HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
โขน: เวทีศิลปะบนเรือนกาย
by วรวุฒิ พยุงวงษ์
11 ส.ค. 2561, 16:14
  1,875 views

เบื้องหลังความวิจิตรตระการตาของเครื่องแต่งกาย และเครื่องประดับโขนนั้นน่าสนใจไม่แพ้การแสดง

        เป็นคนชอบดูโขนพอๆ กับชอบดูโอเปร่าอิตาเลียน และดูงิ้วจีน เพราะนาฏกรรมแต่ละชาติล้วนมีพลังทางความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์เป็นแรงขับเคลื่อน ทั้งในแง่ของความสามารถทางการแสดง การขับร้อง บทเพลง ตลอดจนสิ่งที่สายตาของผู้ชมอย่างเราๆ มองเห็นได้ทันที นั่นก็คือการแต่งกายอันครอบคลุมถึงศิลปะแขนงต่างๆ อย่างศิลปะสิ่งทอ, การทำเครื่องประดับ, การตัดเย็บ จนถึงจิตรกรรม หรือการวาดภาพระบายสี

        อย่างหัวโขนที่ได้เห็นใน “โขน งานหัตถศิลป์แห่งแผ่นดิน” ซึ่งจัดโดยศูนย์ส่งเสริมศิลปะชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT ขึ้นที่เอ็มควาเทียร์ในระหว่างวันที่ 8 – 13 สิงหาคม2561 อันเป็นหนึ่งในกิจกรรมเทอดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 อาจเรียกได้ว่าหัวโขนเป็นศูนย์ระดมฝีมือของช่างประณีตศิลป์ไทยหลากสาขาเพื่อสรรค์สร้างขึ้นให้สอดคล้องกับความวิจิตรตระการตาของเครื่องแต่งกาย และเครื่องประดับอื่นๆ ที่ผู้แสดงจะสวมใส่ เริ่มจากการใช้ดินเหนียวปั้นแบบขึ้นรูปอย่างที่เรียกว่าขึ้นโครงเตรียมหุ่น (ปัจจุบันบางแห่งเปลี่ยนมาใช้ปูนปลาสเตอร์ หรือวัสดุอื่นๆ) ก่อนนำกระดาษสา, กระดาษข่อย หรือกระดาษฟางอย่างใดอย่างหนึ่งมาปิดทับร่วมกับไม้ไผ่ที่ใช้สานโครง โดยสิ่งสำคัญขั้นตอนนี้คือผลลัพธ์ที่ได้ต้องแข็งแรง อยู่ทรงเพื่อรองรับการตกแต่งรายละเอียด ในขณะเดียวกันก็ต้องมีน้ำหนักเบา อำนวยความคล่องตัวให้แก่นักแสดง

        การตกแต่งลวดลายบนหัวโขนเริ่มจากการลงรักตีลาย อันเสมือนกับการรองพื้นชั้นต้น โดยนำ “รักน้ำเกลี้ยงชัน” มาผสมให้เข้ากันก่อนตั้งไฟอ่อนให้งวดพอจะกดลงในแม่พิมพ์ทำลวดลายต่างๆ เมื่อใช้รักน้ำเกลี้ยงทาทับส่วนที่จะทำเป็นลวดลายบนหัวโขนแล้ว ก็คือขั้นตอนของการปิดทองคำเปลว ตามด้วยการประดับพลอยกระจก หรือกระจกเกรียง ซึ่งหาได้ยากยิ่งในปัจจุบัน จากนั้นก็จะมาถึงขั้นตอนสุดท้ายคือระบายสี และลงรายละเอียดเก็บงาน อันถือเป็นศิลปะแขนงจิตรกรรมโดยใช้สีฝุ่นผสมกับกาวกระถิน หรือยางมะขวิดเพื่อให้เนื้อสีที่ได้ปรากฏชัดเจน สดใส และติดทนนาน

        หัวโขนที่นำมาแสดงในงานครั้งนี้ก็มี 2 ประเภทใหญ่ คือหัวโขนสำหรับใช้เป็นของตกแต่ง หรือของที่ระลึก กับหัวโขนสำหรับใช้แสดงจริง ซึ่งหัวโขนลักษณะนี้จะถูกแบ่งแยกย่อยลงไปอีกตามวงศ์ตระกูลของตัวละคร มีรายละเอียดแตกต่างทั้งส่วนของยอดมงกุฎ, สีหน้าอันเป็นการจับคู่ระหว่างอากัปของปากกับตา ฯลฯ เพื่อระบุว่าตัวละครนี้เป็นกษัตริย์, พรหม, อสูรหรือยักษ์, คนธรรพ์หรือเทพ หรืออื่นๆ

