HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
ครบรส คุ้มค่า ในเทศกาลแห่งความสุข “สีสันแห่งดอยตุง”
by HappBKK
22 ต.ค. 2561, 16:58
  1,142 views

“สีสันแห่งดอยตุง” ครั้งที่ 5 In Doi Festival เริ่มมอบความสุขตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2561 ถึง 27 มกราคม 2562 นี้ ณ โครงการพัฒนาดอยตุง จ.เชียงราย

         มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ต้อนรับเทศกาลแห่งความสุขรับลมหนาวในงาน “สีสันแห่งดอยตุง” ครั้งที่ 5 In Doi Festival ณ โครงการพัฒนาดอยตุง จ.เชียงราย ชวนสัมผัสบรรยากาศของกาดชนเผ่า ถนนคนเดินที่สูงที่สุดในประเทศไทย  อิ่มอร่อยกับรสชาติอาหารจากเชฟอินดอย ตะลุยกิจกรรมหลากหลายที่สนุกได้ทั้งครอบครัว เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ทำความรู้จักวัฒนธรรมของชนเผ่า พร้อมส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อ สิ่งแวดล้อม ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2561 ถึง 27 มกราคม 2562 นี้ ทุกวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์

        งานสีสันแห่งดอยตุงได้จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีในการส่งเสริมศักยภาพของชุมชนในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การขาย การตลาด การสร้างแบรนด์เป็นของตัวเอง ฯลฯ มีประสบการณ์ตรงจากการออกร้านภายในงาน และสามารถต่อยอดความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับไปสร้างธุรกิจของตัวเองให้เติบโต ตลอดจนเพื่อปลูกฝังให้ชุมชนมีการอนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตชนเผ่า สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น และเป็นเวทีให้ชุมชนได้เผยแพร่วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิต ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสและมีประสบการณ์ร่วม ตลอดจนสร้างความภาคภูมิใจให้ชุมชน

         โดยในปีนี้ งานสีสันแห่งดอยตุง ได้จัดขึ้นเป็นปีที่ 5 ภายใต้แนวคิด In Doi Festival นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสเรื่องราวของทั้ง 6 ชนเผ่าในมุมมองใหม่ ลิ้มรสอาหารจากเชฟอินดอยที่ผ่านการคัดสรรกว่า 30 เมนู ที่นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสวัฒนธรรมที่สะท้อนถึงความเป็นอยู่ และเอกลักษณ์ของชนเผ่า นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมแอดเวนเจอร์แบบชนเผ่าที่สนุกสนานได้ทั้งครอบครัว เช่น โบว์ลิงสะบ้า ฟอร์มูลาดอย ไม้ต่อขา หรือ   ท้าทายความสูงด้วยการเดินบนสะพานยอดไม้สูง 30 เมตรท่ามกลางผืนป่าอันสมบูรณ์ และกิจกรรมการสำรวจธรรมชาติสำหรับเด็ก พร้อมทั้งให้นักท่องเที่ยวได้สะสมตราปั๊มตามจุดท่องเที่ยวต่างๆ เพื่อมารับของ        รางวัลพิเศษ รวมถึงเพลิดเพลินกับเวิร์กช็อป DIY หลากหลาย อาทิ สร้างสรรค์งานฝีมือ การตกแต่งการ์ด     อวยพร ปั้นและเพนต์ถ้วยเซรามิก จัดสวนถาด จากวัสดุธรรมชาติบนดอยตุง ทั้งยังได้ชื่นชมความงามของแฟชั่นชนเผ่า การแสดงทอผ้า และซื้อของที่ระลึกต่างๆ เรียกว่าครบรส และคุ้มค่า ในดอยเดียว

   

     

       อีกหนึ่งความพิเศษของสีสันแห่งดอยตุง คือเป็นงานเทศกาลที่คำนึงถึงการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการจัดการทรัพยากรที่ใช้ในการจัดงาน การจัดการขยะ พร้อมทั้งการชดเชยปริมาณคาร์บอนจากทุกกิจกรรมของนักท่องเที่ยวและพนักงาน เพื่อให้ทุกคนได้มีส่วนช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก     อันเป็นสาเหตุสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก นอกจากนี้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้เลือกใช้วัสดุธรรมชาติที่หาได้ในท้องถิ่น เช่น ไม้ไผ่ ใบตอง มาเป็นภาชนะใส่อาหารแทนโฟม เลือกใช้แสงสว่างจากหลอดประหยัดไฟ และใช้รถไฟฟ้าเป็นยานพาหนะรับส่งนักท่องเที่ยว

ความเป็นมาของโครงการพัฒนาดอยตุงฯ

          มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เริ่มต้นทำโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่ พ.ศ. 2531 โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวไทยภูเขา 6 ชนเผ่า จำนวน 11,000 คนในขณะนั้น ตลอดระยะเวลา 30 ปี โดยน้อมนำศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีมาเป็นหลักในการแก้ไขปัญหาของชุมชน

