"Betta Paradiso" พาปลากัดไทยว่ายไปวงการอาร์ต
หนังสือภาพ "Betta Paradiso" ของช่างภาพปลากัดชื่อดัง วิศรุต อังคทะวานิช วางขายแล้ว
ชื่อของ วิศรุต อังคทะวานิช อาจไม่ได้อยู่บนริมฝีปากทุกคน แต่หากกล่าวถึงช่างภาพเจ้าของผลงานภาพถ่ายชุดปลากัดไทยอันเลื่องชื่อ ที่เป็นข่าวคึกโครมช่วงเปิดตัว iPhone 6 แล้ว คนที่สนใจการถ่ายภาพหรือชื่นชมภาพถ่ายในแนวศิลปะ น้อยคนนักที่จะไม่รู้จักเขา
แต่ผลงานการถ่ายปลากัดไทย ไม่ใช่ความสำเร็จข้ามคืน เพราะกว่าจะถึงจุดที่โด่งดังทั่วโลก วิศรุต หรือ รุต ได้ผ่านงานถ่ายภาพมาแล้วอย่างโชกโชนตั้งแต่รุ่นกล้องฟิล์มมาจนถึงการเปลี่ยนถ่ายเป็นดิจิทัล การทำงานถ่ายภาพโฆษณาเกือบ 30 ปี ไม่ได้ทำให้ไฟในการสร้างสรรค์ผลงานของเขาลดน้อยลงแต่อย่างใด เขายังเป็นคนที่มี passion อยู่เต็มเปี่ยม และเดินตามทางความฝันของตนเอง ด้วยความเชื่อที่ว่างานที่มีพลังมากพอจะพาตัวเขาไปยังจุดหมายได้เอง
รูปถ่ายปลากัดที่ลือลั่นไปทั่วโลก ในงานโฆษณา ปกนิตยสาร และคอลเล็คชั่นส่วนตัวของนักสะสมหลายคน เป็นงานที่รุตถ่ายเป็นงานศิลปะ “ผมจะไม่ไปแก้สีของปลาหรือไปเพิ่มครีบปลา เพราะมันมีความสวยงามของมันอยู่แล้ว”
เขาชอบถ่ายปลากัดเพราะมันมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น มีสีสัน และท่วงท่าการเคลื่อนไหวที่งดงาม ในวัยเด็กเขาชอบดูน้ำ และดูอะไรอยู่ในน้ำ และชอบเลี้ยงปลา จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมเขาจึงสังเกตว่า ปลากัดแต่ละตัวไม่เหมือนกันเลย มีนิสัยต่างกัน การเคลื่อนไหวก็ต่างกัน นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเขาจึงสามารถถ่ายทอดท่วงท่า ลีลาของปลาได้สวยไม่แพ้งานศิลปะชิ้นอื่น ๆ
ฝันให้ปลากัดไปไกลกว่านี้
ก่อนหน้านี้รุตเข้าร่วมโครงการที่จะผลักดันให้ปลากัดได้เป็นอีกหนึ่งอัตลักษณ์ของประเทศ (ปัจจุบันปลากัดได้ถูกประกาศว่าเป็นสัตว์น้ำประจำชาติแล้ว) เพราะเขามองเห็นถึงเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของมัน เหมือนช้าง หรือมวยไทย เขาบอกว่าปลากัดมีความหลากหลาย และสีสันมากกว่าช้าง มีศักยภาพอย่างมากที่จะเติบโตจากวงการสินค้าเกษตรเข้าสู่สินค้าทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะ pop culture
“ผมเห็นดีไซน์ของอิเกียก็เอาปลากัดไปใช้ ดีไซเนอร์ทำชุดกิโมโน ยูคะตะของญี่ปุ่น ก็เอาลายปลากัดไปใช้ ดีไซน์เนอร์อังกฤษก็นำลายปลากัดไปใช้ เลยเสียดายมากถ้าคนไทยมองข้ามและไม่เห็นค่าของมันที่มีมูลค่าทั้งในแง่ของมรดกทางชีวะวัฒนธรรม (เพราะคนไทยเป็นคนพัฒนาสายพันธุ์) ในแง่มูลค่าเพิ่มหากผลักดันให้มาอยู่ในงานออกแบบ หรืออุตสาหกรรมท่องเที่ยว”
