เปิดตัว หอศิลป์ใหม่กลางกรุงฯ ใช้ศิลปะเพื่อสร้างการรับรู้ปัญหาสังคมอย่างสร้างสรรค์
"วารินแล็ป คอนเท็มโพรารี่" พื้นที่หอศิลป์แห่งใหม่ของกรุงเทพฯ พร้อมจัดแสดงนิทรรศการแรก ม.ค. 2564
วารินแล็ป คอนเท็มโพรารี่ มีความมุ่งมุ่นที่แตกต่างจากพื้นที่ด้านศิลปะเชิงพาณิชย์ทั่วไป โดยมีปณิธานที่จะเชื่อมโยงผู้ชมงานให้ตระหนักรู้ถึงปัญหาสังคมปัจจุบันด้วยการสื่อสารผ่านผลงานศิลปะที่เกิดจากการกลั่นกรอง และค้นคว้าข้อมูลของศิลปิน หอศิลป์ทำงานร่วมกับภัณฑารักษ์ และศิลปินจากทั่วโลก เพื่อสร้างการสื่อสารที่มีนัยสำคัญเพื่อสะกิดให้ผู้ชมเกิดพลังความคิด และกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
วารินแล็ป คอนเท็มโพรารี่ เชื่อว่าการรับรู้ที่ลึกซึ้งจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีการสื่อสารอย่างต่อเนื่องในหลายแง่มุม ดังนั้น หอศิลป์ จึงมีดำริที่จะถกประเด็นสังคมเพียงประเด็นเดียวในการจัดนิทรรศการตลอดปี โดยในปี 2564 จะมีการจัดนิทรรศการศิลปะทั้งหมด 5 นิทรรศการ โดยมีหัวใจหลักในเรื่องเดียวกัน คือ “สิ่งแวดล้อม” ทั้งนี้ ในแต่ละนิทรรศการศิลปินแต่ละคนจะแสดงความคิดเห็นของตนเองด้วยความสร้างสรรค์ในแง่มุมต่าง ๆ ที่ตนมีต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม
การเลือกประเด็น “สิ่งแวดล้อม” เป็นเนื้อหาแรกของการดำเนินการของหอศิลป์ เป็นสิ่งที่เหมาะสมกับสถานที่ตั้งอย่างยิ่ง เนื่องจาก วารินแล็ป คอนเท็มโพรารี่ ตั้งอยู่ในอาคารไม้อายุกว่า 100 ปีซึ่งเคยเป็นบ้านของนายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล (พ.ศ.2450 – 2535) ซึ่งเป็นหมอ จิตรกร ช่างภาพ นักเขียน และท่านเป็นบิดาผู้บุกเบิกการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของไทย
นอกจาก นิทรรศการศิลปะแล้ว วารินแล็ป คอนเท็มโพรารี่ ยังมีกิจกรรมให้ความรู้เพื่อสร้างความเข้าใจที่ลึกซึ้ง และกระตุ้นให้เกิดการการเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์ ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การบรรยาย เวิร์คช็อป และการร่วมวงอภิปรายเพื่อแบ่งปันความรู้และประสบการณ์สู่สาธารณชน
สุคนธ์ทิพย์ ประหารภาพ ผู้ก่อตั้ง วารินแล็ป คอนเท็มโพรารี่ กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการก่อตั้งหอศิลป์แห่งใหม่ว่า “โลกที่เราอยู่ทุกวันนี้เปราะบาง เรามีเทคโนโลยีที่เชื่อมต่อกับโลกกว้างอย่างสะดวกสบายแต่เทคโนโลยีนั้นบงการเราอย่างเงียบ ๆ ว่าข้อมูลใดควรมาถึงเราบ้าง มนุษยชาติอยู่บนเส้นทางอันตรายเนื่องจากข้อมูลข่าวสารที่มาถึงเรานั้นแคบลงอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หอศิลป์หวังว่า ศิลปะจะเป็นช่องทางการสื่อสารช่องทางหนึ่งเพื่อให้ผู้ชมงานได้รับความรู้ และตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมที่เราอาศัยอยู่ รวมทั้งเข้าใจถึงผลกระทบที่มีขึ้นจากการกระทำ หรือการตัดสินใจใด ๆ ของเรา หอศิลป์หวังว่าพื้นที่ใหม่นี้จะช่วยสร้างประสบการณ์ที่มีคุณค่า และกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางสร้างสรรค์”