          เมื่อเริ่มดำเนินโครงการ พบว่าชุมชนมีความเป็นอยู่แร้นแค้น สภาพแวดล้อมแห้งแล้งและเสื่อมโทรม ภูเขามีสภาพเป็นเขาหัวโล้น ร้อยละ 70 ของคนในพื้นที่ไร้สัญชาติ ขาดสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และมีฐานะยากจนโดยเฉลี่ยรายได้ต่อคนต่อปี เพียง 3,772 บาท ทำให้ชุมชนต้องหาทางรอดด้วยการประกอบอาชีพ ผิดกฎหมาย เช่น การทำไร่เลื่อนลอย การปลูกฝิ่นและค้ายาเสพติด และเข้าสู่วงจรการค้ามนุษย์

          สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงเล็งเห็นว่าปัญหาสำคัญนั้นเกิดจาก วงจรแห่งความเจ็บป่วย ความยากจน และความไม่รู้การดำเนินโครงการจึงใช้หลักการ ปลูกป่า ปลูกคนหรือการแก้ปัญหาความยากจนที่ยึดคนเป็นศูนย์กลาง และยึดหลักความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจที่สมดุลกับความมั่นคงทางสังคม และความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี โครงการพัฒนาดอยตุงฯ ประสบความสำเร็จในการลดปริมาณการปลูกพืชยาเสพติด และแก้ปัญหาความยากจนของชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม ริเริ่มการสร้างงาน สร้างอาชีพ เพื่อพัฒนาทักษะความรู้และสร้างรายได้ที่มั่นคงให้ชุมชนดอยตุง จากรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปี 3,772 บาท ในปี 2531 ในปี 2560 ได้เพิ่มมาเป็น 106,137 บาทต่อคนต่อปี รวมทั้งได้สร้างหน่วยธุรกิจเพื่อสังคม 5 หน่วย ภายใต้แบรนด์ ดอยตุงได้แก่ งานหัตถกรรม การเกษตร คาเฟ่ดอยตุง อาหารแปรรูป และการท่องเที่ยว และได้นำองค์ความรู้ด้านการพัฒนาและประสบการณ์ไปขยายผลทั้งในพื้นที่อื่นๆ ในประเทศและต่างประเทศ เช่น เมียนมา อัฟกานิสถาน และอินโดนีเซีย จนได้รับการยกย่องจากเวทีนานาชาติให้กลายเป็นต้นแบบของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

ชวนเที่ยวดอยตุง

           ภายในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ นักท่องเที่ยวที่มาเยือนไม่เพียงจะได้สัมผัสถึงธรรมชาติบนขุนเขาที่กลับมาอุดมสมบูรณ์ หากยังได้เรียนรู้วิถีชีวิตของชาวเขา และหลักการทรงงานของสมเด็จย่า แม่ฟ้าหลวงของชาวไทย ที่แสนเรียบง่ายสอดแทรกผ่านสถานที่สำคัญต่างๆ คือ

พระตำหนักดอยตุง

            ที่ประทับทรงงานของสมเด็จย่าเมื่อทรงริเริ่มโครงการพัฒนาดอยตุงฯ ใน พ.ศ. 2531 ตั้งอยู่บนที่ลาดเชิงเขาในรูปแบบสถาปัตยกรรมชาเลต์สวิส ผสานเข้ากับสถาปัตยกรรมแบบล้านนา ประกอบด้วยไม้แกะสลักโดยฝีมือสล่าพื้นบ้าน ระเบียงด้านหลังประดับด้วยดอกไม้เมืองหนาว ด้านหน้าเป็นสวนดอกไม้ผสมผสานมองเห็นทิวทัศน์ไกลถึงอำเภอแม่จัน อำเภอเชียงแสน แม่น้ำโขง และทิวเขาฝั่งลาว ตัวอาคารชั้นบนแยกเป็น 4 ส่วน ส่วนที่ประทับของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ส่วนท้องพระโรงและห้องประกอบพระกระยาหาร ส่วนที่ประทับของสมเด็จพระพี่นางเธอ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และส่วนที่พักของท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม พระธิดาในสมเด็จพระพี่นางเธอ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ การตกแต่งภายในเป็นไปอย่างเรียบง่าย สง่างาม เน้นประโยชน์ใช้สอยอย่างพอดี สะท้อนลักษณะอุปนิสัย และการใช้ชีวิตที่เรียบง่าย ของเจ้าของบ้านได้เป็นอย่างดี