สานต่อฝัน และเป้าหมายด้วย หนังสือภาพ
ตั้งแต่ปลากัดของรุตก้าวกระโดดไปวงการไอที จนถึงวันนี้ ช่างภาพวัยสี่สิบกว่าคนนี้ยังไม่ละความพยายาม ในการยกระดับปลากัด และนั่นเป็นเหตุผลหนึ่งในการจัดพิมพ์หนังสือภาพ “Betta Paradiso” The Art of Siamese Fighting Fish เขาบอกว่าอยากให้หนังสือสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนดู และคนรุ่นใหม่ และพยายามทำราคาขายให้ถูกที่สุดเท่าที่จะสามารถ เพื่อให้หนังสือสามารถกระจายตัวไปให้คนเห็นได้เยอะที่สุด เขาหวังว่า เมื่อหนังสือได้พิมพ์ จะมีคนในแวดวงออกแบบโดยเฉพาะนักออกแบบไทย ได้เห็นถึงคุณค่าของปลากัดไทย นักเรียน นักศึกษาที่ได้เห็นก็จะเกิดแรงบันดาลใจไปสร้างผลงานใหม่ๆ กันต่อ
ชวนทุกคนมาช่วยสานฝัน
รุตไม่ปฏิเสธว่าการพิมพ์สมุดภาพชุดปลากัด "Betta Paradiso" นี่เป็นความฝันส่วนตัวของเขาด้วย (เช่นเดียวกับผู้สร้างสรรค์งานคนอื่น ๆ) และยังเป็นการหารายได้จากงานของเขาอีกส่วนหนึ่ง แต่วัตถุประสงค์ที่ยิ่งใหญ่กว่าคือพาฝูงปลาฝ่าไปในวงกว้าง ซึ่งรุตต้องอาศัยกำลังจากทุกคนมากกว่าฝ่าไปคนเดียว โครงการ crowdfunding จึงเกิดขึ้น เขาเลือกทำปกอ่อน เพื่อสามารถเปิดดูได้ง่าย ๆ ตั้งใจให้คนเปิดดูจริง ๆ
สองแบรนด์แฟชั่นร่วมผนึกกำลัง
หากเข้าไปดูรายละเอียดในโครงการจะพบว่านอกจากหนังสือภาพของรุตแล้ว ยังมีงานศิลปะที่มาร่วมจากสองแบรนด์แฟชั่นชื่อดัง POEM โดยณอน ชวนล ไคสิริ และ ASAVA โดย หมู พลพัฒน์ อัศวประภา
“การให้คุณณอนได้เข้ามาร่วมทำงานนี้ ก็น่าจะเป็นงานที่คุณณอนสนุก และได้เห็นปลากัดไทยในอีกแง่มุมที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน คุณหมูมีภาพปลากัดที่ออฟฟิศ รุตคิดว่าถ้าชวนมาทำงานนี้ร่วมกัน น่าจะช่วยให้วงการออกแบบได้เห็นปลากัดไทยว่ายเข้ามาในวงการได้ง่ายขึ้น” รุตกล่าว
ภายใต้แนวคิดนี้ POEM สร้างสรรค์กระโปรงสีขาว เรียบหรู Poetry of Dancing Betta ส่วน Asava ออกแบบผ้าพันคอลายพราง (Camouflage) ผสมด้วยโทนสีอันโดดเด่นเล่น สีแดง สีขาว และสีดำ พร้อมเสริมด้วยเทคนิคการอัดพลีท (Pleated) เพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่น (Stretchy) ให้กับผ้าพันคอ ก่อเกิดเป็นเทคนิคภาพลวงตาบนผืนผ้า คล้ายกับภาพปลากัดกำลังแหวกว่ายอยู่บนผ้าพันคอผืนนี้ ยิ่งถ้าหากมองลึกลงไปก็จะเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่สนใจงานศิลปะ และเห็นด้วยกับวิศรุตในการต่อยอด พาปลากัดไทยสู่วงการศิลปะในวงกว้าง หนังสือรวบรวมงานปลากัดแสนสวยวางจำหน่ายแล้วที่ Kinokuniya
อ่านเพิ่มเติม “ปลากัดไทย” นักสู้แห่งสยามและมรดกทางวัฒนธรรมไทยตัวจิ๋ว