แพทย์ผิวหนังไทยขึ้นแท่นระดับโลก
สุดยอดทีมแพทย์ผิวหนังไทย โชว์ฝีมือขั้นเทพคว้ารางวัลการวินิจฉัยโรคด้วยกล้องส่องผิวหนัง ( Dermoscope ) ในการแข่งขัน World Cup Of Dermoscopy 2018 พร้อมเสนอผลวิจัยล่าสุด โมบายแอปพลิเคชั่นด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ยกระดับคุณภาพการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งผิวหนัง
Happening BKK สัมภาษณ์พิเศษ 2 แพทย์ผิวหนังมากฝีมือจากโรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท ดร. นพ.สาโรช สุวรรณสุทธิ และ พญ.บุษกร มหรรฆานุเคราะห์ ถึงความสำเร็จในการ ไปร่วมงาน 5th World Congress Of Dermoscopy 2018 เป็นครั้งแรก ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศกรีซ เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
World Congress Of Dermoscopy ถือเป็นเวทีการประชุมระดับโลกของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการส่องกล้องผิวหนัง รวมถึงนักวิจัยและนักวิชาการด้วย จัดขึ้นทุก 3 ปี โดยภายในงานจะมีการแข่งขันการวินิจฉัยโรคด้วยกล้องส่องผิวหนัง ภายใต้ชื่อ World Cup Of Dermoscopy ซึ่งเป็นการประลองทักษะและศักยภาพของแพทย์ผิวหนัง เปรียบเสมือนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก หรือ เวิลด์ คัพ โดยมีประเทศต่างๆ จากทั่วโลกส่งแพทย์ผิวหนังระดับแถวหน้าทีมละ 3-5 คน มาลงสนามชิงความเป็นเลิศระดับโลก

ปีนี้ มีผู้เข้าร่วมแข่งขันทั้งหมด 50 ทีมจากทั่วโลก โดยทีมไทยมี 4 ท่าน โดยอีก 2 ท่านได้แก่ พญ. ศศิมา เอี่ยมพันธุ์ จากโรงพยาบาลศิริราช และ .ดร.พญ. รัชต์ธร ปัญจะประทีป จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
อีกส่วนหนึ่งของ World Congress Of Dermoscopy เป็นการประชุมเชิงวิชาการและเวิร์คช้อป เพื่อให้แพทย์ผิวหนังได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ตลอดจนนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมล่าสุด
ดร. นพ.สาโรช เล่าว่า นับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของแพทย์ผิวหนังไทยที่ฝ่าด่านสายแข็งอย่างออสเตรเลีย อิตาลี และจีน จนเข้าสู่รอบ 4 ทีมสุดท้าย และสามารถคว้ารางวัลที่ 3 ร่วมกับเซอร์เบีย โดยแชมป์ได้แก่ ประเทศลัตเวีย ตามด้วยอังกฤษ
ลักษณะการแข่งขันจะเป็นการจับคู่ แพ้คัดออก โดยกรรมการจะเปิดภาพโรคผิวหนังแล้วให้ผู้เข้าแข่งขันวินิจฉัย ซึ่งทีมใดกดปุ่นก่อนจะได้สิทธิตอบคำถามก่อน โดยจะมีทั้งภาพขาว-ดำ ซึ่งดูค่อนข้างยาก และการเปิดภาพให้ดูเพียงแค่วินาทีเดียว

ขณะที่ พญ.บุษกร กล่าวว่า โดยปกติ แพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยภายนอกด้วยสายตาเพื่อสังเกตุความผิดปกติของผิวหนัง โดยการตรวจวินิจฉัยด้วยการส่องกล้องยังมีไม่มากนัก เมื่อเทียบกับ อเมริกา ยุโรปและออสเตรีย ซึ่งมีการใช้กล่องส่องอย่างแพร่หลาย เนื่องจาก ประเทศไทยพบผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งผิวหนังน้อย ซึ่งปัจจุบัน ไทยมีแพทย์ผิวหนังที่มีทักษะความชำนาญในการวินิจฉัยด้วยการส่องกล้องจำนวนไม่เกิน 20 คน
นอกจากโชว์ศักยภาพในการแข่งขันการวินิจฉัยโรคด้วยกล้องส่องผิวหนังแล้ว ทีมแพทย์ไทยยังนำเสนอผลงานวิจัยล่าสุดคือ การพัฒนาโมบายแอพพลิเคชั่นด้วยการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในระบบตรวจคัดกรองมะเร็งผิวหนังในการประชุมเชิงวิชาการอีกด้วย
"เราพยายามค้นคว้าและพัฒนาทักษะการส่องกล้อง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับคนไข้ โดยเฉพาะชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย หรือคนไข้ที่มาจากต่างประเทศ เรากำลังถูกท้าทายด้วยเทคโนโลยี AI ถ้าเราสอนให้ AI หรือ Machine Learning รู้จักโรคผิวหนังมากขึ้น มันก็จะสามารถทำงานได้เหมือนกับมนุษย์" พญ.บุษกร กล่าว
ดร. นพ.สาโรช กล่าวเสริมว่า วิธีดั้งเดิม ถ้าแพทย์วินิจฉัยบริเวณผิวหนังที่ผิดปกติด้วยสายตาไม่ได้ ก็ต้องตัดชิ้นเนื้อไปตรวจด้วยวิธีทางพยาธิวิทยา ซึ่งเป็นวิธีที่มีความแม่นยำสูง แต่ถ้าวินิจฉัยด้วยการส่องกล้องก็จะช่วยลดความจำเป็นในการตัดชิ้นเนื้อได้ เพียงแค่ใช้สมาร์ทโฟนที่ติดกล้องส่องผิวหนังก็สามารถวิเคราะห์ได้ว่า เป็นโรงมะเร็งผิวหนังหรือไม่
การพัฒนาโมบายแอพลิเคชั่นด้วยเทคโนโลยี AI นี้ จะสามารถรองรับสมาร์ทโฟนได้ทุกรุ่น และติดกล้องที่กำลังพัฒนาโดยทีมอาจารย์จาก คณะวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คาดว่าจะสามารถนำมาใช้งานได้ภายในปลายปีนี้ ซึ่งไม่เพียงเพิ่มประสิทธิภาพความแม่นยำในการตรวจวินิจฉัยมะเร็งผิวหนังเท่านั้น แต่กล้องที่ผลิตขึ้นโดยทีมนักวิจัยไทยนี้จะมีราคาถูกแต่ประสิทธิภาพสูงเทียบเคียงกับของต่างประเทศ
ดร. นพ.สาโรช บอกว่า นวัตกรรมใหม่นี้ไม่ใช่แค่ตรวจคัดกรองโรคผิวหนัง เช่น มะเร็งผิวหนัง การติดเชื้อ และโรคสะเก็ดเงิน เป็นต้น แต่ยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในด้านความงามได้อีกด้วย เช่น ปัญหาริ้วรอย สิว หรือกำจัดขน เพื่อให้แพทย์กำหนดการพารามิเตอร์ในการรักษาด้วยเลเซอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
STORY BY L. Patt