สวนแม่ฟ้าหลวง

           ตั้งอยู่บนพื้นที่เดิมของหมู่บ้านอาข่าป่ากล้วย เดิมเคยเป็นเส้นทางลำเลียงของกองคาราวานฝิ่น น้ำยาทำเฮโรอีน และอาวุธสงคราม ปัจจุบันคือสวนดอกไม้เมืองหนาวนับร้อยสายพันธุ์ที่สับเปลี่ยนดอกไม้ไม่ซ้ำกันในแต่ละปี กลางสวนเป็นที่ตั้งประติมากรรมชื่อ ความต่อเนื่อง” (Continuity) ของนางมีเซียม ยิบอินซอย ซึ่งสมเด็จย่าพระราชทานชื่อนี้เพื่อสื่อความหมายถึง การทำงานใดๆ จะสำเร็จได้ ต้องทำอย่างต่อเนื่อง จากนั้นไปยลโฉมมุมกล้วยไม้รองเท้านารี ดอกไม้ทรงโปรดของสมเด็จย่า และผจญภัยบนทางเดินเรือนยอดไม้ Doi Tung Tree Top Walk ซึ่งสูงกว่า 30 เมตร เป็นระยะทาง 295 เมตร ให้นักท่องเที่ยวได้ยืนท่ามกลางป่าร่มรื่นและสัมผัสพรรณไม้ในสวนแม่ฟ้าหลวงอย่างใกล้ชิด

หอแห่งแรงบันดาลใจ

           นิทรรศการสื่อผสมผสานรวบรวมพระราชประวัติสกุลมหิดล หลักการอภิบาลพระราชโอรสและพระราชธิดาของสมเด็จย่าจนเติบใหญ่เป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย รวมถึงโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชกว่า 4,000 โครงการ เพื่อสะท้อนถึงพระราชจริยวัตร และหลักการทรงงานที่เรียบง่าย ก่อเกิดเป็นแรงบันดาลใจทั้งในด้านการทำงาน และการมุ่งมั่นทำความดีเพื่อสังคม

ศูนย์ผลิตและจำหน่ายงานมือ โครงการพัฒนาดอยตุงฯ

              มุ่งมั่นส่งเสริมรายได้แก่ชาวไทยภูเขาและชุมชนบริเวณดอยตุง โดยจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมอาชีพหัตถกรรมและอุตสาหกรรม เน้นการใช้วัตถุดิบคุณภาพดี อุปกรณ์และเครื่องมือผลิตได้มาตรฐาน และนักออกแบบที่ทันสมัย ซึ่งผลิตภัณฑ์มีทั้งเสื้อผ้า เครื่องประดับ ของตกแต่งบ้าน ของที่ระลึกที่ทำจากผ้าทอมือ พรมทอมือ ผลิตภัณฑ์กระดาษสา งานปั้นและเครื่องเคลือบดินเผา

แนะนำชนเผ่าดอยตุง

         ในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ ประกอบด้วยชนเผ่าต่างๆ 6 เผ่า ได้แก่ อาข่า ลาหู่ ไทลัวะ ไทยใหญ่ ไทยลื้อ และจีนยูนนาน ทำให้ ดอยตุงมีขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อ และศาสนา ที่หลากหลายแตกต่างกันไป แต่สังคมบนดอยนี้เป็นสังคมที่สงบสุข มีการยอมรับ และเคารพในความแตกต่าง และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

           ทุกหมู่บ้าน ทุกชนเผ่า ต่างแสดงความเคารพต่อธรรมชาติที่บันดาลให้ การเพาะปลูกให้ได้ผลดี มีความอุดมสมบูรณ์ ตามวัฒนธรรมประเพณีของตนที่สืบทอดกันมา มีการฟื้นฟูประเพณีสำคัญๆ พิธีกรรมเก่าแก่ ดนตรี เพลง นิทานพื้นบ้านที่ได้นำกลับไปใช้สอน และเล่าขานให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จัก เพื่อความภาคภูมิใจและคงอัตลักษณ์ของเผ่าเอาไว้ไม่ให้สูญหายไปกับกาลเวลา ในงานประเพณีทุกครั้ง หญิงชายจะสวมใส่ชุดประจำเผ่าที่เป็นลายปักสวยงาม ลวดลายเป็นสัญลักษณ์ มาจากธรรมชาติ เช่น สายน้ำ เมฆ ดวงตา ต้นไม้ ใส่เครื่องประดับอย่างเต็มที่ เพื่อแสดงสถานะทางสังคมเช่นที่เป็นมาในอดีต

          เตรียมพบกับสีสันของเทศกาลแห่งความสุข สนุกสนาน โดยไม่ทำร้ายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในงาน “สีสันแห่งดอยตุง” ครั้งที่ 5 In Doi Festival ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2561 ถึง 27 มกราคม 2562 ทุกวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ หรือติดตามรายละเอียดได้ที่นี่

 

 [บทความประชาสัมพันธ์]

ABOUT THE AUTHOR
HappBKK

HappBKK

Live Every Day

ALL POSTS