HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
ผู้ประกอบการร้านอาหารทุกระดับต้องการเติมออกซิเจนเพื่อหายใจต่อ
by Veen T.
4 มิ.ย. 2564, 14:57
  948 views

        ฝ่าวิกฤตโควิด ธุรกิจอาหารที่เคยเฟื่องฟู เป็นหน้าเป็นตาของประเทศและดึงดูดนักท่องเที่ยว สร้างรายได้และการจ้างงานเพื่อหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจหลักของประเทศกำลังเป็นธุรกิจหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างแสนสาหัส

        การประเมินของชมรมผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร พบว่ามีร้านค้ากว่า 6 หมื่นที่ปิดตัวไปเมื่อปีที่ผ่านมา และการระบาดระลอกใหม่ปีนี้น่าจะเห็นอีกหลายรายที่ต้องบอกลาธุรกิจไป ร้านอาหารที่ปิดตัวไปมีทั้งระดับ fine dining อย่าง โบ.ลาน ระดับตำนานเช่น โคคา สาขาสยามสแควร์ ร้านสาขาข้าวแกงเช่นของหม่อมถนัดแดก และร้านคาเฟ่แนวรถไฟฟ้าอย่าง CHU ระดับสตรีทฟู้ดอีกมากมาย

นัฐธารี พันธุ์เพ็ญโสภณ ทายาทรุ่นที่ 3 ที่สาขาสุรวงศ์ ร้านแรกของโคคา

        สำหรับรายใหญ่อย่างโคคา นั้น นัฐธารี พันธุ์เพ็ญโสภณ ทายาทรุ่นที่ 3 ของร้านสุกี้ในตำนาน กล่าวว่ายอดขายของกลุ่มลดลง 50% เนื่องจากการระบาดของโควิด และแม้ว่าจะเข้าใจและอยากร่วมมือกับทางรัฐบาล ส่วนตัวเห็นว่ามาตราการบางอย่าง (เช่นการห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้าน) ควรมีการแจ้งผู้ประกอบการล่วงหน้า เพราะการทำธุรกิจต้องมีการสั่งของ และมีการทำ inventory

        "บางครั้งดูเหมือนรัฐฯ ยังไม่ได้เข้าใจภาคธุรกิจและมองข้ามไป” นัฐธารี บอกกับ HappeningBKK

       ปัญหาของธุรกิจร้านอาหารในตอนนี้พวกเขาต้องการให้รัฐฯ เหลียวแล มองเห็นปัญหาและออกมาตราการช่วยเหลือที่เหมาะสมก่อนที่จะมีคนต้องล้มหายตายจากกันไปมากกว่านี้ ซึ่งหมายผลกระทบเป็นโดมิโนไปยังภาคธุรกิจอื่น ๆ ด้วย

Chef Chumphol ชุมพล แจ้งไพร       ทางเชฟชุมพล แจ้งไพร แห่งห้องอาหารไฟน์ ไดนิ่ง ระดับ 2 ดาวมิชลิน RHAAN บอกกับ HappeningBKK ว่า “ใครสายป่านยาวอยู่ได้ ต้องการออกซิเจนให้หายใจต่อให้ได้ (ร้าน)ใหญ่เล็กแค่ไหนต้องการออกซิเจนเพื่อให้หายใจต่อให้ได้” เชฟชุมพลเชื่อว่าร้านอาหารจะพลิกกลับมาอย่างรวดเร็วหลังการแพร่ระบาดของโควิด และต่อไปผู้ที่จะอยู่รอดคือระดับตัวจริง และอาจจะต้องทำร้านอาหารที่มีสเกลเล็กลง และโฟกัสมากขึ้น

         ซึ่งสอดคล้องกับทางนัฐธารี ของโคคาที่มองว่า นับจากนี้ไปการทำธุรกิจควรย่อไซส์ลงมา “ภัตตาคารใหญ่ๆ 300-400 ที่นั่งไม่ควรทำ นั่งได้ 60-100 คน ต้องปรับเป็นเดลิเวอรี่มากขึ้น นี่คือสิ่งที่จะทำให้ร้านอาหารสมัยนี้รอด”
อนาคตจะเป็นอย่างไร ผู้ประกอบการยังมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ รัฐบาลไม่เคยออกมาบอกว่ามาตรการที่เป็นรูปอธรรมที่เรียกความมั่นใจให้ผู้ประกอบการหลายรายจึงตัดใจยอมขาดทุน ปิดกิจการก่อน

Coca Pop-Up รูปแบบใหม่ ขนาดร้านเล็กลง 


        ทางเชฟชุมพล ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลออกโครงการช่วยเพิ่มสภาพคล่องต่อลมหายใจให้ธุรกิจโดยขอให้ตั้ง กองทุนสำหรับธุรกิจร้านอาหาร คาเฟ่ และสตรีทฟู้ด “ทั้งนี้เพื่อให้ธุรกิจหายใจได้และก้าวผ่านวิกฤตในครั้งนี้ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน”

ABOUT THE AUTHOR
Veen T.

Veen T.

Ex-lifestyle editor who's all about the slow-life vibe and still trying to nail it

ALL POSTS