           สิ่งซึ่งโดดเด่น และมีความสำคัญทัดเทียมกันก็คือเครื่องแต่งกายโขน ประกอบไปด้วยพัสตราภรณ์ หรือเครื่องนุ่งห่มที่เป็นผ้า กับถนิมพิมพาภรณ์ อันหมายถึงเครื่องประดับ (ในขณะที่หัวโขน หรือเครื่องประดับศีรษะจะเรียกว่า “ศิราภรณ์”) แต่ละชิ้น แต่ละรายละเอียดคือความวิจิตรบรรจงทางงานช่างฝีมืออย่างแท้จริง นับตั้งแต่การทอผ้า การขึ้นลายผ้า การปักดุนลาย และยกลาย การตัดเย็บ ตลอดจนงานประดิษฐ์ต่างๆ

เมื่อองค์ประกอบเครื่องแต่งกายโขนทั้ง3 ส่วนถูกนำมาอยู่ร่วมกันแล้ว ก็ใช่ว่าศิลปินนักแสดงผู้ผ่านการเรียน และฝึกฝนมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กจะหยิบสวมเองได้ในทันที อีกบุคคลสำคัญในกระบวนการนี้คือผู้แต่งกายนักแสดงโขนที่ชำนาญ และเข้าใจลึกซึ้งถึงกลวิธีแยบยลในการ “แต่งกายยืนเครื่องโขน”

        ตามขนบของกรมศิลปากรนั้น การแต่งกายยืนเครื่องโขนจะแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน คือการเตรียมความพร้อมทั้งในส่วนของผู้แต่ง และผู้แสดง ก่อนถึงขั้นตอนการแต่งกาย

        ในส่วนของผู้แต่ง อุปกรณ์สำคัญอันจะขาดไม่ได้เลยก็คือด้ายเย็บผ้าเบอร์ 8, เข็มเย็บผ้าก้นทองขนาด 2, มีดกับกรรไกร และผ้ารัดเอว ซึ่งทำจากผ้าดิบขนาดกว้าง 5 นิ้ว ยาว 1.5 เมตรโดยประมาณ ในขณะที่ผู้แสดงเองก็ต้องทำธุระส่วนตัวให้เรียบร้อย เสร็จสิ้นเนื่องจากหลังการแต่งเครื่องโขนสมบูรณ์ครบครันแล้ว จะไม่สะดวก หรือไม่สามารถเข้าห้องน้ำได้อีกเลยจนกว่าจะจบการแสดงและถอดชุด จากนั้นก็ต้องสวมเสื้อตัวในกับกางเกงขาสั้นป้องกันอาการระคายเคืองเสียดสีที่ต้องสัมผัสกับเครื่องแต่งกาย

        สำหรับขั้นตอนการแต่งกายยืนเครื่องของการแสดงโขน ยังถูกจัดแยกเป็นประเภทหลักได้ 4 ประเภทสำคัญคือพระ, นาง, ยักษ์ และลิง ซึ่งมีความเหมือน ความต่างกันไปตามลักษณะกำหนดของสมญาภิธานรามเกียรติ์ โดยจะเริ่มจากช่วงล่าง อันได้แก่เครื่องประดับอย่างกำไลข้อเท้า และแหวนรอบเป็นอาทิ ก่อนถึงสนับเพลา หรือกางเกงชั้นใน ทับด้วยผ้าบ่ง ไล่ลำดับต่างๆ ขึ้นไปทีละชิ้น ทีละส่วนจนจบลงตรงสวมศิราภรณ์ประดับศีรษะ หรือหัวโขนในท้ายสุด

        ทุกอย่าง และทั้งมวล ล้วนกำเนิดขึ้นโดยอาศัยบรรทัดฐานหลักสำคัญนั่นก็คือ “ความพิถีพิถัน ใส่ใจในรายละเอียด” ซึ่งถือว่าเป็นเบ้าหลอมสุนทรียศิลป์ทุกแขนง นับตั้งแต่ช่างผลิตไปจนถึงตัวแสดง ก็เพื่อให้ “โขนไทย” เป็นความสมบูรณ์แบบแห่งนาฏกรรมแบบฉบับหนึ่ง-เดียว-ใน-โลก ที่ต่างจากละครโขน หรือการแสดงนาฏกรรมสวมหน้ากากของชาติอื่นๆ เพราะถึงแม้โขนไทยไม่อาจขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกได้ แต่โขนไทยเป็นที่รู้จัก และจดจำในระดับสากล เมื่อเห็นโขน ก็รับรู้ได้ถึงความเป็น “ไทย”

        ถ้ามีโอกาส ประสบการณ์วันแม่ปีนี้ก็น่าจะรวมการแวะมาชม“โขน งานหัตถศิลป์แห่งแผ่นดิน” ได้โดยไม่เสียค่าเข้าชมแต่ประการใด
 

STORY AND PHOTO BY วรวุฒิ พยุงวงษ์

ABOUT THE AUTHOR
วรวุฒิ พยุงวงษ์

วรวุฒิ พยุงวงษ์

At boundary of athletics and beauty, I write and play

ALL POSTS