“ปลากัดไทย” นักสู้แห่งสยามและมรดกทางวัฒนธรรมไทยตัวจิ๋ว
ปลากัดสวยสังหารจากทุ่งนาบ้านเฮา สู่กระแสปลากัดฟีเวอร์ทั่วโลกและไอคอนสุดฮอตในป๊อปคัลเจอร์
“กัดปลา ตีไก่” น่าจะเป็นกิจกรรมสันทนาการของชาวไทยยุคก่อนโทรทัศน์และอินเตอร์เน็ตแพร่หลายที่ดูจะฝังรากลึกในวัฒนธรรมไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้ ถึงกิจกรรมยอดนิยมที่ว่าจะถูกมองว่าเป็นการมอมเมาเพราะมักจะมีการพนันมาเกี่ยวข้อง แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการเพาะเลี้ยงทั้งไก่ชนและปลากัดแสดงถึงภูมิปัญญาและทักษะของคนไทยที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะปลากัดที่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์ให้มีสีสันสวยงาม เป็นที่นิยมในการเลี้ยงไว้ดูเล่นเพราะรูปลักษณ์สวยงามสะดุดตาและความไม่จู้จี้เอาแต่ใจ อยู่ง่ายกินง่ายไม่มีดราม่าของมัน ทำให้ปลากัดไทยโด่งดังไปทั่วโลก และได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของไทยตั้งแต่ปี 2556 โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม
ปลากัดไทยมีชื่อภาษาอังกฤษตรงตัวว่า Siamese fighting fish และชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Betta Splenden แรกเริ่มเดิมทีปลากัดเป็นปลาที่เกิดและอาศัยตามแหล่งน้ำจืดธรรมชาติและท้องไร่ท้องนา พบได้ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั่วไป ด้วยความ “ดุ” และหวงถิ่นเป็นที่สุด พวกมันจึงมักมีเหตุทะเลาะเบาะแว้งกันอยู่บ่อยๆ จนเป็นที่สังเกตได้โดยชาวสวนชาวนา พาไปสู่การนำปลาป่าขึ้นสังเวียนในขวดโหล โชว์การร่ายรำแพนหางที่มาพร้อมกับการลีลาการต่อสู้เข้มข้นถึงใจ ให้ผู้ชมตบเข่าฉาดกันรัวๆ
ใครเป็นเด็กต่างจังหวัดน่าจะพอจำใต้ถุนบ้านเซียนปลากัดได้ ที่มีขวดเหล้าแบนใส่ปลากัดสารพัดสี เรียงต่อกันยาวสุดสายตา แต่ละขวดกั้นด้วยกระดาษไม่ให้ได้เห็นหน้ากัน เหมือนห้องเก็บตัวแกลดิเอเตอร์ก่อนถูกพาตัวไปสเตเดียมยังไงยังงั้น
สายพันธุ์ดั้งเดิมของปลากัดเป็นปลาลูกทุ่งที่เกิดและโตในธรรมชาติ ส่วนปลาเลี้ยง เรียกว่าปลาลูกหม้อเพราะเลี้ยงในหม้อดินหรือโอ่ง เมื่อผสมปลาป่ากับลูกหม้อออกมาจะเป็นปลากัดสังกะสีตามลักษณะผิวที่ทนทาน ต่อสู้ได้อึดไม่เป็นแผลง่ายๆ การผสมเพื่อพัฒนาสายพันธุ์นี้เองทำให้บังเอิญได้ลูกปลาที่มีครีบและหางยาว ยิ่งพัฒนาไปสีก็ยิ่งเข้มสวยขึ้นและชัดเจนขึ้น เหมือนชุดนักแสดงงิ้ว จึงเรียกกันว่าปลากัดจีน ยังมีการพัฒนาต่อไปอีกหลายสายพันธุ์เพื่อให้ได้ขนาด สีสัน และรำแพนหางแตกต่างกันไปตามความนิยมของผู้ซื้อยุคใหม่ที่สนใจความสวยงามมากว่าความสามารถในการต่อสู้ จนได้รับความนิยมในยุโรปมากว่าร้อยปี และแพร่หลายไปยังสหรัฐอเมริกาในที่สุด
ชาวต่างชาติน่าจะรู้จักความสวยงามของปลากัดมาตั้งแต่ปี 2383 (ค.ศ. 1840) เมื่อ ดร. ธีโอดอร์ แคนเตอร์ (Theodore Cantor) นักสัตววิทยาที่เป็นแพทย์ประจำอยู่ในเบงกอล ได้รับปลาน้ำจืดตัวเล็กๆ จากเพื่อนคนหนึ่งซึ่งเป็นปลาที่พระราชทานมาจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 คุณหมอที่มีความสนใจปลาจากเขตร้อนอยู่แล้วก็ตื่นเต้น วาดรูปและบันทึกรายละเอียดของปลาตัวเล็กๆ พวกนี้เอาไว้อย่างละเอียด และตีพิมพ์เรื่องราวของพวกมัน 9 ปีต่อมาเมื่อกลับประเทศอังกฤษ นำไปสู่กระแส “ปลากัดฟีเวอร์” ในอังกฤษยุควิคตอเรียน ที่ใครๆ ก็เห่ออยากจะเลี้ยงปลาตัวเล็กที่มีพวงหางสวยงามกันทั้งนั้น
สีสันและความพลิ้วไหวของปลากัดเป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินมากมายสร้างงานศิลปะ จนปลากัดกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมสมัยนิยมป๊อปคัลเจอร์ ปรากฏตัวในดีไซน์ลายผ้า ของแบรนด์ POEM ภาพยนตร์เจมส์ บอนด์ “From Russia With Love” มีฉากกัดปลายาวหลายนาที ในในการ์ตูน ดิสนีย์ มีตัวละครในซีรีส์ “Fish Hooks” ชื่อไมโลที่เป็นปลากัดไทย ส่วนรูปถ่ายปลากัดโดยช่างภาพขาวไทย วิศรุต อังคทะวานิช ยังถูกใช้เป็นแบคกราวด์และสกรีนเซฟเวอร์ของระบบปฏิบัติการวินโดว์ 7 และ 8 รวมทั้งเป็นวอลเปเปอร์บนหน้าจอ iphone6 ด้วย
ล่าสุดปลากัดไทยยังรุกคืบสู่วงการความงามในปรากฏการณ์ครั้งสำคัญที่เครื่องสำอาง แฟชั่น และปลากัด มารวมตัวกันครั้งแรกกับ SRICHAND x asava COLOR CREATION
จิ๋วแต่แจ๋ว ... คู่ควรกับตำแหน่งสัตว์น้ำประจำชาติจริงๆ
Photos by Visarute Angkatavanich
ภาพมีลิขสิทธิ์ Copyrights @Visarute Angkatavanich