที่ Facebook หน้า Nings Homemade และ IG : thursday_morning

 

 

ABOUT THE AUTHOR
โลจน์ นันทิวัชรินทร์

โลจน์ นันทิวัชรินทร์

หนุ่มเอเจนซี่โฆษณาผู้มีปรัชญาชีวิตว่า "ทำมาหาเที่ยว" เพราะเรื่องเที่ยวมาก่อนเรื่องกินเสมอ ชอบไปประเทศนอกแผนที่ที่ไม่มีใครอยากไปเลยต้องเต็มใจเป็น solo backpacker

ALL POSTS